ไขข้อข้องใจ ติดโซลาเซลล์ ประหยัดค่าไฟได้จริงไหม กี่ปีถึงคืนทุน
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ไขข้อข้องใจ ติดโซลาเซลล์ ประหยัดค่าไฟได้จริงไหม กี่ปีถึงคืนทุน

icon-access-time Posted On 17 ตุลาคม 2566
By Krungsri The COACH
ปัจจุบันนี้ค่าไฟยังคงมีแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้กระแสความสนใจติดโซลาร์เซลล์ในไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการให้ความสนใจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

แต่ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูง หลายคนเกิดคำถามอีกมากมาย ว่าการติดโซลาร์เซลล์คุ้มค่าจริงหรือไม่? อีกกี่ปีถึงจะคืนทุน วันนี้เราจะพาไปไขข้อข้องใจเหล่านี้กัน

โซลาร์เซลล์ มีกี่แบบ แต่ละแบบเหมาะกับใคร?

แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel) ที่ใช้กับหลังคาส่วนใหญ่เป็นแผงเทคโนโลยี Crystalline แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
  1. แบบผลึกเดี่ยว (Mono Crystalline) เป็นแผงโซล่าเซลล์ชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ผลิตจากซิลิคอนบริสุทธิ์ (เกรดดีที่สุด)
  2. แบบผลึกรวม (Poly Crystalline) เป็นแผงโซล่าเซลล์ที่ผลิตจากซิลิคอนทั่วไป ประสิทธิภาพต่ำกว่าแบบผนึกเดียว แต่ได้ราคาต้นทุนที่ประหยัดกว่า
ติดตั้งโซล่าเซลล์ที่บ้าน

โดยระบบ Solar System มีทั้งหมด 3 ระบบ คือ

1. ระบบ On Grid

เป็นลูกผสมที่ใช้ทั้งพลังงานสะอาด และไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยต้องเปลี่ยนถ่ายกระแสไฟผ่าน On-Grid Inverter ก่อน เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หมด จะตัดเข้าการไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

เหมาะกับ: คนที่อยากลดค่าไฟภายในบ้านเพียงบางส่วน เนื่องจากยังต้องใช้ไฟจากการไฟฟ้าตอนกลางคืน
 

2. ระบบ Off Grid หรือ Stand Alone

เป็นระบบที่แยกใช้งานเดี่ยว ๆ ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า โดยมีแบตเตอรี่ไว้เก็บไฟฟ้าสำรองของตัวเองเพื่อใช้ตอนกลางคืน เป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งหมด แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

เหมาะกับ: สถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เช่น ทุ่งนา หรือไร่สวน
 

3. ระบบ Hybrid

เป็นแบบผสมผสาน มีทั้งแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟ และถ้าไฟไม่เพียงพอใช้ก็จะดึงไฟจากการไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง สามารถสลับระบบการใช้งานไปมาได้ ระบบนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และมีอุปกรณ์เยอะ จึงอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนสักเท่าไหร่

เหมาะกับ: คนที่มีเงินลงทุนสูง เพราะต้องเสียทั้งค่าไฟ และค่าบำรุงรักษาแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย
 
ความคุ้มค่าในการติดตั้งโซล่าเซลล์ที่บ้าน

ติดตั้ง Solar Cell คุ้มค่าจริงหรือไม่ คำนวณค่าติดตั้งอย่างไรดี?

ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ก่อนว่าโดยเฉลี่ยใน 1 วัน ที่พักอาศัยของเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน โดยสามารถดูได้จากที่มิเตอร์ เช่น อ่านค่าที่มิเตอร์ในช่วง 6 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น แล้วนำ 2 ตัวเลขนี้มาลบกัน เพื่อดูว่าในช่วงกลางวันเราใช้ไฟฟ้ากี่หน่วย หรือดูจากบิลค่าไฟต่อเดือนก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟในช่วงกลางวัน หรือติดตั้งเพื่อใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์แทนการใช้ไฟโดยตรงจากการไฟฟ้า

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องใช้ในการคำนวณหาความคุ้มค่าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ มีดังนี้
  • ขนาดของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในแต่ละวัน
  • ปริมาณของแดด และระยะเวลาที่ใช้ผลิตแต่ละวัน โดยจำนวนชั่วโมงที่รับแดดได้เต็มที่อยู่ที่ 4.5 ชั่วโมง/วัน
  • เงินลงทุน
  • อัตราค่าไฟฟ้าปกติ เป็นอัตราแบบก้าวหน้าขึ้นอยู่กับการใช้ไฟของแต่ละบ้าน

ตัวอย่างการคำนวณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

โซลาร์เซลล์ระบบ On Grid ขนาด 2.2 กิโลวัตต์ ค่าติดตั้งประมาณ 140,000 บาท บ้านหลังนี้ใช้ไฟ 1,000 หน่วยต่อเดือน โดยช่วงกลางวันประมาณ 500 หน่วยต่อเดือน อัตราค่าไฟฟ้าปกติ หน่วยละ 4.5 บาท
 

ขั้นที่ 1: หาปริมาณไฟฟ้าที่โซลาร์เซลล์ผลิตได้

แผงโซล่าเซลล์ขนาด 2.2 กิโลวัตต์ (kWp.) x ระยะเวลาในการผลิต/วัน = 2.2 x 4.5 = 9.9 หน่วย/วัน (297 หน่วย/เดือน)
 

ขั้นที่ 2: คำนวณค่าไฟที่ประหยัดได้ต่อเดือน

จากตัวอย่างข้างต้นปกติจ่ายค่าไฟเดือนละ 4,500 บาท (1,000 หน่วยต่อเดือน x ค่าไฟหน่วยละ 4.5 บาท)

หากโซลาร์เซลล์ผลิตไฟได้เดือนละ 297 หน่วย ดังนั้นจะประหยัดค่าไฟได้ 297 x 4.5 = 1,336.5 บาทต่อเดือน (16,038 บาท ต่อปี)
 

ขั้นที่ 3: หาจุดคุ้มทุนจากการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์นี้

ค่าติดตั้งประมาณ 140,000 บาท
เราสามารถประหยัดค่าไฟได้ 16,038 บาทต่อปี
ดังนั้น จุดคุ้มทุนจะอยู่ในช่วงปีที่ 9 นั้นเอง (140,000 / 16,038 = 8.7 ปี)
(*หมายเหตุ: การคำนวณหาความคุ้มค่าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นี้ เป็นการคิดคำนวณจากค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงค่าเสื่อมสภาพของแผงโซลาร์เซลล์)
 
จุดคุ้มทุนในการติดตั้งโซล่าเซลล์

สิ่งที่ต้องพิจารณาและต้องทำเมื่อจะติดตั้งโซลาร์เซลล์

1. ต้องรู้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของบ้านตัวเองก่อน

ดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และกลางคืน เพื่อคำนวณหาขนาด และสเปคแผงโซลาร์เซลล์ที่จะติดตั้ง หากมีไลฟ์สไตล์การใช้ไฟกลางคืนเยอะกว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ คงยังไม่คุ้มค่า
 

2. ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์

โดยอาจจะขอข้อมูลจากหลายบริษัทเพื่อเปรียบเทียบหาบริษัทที่คุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนี้เมื่อเรารู้ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งก็จะช่วยให้สามารถคิดหาจุดคุ้มทุนได้อีกด้วย
 

3. แจ้งขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก่อนจะติดตั้งจริงเราจะต้องไปแจ้งขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทางหน่วยงานพิจารณาว่าบ้านเราสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่
 

4. หมั่นดูแลรักษาแผงโซลาร์เซลล์

หากเราได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เรียบร้อยแล้ว เราจะต้องคอยหมั่นดูแลรักษาเบื้องต้น เช่น ใช้น้ำสะอาดผสมกับน้ำยาล้างจานฉีดล้างแผงโซลาร์เซลล์ และเช็ดให้แห้ง เพื่อไม่ให้มีฝุ่น หรือสิ่งสกปรกมาเกาะ เพราะหากมีสิ่งสกปรกมาเกาะก็จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ลดลง

จะเห็นได้ว่าการติดโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันไม่ได้ยุ่งยากสักเท่าไหร่ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์คุ้มค่าและคืนทุนได้เร็วขึ้น จากตัวอย่างที่คำนวณข้างต้นก็ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 8 - 9 ปี ซึ่งบางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน แต่หากคนที่รอได้ก็ถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์อยู่นะ

ทั้งนี้ระยะเวลาคืนทุนของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน ขนาด และสเปคของโซลาร์เซลล์ที่ราคาต้นทุนติดตั้งไม่เท่ากัน เป็นต้น ดังนั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ อาจจะลองคำนวณหาจุดคุ้มทุนเพื่อดูความคุ้มค่าในการลงทุน รวมถึงควรพิจารณาในด้านความพร้อมของสถานที่ที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ และงบประมาณในการลงทุนติดตั้งด้วย เนื่องจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาค่อนข้างสูง

สำหรับคนที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่มีงบที่ค่อนข้างจำกัด หรืออาจจะยังไม่พร้อมจ่ายเงินก้อนใหญ่ “สินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์แคช เพื่อติดตั้ง Solar Roof” ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพียงนำที่อยู่อาศัยมายื่นขอสินเชื่อ ก็จะมีเงินก้อนไปใช้ติดตั้ง Solar Roof แล้ว สินเชื่อนี้เหมาะสำหรับคนที่บ้าน หรือที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือติดต่อสอบถาม และขอสมัครที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทุกสาขาทั่วประเทศ (ในวันทำการ) หรือโทร. 1572 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แค่ให้บ้านของคุณ เปลี่ยนเป็นเงินก้อนใหญ่ ก็เป็นอีกแรงที่ช่วยสนับสนุนการสร้างพลังงานสะอาดเพื่อโลกสีเขียว และยังช่วยลดค่าไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา