การจัดทำข้อมูลการเงิน เตรียมกู้งบสร้างบ้านหลังใหม่
รอบรู้เรื่องบ้าน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

การจัดทำข้อมูลการเงิน เตรียมกู้งบสร้างบ้านหลังใหม่

icon-access-time Posted On 02 ตุลาคม 2557
By Krungsri Guru
สวัสดีครับเพื่อนๆ พูดถึงเรื่องบ้าน เพื่อนๆ บางคนที่ยังไม่มีบ้านหรือต้องเช่าหอคอนโดอยู่กัน ก็คงอยากมีบ้านสักหลังไว้เป็นของตัวเอง เป็นที่พักพิงถาวรกันแน่เลยใช่ไหมครับ แต่การจะกู้เงิน หางบสร้างบ้านในยุคนี้นั้นเป็นเรื่องที่ยากพอควรเลยครับ วันนี้ผมจะมาแนะนำเคล็ดลับการขอกู้เงินให้ผ่าน เพื่อนำไปใช้เป็นงบสร้างบ้านได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือ การจัดทำงบการเงินส่วนบุคคล เป็นการจัดสมดุลการบริหารเงินของเราเองเพื่อให้ Statement ทางการเงินของเราสวยงาม เวลายื่นขอกู้เงินสร้างบ้านกับสถาบันการเงินต่าง ๆ จะได้มีเปอร์เซ็นต์การกู้ผ่านมากขึ้นนะครับ
งบการเงินส่วนบุคคลเพื่อการกู้เงินมาใช้เป็นงบสร้างบ้านใหม่ที่ผมอยากจะแนะนำให้เพื่อนๆ ลองทำดู คือ งบดุล (Balance Sheet) เป็นงบสรุปฐานะการเงินของบุคคล ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งงบดุลจะรายงานว่าเราเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรบ้าง และมีภาระหนี้สินซึ่งเป็นภาระรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกอะไรบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่ง ของเรานั้นเอง โดยงบดุลจะมีความสัมพันธ์กันดังสมการง่าย ๆ คือ
 
สินทรัพย์ทั้งหมด – หนี้สิ้นทั้งหมด = ส่วนของเจ้าของ
สินทรัพย์ทั้งหมด คือ รายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งมีมากมายหลายประเภทแตกต่างกัน ตามลักษณะและประโยชน์ของการใช้สอย สินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น เงินสด เงินออม บ้าน รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับต่าง ๆ หุ้นปันผล ธุรกิจส่วนตัว โดยเราจะใช้มูลค่าของสินทรัพย์แต่ละชนิดตามราคาตลาดขณะนั้น จะไม่ใช้มูลค่าตอนที่ซื้อสินทรัพย์มาใช้จัดทำงบดุล เพราะราคาที่ซื้อในตอนแรกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
หนี้สินทั้งหมด คือ เงินที่เราได้กู้ยืมคนอื่นเขามา และมีพันธะต้องชำระคืนในอนาคต หนี้สินอาจจะเป็นหนี้สินส่วนตัวเราเองหรือหนี้สินของครอบครัว เช่น หนี้ค้างชำระของบัตรเครดิต หนี้ค้างชำระในการผ่อนรถยนต์ หนี้ค้างชำระในการผ่อนโทรทัศน์ ตู้เย็น
ส่วนของเจ้าของ คือ สินทรัพย์ส่วนที่เหลืออยู่หลังจากหักหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดออกไปแล้ว ซึ่งส่วนที่เหลือนี้จะเป็นทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงและเป็นสิ่งแสดงถึงความมั่งคั่งของเราด้วย โดยที่ส่วนของเจ้าของยิ่งมีเพิ่มขึ้นเท่าไรก็แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของบุคคลนั้นที่ยิ่งมีเพิ่มขึ้น และเวลาเรายื่นขอกู้งบสร้างบ้าน ทางสถาบันการเงินก็จะดูว่า ส่วนของเจ้าของของเรามีอยู่มากเท่าไร ซึ่งสถาบันการเงินจะใช้เกณฑ์ดูถ้าว่าถ้าเรามีส่วนของเจ้าของอยู่มากก็แสดงว่า เรามีสินทรัพย์อยู่มากกว่าหนี้สินมาก หรือมีหนี้สินน้อย สถาบันการเงินก็จะให้เครดิตมากขึ้น เพราะเรามีสินทรัพย์ที่เป็นหลักค้ำประกันการจ่ายหนี้ได้อย่างไม่ต้องกังวลนั้นเองครับ
ผมจะขอยกตัวอย่างงบดุลเพื่อนำไปขอกู้งบสร้างบ้าน หรือขอสินเชื่ออื่น ๆ แบบง่าย ๆ ให้เพื่อนใช้เป็นตัวอย่าง ดังนี้
นายร่ำรวย มีความสุข
งบดุล
ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2557
 
สินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ
สินทรัพย์สภาพคล่อง
เงินสด 40,000
เงินฝากธนาคาร 200,000

สินทรัพย์แท้จริง
รถยนต์ 500,000

สินทรัพย์ส่วนตัว
โทรศัพท์มือถือ 10,000
โทรทัศน์ 15,000

สินทรัพย์ลงทุน
เงินทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 200,000
บิลค้างชำระ
ค่าน้ำ ค่าไฟ 2,000

เครดิตหมุนเวียน
ค่างวดบัตรเครดิต 5,000

หนี้ค่าผ่อนสินค้า
หนี้ค่าซื้อรถยนต์ 300,000
รวมสินทรัพย์ (1) 965,000 รวมหนี้สิน (2) 370,000

ส่วนของเจ้าของ (1)-(2) 595,000
  รวมหนี้สินและส่วนของเจ้าของ 965,000
งบการเงินส่วนบุคคลอีกตัวนึงที่ผมอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองทำดู คือ งบรายได้รายจ่าย (income statement) คือ งบที่แสดงรายละเอียดของรายรับและรายจ่ายในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านมาของเรา เวลาเรายื่นขอกู้เงินสร้างบ้านหรือขอสินเชื่ออื่น ๆ ทางสถาบันการเงินก็จะดูส่วนนี้เพื่อดูความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่องบสร้างบ้านของเราครับ โดยผมจะยกตัวอย่างการจัดทำงบรายได้รายจ่ายง่าย ๆ ดังนี้
นายร่ำรวย มีความสุข
งบรายได้รายจ่าย ส่วนบุคคล
สำหรับงวดวันที่ 1 สิงหาคม 2557 – 31 สิงหาคม 2557
 
รายได้
เงินเดือน 30,000
ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากประจำ 2,000
เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น 1,000
รวมรายได้ 33,000
 
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน
การออม 2,000
การลงทุน 1,000
ค่าใช้จ่ายคงที่
ค่าผ่อนรถยนต์ 5,000
ค่าใช้จ่ายที่ผันแปร
ค่าอาหาร 4,500
ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค 1,000
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 1,500
ค่าบัตรเครดิต 2,000
รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 17,000
เงินสดส่วนเกิน (ส่วนขาด) 16,000
จากงบรายได้รายจ่ายของนายร่ำรวย มีความสุขจะเห็นได้ว่ารายได้ของนายร่ำรวย มาจากการทำงานเป็นหลัก ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 17,000 บาท ทำให้มีเงินสดส่วนเกินต่อเดือน 16,000 บาท ซึ่งทางสถาบันการเงินจะนำเงินสดส่วนเกินต่อเดือน ไปพิจาณาการให้วงเงินกู้งบสร้างบ้านหรือซื้อบ้านด้วยครับ
จากการทำงบดุล และงบรายได้รายจ่ายของเราเองจะทำให้เราประเมินขีดความสามารถว่าเราจะสามารถขอยื่นกู้สินเชื่อหรือขอกู้งบสร้างบ้านได้หรือไม่ และสามารถกู้ได้วงเงินเท่าไหร่ครับ มาทำงบดุลชีวิตส่วนบุคคลของเราให้สวยงามเพื่อการขอกู้เงิน จะได้มีงบสร้างบ้านอย่างที่เราต้องการ แถมกู้ผ่านได้ง่ายกันนะครับ
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา