6 วิธีจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

6 วิธีจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ

icon-access-time Posted On 04 มีนาคม 2567
By Krungsri The COACH
เคยสังเกตกันไหมว่าช่วงนี้เศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีนัก การหารายได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมค่าครองชีพกลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ในสถานะที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ จนทำให้เกิดการเป็นหนี้ โดยเฉพาะ “หนี้นอกระบบ” ที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทย หนี้นอกระบบเกิดจากการยืมเงินกับบุคคลต่าง ๆ ที่มีการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริง เช่น เดือนละ 10% ทำให้หลายคนเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น พอคืนเงินไม่ไหวก็มีโอกาสถูกเจ้าหนี้ประจานและทำร้ายร่างกายได้ Krungsri The COACH อยากชวนทุกคนมาตรวจสอบตัวอย่างว่าเรามีโอกาสเข้าข่ายเป็นหนี้นอกระบบหรือไม่ และจะมีวิธีจัดการเงินในกระเป๋าอย่างไรให้ปลอดภัยและห่างไกลจากหนี้นอกระบบเหล่านี้
 
สำรวจพฤติกรรมตัวเองว่ามีโอกาสเป็นหนี้นอกระบบไหม

สำรวจ 5 พฤติกรรมการใช้ชีวิตตัวเองว่ามีโอกาสเป็นหนี้นอกระบบหรือไม่?

การใช้ชีวิตและการใช้เงินของเรานั้นจะเป็นตัวตัดสินเลยว่าตัวเรานั้นมีโอกาสที่จะเป็นหนี้หรือไม่ และพฤติกรรมเสี่ยง 5 ข้อเหล่านี้ ได้แก่
 

1. ใช้จ่ายอย่างไม่คิด

เจออะไรที่อยากได้ก็ซื้อทุกอย่าง ใครชวนไปไหนไปกินอะไรก็ไปด้วยตลอด โดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าเรามีเงินอยู่ในกระเป๋าเท่าไหร่ หากเราใช้เงินไปเรื่อย ๆ จนเงินหมด ก็ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่นมาใช้
 

2. ไม่มีเงินออมและเงินสำรองเผื่อไว้

หลายคนอาจจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอต่อเดือน แต่ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน พอเจอเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินก็อาจจะทำให้หาทางออกไม่ได้ ต้องไปยืมเงินคนอื่นมาจัดการปัญหา
 

3. หวังรวยทางลัด

ด้วยการนำเงินไปซื้อหวยหรือเล่นการพนันอย่างหมดตัว เพราะหวังว่าชนะ 1 ครั้งอาจจะเปลี่ยนชีวิตได้ แต่ยิ่งเล่นยิ่งเสีย เงินที่เหลือก็ไม่พอใช้ กลายเป็นว่าต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นอีก
 

4. มีทัศนคติแปลก ๆ เกี่ยวกับเงิน

ตัวอย่างเช่น ใช้ ๆ เงินไปเถอะไม่ตายก็หาใหม่ได้ หรือการเป็นคนรวยก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุข ทัศนคติเหล่านี้ทำให้หลาย ๆ คนไม่สนใจเรื่องการเงิน ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นหนี้ได้สูง
 

5. ไม่อยากสนใจเรื่องเงิน

หลายคนรู้สึกว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่ฟังแล้วเครียดแถมน่าเบื่อเป็นอย่างมาก ไม่อยากจะรับรู้และยุ่งอะไร มีเงินก็ใช้ ๆ ไปก็พอแล้ว ถ้าไม่มีเดี๋ยวไปหายืมเอาก็แค่นั้น
 
วิธีจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ

Financial Tips by Krungsri The COACH

6 วิธีการจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ

สำหรับใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าไม่อยากเป็นหนี้นอกระบบเลย Krungsri The COACH อยากจะขอแนะนำ 6 วิธีการดี ๆ ที่เราจะต้องทำกันจนเป็นนิสัย ไม่ต้องพบกับความเสี่ยงในการเป็นหนี้นอกระบบ
 
  1. รู้จักตัวเองว่าเป็นคนใช้เงินอย่างไร
    สิ่งแรกที่เราจะต้องเริ่มคือการรู้ตัวเองก่อนว่า เราเป็นคนอย่างไร เรามีนิสัยการใช้เงินอย่างไร และเราใช้เงินไปกับเรื่องอะไร โดยเทคนิคง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้คือการจดบันทึกรายรับรายจ่าย แล้วลองนำมาตรวจสอบดูว่าเรามีความเสี่ยงที่จะใช้เงินเกินตัวไหมและเราควรจะปรับปรุงพฤติกรรมในการใช้เงินในแต่ละวันอย่างไร

  2. วางแผนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
    หลังจากที่เราตรวจสอบรายรับรายจ่ายแล้ว เราอาจจะพบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเตรียมตัวไปทำงานในช่วงเช้า ๆ เราอาจจะลืมหยิบของใช้ส่วนตัวบางอย่างใส่กระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง หูฟัง สายชาร์จโทรศัพท์ ทำให้ต้องแวะซื้อใหม่ก่อนเข้าทำงานอยู่เสมอ ๆ ทำให้เสียเงินในแต่ละเดือนก็เยอะมาก ตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเลย ซึ่งเราสามารถกลับมาแก้ปัญหาด้วยการเช็กของก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง หรือหลายคนอาจจะชอบซื้อของด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เห็นเพื่อนซื้อก็ซื้อตาม แล้วเรามาเห็นรายจ่ายที่หลังแล้วรู้ว่าจริง ๆ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็น และเราควรจะลดรายจ่ายในลักษณะนี้ในอนาคตแค่นี้ก็ทำให้เราสามารถอุดรอยรั่วทางการเงินได้
     
    จัดสรรเงินในการใช้จ่ายเพื่อไม่ให้ทำให้เกิดหนี้นอกระบบ

  3. ตั้งงบประมาณในการใช้จ่ายกับสิ่งที่ชอบ
    หากเราเคยเป็นคนหนึ่งที่จ่ายเงินไปกับทุกสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง หรือแม้แต่การซื้อกาแฟ ชานมไข่มุกดื่มตลอดเวลา จนทำให้เราไม่เหลือเงินเก็บ จริง ๆ แล้วเราสามารถซื้อของที่เราชอบได้เหมือนเดิมโดยการตั้งงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายในแต่ละวันหรือแต่ละเดือน

    ตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าหมายเลยว่าในแต่ละเดือนเราจะซื้อเสื้อผ้าได้ไม่เกิน 2,000 บาท เครื่องสำอาง 1,000 บาท และเลือกทานกาแฟ หรือชานมไข่มุกได้สัปดาห์ละ 500 บาทเท่านั้น การกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายจะทำให้เราประหยัดได้มากขึ้นแถมยังทำให้เราได้ซื้อของที่เราต้องการได้เหมือนเดิม

  4. มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
    การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนั้นจะช่วยให้เรามีตัวช่วยในยามจำเป็นจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราอาจจะไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ตัวอย่างเช่น อยู่ ๆ ที่บ้านหลังคารั่วต้องรีบซ่อม ก็สามารถใช้เงินในส่วนนี้ได้เลย หรือในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา หลายคนต้องถูกให้ออกจากงานไม่มีรายได้ หากเรามีเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้ใช้ก็สามารถประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราควรจะมีเงินเก็บส่วนนี้เอาไว้ประมาณ 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนของเรา เช่น เรามีรายจ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรมีเงินอย่างน้อย 60,000 บาทสำรองเอาไว้ หากใครยังไม่มีเงินก้อนนี้ก็ค่อย ๆ ทยอยเก็บจนครบก็ได้
     
    การวางแผนการเงินเพื่อรักษาเครดิตที่ดีสำหรับการกู้หนี้ในระบบ

  5. สร้างเครดิตให้ตัวเองเผื่อการกู้หนี้ในระบบ
    หลายคนที่ยอมเป็นหนี้นอกระบบนั้น อาจจะเป็นเพราะมีความต้องการใช้เงินแต่ไม่สามารถกู้หนี้ในระบบกับทางธนาคารได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการกู้หนี้หรือขอสินเชื่อไม่ใช่เรื่องผิดอย่างไรเพราะเราอาจจะต้องการใช้เงินเพื่อโอกาสในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำธุรกิจ ซึ่งการกู้เงินกับทางธนาคารจะมีดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ซึ่งเราจะต้องเริ่มสร้างเครดิตกับทางธนาคาร เช่น มีเงินฝากกับทางธนาคารสม่ำเสมอ และมีการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ มีเงินออมในบัญชีทุกเดือน และเมื่อมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อย่าปล่อยให้ค้างนาน ซึ่งพฤติกรรมการใช้เงินที่ดีจะทำให้ธนาคารรู้จักเรามากขึ้นและทำให้เราสามารถขอกู้เงินในระบบได้มากขึ้นในอนาคต

  6. มีวินัยทางการเงินตลอดเวลา
    การที่เราจะประสบความสำเร็จทางการเงิน มีชีวิตโดยปราศจากหนี้นอกระบบ เราจะต้องมีวินัยทางการเงินอยู่เสมอ ตั้งแต่การจดบันทึกรายรับรายจ่ายอยู่เสมอ การวางแผนลดรายจ่ายไม่จำเป็นตลอดเวลา ใช้เงินตามงบประมาณที่เราวางแผนไว้ในทุก ๆ เดือนโดยไม่มีข้ออ้างให้กับตัวเอง มีการออมเงินตามแผนทุก ๆ เดือน หากเราทำแบบนี้ได้ อย่างไรก็มีชีวิตที่ดี ไม่มีหนี้อย่างแน่นอน
     
    6 วิธีการจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบ
 
โดยสรุปแล้ว การใช้ชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยดี เราจะต้องรู้ตัวเองอยู่เสมอและหาทางจัดการเงินเพื่อให้ชีวิตเราไม่เข้าไปสู่วังวนของการเป็นหนี้นอกระบบ อย่าลืมนำ 6 วิธีการจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบของ Krungsri The COACH ไปลองปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี และสามารถใช้ชีวิตดีกันได้ทุกวัน
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา