8 วิธีเซฟเงินในเป๋าให้เหลือเพียบ สวนทางยุคน้ำมันแพง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

8 วิธีเซฟเงินในเป๋าให้เหลือเพียบ สวนทางยุคน้ำมันแพง

icon-access-time Posted On 09 พฤษภาคม 2566
By Krungsri The COACH
น้ำมันราคาทยอยขึ้นเรื่อย ๆ ไหนจะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ราคาสูงขึ้นตามไปอีก เพราะเวลาน้ำมันแพงขึ้น สินค้าทุกอย่างก็ขึ้นราคาตามไปด้วย พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง จะมีวิธีรับมือยังไงได้บ้าง? วันนี้เรามีคำตอบมาช่วยหาทางออกให้ทุกคน ตามมาดูกันเลย!
 
น้ำมันราคาขึ้น

หลังสถานการณ์คลายล็อกดาวน์จากโควิด-19 หลาย ๆ คนคงเข้าใจว่าภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว และกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เคยทำก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดจะดีขึ้น แต่ทิศทางกลับตรงกันข้ามเมื่อสภาวะเศรษฐกิจโลกเจอวิกฤตอย่างเรื่องน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการมีเพิ่มขึ้นเพื่อกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทว่าอุปทานการผลิตน้ำมันกลับลดลงซึ่งสวนทางกับอุปสงค์ทางตลาด

ราคาน้ำมันดิบตกลงในรูปแบบทรงตัว (Holding Pattern) ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2565 โดยสถานการณ์ตลาดตอนนั้นยังชั่งน้ำหนักความเป็นไปได้ของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับกำลังการซื้อ และความต้องการจากประเทศจีนแล้วนับว่าเป็นผลลัพธ์ที่สวนทางกันค่อนข้างมากทีเดียว ช่วงสัปดาห์แรกของปี 2566 ราคาน้ำมันร่วงลง 9% ใน 2 วันของปีแรก อาจคาดการณ์ได้ว่าเป็นผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในวงกว้าง

จากการคำนวณของธนาคารโลก (World Bank) มองว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นเป็นผลจากปัญหาด้านการผลิต ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศผู้นำการผลิตน้ำมันของโลก ทำให้รัสเซียถูกจำกัดขอบเขตการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรทางการค้าใหม่ การตัดสินใจด้านการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และการผลิตในสหรัฐฯ ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน รวมไปถึงการมีน้ำมันสำรองในคลังที่ต่ำเกินไป ถึงแม้จะขยับขึ้นมาผลิตเพิ่มครั้งละ 400,000 บาร์เรลต่อวันก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของโลกอยู่ดี
หัวจ่ายน้ำมัน

ธนาคารโลกคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันปี 2566 ดังนี้

  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปี 2566 คาดเฉลี่ยที่ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วอยู่ที่ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • แม้ว่าราคาน้ำมันในปีนี้อาจลดลง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมีราคาบวกถึง 50% จากราคาเฉลี่ย 5 ปี นับจากปี 2563-2567
  • ราคาพลังงานยังแพงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ไปกระทบในวงกว้าง เช่น ค่าไฟ ค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าต้องแบกต้นทุนเพิ่ม และผู้ซื้อที่ต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น
  • แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาสินค้า เมื่อเทียบกับประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ ก็อาจกลายเป็นภัยร้ายแรงที่ทำให้ความเป็นอยู่ลำบากเพิ่มขึ้น

มาถึงตรงนี้แล้ว สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่สามารถผลิตน้ำมันภายในประเทศเองได้ ต้องหวังพึ่งการนำเข้าน้ำมันจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะนอกจากจะต้องบวกค่าการผลิตเพิ่มแล้ว สินค้านำเข้าก็ต้องเสียภาษีเพิ่มเช่นกัน อย่างเช่น ภาษีสรรพสามิต เก็บจากปริมาณน้ำมันที่ส่งออกจากโรงกลั่น หรือคลังน้ำมัน ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่ต้องคิดเพิ่มจากราคาขายน้ำมันหน้าปั๊ม แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าไทยจะไม่มีความหวัง เพราะหากจัดระบบก็ยังพอช่วยเยียวยาได้อยู่บ้าง เรามาเริ่มจัดการใช้จ่าย และวางแผนชีวิตเพื่อไม่ให้ค่าน้ำมันเป็นภาระตัวเองในอนาคตกันดีกว่า
 
ราคาน้ำมัน

8 วิธีรับมือกับราคาน้ำมันพุ่งสำหรับกลุ่มวัยทำงาน

สำหรับวิธีรับมือ และการปรับตัวของกลุ่มวัยทำงานอย่างเรา ๆ หรือคนที่มีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มวัยทำงานจะมีวิธีปรับตัวอย่างไรได้บ้าง มาดูกันดีกว่า

1. ใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น

โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวแล้วหันไปนั่งรถไฟฟ้า หรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง ใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะนอกจากจะไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวบ่อย ๆ แล้วก็ยังลดเวลาในการหาที่จอดได้อีกด้วย โดยเฉพาะคนในแถบตัวเมืองที่ต้องเสียค่าจอดรถเพิ่มหากจอดในสถานที่ทำงาน หรือลานจอดรถ ยิ่งลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้เยอะ ก็ยิ่งช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า

2. เดินบ้าง หากระยะทางไม่ไกลมาก

เปลี่ยนจากนั่งรถมาเดิน หากระยะทางไม่ไกลเกินไป อีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องนั่งอยู่ในห้องนาน ๆ หรือคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างมาออกกำลังกายทุกเย็น

3. ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เพิ่มทางเลือกใหม่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมจากเทคโนโลยีสุดล้ำที่เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้ทันสมัยมากขึ้น นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันแล้วยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นพิษต่อโลกได้อีกด้วย
 
ปั๊มน้ำมัน

4. เปลี่ยนชนิดน้ำมัน

คนที่รายได้ช่วง 10,001 – 100,000 บาทต่อเดือนอาจเปลี่ยนชนิดของน้ำมัน จากราคาน้ำมันเกรดพรีเมี่ยม อาจต้องลดชนิดน้ำมันลงมาในราคาประหยัดมากขึ้น

5. วางแผนก่อนเดินทาง

เช็กเส้นทาง และวางแผนการเดินทางทุกครั้งเพื่อลดเสี่ยงรถติด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำมันถูกเผาผลาญไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นอีกด้วย

6. เช็กสภาพรถยนต์เป็นประจำ

หมั่นตรวจเช็กสภาพรถยนต์ นอกจากจะช่วยยืดอายุของเครื่องยนต์แล้ว ยังช่วยประหยัดน้ำมันได้อีกด้วย เพราะถ้าเครื่องยนต์อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ก็อาจทำให้กินน้ำมันเพิ่มขึ้น เช่น เช็กไส้กรองอากาศเครื่องยนต์ เติมลมยางล้อรถยนต์

7. เลือกขนาดรถให้เหมาะกับการใช้งาน

เพราะถ้าเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ก็จะเจอปัญหากินน้ำมันมากกว่ารถยนต์ขนาดเล็ก เพราะการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ถังต้องใช้จำนวนหลายลิตร การเปลี่ยนขนาดรถยนต์ให้เล็กลงก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี

8. ควบคุมความเร็วระหว่างขับแต่พอดี

การใช้ความเร็วที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดน้ำมันได้สมควร เพราะการเบรก และเร่งออกตัวบ่อย ๆ จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมัน อีกทั้งยังเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกด้วย

สรุป
แม้ว่าเรื่องราคาน้ำมันขึ้นจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่ความน่ากังวลของสภาวะเศรษฐกิจก็ค่อนข้างเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนในประเทศ การแก้ปัญหานี้ในภาพรวมอาจต้องใช้เวลา ไม่สามารถปรับลดได้ทันที สิ่งที่คนอย่างเรา ๆ พอจะทำได้ก็มีแค่เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการใช้รถยนต์ และถนนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้การลดใช้รถยนต์ส่วนตัวแล้วเปลี่ยนมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้นนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังช่วยทำให้เราประหยัดเงินในกระเป๋ามากกว่าการขับรถยนต์ส่วนตัวซะอีก

อ้างอิง
https://thainews.prd.go.th
https://www.pptvhd36.com
https://th.investing.com
https://www.thansettakij.com
https://www.kitsadagoodcar.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา