เทรนด์ลงทุน ESG มาแรง ชี้เป้ากองทุนน่าเก็บเข้าพอร์ต
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เทรนด์ลงทุน ESG มาแรง ชี้เป้ากองทุนน่าเก็บเข้าพอร์ต

icon-access-time Posted On 14 ธันวาคม 2566
By Krungsri The COACH
การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นแนวคิดการทำธุรกิจที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการที่บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบอีก 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) การกำกับดูแล (Governance) หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า ESG นั้น ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสังคม สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทได้มาก รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์บริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว (Sustainability)
ความสนใจในธุรกิจ ESG

ทำไม? เราจึงควรลงทุนในธุรกิจ ESG ถ้าอยากให้พอร์ตเราเติบโต

1. ความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ

บริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG มักจะได้เปรียบในแง่การแข่งขันทางธุรกิจ เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคจะหันมาให้ความสนใจกับสินค้าที่ได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิตที่มีความยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถรีไซเคิล หรือย่อยสลายได้

ตัวอย่างงานวิจัย โดย ศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ ฮิลล์ อาเซียน (Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN: HILL ASEAN) ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย ผ่านช่องทางออนไลน์ รวม 4,500 คน โดยเป็นชาวอาเซียน 6 ประเทศ

ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าทั้งชายและหญิง ที่มีอายุระหว่าง 20-49 ปี 86% ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง ส่วนผู้บริโภคที่กว่า 80% ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้บริโภค 81% เต็มใจจ่ายแพงขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
(ที่มา https://positioningmag.com )
 

2. มีความโปร่งใส และตรวจสอบธุรกิจให้ไร้การทุจริต

หากบริษัท หรือองค์กรใดที่คำนึงถึง ESG แน่นอนว่าหนึ่งในหลักสำคัญ คือ การให้ความสำคัญในการบริหารธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น มีการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต มีนโยบายการจัดการด้านภาษี โครงสร้างผู้บริหารที่ชัดเจน และมีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส หรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ภายในองค์กรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดการทุจริตในองค์กร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
 

3. ความน่าเชื่อถือของบริษัทส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้น

จากข้อมูลสรุปรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ยึดหลัก ESG แสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุน และผู้ให้กู้ จากการศึกษาของ Gallup ที่เผยแพร่ในปี 2565 พบว่า 48% ของนักลงทุน สนใจที่จะลงทุนในบริษัทที่เน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ในขณะที่การสํารวจของ Dow Jones ในปี 2565 ได้สำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจำนวน 200 คน คาดการณ์ว่าจะลงทุนในธุรกิจ ESG จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในอีกสามปีข้างหน้า

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคกังวลในเรื่องโรคระบาด และอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ผลักดันให้นักลงทุน และผู้ให้กู้ สนใจร่วมลงทุนกับบริษัทที่ทำธุรกิจแบบยั่งยืนมากขึ้น และมองเห็นว่าบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG มักมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงในเรื่องดังกล่าว เช่น ความเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท และความเสี่ยงที่มีผลต่อการทำธุรกิจกับคู่ค้า และลูกค้า ซึ่งมีผลต่อรายได้ และผลการดำเนินงานของบริษัท
(ที่มา https://news.gallup.com)
 

4. บริษัทมีแผนธุรกิจที่รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

บริษัทเหล่านี้มักมีแผนงาน และเป้าหมายระยะยาว ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า ทำให้มีแผนงานเพื่อรับมือ รวมทั้งปรับตัวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บริษัทสามารถลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจของสังคม ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว
 

5. สร้างความเชื่อใจให้กับลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ได้เรื่อย ๆ

ปัจจัยเรื่อง ESG ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค นำมาซึ่งความเชื่อใจ วางใจ และนำไปสู่ความภักดีของลูกค้า รวมถึงการบอกต่อที่จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าให้มีมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ธุรกิจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในการสํารวจปี 2565 ที่จัดทําโดย Accenture จากผู้บริโภคมากกว่า 25,000 รายใน 22 ประเทศ

รายงานว่า จากเหตุการณ์ Pandamic COVID 19 ผู้บริโภคจำนวน 50% ของการสำรวจ ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มสําหรับธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจรักษ์โลก ใส่ใจสังคม และพร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้
(ที่มา https://www.accenture.com)
 
ผลตอบแทนของธุรกิจที่ยึดหลัก ESG

มาดูตัวอย่างกันว่ามีบริษัทชั้นนำไหนบ้าง ที่มีการตื่นตัวอย่างมากในเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน

3 บริษัทชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน

1. บริษัท Microsoft

ได้กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า จะลดคาร์บอนลงภายใน 7 ปี หรือภายในปี 2573 ซึ่งบริษัทให้คํามั่นว่าจะกําจัดคาร์บอนทั้งหมดที่บริษัท ปล่อยออกมานับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2518 นอกจากนี้ Microsoft ยังลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน ใช้หลักการเรื่องพลังงานหมุนเวียนเป็นตัวขับเคลื่อนในระบบการผลิต เพื่อลดจำนวนขยะ หรือของเสียที่เกิดจากการดำเนินงาน เป็นต้น
(ที่มา https://www.microsoft.com)
 

2. บริษัท VISA

ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีการชำระเงิน มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่ใส่ใจเรื่อง ESG เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส นำพาไปสู่กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
(ที่มา https://usa.visa.com)
 

3. บริษัท Republic Services Inc.

เป็นผู้ให้บริการในการจัดการกับขยะที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทจะดำเนินการเกี่ยวกับการกำจัดขยะ การบำบัดขยะ และการรีไซเคิล เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้บริษัทเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทอันดับหนึ่งในดัชนี DJSI World (Dow Jones Sustainability North America Index) ประจำปี 2559 ในด้านการกำกับดูแลความเป็นผู้นำองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม
(ที่มา https://investor.republicservices.com)

โดยสรุป บริษัทที่ให้ความสำคัญกับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปโดยคำนึงปัจจัย ESG มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า มีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีในระยาว มีภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภค เนื่องจากมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมีการกำกับกิจการที่ดีมีธรรมาภิบาล นอกจากนี้บริษัทที่ให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG นักลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาวจากการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม จากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นทำให้นี่คือเหตุผลที่เราควรลงทุนกับบริษัทที่ใช้หลัก ESG ในการดำเนินธุรกิจ
 
การลงทุนในกองทุนรวมในธุรกิจ ESG

สำหรับนักลงทุนที่อยากสร้างโอกาสการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ขอแนะนำกองทุนของ บลจ. กรุงศรี ที่มีกระบวนการลงทุนที่น่าสนใจ โดยมีการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้พิจารณาคัดเลือกหุ้น ดังนี้

1. กองทุน KFESG-A (กรุงศรี Equity Sustainable Global Growth-สะสมมูลค่า)

  • ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ “AB Sustainable Global Thematic Portfolio, Class S1 USD” (กองทุนหลัก)
  • ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)

2. กองทุน KFCLIMA-A (กรุงศรี ESG Climate Tech-สะสมมูลค่า)

  • ลงทุนในตราสารทุนของบริษัททั่วโลกที่มีธุรกิจหลักเกี่ยวกับการควบคุม หรือลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการดำเนินกิจการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ
  • ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)

3. กองทุน KFGBRAND-A (กรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้-สะสมมูลค่า)

  • ลงทุนในหุ้นบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ/มีชื่อเสียงใน Brand เช่น เครื่องหมายการค้า เจ้าของลิขสิทธิ์สินค้า หรือกลวิธีจัดจำหน่าย ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ “Morgan Stanley Investment Fund - Global Brands Fund”
  • ระดับความเสี่ยง : ระดับ 6 (เสี่ยงสูง)

คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • กองทุน KFGBRAND-A และ KFCLIKMA-A มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา