เปลี่ยน หนี้นอกระบบให้เป็นในระบบ ทำได้จริงด้วยตัวเอง
รอบรู้เรื่องยืมเงิน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เปลี่ยน "หนี้" นอกระบบให้เป็นในระบบ ทำได้จริงด้วยตัวเอง

icon-access-time Posted On 09 มิถุนายน 2566
By Krungsri The COACH
“เรื่องหนี้" เป็นปัญหาที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยพบเจอ แต่รู้กันไหมว่า? หนี้มีด้วยกันหลายแบบ ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “หนี้นอกระบบ” ดอกเบี้ยที่แสนโหดและไม่ถูกกฎหมาย หากใครที่เป็นหนี้นอกระบบแล้วไม่รู้จะทำยังไง ปรึกษาใครได้บ้าง ในบทความนี้จะพาไปดูวิธีเปลี่ยนหนี้นอกระบบ ให้กลายเป็นหนี้ในระบบได้แบบง่าย ๆ
 
หนี้นอกระบบ คืออะไร

ก่อนอื่นเลยเราต้องมารู้จักความหมายของหนี้ทั้งสองแบบก่อนว่ามีความหมาย ความต่าง และ ความเหมือน ยังไงกันบ้าง…

หนี้นอกระบบ คืออะไร?

หนี้นอกระบบคือ หนี้ที่เราไปยืมเงินบุคคลทั่วไป โดยที่จะเป็นการยืมแบบปากเปล่า หรือมีหนังสือสัญญาการยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน เราอาจจะเคยเห็น กู้เงินด่วน มาผ่านตากันบ้างตามใบปลิว หน้าเว็บต่าง ๆ หรือปล่อยกู้กันเองภายในกลุ่มคน ซึ่งขั้นตอนการขอกู้เงินนอกระบบ เป็นวิธีที่ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน สามารถเอ่ยปากขอกู้ และก็ได้เงินทันทีเลย โดยที่ไม่ต้องแนบเอกสารสเตทเม้นย้อนหลัง หรือหลักฐานแสดงรายได้ ฯลฯ


หนี้นอกระบบ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้ดังนี้

  • ยืมคนใกล้ชิด: คือการยืมเงินจากญาติ พี่น้อง เพื่อนสนิท คนใกล้ตัว ส่วนดอกเบี้ยก็คุยกันตามตกลงแต่ไม่ถึงขั้นเก็บดอกเบี้ยโหดเหมือนหนี้นอกระบบหรือเจ้าหนี้เชิงพาณิชน์
  • ยืมนอกระบบแบบเชิงพาณิชย์: คือการกู้หนี้นอกระบบ ที่ได้เงินง่าย มีความสะดวกสบาย ได้ไว พ่อค้าแม่ขายมักกู้ยืมเงินประเภทนี้มาก เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปขอสินเชื่อจากในระบบ เนื่องจากกว่าจะยื่นกู้ได้ ต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ซึ่งมีขั้นตอนเยอะ พ่อค้าแม่ขายที่ต้องการนำเงินมาหมุนให้ธุรกิจดำเนินต่อไปจึงนิยมไปกู้หนี้นอกระบบเชิงพาณิชย์กันซะส่วนใหญ่

หนี้นอกระบบ มีดอกเบี้ยที่ค่อนข้างโหดมาก ตามมาตรฐานทั่วไปที่เรียกเก็บดอกเบี้ยก็จะอยู่ที่ 10-20% ต่อเดือน แต่ถ้าโหดขึ้นไปอีกก็คือการเก็บดอกเบี้ยแบบรายวันจะตกอยู่ที่ 2-5% ต่อวันเลยทีเดียว
 
หนี้ในระบบ คืออะไร

หนี้ในระบบ คืออะไร?

มาต่อกันที่หนี้ในระบบกันบ้าง หนี้ในระบบ คือ การที่เราไปขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยที่หนี้ในระบบก็จะมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ฯลฯ

4 วิธีเปลี่ยน “หนี้นอกระบบ” ให้เป็น “หนี้ในระบบ”

เป็นหนี้นอกระบบ แล้วไม่รู้จะทำยังไงดี อยากให้คลายความกังวลลงแล้วมาดูวิธีการเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบกันก่อน การเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ จะไม่ใช่การโยกหนี้ จากหนี้นอกระบบมาให้เป็นหนี้ในระบบ แต่มันจะเป็นการที่เราไปขอสินเชื่อเพื่อปิดหนี้นอกระบบ และเปลี่ยนการผ่อนเงินกู้กับเจ้าหนี้นอกระบบมาผ่อนกับสถาบันการเงินแทนนั้นเอง


1. เตรียมตัวเองให้พร้อม

ก่อนจะขอสินเชื่อปิดหนี้นอกระบบ ให้ลองลิสต์รายการหนี้นอกระบบที่เรามีว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้ว หรือมีเจ้าหนี้นอกระบบอยู่กี่เจ้า ทำการทยอยชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญเลย ที่จะไม่ทำไม่ได้ คือพยายามไม่ก่อหนี้นอกระบบใหม่ขึ้นมาอีก อย่าไปกู้หนี้นอกระบบใหม่มาโป๊ะหนี้เก่า ไม่งั้นจะวนลูปไม่จบไม่สิ้น ให้เราหันกลับมาสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของเรา สิ่งที่ไม่จำเป็นก็ตัดออกไปจากค่าใช้จ่าย ถ้าหากรายได้ทางเดียว ไม่พอสำหรับการใช้หนี้ ให้หารายได้เสริมเข้ามาเพื่อที่จะเอามาผ่อนจ่ายเจ้าหนี้นอกระบบให้ยอดเหลือน้อยที่สุด
 
ทำรายการรายรับรายจ่าย เพื่อเตรียมเปลี่ยนหนี้นอกระบบ


2. ทำรายการรายรับรายจ่าย

จะสอดคล้องมาจากข้อแรกที่ได้กล่าวไปว่าให้สำรวจตัวเองว่า รายรับรายจ่ายของเราเนี่ยมันสมดุลกันไหม ให้ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายขึ้นมา ถ้าเกิดรายจ่ายมากกว่ารายรับเราก็ต้องมานั่งดูแต่ละรายการว่า เอ๊ะ! รายการไหนบ้างนะที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเราถ้าตัดได้ก็ตัดออกไปซะ หรือสิ่งไหนที่เราคิดว่าเราสามารถประหยัดได้ก็ประหยัดเอาไว้ก่อน ตัวอย่างเช่น ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าสตรีมมิ่งออนไลน์ ฯลฯ ถ้าเราประหยัด และนำเงินส่วนนี้มารวม ๆ กันดูแล้วมันก็เยอะไม่น้อยเลยนะในแต่ละเดือน เราสามารถเอาเงินส่วนนี้ไปเป็นเงินในการผ่อนชำระหนี้นอกระบบได้เลย มากไปกว่านี้อย่าช้อปเพลินเกินงบกันนะยิ่งช่วงต้น กลางปี ปลายปี หรือโปรโมชันต่าง ๆ อย่าได้เผลอคล้อยตามเชียวไม่งั้นล่ะก็อาจจะเป็นหนี้ก้อนใหม่ขึ้นมาก็ได้


3. คุยกับเจ้าหนี้

ลองคุยกับเจ้าหนี้ดูเพื่อที่จะขอประณีประนอมหนี้ อาจจะเป็นการขอลดดอกเบี้ยลงหรือจะเป็นระยะเวลาการขอจ่ายดอกเบี้ยก่อน หากพร้อมแล้วจะค่อยคืนต้น แต่ถ้าเรามีหนี้หลายก้อน เราต้องปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน หรือถ้าหนี้ก้อนไหนเรามีเงินมาโปะให้หมดไปก่อนก็เจรจาปิดหนี้ก่อน เพื่อที่ดอกเบี้ยจะได้ไม่บานปลายไปมากกว่าที่มีอยู่ตอนนี้


4. ปรึกษาสถาบันการเงิน

ถ้าถามว่าเป็นหนี้นอกระบบปรึกษาใครได้บ้าง คำตอบนั้นก็คือธนาคาร โดยสามารถเข้าไปปรึกษาสถาบันการเงินว่าเราเป็นหนี้นอกระบบอยู่นะตอนนี้และอยากที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินไปปิดหนี้นอกระบบ ซึ่งสถาบันการเงินหลายที่มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคล โดยจะมี 2 แบบ คือ มีหลักค้ำประกันกับแบบที่ไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน แน่นอนว่าการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และเอาไปปิดหนี้นอกระบบก็ต้องมีดอกเบี้ยในการกู้เงินอยู่แล้ว แต่ว่าดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายก็ยังถูกกว่าดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบเยอะมากอีกทั้งยังอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งจะไม่มีการขับรถมาทวงหนี้ถึงหน้าบ้านแบบโหด ๆ แน่นอน เพราะทุกอย่างเมื่อเข้าในระบบ การทวงหนี้ก็จะเป็นระบบด้วยเช่นเดียวกัน

สรุป วิธีรับมือกับเจ้าหนี้นอกระบบ

อย่าปล่อยให้หนี้นอกระบบตัวร้ายมากวนใจเราอีกต่อไป มาแปลงหนี้นอกระบบให้เข้าไปในระบบกันดีกว่า จากวิธีที่ได้กล่าวไปข้างต้น เชื่อว่าจะเป็นแนวทางให้กับพ่อค้าแม่ขายที่กำลังมีหนี้นอกระบบอยู่ หรือใครหลาย ๆ คนที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ เพียงแค่เราเรียนรู้ที่จะรับมือกับเจ้าหนี้นอกระบบให้ดีและวางแผนการเงินในอนาคตให้มั่นคงแค่นี้เราก็จะไม่กลับไปเป็นหนี้อีกแล้ว

อ้างอิง
https://www.set.or.th
https://www.debtclinicbysam.com
https://www.bangkokbiznews.com/business/968591
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา