ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) จากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ การเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรม และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ
ในฐานะผู้บริโภค เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การประหยัดพลังงาน การเลือกใช้ขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงการให้ความสำคัญ และสนับสนุนโครงการ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากธนาคารสีเขียว หรือองค์กรที่มีนโยบายส่งเสริมความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในวิธีที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย ๆ คือการออมเงิน หรือลงทุนอย่างยั่งยืนผ่าน
“เงินฝากสีเขียว” (Green Deposit) ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ฝากเงินได้ร่วมสนับสนุนแนวคิดของธนาคารสีเขียวอีกด้วย
เงินฝากสีเขียวคืออะไร ทำไมถึงเป็นการออมเงินเพื่อการลงทุนที่รักษ์โลก
เงินฝากสีเขียว (Green Deposit) คือ การออมทรัพย์ที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม จัดเป็นการลงทุนทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมในผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปกับการสนับสนุนความยั่งยืน
เงินฝากสีเขียวจะมีความแตกต่างจากเงินฝากประจำทั่วไปตรงวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้ โดยธนาคารจะนำเงินฝากสีเขียวไปสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจ หรือโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology)
ดังนั้น นอกจากผู้ฝากจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยแล้ว ยังเท่ากับได้มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อโลกทางอ้อมด้วย แต่ละธนาคารจะมีกรอบการพิจารณา และคัดเลือกโครงการหรือธุรกิจสีเขียวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ธนาคารสีเขียวคืออะไร เกี่ยวข้องกับเงินฝากสีเขียวอย่างไร
ธนาคารสีเขียว (Green Bank) เป็นสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม มีแนวคิดหลักคือการเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการสีเขียว (Green Projects) หรือธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบเชิงบวก และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เงินฝากสีเขียวจึงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สำคัญของธนาคารเหล่านี้นั่นเอง
ESG คืออะไร รู้เพื่อให้เข้าใจการทำงานของเงินฝากสีเขียวมากขึ้น
การทำความเข้าใจองค์ประกอบของ ESG จะช่วยให้เห็นภาพการทำงานของเงินฝากสีเขียวชัดเจนขึ้นว่า สามารถช่วยดูแลโลกได้อย่างไร โดย ESG คือ กรอบแนวคิดที่ใช้ประเมินการดำเนินงานขององค์กร โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงผลกำไรทางการเงิน แต่ให้ความสำคัญกับปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่
1. สิ่งแวดล้อม หรือ Environmental (E)
การที่ธุรกิจตระหนักถึงผลกระทบจากการดำเนินงานต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุด เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการของเสียและมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการรีไซเคิล และการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
2. สังคม หรือ Social (S)
การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชนโดยรอบ ซึ่งรวมถึงการดูแลสวัสดิภาพพนักงาน การให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน และการสร้างความเท่าเทียมในองค์กร
3. ธรรมาภิบาล หรือ Governance (G)
เน้นเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการองค์กร การมีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ชัดเจน และการดำเนินงานที่ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
เงินฝากสีเขียวทำงานอย่างไร ถึงสนับสนุน ESG และรักษ์โลก
หลักการทำงานของเงินฝากสีเขียว (Green Deposit) นั้นไม่ซับซ้อน โดยธนาคารจะนำเงินที่ลูกค้าฝากไว้ผ่านผลิตภัณฑ์นี้ ไปจัดสรรเพื่อการให้สินเชื่อ หรือ
ลงทุนในธุรกิจ ESG โดยธนาคารสีเขียวจะมีกระบวนการคัดเลือกธุรกิจ หรือโครงการเหล่านี้อย่างรอบคอบ โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. Environmental (สิ่งแวดล้อม)
พิจารณาการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
2. Social (สังคม)
พิจารณาการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ความเป็นอยู่ของสังคมทั้งภายในและนอกบริษัท
3. Governance (ธรรมาภิบาล)
พิจารณาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีแนวทางบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน ต่อต้านการทุจริต และคอร์รัปชัน
ตัวอย่างธุรกิจหรือโครงการ ESG ที่ธนาคารสีเขียวสนับสนุน
- พลังงานทดแทน : เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
- เกษตรกรรมยั่งยืน : เช่น โครงการเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรอัจฉริยะ
- การจัดการทรัพยากรน้ำ : เช่น โครงการบำบัดน้ำเสีย หรืออนุรักษ์น้ำ
- การจัดการขยะ : เช่น โครงการรีไซเคิล หรือกำจัดขยะอย่างถูกวิธีเพื่อลดการปล่อยสารพิษจากขยะอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม
- การคมนาคม : เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ หรือพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า
- อาคาร : เช่น โครงการก่อสร้างอาคารเขียวที่ประหยัดพลังงาน
5 ข้อดีของเงินฝากสีเขียวกับธนาคารสีเขียว
การเลือกฝากเงินในบัญชีเงินฝากสีเขียวกับธนาคารสีเขียว หรือธนาคารที่มีนโยบายสนับสนุนโครงการเพื่อความยั่งยืนนั้น มีข้อดีหลายประการที่น่าสนใจ ทั้งต่อตัวผู้ฝากเองและต่อโลกโดยรวม ดังนี้
1. สนับสนุนสิ่งแวดล้อม
เงินฝากประจำของลูกค้าจะถูกนำไปลงทุนในธุรกิจหรือ
โครงการสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางน้ำ อีกทั้งยังสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตรยั่งยืน
2. สร้างผลตอบแทนทางการเงิน
ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝาก และบางธนาคารอาจเสนอดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับเงินฝากประจำแบบรักษาสิ่งแวดล้อมหรือเงินฝากสีเขียว
3. สร้างผลตอบแทนทางสังคม
มีส่วนร่วมและสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี
แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
5. เป็นทางเลือกการออมเงินที่ยั่งยืน
สร้างความยั่งยืนทั้งเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน และสร้างผลดีต่อโลกอย่างยั่งยืน
ข้อจำกัดของเงินฝากสีเขียวที่ควรรู้
แม้ว่าเงินฝากสีเขียวจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ผู้สนใจควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เข้าใจภาพรวม และสามารถวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
- ผลตอบแทนอาจไม่สูงเท่าเงินฝากประเภทอื่น : ในบางกรณี อัตราดอกเบี้ยของเงินฝากสีเขียวอาจต่ำกว่าเงินฝากประจำทั่วไปเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนในการคัดกรอง และบริหารจัดการโครงการที่เน้นความยั่งยืน
- เงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าถึง : บางผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียวอาจกำหนดจำนวนเงินฝากขั้นต่ำที่ค่อนข้างสูง หรือมีระยะเวลาการฝากที่ยาวนาน
- ตัวเลือกโครงการที่จำกัด : ธนาคารอาจมีกรอบการลงทุนในโครงการสีเขียวที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจจำกัดความหลากหลายของประเภทโครงการที่เงินของผู้ฝากจะถูกนำไปสนับสนุน
- ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ : แม้ว่าโครงการสีเขียวจะมุ่งเน้นความยั่งยืน แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานของโครงการ หรือการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ความแตกต่างระหว่างเงินฝากทั่วไป และเงินฝากของธนาคารสีเขียว
โดยปกติแล้ว เงินฝากทั่วไปนั้น จะมีอยู่ในรูปแบบทั้งเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ แต่สำหรับเงินฝากของธนาคารสีเขียว นั้นจะอยู่ในรูปแบบของเงินฝากประจำเท่านั้น โดยจะมีความแตกต่างกันตรงที่วัตถุประสงค์ของการนำเงินไปลงทุนของธนาคาร
ในกรณีของเงินฝากทั่วไป ธนาคารจะนำไปลงทุนหรือปล่อยสินเชื่อให้กับคนทั่วไป หรือสินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการต่าง ๆ
แต่สำหรับเงินฝากของธนาคารสีเขียวนั้น ธนาคารจะนำเงินฝากนั้นไปลงทุนหรือปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน
โดยแต่ละธนาคารสีเขียวจะมีเกณฑ์การคัดเลือกธุรกิจหรือโครงการภายใต้เงื่อนไขของเงินฝากสีเขียวที่แตกต่างกันไป
จะเห็นได้ว่าเงินฝากของธนาคารสีเขียว (Green Deposit) หรือการออมเงินเพื่อการลงทุนที่รักษ์โลก นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งลูกค้าสามารถออมเงินเพื่อการลงทุน มีส่วนช่วยสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ธนาคารดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนผ่านการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ในประเทศไทยมีธนาคารสีเขียวหรือบริการเงินฝากสีเขียวบ้างหรือยัง?
ในปัจจุบันเริ่มมีธนาคารหลายแห่งที่เปิดให้บริการเงินฝากสีเขียว (Green Deposit) หรือการออมเงินเพื่อการลงทุนที่รักษ์โลก โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่เป็นผู้ให้บริการเงินฝากสีเขียว ที่มีชื่อว่า Sustainable Deposits หรือเงินฝากเพื่อความยั่งยืน โดยลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดไว้เท่านั้น อย่างเช่น ต้องมียอดขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท สำหรับออมเงินเพื่อการลงทุนที่รักษ์โลก
เงินฝากสีเขียว หรือ Green Deposit จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่มีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมทางอ้อม และสามารถนำมาใช้ออมเงินเพื่อการลงทุนในรูปเงินฝากประจำ เพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ เช่น สร้างความมั่นคงทางการเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ เช่น สะสมเงินก้อน หรือเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งสัดส่วนการออมเงินเพื่อการลงทุนที่เหมาะสมนั้น ไม่มีมาตรฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น รายได้ รายจ่าย หนี้สิน เป้าหมายทางการเงิน ระยะเวลา และผลตอบแทนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ Krungsri The COACH ขอแนะนำบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีความสนใจต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการส่งเสริมการลดโลกร้อน สามารถสะสมทรัพย์เพื่อการลงทุนผ่านบริการเงินฝากสีเขียวของธนาคารกรุงศรีเพื่อการลงทุนที่รักษ์โลก และยังมีส่วนร่วมสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี ไปพร้อม ๆ กัน อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกรุงศรีและธนาคารอื่น ๆ รวมถึงผลตอบแทนที่ได้รับในแต่ละธนาคารด้วยความละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในธนาคารสีเขียว
โดยสรุปแล้ว เงินฝากสีเขียวนับเป็นเครื่องมือทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากการออม ควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมตามหลัก ESG การทำความเข้าใจในหลักการทำงาน ข้อดี และข้อจำกัดของ เงินฝากสีเขียว รวมถึงบทบาทของธนาคารสีเขียว จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายส่วนตัว และยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเราได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง
อ้างอิง