แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2566-2568

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2566-2568

13 มกราคม 2566

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2566-68

 

ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะพิจารณาครอบคลุมทั้งปัจจัยด้านความท้าทายและโอกาสที่สะท้อนความน่าสนใจ (Attractiveness) ในการทำธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยภายในเฉพาะด้านของอุตสาหกรรมนั้น


ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค
 

เศรษฐกิจโลกปี 2566-2568: ประเทศแกนหลักมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางกระแส Deglobalization

  • ​​เศรษฐกิจโลกในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจาก 3.2% ในปี 2565 สู่ 2.7% ในปี 2566 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยสู่ราว 3.0% ในปี 2567-2568 แม้ว่าผลเชิงลบจากโรค COVID-19 จะคลี่คลายลงแต่หลายปัจจัยยังคงกดดันเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่นำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและวิกฤตพลังงานที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และอาจทำให้การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในปี 2565-2566 เพื่อคุมเงินเฟ้อ ท่ามกลางราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและภาระหนี้ของภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะซบเซารุนแรงในปี 2566 การชะลอตัวของอุปสงค์โลกอาจช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะถัดไป ซึ่งจะเปิดทางให้ประเทศแกนหลักสามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อประคองมิให้เศรษฐกิจอ่อนแอยาวนาน

  • ​เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตต่ำในปี 2566-68 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอลงจาก 1.6% ในปี 2565 เหลือ 1.0% ในปี 2566 และ 1.2% ในปี 2567 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นสู่ 1.8% ในปี 2568  อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกิน 8.0% ในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2565 และอาจยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.0% ต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่ง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 0-0.25% ในช่วงต้นปี 2565 สู่ระดับ 4.25-4.5% ณ สิ้นปี 2565 และคาดว่าจะอยู่ที่ 5.0-5.25% ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัว รวมทั้งการว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2566-2567 สำหรับในปี 2568 การเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มต่ำต่อเนื่อง แม้อาจปรับดีขึ้นบ้างจากการทยอยลดดอกเบี้ย โดยเฟดคาดว่าดอกเบี้ยจะลดลงสู่ 4.1% ในปี 2567 และ 3.1% ในปี 2568 แต่นับว่าเป็นระดับที่สูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่ 2.5% สะท้อนการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดซึ่งจะยังกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สหรัฐฯ อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการปรับดอกเบี้ยในขนาดและจังหวะที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่อาจทวีความรุนแรง   

  • เศรษฐกิจยูโรโซนจะเผชิญวิกฤตพลังงานที่รุนแรงและยืดเยื้อนาน โดยคาดว่าในช่วงปี 2566-2568 เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.4% ต่อปี ชะลอลงแรงจากที่ขยายตัว 3.1% ในปี 2565 ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่เข้าขั้นวิกฤต และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องชะลอแผนการลงทุนออกไป  ด้านการบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากค่าครองชีพที่สูงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย วิกฤตพลังงานที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออาจลดทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของกลุ่มอุตสาหกรรมในยูโรโซน ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 2.25% ณ สิ้นปี 2566 ขณะที่การคุมเข้มนโยบายการเงินท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจเป็นความเสี่ยงต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเปราะบาง อาทิ กรีซ อิตาลี และสเปน แม้คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่าวิกฤตหนี้ในปี 2553 เนื่องจากเครื่องมือ Transmission_Protection Instrument (TPI) ที่จะช่วยให้ ECB สามารถเข้าซื้อพันธบัตรของกลุ่มประเทศที่มีปัญหาได้ 

  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเติบโตต่ำจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าขยายตัวเฉลี่ย 1.3% ต่อปีในช่วงปี 2566-2568 จาก 1.7% ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการทยอยฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม 2565 ด้านการส่งออกโดยรวมอาจเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการฟื้นตัวในบางกลุ่ม โดยการผลิตและการส่งออกรถยนต์อาจปรับตัวดีขึ้นภายหลังปัญหาอุปทานคอขวดเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับผลบวกจากการอ่อนค่าของเงินเยน ด้านการบริโภคภาคครัวเรือน การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวังท่ามกลางความเสี่ยงจาก Deflationary mindset แม้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นและมีแผนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3.3% ในปลายปี 2565 ทั้งนี้ จากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะข้างหน้าที่ยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมายท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอ่อนแอ อาจส่งผลให้ BOJ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบและการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล จนกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2.0% ในระยะยาว

  • เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้การเติบโตต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 แม้เศรษฐกิจอาจปรับดีขึ้นจาก 3.2% ในปี 2565 สู่เฉลี่ย 4.5% ต่อปีในช่วงปี 2566-2568 แต่คาดว่าจะต่ำกว่า 6-7% ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ปัจจัยกดดันมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก นโยบายจำกัดการเก็งกำไรและการผูกขาด วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งปัญหาโครงสร้างประชากรและการเข้าสู่สังคมสูงวัย การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมาจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 การทยอยฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แรงหนุนจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และนโยบายพึ่งพาตนเองโดยสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในจีน ตลอดจนนโยบายการเงินการคลังแบบเจาะจงเป้าหมายเพื่อช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและกลุ่มที่ทางการตั้งเป้าการเติบโต สำหรับปัจจัยสำคัญที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ได้แก่ ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงจนเกิดการแบ่งขั้วชัดเจน สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลอดจนภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก...มีผลต่อทิศทางธุรกิจ/อุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า

  • เศรษฐกิจโลกพึ่งพาภาคบริการมากขึ้น ภาคบริการนับว่ามีบทบาทสำคัญทั้งด้านรายได้และการจ้างงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ (เช่น บริการที่เกี่ยวกับการกระจายสินค้า การเงิน และการคมนาคม) โดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษ จะมีสัดส่วนภาคบริการสูงเฉลี่ย 75% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) และมีสัดส่วนการจ้างงานเกิน 70% ของการจ้างงานรวม นำโดยธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) อาทิ บริการด้าน IT ลิขสิทธิ์ทางปัญญาและการเงิน ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและทักษะแรงงานขั้นสูง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคบริการได้มาก ขณะที่ภาคบริการของไทยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 56.7% ของ GDP ปี 2564 (ภาพที่ 2) และมีสัดส่วนการจ้างงาน 52% ของการจ้างงานรวม แต่สัดส่วนดังกล่าวยังห่างอยู่มากเมื่อเทียบเคียงประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากยังพึ่งพิงธุรกิจบริการแบบดั้งเดิม (Traditional services) เป็นหลัก อาทิ การท่องเที่ยว (สัดส่วน 17.8% ของ GDP ปี 2562) การค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรมและร้านอาหาร ส่วนธุรกิจบริการสมัยใหม่ (Modern services) ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงมีสัดส่วนประมาณ 14.0% ของ GDP (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย) และกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจการเงินและโทรคมนาคมเป็นหลัก

            การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งยกระดับภาคบริการสู่ Modern services ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบนิเวศน์โดยรวม[1] เพื่อกระจายการเติบโตไปสู่ภาคบริการอื่นๆ อาทิ การแพทย์และบริการสุขภาพ บริการโลจิสติกส์ และบริการดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้ตัวสินค้า (Servicification) ในภาคอุตสาหกรรม (อาทิ บริการด้านออกแบบและให้คำปรึกษาโดยใช้ Artificial intelligence และ Big data) ทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด โลกได้ ซึ่งปี 2563 พบว่าทั่วโลกมีการนำเข้าบริการที่กระจายอยู่ในธุรกิจบริการสมัยใหม่ อาทิ การวิจัยและพัฒนา บริการให้คำปรึกษาด้านวิชาชีพและการบริหารจัดการ และบริการด้านเทคนิค มีสัดส่วนรวมกัน 28.2% ของมูลค่านำเข้าบริการของโลก รองลงมา คือ การขนส่ง (20.5%) การท่องเที่ยว (11.6%) บริการทรัพย์สินทางปัญญา (9.6%) โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และข้อสนเทศ (8.6%) การเงิน (5.9%) ประกันภัยและบำเหน็จบำนาญ (4.1%) และบริการส่วนบุคคล วัฒนธรรม และนันทนาการ (1.7%) ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกบริการที่หลากหลายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้

            การเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ของไทยอาจทำได้ช้า ผลจาก (1) ยังขาดความพร้อมด้านทักษะแรงงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงขาดแรงผลักดันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่และขาดสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เหมาะสม อาทิ การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก (อาทิ กฎระเบียบ เทคโนโลยี เงินทุน มาตรการจูงใจ และข้อมูลเชิงลึก) และ (2) ไทยมีกฎระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างชาติในภาคบริการค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว สะท้อนจากค่าดัชนีข้อจำกัดการประกอบกิจการภาคบริการ (Services Trade Restrictiveness Index โดย OECD) ปี 2564 ของไทยอยู่อันดับที่ 49 จากกลุ่มตัวอย่าง 50 ประเทศ แสดงถึงข้อจำกัดในการเข้ามาดำเนินธุรกิจภาคบริการของไทยสูงกว่าคู่แข่งเกือบทุกสาขา ทำให้การเข้ามาของทุนและเทคโนโลยีทำได้จำกัด จึงส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคบริการของไทย นับเป็นปัจจัยท้าทายของภาครัฐและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมของไทยในการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ (Service-based Economy) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า

  • การกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้นเพื่อปกป้องตลาดในประเทศ นับจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มต้นช่วงไตรมาสแรกปี 2565 และมีแนวโน้มยืดเยื้อ ยิ่งทำให้มาตรการกีดกันทางการค้าถูกนำมาใช้ต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน โดยองค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าประเทศสมาชิกใช้มาตรการจำกัดการค้าที่เกี่ยวกับ COVID-19 แล้ว 148 มาตรการ ซึ่ง 82% เป็นมาตรการจำกัดการส่งออก ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาด้านการผลิตและการกระจายวัคซีนทั่วถึงได้ช้า รวมไปถึงการผลิตและส่งออกสินค้าสำคัญทางการแพทย์อื่นๆ สำหรับมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการ Sanctions รัสเซียมีจำนวน 71 มาตรการที่ออกโดยสมาชิก WTO 43 ประเทศ นอกจากนี้ มากกว่า 27 ประเทศทั่วโลกซึ่งรวมถึงจีน ฮังการี อาเจนตินาและอินโดนีเซีย ได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติด้านอาหารภายในประเทศ นอกจากนี้ การนำสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะการออกกฎควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon barrier to trade) อาทิ European Green Deal ของสหภาพยุโรป ทำให้มีการประกาศใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) สำหรับสินค้านำเข้าที่ถูกกำหนด (ใช้เต็มรูปแบบปี 2570) จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม และเม็ดพลาสติก เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) จะเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และถ่านหิน ซึ่งภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนได้ตามเกณฑ์ และใช้ BCG model เพื่อมุ่งสู่ Net zero emissions ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเกาะกระแสไปในทิศทางเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก

  • เทคโนโลยีสมัยใหม่ทวีความสำคัญมากขึ้นในการปฏิรูปโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน Digital technology นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการภายใต้การเข่งขันในโลกวิถีใหม่ (New normal) ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนบนฐานความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานโลกและการตอบรับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการประหยัดพลังงาน โดยเทคโนโลยีหลักที่จะมีบทบาทต่อภาคธุรกิจในช่วง 3 ปีหน้า ได้แก่

    • The Internet of Things (IoT): มีบทบาทเชื่อมโยงข้อมูลของอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันและเครื่องจักรในโรงงานอัจฉริยะโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือแพทย์ ผ่านระบบ Sensors รวมถึงการใช้ในธุรกิจบริการ อาทิ ธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล และโลจิสติกส์ ซึ่งการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่กว้างขวางขึ้น ช่วยให้ IoT สามารถประมวลผลข้อมูลด้าน Machine learning ผ่านระบบ sensor รวดเร็วขึ้นมาก  

    • Robotics: การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์เริ่มแพร่หลายในภาคการผลิตและบริการมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ และโลจิสติกส์ โดยใช้ในงานประเภทอัตโนมัติที่ต้องการความแม่นยำสูง ซึ่งตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย Fortune business insights คาดว่า ตลาดหุ่นยนต์ของโลกจะเติบโตประมาณ 10% ต่อปีในช่วงปี 2563-2571 อย่างไรก็ตาม การลงทุนใช้หุ่นยนต์เต็มรูปแบบในภาคการผลิตยังมีต้นทุนสูง โรงงานส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นการประยุกต์ใช้ในรูปแบบ Cobots (Collaborative robots) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับคน

    • Artificial intelligence (AI): การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรมมักใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เช่น Cloud และ IoT เพื่อประมวลผล Big data เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ AI เพื่อลดส่วนสูญเสียจากการผลิต กลุ่มธุรกิจการแพทย์ใช้เพื่อติดตามการระบาดของโรค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใช้เพื่อออกแบบโครงสร้างอาคาร รวมถึงกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ใช้เพื่อประเมินทิศทางความต้องการของลูกค้า เป็นต้น

    • 5G technology: เครือข่าย 5G กำลังถูกประยุกต์ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมกลไกการทำงานของหุ่นยนต์และโดรนในภาคการผลิต เกษตร และก่อสร้าง รวมถึงระบบให้บริการรักษาทางไกล โดย Next Move Strategy Consulting คาดว่าตลาดโครงสร้างพื้นฐาน 5G ทั่วโลก จะเติบโตถึง 66.0% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2573 กรณีของไทย รัฐบาลได้ผลักดันการพัฒนาเครือข่าย 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลโดยเชื่อมต่อระบบคลาวด์ AI และแพลตฟอร์ม Metaverse รองรับแผนลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกลุ่ม S-curve ทั้งในภาคการผลิตและบริการ

    • Drone: อากาศยานไร้คนขับที่ควบคุมได้จากระยะไกล ช่วยลดการพึ่งพาแรงงาน ลดเวลาในการเข้าสำรวจพื้นที่จริง โดยเฉพาะในภาคเกษตร และก่อสร้างในพื้นที่อันตราย รวมทั้งใช้ในธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้นเพื่อขนส่งสินค้าแบบบินขึ้น-ลงจอดในแนวดิ่งโดยขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ปัจจุบันเทคโนโลยี Drone กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนายานยนต์บินได้แบบไร้คนขับอย่างกว้างขวางในประเทศญี่ปุ่น จีน และยุโรป

    • Blockchain: เทคโนโลยีด้านการบันทึกข้อมูลที่มีระบบการเชื่อมโยงภายในเครือข่ายเพื่อรองรับธุรกรรมที่เน้นความปลอดภัยสูง ปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรมมากกว่าเพียงด้านธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก การขนส่ง และการผลิต โดย National Digital Identity คาดการณ์ว่า ธุรกิจ Blockchain ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 11.7 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2567

    • 3D printing: เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการควบคุมการออกแบบและผลิตสินค้าด้วยความเร็วและมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง จึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับตลาดที่เน้นการผลิตสินค้าตามความหลากหลายของผู้บริโภคในปริมาณมากด้วยราคาที่จูงใจ (Mass customization) นอกจากนี้ ยังมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รวมถึงธุรกิจก่อสร้าง เช่น การพิมพ์ชิ้นส่วนพื้น ผนัง และหลังคา เป็นต้น

  • ห่วงโซ่มูลค่าโลกหดสั้นลง จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและนโยบายพึ่งพาตนเองมากขึ้นของหลายประเทศ การมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC) มีทิศทางลดลง โดยประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่หันมาผลิตสินค้าขั้นกลางที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นแทนการนำเข้า ขณะที่ประเทศจีนก็หันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้นโดยเร่งลงทุนวิจัยพัฒนาเพื่อสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศให้ครบวงจรมากขึ้น เมื่อประกอบกับเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งของสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน ได้เข้ามาเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศมหาอำนาจหันมาแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะการผลิตชิปซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยปี 2565 หลายประเทศได้ออกกฏหมายสนับสนุนการผลิตชิปในประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ได้ตั้งกองทุนสนับสนุนมูลค่า 52 พันล้านดอลลาร์ฯ, 10 พันล้านยูโร และ 6.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ เพื่อดึงดูดบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ให้เข้าไปลงทุนยังประเทศของตน นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ซอฟแวร์ EDA (Electronic Design Automation) ที่ใช้ในการผลิตชิปเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีน การแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจทางการค้ายิ่งทำให้การพึ่งพาวัตถุดิบจำกัดอยู่ในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น (Intra-regional inputs) ดังที่ได้ปรากฏชัดเจนในภูมิภาคยุโรปและเอเชียในช่วงปี 2554-2559 (ภาพที่ 4) ปัจจัยดังกล่าวยิ่งทำให้ห่วงโซ่มูลค่าโลกหดสั้นลง โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง-สูง (ภาพที่ 5) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ผลิตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย ส่วนใหญ่ยังเน้นรับจ้างประกอบ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และรถยนต์ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่บนตำแหน่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นบนห่วงโซ่อุปทานโลก


  • การรวมกลุ่มการค้าโลกมุ่งสู่การทำข้อตกลงการค้าในภูมิภาคเดียวกัน (Regional trade agreement) มากขึ้น หลังจากกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มมีทิศทางแผ่วลง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องลดความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิตหันมาพึ่งพากันในภูมิภาคทดแทน (อนาคตกระแสโลกาภิวัตน์ฯ, ธนาคารแห่งประเทศไทย) ทำให้การรวมกลุ่มการค้าในภูมิภาคเดียวกันมีความสำคัญมากขึ้น  โดยการรวมกลุ่มทางการค้าภายในภูมิภาคที่สำคัญและไทยได้เข้าร่วมที่ผ่านมา ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA[2] สัดส่วนมูลค่าการค้ารวมกัน 7% ของมูลค่าการค้าโลก) ล่าสุดไทยได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP[3]) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยสัดส่วนมูลค่ารวมกัน 29% ของมูลค่าการค้าโลกในปี 2564 (ภาพที่ 7) และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยประเทศสมาชิกจะทยอยลดภาษีสินค้าเป็นศูนย์ครอบคลุม 90% ของรายการสินค้าภายใน 10-20 ปีตามความพร้อมของแต่ละประเทศ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า อุตสาหกรรมที่ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม RCEP ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดและแปรรูป น้ำตาลทราย สินค้าประมง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 การส่งออกของไทยไปยังประเทศ RCEP มีมูลค่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์ฯ (สัดส่วน 52.7% ของมูลค่าส่งออกไทยไปตลาดโลก) เพิ่มขึ้น 7.9% YoY ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพิ่มขึ้น 10.7% YoY และสินค้าอุตสาหกรรมและเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 7.1% YoY โดยมีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ขณะที่การนำเข้าของไทยจาก RCEP มีมูลค่า 1.22 แสนล้านดอลลาร์ฯ (สัดส่วน 58.0% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของไทย) เพิ่มขึ้น 13.4% YoY ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 6.6% YoY และ 13.4% YoY ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญมาจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์โดยรวมของไทยจากการลดภาษีภายใต้ RCEP อาจมีไม่มากนัก เนื่องจากประเทศสมาชิกต่างเป็นตลาดเดิมที่ไทยมีความตกลงทางการค้าอยู่แล้ว (กรมการค้าต่างประเทศ, สิงหาคม 2565) แต่ในระยะยาว วิจัยกรุงศรีคาดว่า RCEP จะเสริมสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่การผลิตของไทยภายในภูมิภาคสำหรับอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ปิโตรเคมีและพลาสติก รวมถึงเกษตรและเกษตรแปรรูป

  • ESG เอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน แต่อาจกดดันอุตสาหกรรมหนักบางกลุ่ม กระแสตื่นตัวของภาคธุรกิจทั่วโลกที่หันมาเน้นเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้แนวทางปฏิบัติด้าน ESG ซึ่งครอบคลุมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ร่วมลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนมั่งคงในระยะยาว จากผลสำรวจของ PwC (Global Investor ESG Survey, 2021) พบว่า นักลงทุนสัดส่วน 79% (จาก 325 รายทั่วโลก) มองว่า ESG เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Deloitte (เมษายน 2565) โดยใช้ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่สรุปว่า การลงทุนด้าน ESG มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้น (Total shareholder returns) โดยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์มากที่สุด โดยเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัจจัยด้าน ESG ที่มีความเร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากที่สุด ในปัจจุบัน 137 ประเทศทั่วโลกมีข้อพันธสัญญาด้านความยั่งยืนกับสหประชาชาติในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ตามระดับความพร้อม รวมทั้งไทยซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มประหยัดพลังงานที่ไทยมีแผนรองรับการลงทุนอยู่แล้วได้แก่ พลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแผนสนับสนุนภาคธุรกิจในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เช่น นิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์อัจฉริยะในระยะถัดไป ซึ่งจะเอื้อโอกาสการเติบโตของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ในอีกมุมหนึ่ง อุตสาหกรรมหนักบางกลุ่มที่มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนสูง อาทิ ปูนซีเมนต์ โลหะ (เหล็กและอลูมิเนียม) และปุ๋ยเคมี อาจต้องเร่งปรับตัวเนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงถูกเก็บภาษีคาร์บอน เช่นเดียวกับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่จะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2566


 

เศรษฐกิจไทยปี 2566-2568: การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

  • เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.5% ต่อปีในช่วงปี 2566-2568 ปรับตัวดีขึ้นจากที่เติบโต 3.2% ในปี 2565 (ภาพที่ 9) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเศรษฐกิจประเทศแกนหลัก แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจาก  (1) ภาคท่องเที่ยวที่เติบโตในอัตราเร่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานแม้ยังต้องอาศัยเวลา โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับปกติก่อนเกิดการระบาดของโควิดได้ในปี 2568  (2) การบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยเติบโตตามความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค การฟื้นตัวของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูง ส่วนการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะถูกจำกัดจากค่าครองชีพที่สูงและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจมีภาระเพิ่มเติมจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย (3) การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคบริการตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ทยอยเติบโตตามธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจเพื่อก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐคาดว่าจะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งตั้งเป้าหมายการลงทุนในช่วงปี 2566-2570 ไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท (4) การส่งออกยังขยายตัวได้แม้อัตราการเติบโตจะชะลอลงจากปี 2565 ปัจจัยกดดันมาจากการชะลอตัวของการค้าโลกและแนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในบางตลาดหรือบางกลุ่มอาจช่วยบรรเทาการชะลอตัวของการส่งออกได้บ้าง อาทิ การส่งออกไปยังอาเซียนที่ยังมีพลวัตการเติบโต รวมทั้งการส่งออกกลุ่มเกษตรและอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นและบางกลุ่มสามารถทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเพื่อควบคุมเงินเฟ้ออาจไม่เข้มงวดมากนักเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะทยอยปรับขึ้นอย่างช้าๆ แตะระดับ 1.75% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยเงินเฟ้อจะยังสูงในช่วงต้นปี 2566 ก่อนจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายได้ในช่วงกลางปี ด้านค่าเงินบาทยังคงเผชิญความผันผวนสูงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศแกนหลักและความเสี่ยงจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายได้จากการท่องเที่ยวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้บ้างเป็นระยะ

  • ปัจจัยท้าทายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ความผันผวนของตลาดการเงินและความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ตลอดจนความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าที่คาด สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อจนสร้างความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อยาวนาน รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนในข้อพิพาทไต้หวันที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566 ซึ่งอาจกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ขณะที่บาดแผลจากวิกฤต COVID-19 ยังสร้างความเปราะบางทางการเงินให้กับบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม SMEs และผู้มีรายได้น้อย


 

​การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน…ปัจจัยสำคัญหนุนการลงทุนภาคเอกชน

ที่ผ่านมา  การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมีส่วนเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์  COVID-19 ที่รุนแรงในช่วงปี 2563-2564 ส่งผลให้บางโครงการล่าช้าออกไปจากแผนเดิม (เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งเดิมจะเปิดให้บริการปลายปี 2564 และต้นปี 2565 ตามลำดับ)  เนื่องจากการปิดแคมป์คนงานและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในช่วงปี 2566-2568  คาดว่าภาครัฐจะเร่งรัดการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ระยะที่ 2 (2566-2570) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการที่ได้ถูกบรรจุไว้แล้วในแผนพัฒนา EEC จึงมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการลงทุนก่อสร้างไว้แล้ว โดยมีเป้าหมายการลงทุนมูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากโครงการ EEC ในระยะแรกปี 2561-2565 ซึ่งมีการอนุมัติการลงทุนไปแล้ว 1.8 ล้านล้านบาท, สิงหาคม 2565) สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3  โดยตามแผนคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปี 2565 และจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2568 เป็นต้นไป  ช่วยหนุนโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กระจายสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจดิจิทัลและการแพทย์สมัยใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการเดิมและโครงการใหม่ต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนฉบับล่าสุด พ.ศ. 2561 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ส่วนใหญ่เป็นโครงการระบบราง รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และโครงการระบบถนนมอเตอร์เวย์อีกหลายเส้นทาง และล่าสุด ภาครัฐยังมีแผนจะเร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญ โดยเฉพาะโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำของไทยด้วยการเชื่อมระบบขนส่ง (Logistic) ระหว่าง EEC กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) คาดว่าจะเสนอ ครม. ภายในปี 2565 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1.2 ล้านล้านบาท


 

ปัจจัยแวดล้อมในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม​

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย

ปี 2565 ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน (IMD World Competitiveness Ranking) ของไทยลดลงอยู่อันดับที่ 33 จาก 63 ประเทศทั่วโลก โดยอันดับลดลงทุกด้าน ได้แก่ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic performance) ลดลงสูงสุดถึง 13 อันดับ (ภาพที่ 10) เนื่องจากไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government efficiency) ลดลง 11 อันดับ จากการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้น ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business efficiency) ลดลง 9 อันดับ จากผลิตภาพและประสิทธิภาพที่ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้น้อยลงในภาพรวม ท่ามกลางกำลังแรงงานที่เติบโตชะลอลง และท้ายสุด คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ลดลง 1 อันดับจากปัจจัยด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ เดนมาร์ก ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านดิจิทัลสูงสุดในโลก ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่มีอันดับดีขึ้น ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับ 3 จากเดิม 5) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 48 จากเดิม 52)

 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา R&D) ของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 1.3% ของ GDP ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในเอเชีย (ภาพที่ 11) และยังห่างจากเป้าหมาย 2% ที่กำหนดไว้ในปี 2570 ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนเช่นเดียวกับไทย และประเทศรายได้สูงจะมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.4% และ 2.4% ตามลำดับ (ที่มา: UNESCO) สะท้อนว่าการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยและพัฒนา และปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมเพิ่มผลิตภาพทุกภาคส่วนให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนท่ามกลางสภาวะแวดล้อมของโลกที่มีความผันผวนสูง

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ของทางการที่อาจมีผลต่อภาคอุตสาหกรรม

อสังหาริมทรัพย์

  • การออกมาตรการส่งเสริมกำลังซื้อจากต่างชาติ เพื่อจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยมากขึ้น ได้แก่

    • การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้ นิติบุคคลต่างด้าวที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัย ตามเงื่อนไข ดังนี้ (1) ที่ดินสำนักงานไม่เกิน 5 ไร่ (2) ที่ดินที่พักอาศัยผู้บริหารไม่เกิน 10 ไร่ (3) ที่ดินที่พักอาศัยคนงานไม่เกิน 20 ไร่ (4) ที่ดินที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัยจะอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ดินที่ตั้งสถานประกอบการหรือไม่ก็ได้ (มีผล 13 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป)

    • มาตรการดึงดูดให้เกิดการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ทางการอนุมัติวีซ่าระยะยาว 10 ปีแก่ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มที่มีศักยภาพสูง (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) ได้แก่ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณ กลุ่มผู้ต้องการทำงานในไทย และกลุ่มผู้ชำนาญพิเศษ (มีผล 1 กันยายน 2565) โดยต้องรายงานตัวทุกปี และไม่จำกัดจำนวนครั้งในการเข้า-ออกประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม

  • การปรับเกณฑ์ภาคอสังหาริมทรัพย์

    • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมาใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) ตามเดิมหลังผ่อนคลายชั่วคราวในช่วง 20 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สัญญาที่ 1 วางดาวน์ต่ำสุดตั้งแต่ 0%-10% และกู้สินเชื่อ top-up ได้อีก 10% ของมูลค่าบ้าน สัญญาที่ 2 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า 2 ปี หรือ 20% หากผ่อนสัญญาที่ 1 น้อยกว่า 2 ปี และสัญญาที่ 3 วางดาวน์ขั้นต่ำ 30% สำหรับบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สัญญาที่ 1 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% สัญญาที่ 2 และ 3 วางดาวน์ 20% และ 30% ตามลำดับ (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากยอดจดทะเบียนการโอนบ้านกลับมาอยู่ใกล้เคียงกับระดับก่อน COVID-19

    • มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยภาครัฐปรับลดภาษีให้ในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีภาษี 2566 (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)

    • มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยภาครัฐปรับลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)

  • เกณฑ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างศึกษาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    • พระราชบัญญัติอาคารชุด การขยายเพดานให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้มากกว่า 49% ของพื้นที่ขายในโครงการ แต่จะไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมนิติบุคคลอาคารชุด (เดิมพระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายในอาคารชุด)

ภาคการผลิต

  • การกำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่ (เช่น โรงไฟฟ้า 10 MW ขึ้นไป โรงถลุงเหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงปูนซีเมนต์  โรงกระดาษ  โรงผลิตกรด  เตาเผาขยะ และโรงผลิตแก้ว เป็นต้น) ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษระบบ CEMS (Continuous Emission Monitoring Systems) มีผลตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังการระบายมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานแบบ Real time โดยโรงงานใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการ และโรงงานเก่าภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2567

  • สหภาพยุโรป (EU) ปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ภายใต้ Circular Economy Action Plan มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนและแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่วางจำหน่ายใน EU ต้องชาร์จไฟซ้ำได้และต้องได้การรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ส่งผลให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของไทยต้องพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อรักษาฐานลูกค้าใน EU

  • การปรับเพิ่มภาษีสำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ตามปริมาณความหวาน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยทยอยปรับขึ้นรวม 4 รอบ ได้แก่ รอบ 1 มีผล 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 รอบ 2 มีผล 1 ตุลาคม 2562 ถึง 31 มีนาคม 2566 รอบ 3 มีผล 1 เมษายน 2566 ถึง 31 มีนาคม 2568 และรอบ 4 มีผล 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป มาตรการนี้จะทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นและอาจผลักภาระสู่ผู้บริโภคได้


อุตสาหกรรมยานยนต์

การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยานยนต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีสาระสำคัญดังนี้

  • ปรับลดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แคบลง โดยกำหนดเกณฑ์เพิ่มจากเดิม 4 ระดับเป็น 5 ระดับ ได้แก่ CO2<100 กรัม/กม., 100-120 กรัม/กม., 121-150 กรัม/กม., 151-200 กรัม/กม. และ >200 กรัม/กม. จากเดิม 4 ระดับ เพื่อส่งเสริมให้ยานยนต์ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น

  • กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถ HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ดังนี้​

            รถ HEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 ถึง 31 ธันวาคม 2570 เก็บภาษีอัตรา 6-24% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571 ถึง 31 ธันวาคม 2572 อัตรา 8-26% และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 10-28% ส่วนรถ HEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษีอัตรา 40% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

            − รถ PHEV ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc กรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 80 กม./การประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร อัตราภาษีอยู่ที่ 5% ส่วนกรณีวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ต่ำกว่า 80 กม. และถังน้ำมันมากกว่า 45 ลิตร จัดเก็บอัตรา 10% สำหรับรถ PHEV ความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc เก็บภาษีอัตรา 30% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

  • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ICE (Internal Combustion Engine) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 แบบขั้นบันได ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2569 อาทิ

           − รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 cc แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 ถึง 31 ธันวาคม 2570 จัดเก็บภาษีอัตรา 13-34% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2571 ถึง 31 ธันวาคม 2572 อัตรา 14-36% และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป อัตรา 15-38%

          − รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 cc จัดเก็บภาษี 50% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  • ​ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV จาก 8% เหลือ 2% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์แบบ ZEV (Zero Emission Vehicle) ที่สัดส่วน 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

  • ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถกระบะและอนุพันธ์ของรถกระบะ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซ CO2 การสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถกระบะไฟฟ้าแบบ BEV และแบบ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 2% และ 0% ของราคาจำหน่าย ตามลำดับ

  • ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ICE และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ HEV และแบบ PHEV ตามการปล่อยก๊าซ CO2 คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 ถึง 31 ธันวาคม 2572 จัดเก็บภาษีอัตรา 4% (ปล่อย CO2<50 กรัม/กม.) อัตรา 6% (CO2 51-90 กรัม/กม.) อัตรา 10% (CO2 91-130 กรัม/กม.) และอัตรา 20% (CO2>130 กรัม/กม.) และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษี 5-10-15-25% ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV กำหนดอัตราภาษีที่ 1% เพื่อส่งเสริมการใช้และผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

> มาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยภาครัฐให้เงินอุดหนุนแก่ผู้บริโภคในวงเงิน 70,000-150,000 บาท สำหรับรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 18,000 บาท สำหรับรถราคาไม่เกิน 1.5 แสนบาท ในช่วงปี 2565-2568 เพื่อดึงดูดผู้บริโภค

> การปรับลดภาษีประจำปีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า BEV โดยรถที่จดทะเบียนระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 ให้ปรับลดภาษี 80% ของอัตราภาษีประจำปี เป็นเวลา 1 ปี เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ

ภาคพลังงานและสิ่งแวดล้อม

  • แผนปฏิรูปพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Neutral-Carbon Economy) คาดมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2022) (2) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan) (3) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (4) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ (5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2608 คาดว่าจะหนุนให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนในด้านนี้เพิ่มขึ้น อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตและนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน

  • การปรับเกณฑ์ด้านพลังงาน โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และลดสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (แผน PDP rev.1) ในช่วงปี 2564-2573 เพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) รวมถึงเปิดเสรีระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา และส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของอุปทานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังมีการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (FiT) สำหรับปี 2565-2573 ในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) คาดว่าจะส่งผลให้มีการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

  • แผนสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 (ปี 2565-2569) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี  รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับเศรษฐกิจใหม่ (New S-curve) อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชนิดพิเศษ เคมีภัณฑ์ พลาสติกชีวภาพ รีไซเคิล การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบพิเศษที่สามารถย่อยสลายได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบ ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในระยะยาว

  • EU ประกาศใช้มาตรการจัดเก็บค่าคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้ารายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตสินค้า 9 รายการ ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติก ไฮโดรเจน และโพลิเมอร์ (ค่าธรรมเนียมคาร์บอนขึ้นกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า ครอบคลุมถึงการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม (Indirect emission) เช่น การใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตสินค้านั้น) โดยเริ่มต้นช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อทดสอบการรายงานข้อมูลในช่วง 1 มกราคม 2566-31 ธันวาคม 2569 และบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่า CBAM จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยสูงขึ้นจากการปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับเกณฑ์ดังกล่าว

  • สหรัฐฯ เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา) ประกอบด้วยมาตรการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ (มีผลปี 2567) และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: US-CBAM) สำหรับสินค้านำเข้า ที่กำหนด อาทิ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก และเยื่อกระดาษและกระดาษ (มีผลปี 2569) ตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero) ภายในปี 2593 ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งลงทุนเพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับเกณฑ์ดังกล่าว

  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ขยายเกณฑ์มาตรฐานไอเสียรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 โดยครอบคลุมถึงรถบรรทุก รถบัส รถกระบะ และรถยนต์เล็ก (มีผล 1 มกราคม 2567) เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษ และลดฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM 2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การปรับเกณฑ์ข้างต้นจะเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

  • กรมโรงงานเตรียมห้ามใช้สารไดคลอโรฟลูออโรมีเทน (HCFC-141b) ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray foam) (มีผล 1 มกราคม 2567) โดยให้เปลี่ยนใช้สารทดแทน คือ ไฮโดรฟลูออโรโอเลฟิน (HFOs) ซึ่งไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อนและสอดคล้องเป้าหมายของไทยที่กำหนดให้ลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573


ธุรกิจการเงิน

  • ธปท. ปรับแนวทางการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ดังนี้
    • ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผลจากเดิมไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี ผลจากธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
    • ปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป (จากเดิมลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และช่วยให้หนี้ของ FIDF ทยอยลดลงตามเป้าหมาย
  • ธปท. กำหนดมาตรการเฉพาะเจาะจงเพื่อดูแลลูกหนี้ ผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ (การปรับโครงสร้างหนี้เดิม และการเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ) และเพิ่มมาตรการใหม่เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่เปราะบาง ดังนี้
    • มาตรการแก้หนี้ระยะยาว เพื่อให้การผ่อนชำระหนี้สอดคล้องกับการฟื้นตัวแบบ “หน้าต่ำหลังสูง” โดยในช่วงแรกจะผ่อนน้อยเท่าที่ไหว และต่อไปจึงผ่อนมากขึ้นเมื่อรายได้ฟื้นตัว ด้านธนาคารจะได้รับการผ่อนผันเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ (ถึงสิ้นปี 2566)
    • โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นการโอนทรัพย์ไปยังธนาคารเพื่อชำระหนี้ และยังมีสิทธิ์เช่าทรัพย์เพื่อทำธุรกิจต่อ รวมทั้งมีสิทธิ์ซื้อกลับคืนในอนาคต (ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566)
    • มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องใหม่แก่ SMEs ภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท (ปล่อยสินเชื่อแล้ว 1.9 แสนล้านบาท ณ 5 กันยายน 2565) เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจสู่โลกยุคใหม่ อาทิ กระแสเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) ทั้งนี้ สินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว (ภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟู) จะดำเนินต่อไปจนถึงเดือนเมษายน 2566
    • การคงอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต โดยคงขั้นต่ำที่ 5% ออกไปถึงสิ้นปี 2566 และที่ 8% ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และขยายเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็น 12 เดือนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อช่วยลดภาระการชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องแก่ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง
    • มาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ โดยห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการชำระสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนครบกำหนดจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้รวมหนี้เป็นก้อนเดียวได้ง่ายขึ้น และสามารถจ่ายดอกเบี้ยลดลงได้เมื่อนำสินเชื่อรายย่อยมารวมกับสินเชื่อบ้านซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า
    • โครงการคลินิกแก้หนี้ มีการปรับเกณฑ์ให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการแก้หนี้เป็น 3 ทาง คือ (1) ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% (2) ผ่อนชำระตั้งแต่ 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% และ (3) ผ่อนชำระตั้งแต่ 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระตามความสามารถของลูกหนี้
  • คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กำหนดเพดานดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ต่อปี รถยนต์มือสองไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี (มีผลตั้งแต่ 10 มกราคม 2566) คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น​


ภาคท่องเที่ยว

  • การส่งเสริมธุรกิจโรงแรม

    • รัฐขยายเวลาบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นสิ้นสุดปี 2567 (จากเดิมปี 2564) เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการโรงแรมหรือที่พักขนาดเล็กดัดแปลงอาคารให้ถูกต้อง โดยผู้ประกอบการจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายลงทุนได้ 2 เท่า และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดโดยภาครัฐ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมด้านราคา ขณะที่อัตราการเข้าพักจะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น หลังมีการยื่นขออนุญาตผ่อนปรนการปรับปรุงอาคารผิดประเภทเกือบ 2 หมื่นแห่ง จากประมาณ 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

    • การขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2565  (40 บาทต่อห้อง) เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมในไทยในช่วง 1 กรกฎาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2567 (เดิม สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2565)

อื่นๆ

  • กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ "กัญชา (ทุกส่วน)" และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด (มีผลมิถุนายน 2565) สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่ให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คาดว่าจะหนุนให้มีการใช้กัญชาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมากขึ้น

  • มาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Service Tax: DST) จากผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ E-Commerce บริการ Search engine (เช่น Google) บริการสังคมออนไลน์ (Facebook, YouTube) บริการจองที่พัก (เช่น Booking, Agoda) และบริการส่งอาหาร เป็นต้น โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7% เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในไทยที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (มีผล 1 กันยายน 2564) คาดว่าจะเอื้อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้า

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมหภาคและภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลก รวมถึงกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อวางรากฐานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในระยะยาว

 

แนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2566-68

 

อุตสาหกรรมเกษตร

 

ข้าว


สถานการณ์ปี 2565

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 21.2% YoY จากสภาพภูมิอากาศและปริมาณฝนที่เอื้ออำนวย และชาวนามีแรงจูงใจจากมาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวจากภาครัฐ โดยดัชนีราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 2.8% YoY แรงหนุนจากราคาข้าวหอมมะลิ (+14.2% YoY) และข้าวขาว (+0.9% YoY) ภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงเพิ่มขึ้น 26.0% YoY อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเผชิญต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงาน ปุ๋ย และแรงงาน กดดันความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกร

  • ปริมาณส่งออกข้าว 9 เดือนแรกขยายตัว 39.1% YoY อยู่ที่ 5.4 ล้านตัน ผลจาก (1) ความต้องการเพื่อใช้เป็นสินค้าทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาสูงขึ้นจากภาวะสงคราม และ (2) อินเดีย (ผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก) ระงับการส่งออกข้าว[1] ส่วนเวียดนามเผชิญความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ราคาส่งออกข้าว (F.O.B. ข้าวขาว 25%) ปรับลดลง -8.7% YoY เทียบกับฐานราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าส่งออกข้าวอยู่ที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.6% YoY

  • แม้พื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนจะได้รับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2565 แต่ช่วงไตรมาสสุดท้าย คาดว่าผลผลิตข้าวจะยังคงเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของ (1) การขยายพื้นที่/เพิ่มรอบเพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคาที่สูงในช่วงก่อนเริ่มเพาะปลูก และ (2) มาตรการการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยคาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 7.0-8.0% อยู่ที่ระดับ 34.0-34.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 22.1-22.3 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 25.0-30.0% YoY อยู่ที่ 7.7-8.0 ล้านตันข้าวสาร อานิสงส์จาก (1) ความต้องการสต็อกข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (2) ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าจากไทยทดแทนอินเดียที่ระงับการส่งออกข้าวหักและปรับเพิ่มภาษีส่งออกข้าวหลายประเภท และ (3) จีนและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกเผชิญภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตในประเทศลดลง ด้านการบริโภคข้าวในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น 3.5-4.5% YoY ที่ระดับ 11.4-11.6 ล้านตันข้าวสาร ตามการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหาร
     

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ผลผลิตข้าวมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อย 0.0% ถึง -1.0% ต่อปี อยู่ที่ 33.5-34.5 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือ 21.7-22.5 ล้านตันข้าวสาร โดยยังมีปัจจัยบวกด้าน (1) ปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย (ปี 2567-2568 คาดว่ายังได้อานิสงส์จากภาวะ La Niña) และ (2) มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก (1) เกษตรกรหันไปปลูกพืชพลังงานและพืชสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นที่มีราคาสูงทดแทน อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ (2) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะราคาปุ๋ยทำให้เกษตรกรบางส่วนลดการใช้ปุ๋ยอาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

  • การบริโภคในประเทศคาดว่าจะทรงตัวหรือขยายตัวเพียง 0.0-1.0% ที่ระดับ 11.0-11.8 ล้านตันข้าวสารต่อปี แรงหนุนจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ หนุนความต้องการจากร้านอาหาร โรงแรม การผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ

  • การส่งออกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 11.0-12.0% ต่อปี อยู่ที่ระดับ 8-11 ล้านตันต่อปี จาก (1) ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่น่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในปี 2567-2568 และ (2) ความต้องการสต็อกอาหารต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ


​ยางพารา


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตยางธรรมชาติหดตัว -1.6% YoY สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยางแผ่นและน้ำยางข้นที่ลดลง (-12.9% YoY และ  -10.0% YoY ตามลำดับ) ตามการปรับลดสินค้าคงคลัง (Destocking) และระบายสินค้า โดยปริมาณส่งออกขยายตัว 4.5% YoY อยู่ที่ 2.7 ล้านตัน แรงหนุนหลักจากยางแท่งที่ขยายตัว 10.8% YoY อยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ส่วนน้ำยางข้นอยู่ที่ 8.7 แสนตัน (0.8% YoY) ขณะที่ยางแผ่น และยางคอมพาวด์หดตัวเหลือ 3.4 แสนตัน     (-6.7% YoY) และ 8.6 หมื่นตัน (-4.8% YoY) ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่ขยายตัว อาทิ เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ จากการหันมานำเข้ายางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ที่ราคาสูงตามราคาน้ำมันดิบจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่จีน และมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดหลักลดการนำเข้าเพื่อระบายสต็อกหลังเร่งซื้อไปมากในปี 2564 นอกจากนี้จีนยังเผชิญภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเป็นระยะจากการใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมโรค COVID-19 ขณะที่ราคายางส่งออกลดลง -1.7% YoY ส่งผลให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 2.8% YoY อยู่ที่ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านความต้องการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นตามการผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดการผลิตมีทิศทางปรับดีขึ้น ทำให้ปี 2565 ปริมาณการผลิตยางพาราขั้นกลางน่าจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% อยู่ที่ 5.3-5.4 ล้านตัน และปริมาณส่งออกน่าจะขยายตัว 2.0-3.0% อยู่ที่ 3.6-3.7 ล้านตัน ผลจาก (1) ความต้องการยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ และ (2) ประเทศคู่แข่ง (อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เผชิญภัยธรรมชาติและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง -1.0 ถึง -2.0% จากความต้องการใช้ยางพาราที่ลดลงในจีน ทำให้คาดว่ามูลค่าส่งออกจะยังทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.0-1.0% อยู่ที่ 5.9-6.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การบริโภคในประเทศจะขยายตัว 40.0-50.0% อยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านตัน แรงหนุนจาก (1) ผู้ผลิตหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น (2) ความต้องการใช้เพื่อผลิตอุปกรณ์เครื่องมือยางทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยาง และ (3) มาตรการภาครัฐที่กระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ อาทิ การส่งเสริมการขยายฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศโดยเฉพาะ EV และการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ
     
แนวโน้มปี 2566-2568
  • ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มขยายตัว 4.5-5.5% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) ต้นยางพาราที่ปลูกช่วงก่อนหน้าเข้าสู่ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตน้ำยางต่อไร่สูง (2) ภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และ (3) มาตรการสนับสนุนและรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมยางพาราของภาครัฐ

  • อุปสงค์คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 0.5-2.0% ต่อปี จาก (1) ความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะรถยนต์ ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ รวมถึงมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อทดแทนการนำเข้า และ (2) ความต้องการใช้ในการก่อสร้างภาครัฐจากการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับปริมาณส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลผลิตของประเทศคู่แข่งที่ลดลงจากโรคใบร่วงยางพารา และราคายางสังเคราะห์ที่จะยังทรงตัวสูงตามราคาน้ำมันดิบโลกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ

    • ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง: คาดปริมาณส่งออกยางแผ่นฯ จะขยายตัว 3.5-4.5% และยางแท่งเติบโต 5.0-6.0% แรงหนุนจากการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะ ยานยนต์

    • น้ำยางข้น: คาดปริมาณส่งออกจะขยายตัว 1.5-2.5% ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์ยางและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะการใช้ในสังคมผู้สูงอายุ

    • ยางคอมพาวด์: คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ตามความต้องการใช้ยางพาราในรูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง การขนส่ง ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์

มันสำปะหลัง


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตหัวมันสดลดลง -3.1% YoY เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมในปีก่อน ด้านปริมาณส่งออกโดยรวมอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน ขยายตัว 9.7% YoY

    • ปริมาณส่งออกมันเส้น (สัดส่วน 54.1% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมด[1]) และมันอัดเม็ด (สัดส่วน 0.8%) ขยายตัว 15.1% และ 329.8% YoY ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของตลาดจีน (อาทิ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เอทานอล และอาหารสัตว์)

    • ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ (สัดส่วน 32.3%)  และดัดแปร (สัดส่วน 9.9%) ขยายตัว 3.9% YoY และ 2.0% YoY ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ของประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะตลาดอาเซียนในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ ยาและเครื่องสำอาง รวมถึงการสต็อกเพื่อสำรองเป็นความมั่นคงทางอาหารและพลังงานจากความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

  • ในช่วงที่เหลือของปี ความต้องการใช้ในประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ที่เน้นความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ ทำให้คาดว่าปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 11.2-11.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.0-8.0% จากการขยายตัวในทุกผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตหัวมันสดคาดว่าจะอยู่ที่ 34.0 ล้านตัน ลดลง -3.1% ตามพื้นที่เก็บเกี่ยวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้หัวมันสดในประเทศปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 14.2-14.4 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 14.0-16.0% ตามความต้องการใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ รวมถึงภาคพลังงาน (เอทานอล)

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ผลผลิตหัวมันสดมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 1.5-2.5% ปัจจัยหนุนจาก (1) ระดับราคาซึ่งคาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจูงใจให้มีการปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น (2) ความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีความต้องการอาหาร (Food security) เพิ่มขึ้น และ (3) สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

  • ปริมาณส่งออกโดยรวมคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี

    • มันเส้น: ปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 5.8-6.0 ล้านตัน เติบโต 1.0-2.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากจีน (ตลาดหลัก) ยังมีความต้องการใช้เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เอทานอลในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงาน รวมถึงเป็นอาหารสัตว์

    • แป้งมันสำปะหลังดิบ: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.9-4.1 ล้านตัน ขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และกระดาษ แต่มีแนวโน้มแข่งขันสูงกับประเทศ CLMV ซึ่งจีนได้เข้าไปลงทุนเพาะปลูกและผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

    • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: คาดปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านตัน เติบโต 3.0-3.5% ต่อปี ตามความต้องการในตลาดโลกและการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขั้นปลาย อาทิ เครื่องสำอาง อาหาร และยา

    • มันสำปะหลังอัดเม็ด: คาดว่าปริมาณส่งออกน่าจะอยู่ในระดับไม่ถึง 1.5 แสนตัน จากการนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นความต้องการทดแทนธัญพืชอื่นๆที่ขาดแคลนในบางช่วง


น้ำตาลและกากน้ำตาล


สถานการณ์ปี 2565

  • ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปี 2564/65 ขยายตัว 38.1% อยู่ที่ 92.1 ล้านตันอ้อย นำไปผลิตน้ำตาลได้ 10.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 33.9% YoY แรงหนุนจาก (1) ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และ (2) การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคา อาทิ โรงงานน้ำตาลประกันราคาอ้อยขั้นต่ำ และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่สูงขึ้น คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ที่ 107.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.2% นำไปผลิตน้ำตาลได้ราว 11.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.9% แรงหนุนจาก (1) สภาพอากาศและน้ำในเขื่อนที่เอื้ออำนวย (2) อ้อยที่เพาะปลูกปีก่อนหน้าให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และ (3) พื้นที่เพาะปลูกที่น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากแรงจูงใจด้านราคา อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งด้านพลังงาน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะอ้อยสดอาจกดดันความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกร

  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลช่วง 9 เดือนแรกขยายตัว 108.1% YoY อยู่ที่ 5.7 ล้านตัน แบ่งเป็น น้ำตาลทรายดิบ 3.4 ล้านตัน (+168.0% YoY) น้ำตาลทรายขาว 2.2 ล้านตัน (+61.8% YoY) และกากน้ำตาล 1.0 แสนตัน (-1.5% YoY) แรงหนุนจาก (1) ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกที่มีต่อเนื่อง (เฉลี่ย 1.0-3.0% ต่อปี) โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เอทานอล และแอลกอฮอล์ และ (2) อุปทานน้ำตาลที่ลดลงจากบราซิล (ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก) เนื่องจากภัยแล้งและน้ำค้างแข็ง รวมถึงอินเดียที่ระงับการส่งออกน้ำตาล (ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงตุลาคม 2566) หนุนราคาส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 15.7% YoY ทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 139.7% YoY อยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • สำหรับปริมาณและมูลค่าส่งออกน้ำตาล/กากน้ำตาลทั้งปี 2565 คาดจะกลับมาขยายตัว 100.0-110.0% และ 130.0-140.0% ตามลำดับ นอกเหนือจากปัจจัยหนุนข้างต้นยังเป็นการเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงก่อนที่ปริมาณส่งออกหดตัวรุนแรงในปี 2563 และ 2564 ที่ -44.2% และ -35.9% ตามลำดับ ด้านความต้องการในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 2.40-2.45 ล้านตัน ขยายตัว 2.1-4.3% จากที่หดตัว -0.4% ปีก่อนหน้า แรงหนุนหลักจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
     

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ภาวะ La_Nina ทำให้มีปริมาณน้ำฝนและน้ำกักเก็บเพื่อการเกษตรมากขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมฯ และราคาจำหน่ายที่สูงจูงใจเกษตรกร ทำให้คาดว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ 107-117 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาล 11.8-12.8 ล้านตันต่อปี (เติบโตเฉลี่ย 7.0-9.0% ต่อปี)

  • ปริมาณส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลจะอยู่ที่ 9-11 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 10.0-12.0% ต่อปี  โดยมีแรงหนุนจาก (1) การคลี่คลายของปัญหาวัตถุดิบอ้อยขาดแคลนทำให้ผลิตน้ำตาลเพื่อส่งมอบให้กับคู่ค้าได้มากขึ้น และ (2) ความต้องการจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศคู่ค้า สำหรับการบริโภคน้ำตาลในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-2.7 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 2.0-4.0% ต่อปี จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยว



ปาล์มน้ำมัน


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ผลปาล์มสดที่ใช้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น 4.9% YoY อยู่ที่ 13.7 ล้านตัน แรงหนุนจาก (1) ราคาที่สูงถึง 8.5 บาท/กิโลกรัม (+38.8% YoY) จูงใจให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยว และ (2) สภาพอากาศและปริมาณฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน (+4.9% YoY) ขณะที่ความต้องการ CPO ในประเทศลดลง -13.2% YoY เหลือ 1.6 ล้านตัน ตามความต้องการไบโอดีเซล  (B100) ที่ลดลงเหลือ 6.6 แสนตัน (-23.5% YoY) จากมาตรการปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซลเป็น B5 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ประกอบกับความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่หดตัวตามราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่นเดียวกับความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ลดเหลือ 9.0 แสนตัน (-3.7% YoY) ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มขยายตัวดี 28.4% YoY อยู่ที่ 7.9 แสนตัน มีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+71.4% YoY) จากการเร่งตัวของการส่งออก CPO เป็นหลักโดยเฉพาะการส่งออกไปอินเดีย 5.9 แสนตัน (+50.5% YoY) แรงหนุนจาก (1) ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน (2) ประเทศคู่ค้าเร่งสั่งสมสต็อกเพื่อควบคุมราคาน้ำมันพืชสำหรับบริโภคภายในประเทศไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น (3) ประเทศคู่ค้าหาตลาดทดแทนอินโดนีเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบหลักของโลก) ที่ระงับการส่งออกชั่วคราวช่วงกลางปี 2565 และ (4) โครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินของรัฐบาล

  • ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการเก็บเกี่ยวผลปาล์มยังได้แรงจูงใจจากราคาที่อยู่ในระดับสูง โดยยังมีความต้องการในตลาดส่งออกรองรับ ทำให้ทั้งปี 2565 ผลผลิตปาล์มสดน่าจะอยู่ที่ 17.4-17.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.0-3.5% ขณะที่ความต้องการ CPO ในประเทศหดตัว -8.0% to -9.0% ตามความต้องการน้ำมันปาล์มกลุ่มไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ลดลง ด้านปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มคาดว่าจะขยายตัว 40.0-50.0% จากอุปสงค์ประเทศอินเดียที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้สต็อก CPO ณ สิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 1.8-1.9 แสนตัน ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม 2.0-2.5 แสนตัน ผลักดันให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ 7.0-8.0 บาท/กิโลกรัม เทียบปีก่อนที่ 6.7 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคา CPO และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 15.0-17.0% และ 10.0-12.0% ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ผลผลิตปาล์มสดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 3.0-4.0% ต่อปี ผลจาก (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูก (2) การเข้าสู่ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และ (3) ราคาโดยรวมยังคงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต ความต้องการ CPO ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ตามอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร โอเลโอเคมิคอล ขนส่ง และการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น B7 และ B10 (ไบโอดีเซล 7% หรือ 10% ผสมในน้ำมันดีเซล) ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าอัตราการเติบโตจะชะลอลงเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อินเดีย มาเลเซีย และเมียนมา รวมถึงมาตรการต่อเนื่องของภาครัฐในการผลักดันการส่งออก

    • รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2565 โดยราคาผลปาล์มสดอาจปรับลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งจากในประเทศและประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังเผชิญกับต้นทุนพลังงาน ปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยวที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกร

    • โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ คาดว่าผลประกอบการจะทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา จากมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม อาทิ การสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซลและการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่



​ไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 การผลิตไก่แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปอยู่ที่ 2.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.0% YoY แรงขับเคลื่อนหลักมาจากตลาดส่งออก โดยปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่โดยรวมอยู่ที่ 7.6 แสนตัน ขยายตัว 13.0% YoY ผลจาก (1) ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food security) จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน (2) การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหลายประเทศที่เป็นผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายใหญ่ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทำให้อุปทานของโลกลดลง และยุโรปหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น (ยุโรปมีสัดส่วน 40.0% ของผลิตภัณฑ์ส่งออกไก่ทั้งหมดของไทย) (3) ผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทที่หนุนโอกาสการส่งออก และ (4) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมอาหารพร้อมทานมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น โดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นขณะที่อุปทานยังจำกัดหนุนให้ราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 18.0% YoY (ดัชนีผลผลิตไก่เนื้อของช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ -8.79% YoY) ทำให้มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+26.9% YoY) ส่วนปริมาณการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร

  • ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่โดยรวมจะเติบโตจากอุปสงค์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและประเทศคู่ค้าให้การยอมรับการผลิตไก่ของไทยว่ามีมาตรฐานสูง อาทิ เกาหลีใต้ จีน  ส่วนความต้องการในประเทศน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ทำให้คาดว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้น 3.5-4.5% โดยปริมาณส่งออกและจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้น 8.0-10% และ 2.5-3.5% ตามลำดับ สำหรับราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มคาดเฉลี่ยที่ 45.0-46.5 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 34.9 บาท/กิโลกรัม ผลจาก (1) ต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ พลังงาน และค่าแรงงานที่สูงขึ้น และ (2) ผลผลิตเนื้อสุกรขาดแคลนจากผลกระทบโรคอหิวาห์แอฟริกา (ASF) ทำให้มีความต้องการเนื้อไก่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตาม

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ไก่โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปีอยู่ที่ 2.48-2.66 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จะเติบโตชะลอลงเฉลี่ย 2.5-3.5% ต่อปี โดยยังมีปัจจัยหนุนจาก (1) ความต้องการบริโภคไก่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน ที่ยังคงเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ต่อความมั่นคงทางอาหารภายใต้แรงกดดันของความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ที่น่าจะยังมีต่อเนื่อง และ (2) โอกาสการขยายตลาดไปยังประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ซึ่งยอมรับในมาตรฐานฮาลาลสำหรับโรงงานผลิตในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอาจยังเป็นปัจจัยบั่นทอนการเติบโตของการส่งออกในปี 2566 ส่วนปริมาณจำหน่ายในประเทศคาดว่าขยายตัว 3.5-5.5% ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร

  • ผู้ประกอบการอาจเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ทรงตัวสูง และต้นทุนจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาล (ESG) รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มจากการยกระดับการเลี้ยงและผลิตเพื่อเพิ่มมาตรฐานสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก




 

ปลากระป๋อง


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อุตสาหกรรมปลากระป๋องกลับมาฟื้นตัว โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์มีรองรับมากขึ้น เอื้อต่อการขนส่งวัตถุดิบปลาแช่แข็งระหว่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้การผลิตขยายตัว 2.2% YoY (เทียบกับ -25.9% ในช่วงเดียวกันปี 2564) ตามการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง (สัดส่วน 77.0%) ที่เติบโต 14.4% YoY ในส่วนการผลิตปลาซาร์ดีนหดตัว -2.0% YoY ตามการส่งออกที่หดตัวในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดหลัก ด้านการจำหน่ายเติบโตตามปริมาณส่งออก (สัดส่วน 85.0% ของการจำหน่ายปลากระป๋องทั้งหมด) ขยายตัว 9.4% YoY อยู่ที่ 4.1 แสนตัน (เทียบกับ -23.4% ในช่วงเดียวกันปี 2564) โดยปลาทูน่ากระป๋องขยายตัว 12.6% อยู่ที่ 3.6 แสนตัน จากการฟื้นตัวของตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ (+20.6% YoY) อียิปต์ (+0.8% YoY) ออสเตรเลีย (+28.9% YoY) ลิเบีย (+123.1% YoY) และญี่ปุ่น (+0.7% YoY) จากแรงหนุนของอุปสงค์ในการกักตุนเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะสงคราม ขณะที่ตลาดปลาซาร์ดีนกระป๋องหดตัว -11.7% YoY อยู่ที่ 0.4 แสนตัน เนื่องจาก (1) กำลังซื้อในประเทศเพื่อนบ้านชะลอลงในช่วง COVID ยังระบาด (2) การเข้ามาแย่งตลาดของสินค้าต้นทุนต่ำจากจีน โดยตลาดที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ กัมพูชา (-57.7% YoY) นามิเบีย (-4.4% YoY) พม่า (-22.0% YoY) ปานามา (-25.0% YoY) และสปป.ลาว (-70.9% YoY) ด้านราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8.5% YoY ทั้งปลาทูน่ากระป๋อง (+8.0% YoY) และปลาซาร์ดีนกระป๋อง (+9.3% YoY) ผลจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง (+51.3% YoY) ปลา (+24.6% YoY) และเหล็ก (บรรจุภัณฑ์) (+29.3% YoY) ส่งผลให้มูลค่าส่งออกปลากระป๋องเพิ่มขึ้น 20.0% YoY อยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดในประเทศหดตัว -6.5% YoY หลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนลดปริมาณการกักตุนอาหาร

  • ช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่องแม้ยังเผชิญต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกและคาดว่าปริมาณการผลิตปลากระป๋องทั้งปี 2565 น่าจะเติบโต 3.5-5.0% จากที่หดตัว -23.8% ในปี 2564 ส่วนปริมาณและมูลค่าการส่งออกน่าจะขยายตัว 8.0-10.0% และ 21.0-23.0% ตามลำดับ ส่วนใหญ่จากการขยายตัวของปลาทูน่ากระป๋องเป็นหลัก

แนวโน้มปี 2566-2568

  • อุตสาหกรรมปลากระป๋องมีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลง โดยคาดว่าปริมาณการผลิตจะขยายตัว 2.0-4.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) ความต้องการจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอุปสงค์เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยังมีเป็นระยะ (2) ผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อดึงดูดตลาดอย่างต่อเนื่อง และ (3) อุตสาหกรรมปลากระป๋องไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-ใหญ่มีความได้เปรียบทางชีวอนามัยสูง คาดว่าปริมาณส่งออกจะเติบโตเฉลี่ย 2.5-4.5%  และมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.0-2.0% ส่วนราคาวัตถุดิบคาดว่าจะทยอยลดลงทำให้ราคาส่งออกปรับลดลงตามไปด้วย

  • ปัจจัยท้าทาย ได้แก่ (1) ราคาต้นทุนวัตถุดิบ เหล็ก พลังงาน และปลา ที่คาดว่ายังคงทรงตัวสูง (2) การแข่งขันกับ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศ ACP (Africa Caribbean and Pacific) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย (3) การขาดแคลนแรงงานต่างชาติหลังจากเกิด COVID (4) การกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น และ (5) กระแสนิยมบริโภคอาหารสดใหม่เพื่อสุขภาพ อาจลดทอนความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs


อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

 

ผลิตไฟฟ้า


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4.4% YoY จากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับเกือบปกติ รวมถึงการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว (อาทิ โรงแรม ภัตตาคาร อพาร์ทเม้นท์และเกสต์เฮ้าส์ ขายส่ง และห้างสรรพสินค้า) หลังความกังวล COVID-19 ลดลง ขณะที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น  4.0 บาทจาก 3.6 บาทปี 2564 ตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วน 44.8% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด) +3.9% YoY อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด ได้แก่ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ซีเมนต์ เหล็กและโลหะพื้นฐาน และสิ่งทอ ตามลำดับ ภาคธุรกิจ (สัดส่วน 23.2%) +11.6% YoY และภาคครัวเรือน (สัดส่วน 27.6%) ใช้ไฟลดลง -0.7% YoY ด้านการใช้ไฟฟ้าแตะระดับสูงสุด (Peak demand) เป็นประวัติการณ์ที่ 32,254.5 เมกะวัตต์ในเดือนเมษายน (+7.0% จากระดับสูงสุดปี 2564) สำหรับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าค่าไฟฟ้าจะเฉลี่ยที่ 4.7 บาทต่อหน่วย จึงอาจลดทอนความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะภาคครัวเรือนอยู่บ้าง ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 4.0-4.5% จากปี 2564

  • ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.8% YoY โดย EGAT (สัดส่วน 30.2% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) ผลิตเพิ่มขึ้น 1.9% YoY ส่วนผู้ผลิต เอกชน ได้แก่ IPP_(สัดส่วน 23.9%) +11.7% YoY_SPP_(สัดส่วน 23.5%) -3.6% YoY และ VSPP (สัดส่วน 5.5%) +1.6% YoY ที่เหลือเป็นการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สัดส่วน 16.9%) +8.9% YoY_(จากโรงไฟฟ้าน้ำเทิน สปป.ลาวที่เข้าระบบในปีนี้) ด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติ (สัดส่วน 53.1%) และพลังงานหมุนเวียน (สัดส่วน 10.1%) +1.9% และ +0.6% YoY ตามลำดับ

  • ข้อมูลล่าสุดช่วงครึ่งปีแรก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามสัญญารับซื้อของรัฐ (Selling to the grid) มีกำลังการผลิตติดตั้งสะสมรวม 12,463[1] เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 0.7% จากสิ้นปี 2564 แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ +14.3% YoY และขยะชุมชน +14.1% YoY ทั้งนี้ การผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบที่เกิดขึ้นจริงคิดเป็น 42% ของเป้าหมายตามแผน AEDP (29,411 เมกะวัตต์ภายในปี 2580) โดยปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลเข้าระบบมากที่สุดคิดเป็น 63% ของเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลทั้งหมด 5,790 เมกะวัตต์ภายในปี 2580

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจาก (1) ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว (คาดเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี) และ (2) นโยบายสนับสนุนการลงทุนตามแผน PDP และนโยบาย Net zero carbon เอื้อให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ด้านการแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายใหญ่ และการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยรายได้ของผู้ประกอบการ สรุปได้ดังนี้

    • IPP_คาดรายได้เติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีแผนเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ทยอยหมดอายุสัญญาในปี 2568-2570 จำนวน 8,300 เมกะวัตต์

    • SPP_คาดรายได้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากกำลังการผลิตที่ทยอยเข้าระบบ ขณะที่การลงทุนใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP hybrid firm ตามแผนของภาครัฐ และการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

    • VSPP_คาดรายได้และการลงทุนจะเร่งตัวขึ้น เนื่องจากภาครัฐทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล สอดคล้องกับนโยบาย Net zero carbon ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนพลังงานและแหล่งวัตถุดิบ


​โรงกลั่นน้ำมัน


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจได้แรงหนุนการเติบโตจากอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง (+15%YoY) แม้จะมีราคาแพงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก ผลจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนุนความต้องการใช้น้ำมันโดยเฉพาะในภาคขนส่ง ส่งผลให้ค่าการกลั่นรวม (Gross refinery margins: GRMs) ของไทยเฉลี่ยที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ 3.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (เทียบกับค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ (Gross refinery margins: GRM) อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 19.2 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 0.9 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันปีก่อน) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 86.1% เพิ่มขึ้นจาก 77.7% ในช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าค่าการกลั่นรวมจะลดลงบ้างจากครึ่งปีแรก ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบจะทรงตัวสูงต่อเนื่อง จากการปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC+ ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 98 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (+42% YoY) ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5-3.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว จึงคาดว่าค่าการกลั่นรวมของไทยทั้งปี 2565 จะเฉลี่ยที่ 12-13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 3.8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี 2564 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 84.5% จาก 78.4% ปีก่อน

แนวโน้มปี 2566-2568

วิจัยกรุงศรีคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี 2566 แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะซบเซา แต่อุปทานน้ำมันที่ถูกจำกัดจากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงในปี 2567 และ 2568 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 76 และ 70 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ จากปัจจัยด้านสงครามที่คลี่คลาย ทำให้ราคาน้ำมันกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น สำหรับทิศทางธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน สรุปได้ดังนี้

  • ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ตามการเติบโตของธุรกรรมทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 3.0-4.0% ต่อปี ขณะที่ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มสู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อน COVID-19 ภายในปี 2568 รวมถึงปริมาณรถยนต์ใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งซึ่งรวมถึงการกลับมาเติบโตของธุรกิจการบิน 

  • าคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 2565 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 39 บาท/ลิตรในปี 2566 ก่อนลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 37 และ 35 บาท/ลิตร ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ และน้ำมันดีเซลจะเฉลี่ยที่ 32, 30 และ 29 บาท/ลิตร ตามลำดับ

  • ธุรกิจโรงกลั่นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าการกลั่นรวมจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5-6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล/ปี ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 6 ดอลลาร์ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ระดับ 80-85% เนื่องจากยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มในช่วง 3 ปีข้างหน้า


เอทานอล


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น 8.2% YoY ที่ระดับเฉลี่ย 3.89 ล้านลิตร/วัน ตามความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ขยายตัว 6.0% YoY  ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการทยอยผ่อนปรนข้อกำหนดด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวระดับสูง หนุนความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้เคียงปกติและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จึงคาดว่าความต้องการใช้เอทานอลเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 8.2% อยู่ที่ 4.0 ล้านลิตร/วัน เทียบกับ 3.7 ล้านลิตร/วันในปี 2564

  • ปริมาณการผลิตเอทานอล 9 เดือนแรกอยู่ที่ 4.16 ล้านลิตร/วัน (+9.8% YoY) โดยการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลอยู่ที่ 2.5 ล้านลิตร/วัน (+12.3% YoY) มันสำปะหลัง 1.4 ล้านลิตร/วัน (+6.0% YoY) และน้ำอ้อย 0.2 ล้านลิตร/วัน (+7.5% YoY) สำหรับทั้งปี 2565 คาดว่าปริมาณการผลิตเอทานอลจะเพิ่มขึ้น 11-12% เนื่องจากเอทานอลยังมีราคาต่ำกว่าน้ำมันเบนซินมาก ด้านสต็อกเอทานอล ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ 86.95 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ 44.6 ล้านลิตร แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (-14.43% YoY) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปี 2565 คาดอยู่ที่ 62.1% เพิ่มจาก 55.4% ในปีก่อน

  • ผู้ผลิตเอทานอลจะมีมาร์จินแคบลง เนื่องจากเผชิญต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะราคากากน้ำตาลเพิ่มขึ้น 35.9% YoY อยู่ที่กิโลกรัมละ 8.15 บาท ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลอยู่ที่ลิตรละ 41.52 บาท (+27.6% YoY) ขณะที่ราคาหัวมันสดเพิ่มขึ้น 23.1% YoY อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.5 บาท ทำให้ต้นทุนผลิตฯ จากหัวมันสดเพิ่มเป็นลิตรละ 23.7 บาท (+14.1% YoY) และราคามันเส้นเพิ่มขึ้น 13.9% YoY อยู่ที่กิโลกรัมละ 6.8 บาท ทำให้ต้นทุนผลิตฯ จากมันเส้นเพิ่มเป็น 25.96 บาท (+9.2% YoY) สำหรับราคาขายเอทานอลอ้างอิงปี 2565 คาดว่าจะเฉลี่ยที่ลิตรละ 26.7 บาท จาก 25.47 บาทปี 2564

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ความต้องการใช้เอทานอลในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปีที่ระดับ 4.0-4.5 ล้านลิตร/วัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

    • ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) จะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคขนส่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤต COVID-19 ในปี 2567 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 ล้านคนภายในปี 2568

    • แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในปี 2566 เบื้องต้นทางการวางเป้าหมายให้มีส่วนต่างราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 3 บาทต่อลิตรเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอล รวมถึงมีแผนยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E10 (91) และ E85

    • จำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยเฉพาะจำนวนรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งสามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ได้ทั้งหมด

    • ในระยะต่อไป ความต้องการเอทานอลจากตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจาก (1) เริ่มมีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไปเป็นเชื้อเพลิงอากาศยาน (2) ใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตไบโอพลาสติก รวมถึง (3) ใช้ผลิตยางรถยนต์ทดแทนยางสังเคราะห์ที่ทำจากปิโตรเลียม



ไบโอดีเซล


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก การผลิตไบโอดีเซลลดลง -22.7% YoY เฉลี่ยที่ 3.56 ล้านลิตร/วัน หลังภาครัฐลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจากเดิม 10% (B10) เป็น 7% (B7) และ 5% (B5) ตามลำดับ ผลจากราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศปรับสูง ขึ้นตามราคาตลาดโลก จากปัจจัย อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน การห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย และการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย ปัจจัยข้างต้นผลักดันราคาไบโอดีเซลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (เพื่อผสมในน้ำมันดีเซล) ลดลง -22.6% YoY เฉลี่ยที่ 3.59 ล้านลิตร/วัน สำหรับไตรมาส 4 คาดว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซลจะเพิ่มขึ้นจากมติทางการให้เพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลเป็น B7 B10 และ B20 (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) จากราคา CPO ทยอยปรับลดลง และเข้าสู่ช่วงเทศกาลเดินทางและท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ไบโอดีเซลทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 3.97 ล้านลิตร/วัน (-12.6% YoY) และ 4.01 ล้านลิตร/วัน    (-12.6% YoY) ตามลำดับ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับลดมาอยู่ที่ 39.3% (จาก 48.4% ในปี 2564)

  • ราคาขายอ้างอิงช่วง 9 เดือนแรก (ผู้ผลิตไบโอดีเซลขายให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้น 28.6% YoY ที่ระดับเฉลี่ย 50.3 บาท/ลิตรหรือ 58.2 บาท/กิโลกรัม จาก (1) สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาน้ำมันพืชรวมถึงปาล์มและน้ำมันดิบทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น (2) สต็อก CPO ในประเทศลดลงเนื่องจากมีการส่งออกเพิ่มขึ้นตามโครงการผลักดันการส่งออก เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ส่งผลให้ราคา CPO และไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) ในประเทศเพิ่มขึ้น 32.0% และ 33.2% YoY โดยเฉลี่ยที่ 47.3 และ 48.1 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ด้านส่วนต่างราคาขายไบโอดีเซลกับราคา CPO (Spread) อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 10.9 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 9.4 บาท/กิโลกรัม ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • อุตสาหกรรมไบโอดีเซลช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการใช้จะเฉลี่ยที่ 4.0-4.5 ล้านลิตร/วัน หรือเติบโตเฉลี่ย 8.5-9.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก

    • ความต้องการใช้ยานยนต์ดีเซลในภาคขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก (1) เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวในอัตรา 3.0-4.0% ต่อปี (2) การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce จะหนุนความต้องการรถขนส่งเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะรถปิกอัพ และ (3) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี

    • มาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลและสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มจากภาครัฐ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และการขยายเวลาจ่ายเงินชดเชยแก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพถึง 24 กันยายน 2567 รวมถึงการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์ม

    • ผู้ผลิตยานยนต์มีแนวโน้มพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรองรับการใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีสัดส่วนไบโอดีเซลที่สูงขึ้น ทั้งรถขนาดใหญ่ รถปิกอัพ รถอเนกประสงค์และรถบรรทุก




 

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

 

ปิโตรเคมี​


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ตลาดปิโตรเคมีของไทยชะลอลงหลังฟื้นตัวอย่างร้อนแรงในปี 2564 โดยยอดขาย (การบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออก) หดตัว -5.1% YoY ผลจาก (1) มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดของจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย และ (2) เงินเฟ้อที่เร่งตัวในหลายประเทศกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบ โดยราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลายประเภทปรับลดลง ท่ามกลางราคาวัตถุดิบตั้งต้นที่ทรงตัวระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบโลก กดดัน Spread ลดลงในหลายผลิตภัณฑ์ ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะชะลอลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2565 คาดว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศหดตัวเฉลี่ย -9.0% ถึง -10.0% จากที่ขยายตัว 10.1% YoY ในปี 2564 ขณะที่ปริมาณส่งออกหดตัว -6.0% ถึง -7.0% จากที่ขยายตัว 10.1% YoY ในปีก่อนหน้า

    • ราคาแนฟทา: ช่วง 9 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 824.7 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 34.2% YoY ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ โดยทั้งปี 2565 คาดว่าราคาแนฟทาจะเฉลี่ยอยู่ที่ 767 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น: Spread ของเอทิลีน (Ethylene) ช่วง 9 เดือนแรกเฉลี่ยที่ 290 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลงจาก 373.1 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันปีก่อน และโพรไพลีน (Propylene) เฉลี่ยที่ 215.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลงจาก 380.4 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยทั้งปี 2565 คาดว่า Spread ของ Ethylene และ Propylene จะอยู่ที่ 283 และ 213.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ตามลำดับ

    • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย: Spread ของ HDPE ช่วงเดือน 9 แรกเฉลี่ยอยู่ที่ 35.9 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลงจาก 121.2 ดอลลาร์ฯในช่วงเดียวกันของปีก่อน และโพลีสไตรีน (PS) เฉลี่ยที่ 378.2 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลงจาก 584.3 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งปี 2565 คาดว่า Spread ของ HDPE และ PS จะเฉลี่ยที่ 43 และ 385 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ตามลำดับ

  • ​ผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมีปี 2565 มีทิศทางชะลอลง สะท้อนจากราคาและปริมาณขายที่ปรับลดตามความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบทรงตัวระดับสูง กดดันผลประกอบการอีกทางหนึ่ง
     

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในปี 2566 ก่อนกระเตื้องขึ้นในปี 2567 และ 2568 โดย IMF คาดว่า GDP โลกปี 2566 จะเติบโตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.7% โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วและจีน ขณะที่ปี 2567 และ 2568 GDP โลกจะกระเตื้องขึ้นที่ระดับ 3.2% และ 3.4% ตามลำดับ สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคที่จะทยอยฟื้นตัว และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำเพิ่มขึ้น ด้านความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศจะทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันที่จะจำกัดความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น นโยบายลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เช่น PE, PP และ PET) และอุปทานที่จะเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ โดยเฉพาะจากจีน ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศและปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% และ 0.5-1.0% ต่อปี ตามลำดับ

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับสายการผลิตสู่เม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ อาทิ ABS ซึ่งใช้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าสูง (Specialty products) เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Biodegradable plastics) และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled plastics) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสอดคล้องกับแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 (ปี 2565-2569) ที่หนุนการผลิตเม็ดพลาสติกดังกล่าวข้างต้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในอนาคต

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

 

ยาแผนปัจจุบัน​


สถานการณ์ปี 2565

  • อุตสาหกรรมยาเติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการบริโภคยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจาก (1) ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ กลับมารับการรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น หลังทางการประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม) (2) การเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น (คาด 10.4 ล้านคน จาก 4.3 แสนคนปี 2564) ซึ่งบางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ (3) กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาใกล้เคียงปกติ ทำให้การติดเชื้อทั้งโรค COVID-19 และโรคติดต่ออื่นๆ รวมถึงอุบัติเหตุมีอยู่ต่อเนื่อง จึงคาดว่ามูลค่าจำหน่ายยาในประเทศจะเติบโต 4.5-5.0% จาก 2.5% ในปีก่อน โดยการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลยังได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐที่เปิดโอกาสให้จัดซื้อยา อาทิ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิดได้เอง ขณะที่ร้านขายยาเพิ่มบทบาทในการดูแลและจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ โดยสรุปสถานการณ์ช่วง 9 เดือนแรกได้ดังนี้

    • มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศ[1]เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ยาสำหรับโรคทั่วไปและโรคตามฤดูกาล โดยยาเม็ด (สัดส่วน 49.5% ของมูลค่าจำหน่ายยาทั้งหมด) +18.1% YoY ยาน้ำ (สัดส่วน 22.9%) +29.2% YoY ยาฉีด (สัดส่วน 8.0%) +5.2% YoY ยาแคปซูล (สัดส่วน 7.6%) +4.5% YoY ยาครีม (สัดส่วน 6.8%) +13.0% YoY และยาผง (สัดส่วน 5.3%) +30.7% YoY ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 60.0% จาก 54.9% ปี 2564

    • มูลค่าส่งออกยาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้น 13.2% YoY อยู่ที่ 12.3 พันล้านบาท จำแนกเป็น ยารักษาโรคและอื่นๆ (สัดส่วน 95.6% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 23.3% YoY และวัคซีน (สัดส่วน 4.4%) หดตัว -59.3% YoY โดยตลาดหลัก CLMV (สัดส่วนรวมกัน 55.7% ของมูลค่าส่งออกยาทั้งหมด) +13.1% YoY และตลาดมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น (สัดส่วนรวมกัน 18.1%) +34.8% YoY สำหรับประเทศที่ซื้อวัคซีนจากไทยเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ได้แก่ เมียนมา (+800% YoY) และกัมพูชา (+272% YoY) ด้านมูลค่านำเข้ายาโดยรวมเพิ่มขึ้น 7.0% YoY อยู่ที่ 87.6 พันล้านบาท โดยการนำเข้ายา (รวมวัคซีน) จากเยอรมนี สหรัฐฯ อินเดีย และฝรั่งเศส (สัดส่วนรวมกัน 48.6% ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด) +53.2% YoY หากพิจารณาเฉพาะวัคซีน (สัดส่วน 31.6% ของมูลค่านำเข้ายาทั้งหมด) +25.0% YoY มีการนำเข้าจากเยอรมนี (สัดส่วน 29.4% ของมูลค่านำเข้าวัคซีนทั้งหมด) +3,631% YoY และสหรัฐฯ +359% YoY (อาทิ Moderna และ Pfizer) ด้านจีน (สัดส่วน 1.1%) -98.1% YoY ผลจากมีการเร่งนำเข้าวัคซีนเพิ่มขึ้นมากในปี 2564
       

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ​มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) การเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคติดต่ออุบัติใหม่2/ (2) การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น สะท้อนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (3) ผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกลับมาใช้บริการต่อเนื่องและมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 ภายในปี 2568 (4) กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หนุนความต้องการผลิตภัณฑ์ยาโดยเฉพาะยาเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรค และ (5) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ จะช่วยเชื่อมห่วงโซ่อุปทานของยาตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้ป่วยให้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น

  • ประเด็นท้าทายของธุรกิจ ได้แก่ (1) ไทยยังขาดศักยภาพในการผลิตยาที่รักษาโรคซับซ้อน จึงต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ต้นทุนยามีราคาสูง (2) การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะยาราคาถูกจากอินเดียและจีน (3) ต้นทุนของผู้ผลิตยาเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S3/ และ (4) ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น



​ปุ๋ยเคมี


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูง (ได้แก่ ข้าว อ้อย และปาล์มน้ำมัน) ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น (+11.2% YoY) จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปี คาดความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีจะชะลอลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนประสบอุทกภัยได้รับความเสียหาย ผนวกกับราคาขายปลีกปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากรัสเซียระงับการส่งออกปุ๋ยบางประเภท ขณะที่ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปใช้ปุ๋ยหมักราคาถูกทดแทน ส่งผลให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเพียง 1.9% อยู่ที่ 5.4 ล้านตัน

  • ช่วงเวลาเดียวกัน ไทยนำเข้าแม่ปุ๋ย (สัดส่วน 71.1% ของปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด) และปุ๋ยผสมหรือปุ๋ยสำเร็จรูป (สัดส่วน 28.9%) มีปริมาณทั้งสิ้น 3.6 ล้านตัน หดตัว -24.2% YoY คิดเป็นมูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท (+59.3% YoY) ผลจากราคาปุ๋ยโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง ทำให้ปุ๋ยนำเข้ามีราคาแพงขึ้น ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีจะชะลอตัวลง ทำให้ปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 4.3 ล้านตัน หดตัว -23.0% จากปี 2564

  • การส่งออกปุ๋ยเคมี (สัดส่วน 5% ของผลผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศ) อยู่ที่ 3.7 แสนตัน หดตัว -34.6% YoY คิดเป็นมูลค่า 8.2 ล้านบาท (+22.0% YoY) โดยตลาดหลัก CLMV (สัดส่วน 82.9% ของปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมี) ลดลง -32.1% YoY จากราคาที่แพงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณส่งออกปุ๋ยเคมีทั้งปี 2565 จะหดตัว -35.0% อยู่ที่ 4.7 แสนตัน จากระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 7.2 แสนตันปี 2564

  • ด้านราคาปุ๋ยเคมี 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นมาก โดยราคานำเข้าแม่ปุ๋ยเฉลี่ยที่ 24,076 บาท/ตัน (+124% YoY) และปุ๋ยผสมอยู่ที่ 31,593 บาท/ตัน (+114% YoY) จากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อกระทบอุปทานปุ๋ยเคมีโลก (รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับหนึ่งของโลก) อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกแม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสมเพิ่มขึ้นในอัตราน้อยกว่า (+91% และ +57% YoY ตามลำดับ) เนื่องจากรัฐจำกัดเพดานการปรับขึ้นราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงอาจกดดันผลประกอบการของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีอยู่บ้าง

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • ​ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี อยู่ที่ 5.6-5.9 ล้านตัน ตามทิศทางการขยายพื้นที่เพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้าว (คาดผลผลิตจะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2565) ยางพารา (คาดผลผลิตขยายตัว 4.5-5.5%) และปาล์มน้ำมัน (3.0-4.0%) ซึ่งพืชทั้ง 3 ประเภทใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันประมาณ 80% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) ราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก และ (2) คาดว่าสภาพอากาศจะเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุน จากค่าพลังงานและราคานำเข้าแม่ปุ๋ยที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่อง

  • ​ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการผลิตสู่ตลาดปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีแนวโน้มมากขึ้นตามกระแสรักษ์โลก อีกทั้งการลงทุนผลิตปุ๋ยประเภทนี้ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีรแนวโน้มปี 2566-2568คาแพงได้ในระยะต่อไป





 

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

 

รถยนต์

 

ผู้ผลิตรถยนต์


สถานการณ์ปี 2565

  • การผลิตรถยนต์ครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 3.0% YoY (ครึ่งแรกปี 64 +39.3% YoY) แรงกดดันจาก (1) ปัญหาการขาดแคลนชิปรุนแรง เนื่องจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (แหล่งผลิตชิปสำคัญแห่งหนึ่งของโลก) มีการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID ในช่วง 28 มีนาคม-1 มิถุนายน และ (2) สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดในประเทศเติบโต 14.5% YoY (ครึ่งแรกปี 64 +13.6% YoY) ขณะที่ตลาดส่งออกหดตัว -5.0% YoY (ครึ่งแรกปี 64 +35.1% YoY) อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 3 การผลิตเติบโตถึง 34.5% YoY (ไตรมาส 3/2564 +3.1% YoY) ปัจจัยบวกจาก (1) จีนยกเลิก Lockdown เซียงไฮ้ในช่วงมิถุนายน (2) ชิ้นส่วนรถยนต์นั่งและชิปบางรุ่นเริ่มมีเข้ามา โดยตลาดในประเทศเติบโตสูง 30.0% YoY (ไตรมาส 3/64 -23.0% YoY) ส่วนตลาดส่งออกเติบโต 25.9% YoY (ไตรมาส 3/64 +19.4% YoY) ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรก การผลิตเติบโต 12.6% YoY (1.36 ล้านคัน) มาจากการเติบโตของตลาดในประเทศ 19.1% YoY (0.63 ล้านคัน) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากนโยบายอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) หนุนยอดจดทะเบียนใหม่รถไฟฟ้า BEV ให้เติบโต 297.1% YoY (6,059 คัน) และอุปสงค์ต่อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขยายตัว 20.2% YoY ขณะที่ตลาดส่งออกเติบโต 4.3% YoY (0.71 ล้านคัน) ตามการเติบโตของตลาดหลัก เช่น อาเซียน ซาอุดิอาระเบีย เม็กซิโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตรถยนต์จะเติบโตในอัตราที่ลดลง โดยตลาดในประเทศน่าจะขยายตัวชะลอลง เนื่องจาก (1) ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่กระทบความต้องการซื้อรถ และ (2) ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดส่งออกคาดว่าจะยังเติบโตไม่มากนักตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จึงคาดว่าการผลิตรถยนต์ทั้งปี 2565 จะเติบโต 9.0-10.0% (1.83-1.85 ล้านคัน) โดยตลาดในประเทศเติบโต 15.0-16.0% (0.87-0.88 ล้านคัน) ผลจากชิ้นส่วนรถยนต์นั่งและชิปบางรุ่นเริ่มเข้ามามากขึ้น ส่วนปริมาณส่งออกคาดว่าจะเติบโต 4.0-5.0% (1.00-1.01 ล้านคัน)


แนวโน้มปี 2566-2568

  • การผลิตรถยนต์ของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี โดยปัญหาขาดแคลนชิปคาดว่าจะยังคงมีอยู่เป็นระยะภายใต้แรงกดดันของสงครามเทคโนโลยีโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน โดยยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง (2) นโยบายอุดหนุนการใช้รถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ที่ยังมีต่อเนื่อง และ (3) ความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่จะขยายตัวดีตามภาคก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และโลจิสติกส์ ส่วนปริมาณส่งออกรถยนต์จะเติบโตในอัตราชะลอลงเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี โดยในปี 2566 จะเติบโตต่ำตามทิศทางกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ซบเซาก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นในปี 2567-2568 แต่โอกาสการเติบโตอาจไม่สูงนัก เนื่องจากยังมีบางปัจจัยที่อาจเป็นข้อจำกัด ได้แก่ (1) ปัญหากีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า อาทิ รัฐบาลเมียนมาห้ามนำเข้ารถยนต์ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2565 และ (2) นโยบายลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ของหลายประเทศ (การส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 ส่วนใหญ่ยังเป็น ICE สัดส่วนถึงกว่า 97% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย)


ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่


สถานการณ์ปี 2565

  • รายได้จากการขายรถยนต์เติบโตดี ตามยอดจำหน่ายรถยนต์โดย 9 เดือนแรกขยายตัว 19.1% YoY (0.63 ล้านคัน) เนื่องจากชิ้นส่วนรถยนต์นั่งและชิปบางรุ่นเริ่มมีเข้ามา ทำให้สามารถส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อก่อนหน้าได้เพิ่มขึ้น ส่วนรายได้จากการให้บริการและขายอะไหล่ยังคงเติบโต ตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุไม่เกิน 5 ปี ที่ขยายตัว 1.5% YoY อยู่ที่ 5.26 ล้านคัน เนื่องจากปริมาณการซ่อม/บำรุงยานยนต์เก่ายังมีอยู่ต่อเนื่อง

  • ช่วงที่เหลือของปี รายได้ของธุรกิจยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้จากการจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะเติบโตตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (คาดว่าจะขยายตัว 15.0-16.0%) อยู่ที่ 0.87-0.88 ล้านคัน ส่วนรายได้จากการบริการและจำหน่ายอะไหล่จะเติบโตตามจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.0%)

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • รายได้ของธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี แม้ว่าปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนฯสำคัญสำหรับการผลิตรถยนต์คาดว่าจะยังคงมีอยู่เป็นระยะจากสงครามทางเทคโนโลยีสหรัฐฯ และจีน ขณะที่รายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีทิศทางปรับตัวลงตามการหดตัวของยอดขายรถยนต์ใหม่ในช่วงปี 2563-2564 ทำให้จำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุน้อยกว่า 5 ปีปรับลดลง  แม้จะมีความต้องการซ่อมบำรุงรถยนต์ตามอายุ/ระยะทาง แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ใช้รถบางส่วนที่อาจเปลี่ยนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่กำลังซื้อยังเปราะบาง นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของค่ายรถยนต์ เช่น ให้ตัวแทนจำหน่ายทยอยลงทุนปรับปรุงโชว์รูมและศูนย์บริการให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งการลงทุนพัฒนาบุคลากรและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายในโชว์รูมเพื่อรองรับการให้บริการลูกค้ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ

​ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรกความต้องการรถยนต์มือสองเติบโตดี เนื่องจาก (1) ในช่วงครึ่งปีแรกการผลิตรถยนต์ใหม่ล่าช้าจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานการผลิต และ (2) ความต้องการรถยนต์เพื่อประกอบอาชีพ ผลักดันให้ดัชนีราคารถยนต์มือสองขยายตัว 8.1% YoY นอกจากนี้ มาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผู้จำหน่าย โดยมีการตรวจสอบคุณภาพ/รับประกันสินค้าและบริการหลังการขายช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนที่มีงบประมาณจำกัดมีความมั่นใจซื้อรถยนต์มือสองมากขึ้น

  • ในช่วงที่เหลือของปี ยอดขายรถยนต์มือสองจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายทั้งปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากรถยนต์ใหม่ยังผลิตได้ไม่เต็มที่ และความจำเป็นในการใช้รถยนต์เพื่อประกอบอาชีพในสภาวะที่งบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน[1] ที่สิ้นสุดสิ้นปี 2564 อาจทำให้จำนวนรถยึดทยอยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองมีแนวโน้มปรับลดลงได้

แนวโน้มปี 2566-2568​

  • ยอดขายมีแนวโน้มซบเซาตามความต้องการใช้ โดยคาดว่าราคารถยนต์มือสองจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอุปทานรถยนต์เก่าเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ที่หลุดจำนองเนื่องจากผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ ภายใต้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้ง รถยนต์ใหม่ (สินค้าทดแทน) มีแนวโน้มออกสู่ตลาดต่อเนื่องหลังจากอุปทานชิปบางรุ่นเริ่มเข้ามา นอกจากนี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่ความนิยม ทำให้ความต้องการรถยนต์มือสองลดลง เนื่องจากรถยนต์มือสองเกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งนี้ คาดว่าการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์มือสองรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นตามการขยายธุรกิจของบริษัทข้ามชาติและบริษัทในเครือของค่ายรถ รวมทั้งการขยายแพลตฟอร์มรถยนต์มือสองออนไลน์ อาจกดดันผลประกอบการของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME

รถจักรยานยนต์

 

สถานการณ์ปี 2565

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ครึ่งปีแรกหดตัว -7.1% YoY (ครึ่งแรกปี 64 +47.3% YoY) เนื่องจาก (1) การ Lockdown ของเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID ในช่วง 28 มีนาคม-1 มิถุนายน และ (2) สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิปรุนแรงขึ้น กระทบการผลิตโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการส่งออก (เกือบ 80% ของมูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์ทั้งหมด) ทำให้ตลาดส่งออกหดตัว -17.6% YoY (ครึ่งแรกปี 64 +43.7% YoY) ขณะที่ตลาดในประเทศเติบโตเพียง 3.9% YoY (ครึ่งแรกปี 64 +19.2% YoY) อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 3 การผลิตเติบโตถึง 97.1% YoY (ไตรมาส 3/64 -36.5% YoY) โดยมีปัจจัยบวกจากจีนได้ยกเลิกการ Lockdown เซี่ยงไฮ้ในช่วงเดือนมิถุนายน และชิปบางรุ่นเริ่มมีเข้ามา ส่งผลให้ตลาดในประเทศเติบโต 38.2% YoY (ไตรมาส 3/64 -20.3% YoY) ขณะที่ปริมาณส่งออกหดตัว -5.2% YoY (ไตรมาส 3/64 +42.5% YoY) ตามภาวะซบเซาของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้า ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกการผลิตเติบโต 15.3% YoY (1.47 ล้านคัน) จากการเติบโตของตลาดในประเทศ 13.3% YoY (1.36 ล้านคัน) แรงหนุนจาก (1) ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นผลักดันกำลังซื้อของผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย (2) นโยบายอุดหนุนการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ผลักดันยอดจดทะเบียนใหม่เติบโต 135.0% YoY (6,043 คัน) และ (3) ความต้องการรถจักรยานยนต์เพื่อประกอบอาชีพขนส่งในกลุ่มธุรกิจ Food delivery และธุรกิจโลจิสติกส์ที่ยังเติบโตดี ขณะที่ปริมาณและมูลค่าส่งออกยังหดตัว -13.8% YoY (0.29 ล้านคัน) และ -1.3% YoY (2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ จากการหดตัวของมูลค่าส่งออกในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ หดตัว  -19.2% YoY สหภาพยุโรป -3.3% YoY และญี่ปุ่น  -2.2% YoY (สัดส่วนส่งออกรวมกัน 60.9% ของมูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์ทั้งหมดช่วง 9 เดือนปี 2565) ส่วนตลาดอาเซียนยังเติบโต 1.4% (สัดส่วนส่งออก 6.4%)

  • ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตรถจักรยานยนต์มีทิศทางเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามภาวะกำลังซื้อที่ได้รับผลกระทบจาก (1) ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และ (2) ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ย ส่วนการส่งออกคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้บ้าง เนื่องจากผู้ผลิตสามารถเข้าถึงชิปได้เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เพื่อส่งออกได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มชะลอตัวโดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อาจยังเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของการส่งออก โดยทั้งปี 2565 คาดว่าการผลิตรถจักรยานยนต์จะเติบโต 7.0-8.0% เทียบกับที่ขยายตัว 10.2% ในปี 2564 โดยตลาดในประเทศเติบโต 10.0-11.0% และตลาดส่งออกหดตัว -8.0% ถึง -7.0% เทียบกับที่เติบโต 6.0% และ 34.9% ในปี 2564 ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วงปี 2566-2568 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) เศรษฐกิจในประเทศที่มีทิศทางทยอยฟื้นตัว (2) นโยบายอุดหนุนการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ยังมีต่อเนื่อง และ (3) การจัดการเลือกตั้งในประเทศประมาณปี 2566 ที่คาดว่าจะทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้นในช่วงหาเสียง อย่างไรก็ตาม มาตรการภาครัฐในการกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2566 (ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 30-32% ต่อปี) อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการมีผลตอบแทนทางการเงินลดลง ทำให้ต้องเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง ด้านตลาดส่งออกคาดว่าปริมาณจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี ตามความต้องการของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ประกอบกับผู้ผลิตแบรนด์ดูคาติ (สัญชาติอิตาลี) ในไทยทยอยขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกภายในปี 2567 เป็น 1.8 หมื่นคันต่อปี จากเดิม 1.2 หมื่นคันต่อปี ทำให้คาดว่าปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์จะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี


​ชิ้นส่วนยานยนต์


สถานการณ์ปี 2565

  • การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ช่วง 9 เดือนแรกเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิต (MPI) ที่ขยายตัว 8.8% YoY โดยความต้องการชิ้นส่วนฯ ในตลาดประกอบยานยนต์ (Original Equipment Manufacturer: OEM) เติบโตตามปริมาณการผลิตรถยนต์ (+12.6% YoY อยู่ที่ 1.36 ล้านคัน) และรถจักรยานยนต์ (+15.3% YoY อยู่ที่ 1.47 ล้านคัน) ส่วนความต้องการชิ้นส่วนฯ ในตลาดทดแทน (Replacement Equipment Manufacturer: REM) ขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของจำนวนยานยนต์จดทะเบียนสะสม (ตารางที่ 1) การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เติบโต 2.5% YoY (มูลค่า 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเป็นการเติบโตดีในเกือบทุกตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน (+11.1% YoY) สหรัฐฯ (+10.0% YoY) และสหภาพยุโรป (+7.3% YoY) ซึ่งมีสัดส่วนรวมกัน 54.6% ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนฯ ทั้งหมด

  • ในช่วงที่เหลือของปี ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ตามทิศทางการผลิตยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 2565 คาดว่าตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจะยังเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดยตลาด OEM จะเติบโตตามปริมาณการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่น่าจะขยายตัว 9.0-10.0% และ 7.0-8.0% ตามลำดับ ส่วนตลาด REM จะยังเติบโตได้ เนื่องจากกำลังซื้อที่ถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาซ่อมแซมยานยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งาน ด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตในอัตราต่ำตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า โดย Euromonitor (ตุลาคม 2565) คาดการณ์ยอดขายรถยนต์โลกทั้งปี 2565 จะหดตัว -4.3% (เทียบกับปี 2564 เติบโต 5.0%) จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์โดยรวมทั้งปี 2565 จะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.0-1.0% และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะเติบโต 7.0-8.0%

แนวโน้มปี 2566-2568​

  • การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี โดยความต้องการในประเทศได้ปัจจัยหนุนจากตลาด OEM ที่คาดว่าจะขยายตัวตามปริมาณการผลิตยานยนต์ ขณะที่ความต้องการในตลาด REM คาดว่าจะยังเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณยานยนต์สะสม โดยเฉพาะยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ที่มีอยู่เกือบ 27 ล้านคัน (ข้อมูลสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565) ซึ่งมีความต้องการซ่อมแซม/เปลี่ยนชิ้นส่วนฯ ตามอายุและระยะทางการใช้งาน โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง เช่น ระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน เป็นต้น ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนฯ มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และการผลิตยานยนต์ของโลกที่เติบโตตามความต้องการซื้อที่จะทยอยฟื้นตัว โดย Euromonitor (ตุลาคม 2565) คาดการณ์ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกปี 2566-2568 จะเติบโตเฉลี่ย 3.0-6.0% ต่อปี ส่วน International Energy Agency (Global EV Outlook 2022) คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 7 ล้านคันในปี 2564 เป็น 18 ล้านคันในปี 2568 สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐของไทยที่เร่งสนับสนุนการผลิต EV ในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยส่วนใหญ่น่าจะยังคงเป็นชิ้นส่วนยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นหลักในช่วง 3 ปีข้างหน้า อาจมีผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ของไทยต้องเร่งปรับตัวในการรักษาช่องทางตลาดทั้งในประเทศและส่งออก



 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

อิเล็กทรอนิกส์​


ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD)


สถานการณ์ปี 2565

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิต (MPI) ของ HDD ลดลง -27.0% YoY (9 เดือนแรกปี 64 +4.8% YoY) และส่งออกมีมูลค่า 9.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง -2.3% YoY (9 เดือนแรกปี 64 +20.2% YoY) ในทิศทางเดียวกับยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer: PC)  ทั่วโลกที่หดตัว -13.0% YoY (PC ส่วนใหญ่ใช้ HDD เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล) ตามความต้องการ PC ที่ลดลงมากหลังจากที่ผู้บริโภคได้ซื้อ PC ใหม่ไปแล้วจำนวนมากในช่วง 2 ปีก่อน เพื่อรองรับการทำงานจากทางบ้านในช่วงการระบาดของ COVID-19 (PC +12.0% ปี 2563 และ +15.2% ปี 2564 เทียบกับช่วงก่อน COVID ปี 2559-2562  ที่หดตัวเฉลี่ยปีละ -2.4%) ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซบเซา ทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชนหันไปให้ความสำคัญกับการลงทุน IT ด้านอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Data center systems อย่างไรก็ตาม ทิศทางดังกล่าวยังหนุนความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงให้ยังเติบโตได้

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตและส่งออก HDD ของไทยมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ตามปริมาณจำหน่าย PC ในตลาดโลกที่คาดว่าทั้งปี 2565 จะลดลง -12.8% (IDC,กันยายน 2565) จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงตามราคาน้ำมันบั่นทอนกำลังซื้อโดยรวม ขณะที่ความต้องการ HDD ความจุสูงเพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางการลงทุน Data center systems ทั่วโลกปี 2565 ที่มีแนวโน้มเติบโต 10.4% เทียบกับ 6.1% ในปี 2564 (Gartner,ตุลาคม 2565) ทำให้คาดว่าทั้งปี 2565 ปริมาณการผลิต HDD โดยรวมจะหดตัวในทิศทางเดียวกับมูลค่าส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัว -5.0 ถึง -4.0% เทียบกับที่เติบโต 22.1% ในปี 2564

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • มูลค่าส่งออก HDD ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะกลับมาเติบโตในอัตราต่ำเพียง 1.0-2.0% ต่อปี สอดคล้องกับ IDC (กันยายน 2565) ที่คาดว่ายอดจำหน่าย PC ทั่วโลกในปี 2566 จะหดตัว 2.6% ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ แต่คาดว่าแนวโน้มการเติบโตจะสูงขึ้นในปี 2567 และปี 2568 เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มกระเตื้องขึ้น ขณะที่ความต้องการ HDD ที่มีความจุสูงจะยังขยายตัวต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน Cloud computing และ Data center สำหรับบริหารจัดการ Big data ส่วน HDD ที่มีความจุต่ำมีแนวโน้มถูกทดแทนด้วย Solid State Drives (SSD) มากขึ้นโดยเฉพาะในคอมพิวเตอร์ Notebooks

แผงวงจรรวม (IC)


สถานการณ์ปี 2565

  • ในช่วง 9 เดือนแรก ดัชนีผลผลิต (MPI) ของ IC ขยายตัว 9.4% YoY (9 เดือนแรกปี 64 +14.4% YoY) สอดคล้องกับการส่งออกที่มีมูลค่า 6.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.7% YoY (9 เดือนแรกปี 64 +19.2% YoY) ตามยอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์โลกที่เติบโต 11.8% YoY (9 เดือนแรกปี 64 +26.1% YoY) ส่วนใหญ่เป็นผลจากความต้องการใช้ IC ในการผลิตรถยนต์ที่ยังมีทิศทางขยายตัวจากกำลังซื้อที่สะสมก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาหลังจากที่ได้เร่งตัวในปี 2564 จากความจำเป็นที่ต้องทำงานและเรียนที่บ้านท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการผลิตและส่งออก IC ยังมีทิศทางเติบโตชะลอลง ตามความต้องการในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดย Gartner คาดการณ์ยอดขาย PC และ  Mobile Phone ทั่วโลกในปี 2565 จะลดลง -9.5% และ -7.1% ตามลำดับ ผลจากกำลังซื้อที่ลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจ โดยความต้องการใช้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับ IoT รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้คาดว่า
    ทั้งปี 2565 มูลค่าส่งออก IC ของไทยจะเติบโต 11.0-12.0% ชะลอลงจาก 19.0% ในปีก่อน​

แนวโน้มปี 2566-2568​

  • มูลค่าส่งออก IC มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี โดย WSTS คาดว่ายอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์โลกจะเติบโต 4.7% ในปี 2566 (สิงหาคม 2565) เทียบกับปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโต 13.9% เนื่องจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 2566 ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2567 ขณะที่ความต้องการในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์จะยังเติบโตดีต่อเนื่อง โดย Gartner (กรกฎาคม 2565) คาดว่าความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ในยานยนต์จะเพิ่มขึ้นจาก 712 ดอลลาร์สหรัฐต่อคันในปี 2565 เป็น 931 ดอลาร์สหรัฐฯต่อคันในปี 2568 ตามการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมากขึ้น ขณะที่ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (วัตถุดิบผลิต IC) ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะในปี 2566 จากสงครามเทคโนโลยีของสหรัฐ-จีน ที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง แต่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อาจเริ่มคลายตัวลงในช่วงปลายปี 2566 หลังผู้ผลิตชั้นนำหลายประเทศ อาทิ ไต้หวัน สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ต่างเร่งลงทุน/ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น


เครื่องใช้ไฟฟ้า


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตเพียง 0.7% YoY (อยู่ที่ 40.12 ล้านหน่วย) ตามปริมาณจำหน่ายในประเทศที่หดตัว -2.7% YoY (อยู่ที่ 11.19 ล้านหน่วย) ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันแพงที่กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านลดลงเกือบทุกประเภท อาทิ หม้อหุงข้าว (-20.5% YoY) เครื่องซักผ้า (-10.3% YoY) ตู้เย็น (-1.0% YoY) และเครื่องปรับอากาศ  (-1.1% YoY) ด้านมูลค่าการส่งออกเติบโต 7.1% YoY อยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ พัดลม (+24.6% YoY) ไมโครเวฟ (+19.6% YoY) เครื่องปรับอากาศ  (+11.3% YoY) คอมเพรสเซอร์ (+5.9% YoY) และตู้เย็น (+0.9% YoY)

  • ในช่วงที่เหลือของปี การผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มทรงตัว โดยยังมีปัจจัยหนุนจาก (1) รายได้ภาคเกษตรที่มีทิศทางสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร (2) ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วม และ (3) การจัดแคมเปญของผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี ด้านตลาดส่งออกมีแนวโน้มเติบโตไม่มากนักตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่   ซบเซา ทำให้คาดว่าทั้งปี 2565 ปริมาณจำหน่ายในประเทศจะหดตัว   -2.0 ถึง -1.0% และมูลค่าส่งออกเติบโตเหลือ 5.0-6.0% เทียบกับที่เติบโต 0.8% และ 20.3% ในปี 2564 ตามลำดับ

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • ปริมาณความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศระยะ 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะกลับมาเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ผลจาก (1) ตลาดที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นตามยอดขายและการเปิดตัวโครงการใหม่ (2) การพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ รวมถึงความสามารถเชื่อมโยงการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตตามกระแสความนิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ (3) การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการทำตลาดสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจซื้อได้สะดวกมากขึ้น และ (4) การขยายตัวของชุมชนเมืองที่หนุนความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทมากขึ้น เช่น ร้านสะดวกซัก (เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าหยอดเหรียญ) ที่ขยายสาขามากขึ้น นอกจากนี้  ภาวะโลกร้อนช่วยหนุนความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยยังมีอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศค่อนข้างต่ำเพียง 8.0% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในปี 2564

  • มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยจะชะลอตัวในปี 2566 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศคู่ค้า แต่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2567 โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหลายประเทศยังมีอัตราถือครองต่ำกว่า 20% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว  [ที่มา: The Japan Refrigeration and Air Conditioning Industry Association (JRAIA), July 2022] นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและกลุ่มคนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียที่จะเอื้อต่อการส่งออก


อุตสาหกรรมอื่นๆ

 

เครื่องมือแพทย์​


สถานการณ์ปี 2565

  • อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก (สัดส่วน 70% ของการผลิตทั้งหมด) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ปี 2565 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะขยายตัวประมาณ 3.5-4.0% จากการกลับมาใช้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลหลังความกังวล COVID-19 ลดลง ทำให้ความต้องการใช้อุปกรณ์การแพทย์เพิ่มขึ้น (อาทิ เตียงคนไข้ เครื่อง X-ray และเครื่อง MRI) ขณะที่ตลาดส่งออกจะหดตัว -30.0% ถึง -35.0% จากความต้องการผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองโดยเฉพาะถุงมือยางทางการแพทย์ปรับลดลงหลังจากเร่งตัวมากในปีก่อนหน้า สำหรับสถานการณ์ 9 เดือนแรกของปี สรุปได้ดังนี้  

    • มูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์หดตัว -36.5% YoY อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท จากความต้องการที่ลดลงในตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 85.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) ลดลง -41.8% YoY โดยเฉพาะถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์ (สัดส่วน 19.0% ลดลงมากจาก 57.6% ปี 2564) หดตัว -79.1% YoY ส่วนกลุ่มครุภัณฑ์และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคเติบโต 40.9% YoY และ 21.2% YoY ตามลำดับ 

    • มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 2.3% YoY อยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท นำโดยกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 34.1% ของมูลค่านำเข้าเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) ที่ขยายตัว 15.8% YoY ส่วนกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (สัดส่วน 36.8%) หดตัว -2.6% YoY และกลุ่มครุภัณฑ์ (สัดส่วน 29.2%) หดตัว -5.2% YoY  

    • การผลิตเครื่องมือแพทย์ขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ขยายตัว 3.4% YoY (เทียบกับ 13.4% ในช่วงเดียวกันปี 2564) โดยการผลิตอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น เข็มฉีดยา (+28.3% YoY) ชุดถ่ายเลือดและให้น้ำเกลือ (+17.7% YoY) และอื่นๆ (+8.3% YoY) ขณะที่การผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ลดลง -2.7% YoY  ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉลี่ยที่ 69.8% เพิ่มขึ้นจาก 60.7% ปี 2564

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • ตลาดเครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 7.0-8.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.0-10.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก (1) ผู้ป่วยมีแนวโน้มกลับมารับการรักษาในสถานพยาบาลตามปกติ (2) ผู้ป่วยต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น (3) กระแสการใส่ใจสุขภาพ ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น (4) การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้ต้องการการรักษาต่อเนื่อง และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้ความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์มีมากขึ้น และ (5) ประเทศคู่ค้าของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์แพทย์ อาทิ จีนและญี่ปุ่น มีความต้องการชุดตรวจโรคความดันโลหิตสูง และชุดตรวจเลือดดูค่าเบาหวานสำหรับผู้สูงอายุ




 

ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง

 

รับเหมาก่อสร้าง


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก มูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมหดตัว  -1.5% YoY อยู่ที่ 1,066.6 พันล้านบาท โดยต้นทุนด้านค่าขนส่งและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะอุปสงค์ที่ซบเซา พิจารณาจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเหล็กและปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น 6.7% YoY และ 10.7% YoY ตามลำดับ ตามทิศทางราคาน้ำมัน มูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐหดตัว -2.9% YoY จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังล่าช้าในทุกประเภท ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัว 0.6% YoY ปัจจัยขับเคลื่อนจากมูลค่าลงทุนในโครงการด้านที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ของเอกชนยังคงขยายตัว 5.6% YoY และ 17.1% YoY ตามลำดับ ตามแผนการลงทุนของผู้ประกอบการ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่สิ้นสุดลงในปีก่อนหน้า และยังไม่มีการลงทุนก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติม (NESDC)

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมยังคงมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก (1) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐที่คาดว่ายังคงจะล่าช้า (2) ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ทำให้บางโครงการชะลอออกไป (3) ปัญหาราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงยังคงส่งผลต่อต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และ (4) กำลังซื้อที่ยังซบเซา คาดว่าทั้งปี 2565 มูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มลดลง -1.2% อยู่ที่ 1,348.6 พันล้านบาท โดยเป็นการหดตัวของโครงการภาครัฐ -2.7% ขณะที่ภาคเอกชนยังทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย 0-1.0% ในกรณีของโครงการเอกชน โอกาสที่ผู้รับเหมาก่อสร้างจะปรับเพิ่มราคาก่อสร้างตามต้นทุนอาจยังทำได้จำกัด ในภาวะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากค่าครองชีพที่สูงตามภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะผู้รับเหมารายเล็กอาจเสี่ยงต่อปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

แนวโน้มปี 2566-2568

มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวม 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.0% ต่อปี ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และภาวะเศรษฐกิจที่จะทยอยฟื้นตัว ซึ่งจะหนุนให้การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการเพื่อการพาณิชย์กระเตื้องขึ้น

  • การลงทุนก่อสร้างภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.0-5.5% ต่อปี จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่เชื่อมโยงกับ EEC ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ระยะที่ 2 ปี 2566-2570 จำนวน 77 โครงการ วงเงินลงทุน 337.8 พันล้านบาท (เฉพาะก่อสร้าง) ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น รวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ในพื้นที่อื่นที่น่าจะคืบหน้ามากขึ้น

  • การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.0-4.5% ต่อปี หนุนโดย (1) การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่เหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมสายใหม่ๆ (2) การลงทุนใน EEC ที่จะหนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และ (3) การลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

  • ผู้รับเหมารายใหญ่จะมีความได้เปรียบรายกลางและเล็ก เนื่องจากมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต/ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสูงกว่า และมีโอกาสได้งานประมูลมากกว่า ทั้งยังสามารถขยายการก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ผู้รับเหมารายกลางและรายเล็กยังต้องพึ่งพาการรับเหมาช่วง (Subcontract) จากผู้รับเหมารายใหญ่  รายได้จึงไม่แน่นอน อีกทั้งมีโอกาสเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลนเป็นระยะ รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นตามราคาพลังงาน


​​วัสดุก่อสร้าง


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศหดตัวเกือบทุกประเภท ตามภาวะก่อสร้างที่ซบเซา โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เหล็กก่อสร้าง และกระเบื้องเซรามิกหดตัว -2.6% YoY, -4.0% YoY และ -1.2% YoY ตามลำดับ  คาดไตรมาส 4 อุปสงค์วัสดุก่อสร้างกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยแรงหนุนจากตลาดซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังอุทกภัยในหลายพื้นที่  ทำให้คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศโดยรวมปี 2565 มีแนวโน้มทรงตัวถึงหดตัวเล็กน้อย 

  • ปริมาณส่งออก 9 เดือนแรกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน ลดลง -42.6% YoY ตามกำลังซื้อที่ชะลอตัวในตลาดหลัก อาทิ เมียนมา และกัมพูชา  ขณะที่เหล็กก่อสร้างเพิ่มขึ้น 57.6% YoY เนื่องจากอุปทานจากจีนเริ่มลดลงในช่วง Lockdown โดยเป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นของตลาดหลัก อาทิ แคนาดา มาเลเซีย ด้านปริมาณนำเข้าหดตัวตามภาคก่อสร้างในประเทศ โดยการนำเข้าสุขภัณฑ์เซรามิก กระเบื้องเซรามิก และเหล็กก่อสร้าง หดตัว -6.3% YoY, -5.6% YoY และ -4.2% YoY ตามลำดับ คาดทั้งปี 2565 ปริมาณส่งออกและนำเข้าวัสดุก่อสร้างจะยังหดตัวต่อเนื่อง

  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 9 เดือนแรก ปรับเพิ่มขึ้น 6.5% YoY ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (+10.7% YoY) ตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและค่าขนส่งซึ่งเป็นต้นทุนหลัก โดยในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะยังคงทรงตัวในระดับสูงตามทิศทางของราคาพลังงาน ทำให้คาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างทั้งปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5.5-6.5%


แนวโน้มปี 2566-2568​

  • ตลาดในประเทศ: ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ระยะที่ 2 ปี 2566-2570 ที่คาดว่าจะเริ่มเร่งตัวขึ้น รวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ในพื้นที่อื่น ซึ่งจะเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตาม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมสายใหม่ๆ รวมถึงการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

  • การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดี ปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งจะหนุนความต้องการปูนซีเมนต์และเหล็กก่อสร้าง ด้านกระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งได้รับแรงหนุนหลักจากนักลงทุนจีนที่ยังสนใจลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

  • ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปัจจัย (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคก่อสร้าง และ (2) การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) เหล็กแท่งเล็ก (Billet) ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง

  • ร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว  จากความได้เปรียบด้านความหลากหลายของสินค้าและมีบริการครบวงจร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานและด้านการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ  (1) การขยายสาขาร้านค้าขนาดเล็กเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น (2) การเพิ่มสัดส่วนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของตนเอง (House brand) ในราคาที่จูงใจกว่าสินค้าภายใต้ตราสินค้าอื่น (Non-house brand) (3) การพัฒนาช่องทางจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และ  (4) การลงทุนขยายสาขาในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  • ร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิมมีแนวโน้มซบเซาถึงทรงตัว แบ่งเป็น (1) ร้านค้าส่ง ธุรกิจมีแนวโน้มทรงตัวถึงเติบโตเล็กน้อยในกลุ่มผู้ผลิตที่ปรับตัวได้ดี เช่น การจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ (2) ร้านค้าปลีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและมีจำนวนมาก มักมีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้มีสินค้าไม่หลากหลาย รวมทั้งพึ่งพากลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก และยังเสียเปรียบร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

​เหล็ก


เหล็กแผ่นรีดร้อน


สถานการณ์ปี 2565​

  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน (Hot-rolled coils/sheets) (วัตถุดิบหลักของผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน) ในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน หดตัว -17.3% YoY จาก (1) ราคาต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ (2) ภาวะการผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์โลหะที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาและปัญหาด้านห่วงโซ่การผลิต  ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศ (สัดส่วนกว่า 95%  ของปริมาณการจำหน่ายรวม) หดตัวถึง -17.6% YoY อยู่ที่ 4.4 ล้านตัน  ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าการผลิตและความต้องการใช้จะยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก ส่งผลให้ทั้งปี 2565 ปริมาณการผลิตและการใช้มีแนวโน้มหดตัว -14.0% และ -16.0% ตามลำดับ

  • ปริมาณส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก หดตัว -72.8% YoY จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยตลาดหลัก ได้แก่ สเปน (สัดส่วน 49% ของปริมาณส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมด)     และกัมพูชา (สัดส่วน 24%) หดตัว -24.9% YoY และ -68.1% YoY ตามลำดับ ด้านปริมาณนำเข้าลดลง -19.1% YoY จากแหล่งนำเข้าหลัก คือ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 83% ของปริมาณนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมด)

  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในช่วง 9 เดือนแรก ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามต้นทุนวัตถุดิบและทิศทางราคาในตลาดโลก โดยอยู่ที่เฉลี่ย 32,844 บาท/ตัน (+5.1% YoY) แม้ในช่วงครึ่งแรกของปี ราคาจะปรับลดลงบ้าง จากความต้องการใช้เหล็กของประเทศจีนที่ปรับลดลง  และมีการส่งออกเหล็กสำเร็จรูปราคาต่ำจากรัสเซียเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น  โดยคาดว่าทั้งปี 2565 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนอยู่ที่ 32,000-33,000 บาท/ตัน เทียบกับเฉลี่ย 31,904 บาท/ตันในปี 2564

​แนวโน้มปี 2566-2568

  • ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดว่าจะกระเตื้องขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การที่ไทยไม่มีแหล่งผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง การแข่งขันในประเทศจึงเสียเปรียบเหล็กนำเข้าโดยเฉพาะจากจีน ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปยังตลาด EU ถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตมาใช้เตาหลอมระบบอาร์คไฟฟ้ามากขึ้น  เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ BCG Model  ของภาครัฐและรองรับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของ EU ที่มีผล 1 มกราคม 2566 ทำให้การเติบโตของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในไทยปี 2566-2568 จะยังอยู่ในอัตราไม่สูงนักเฉลี่ยเพียง 2.0-3.0%

  • ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจากซบเซาหนักในปี 2565 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6.1 ล้านตันต่อปี หรือเติบโตเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี ตามภาวะการผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่น่าจะกระเตื้องขึ้น โดยคำสั่งซื้อหลักจะมาจากภาคการผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนน่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2565 ตามความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปี 2567-2568


​เหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ


สถานการณ์ปี 2565

  • ปริมาณการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มเหล็กทรงยาว) ในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% YoY เนื่องจากตลาดในประเทศ (ตลาดหลักสัดส่วนมากกว่า 80% ของปริมาณการจำหน่ายรวม) ซบเซา โดยความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ 9 เดือนแรก อยู่ที่ 2.7 ล้านตัน ลดลง -4.0% YoY ตามการหดตัวของภาคก่อสร้างซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ใช้เหล็กประเภทนี้  โดยช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมหดตัว -1.5% YoY สำหรับช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการใช้เหล็กทรงยาวทั้ง 2 ประเภทจะยังหดตัวต่อเนื่อง ตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างที่มีแนวโน้มหดตัวจาก (1) ต้นทุนที่ยังสูงตามราคาพลังงาน (2) ภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และ (3) กำลังซื้อโดยรวมที่ยังซบเซา คาดว่าทั้งปี 2565 ปริมาณการผลิตโดยรวมจะขยายตัวเพียง 2.0% ส่วนความต้องการใช้ในประเทศหดตัว -3.0%

  • ปริมาณส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 0.5 ล้านตัน (+57.6% YoY) ตามความต้องการในตลาดหลัก อาทิ แคนาดา มาเลเซีย และเมียนมา ที่ยังขยายตัวดี รวมทั้งอุปทานจากจีนที่ลดลงจากผลของการ Lockdown บางพื้นที่เป็นระยะ ส่วนปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 0.3 ล้านตัน ลดลง -4.2% YoY ตามการหดตัวของภาคก่อสร้างในประเทศ

  • ราคาเหล็กเส้นเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 8.9% YoY ตามทิศทางราคาในตลาดโลกซึ่งยังคงได้รับผลกระทบราคาน้ำมันแพงจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ  ส่วนช่วงที่เหลือของปี ราคาเหล็กโลกมีแนวโน้มจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าทั้งปี 2565 ราคาจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 27,000-28,000 บาท/ตัน เทียบกับเฉลี่ย 26,687 บาท/ตันปี 2564

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ปริมาณการผลิตเหล็กมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี จากแรงหนุนของงานก่อสร้างทั้งโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โครงการขนาดใหญ่จากภาคเอกชนที่จะกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะหนุนให้เกิดการสร้างโรงงานและคลังสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเหล็กไทยยังคงเผชิญการแข่งขันสูงจากผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีราคาต่ำกว่าจากจีน

  • ความต้องการใช้เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีแนวโน้มกลับมาเติบโต 5.5-6.0% ต่อปี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะงานก่อสร้างระยะแรก เช่น งานวางฐานรากของทางยกระดับโครงการรถไฟฟ้า และงานก่อสร้างระบบรางเส้นทางใหม่ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่เข้าสู่แผนพัฒนาในระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ขณะที่งานก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งด้านที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว

  • ราคาเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปี 2565 ตามทิศทางราคาเหล็กโลกและราคาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ เศษเหล็ก (Scrap) และเหล็กแท่งกลม (Billet) ขณะที่กำลังการผลิตของจีนน่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานของภาครัฐ



ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
 

ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล​


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 10 เดือนแรก ตลาดที่อยู่อาศัย[1] ได้แรงหนุนจากกำลังซื้อในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อให้เช่าหรือลงทุนกระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ แม้ตลาดที่อยู่อาศัยจะเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนพลังงานและราคาวัสดุก่อสร้างสำคัญเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการยังเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 102.1% YoY อยู่ที่ 81,315 ยูนิต ซึ่งประมาณ 56% เป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รองลงมา คือ ทาวน์เฮ้าส์ (28%) และบ้านเดี่ยว (16%) ที่มีราคาสูง ด้านยอดขายที่อยู่อาศัย (เฉพาะยูนิตใหม่) เพิ่มขึ้น 91.2% YoY อยู่ที่ 23,019 ยูนิต ในจำนวนนี้ 78% เป็นยอดขายคอนโดมีเนียม ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 174.4% YoY และส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทจากผู้ซื้อกลุ่มลงทุนเพื่อปล่อยเช่า

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะขยายตัวชะลอลง แม้จะได้ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ผนวกกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ช่วยหนุนการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียม แต่ผลจากเงินเฟ้อเร่งตัวผลักดันต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10% เมื่อผนวกกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ผูกพันระยะยาวในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน จึงคาดว่าปี 2565 จำนวนยูนิตเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้น 60.0% ขณะที่ยอดขาย (ยูนิตใหม่+เก่า) จะเพิ่มขึ้น 27.0% จากปี 2564

  • ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยรวม[2] ช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะบ้านแนวราบ สะท้อนจากดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 4.2% YoY และ 4.0% YoY ตามลำดับ ส่วนดัชนีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 3.2% YoY สำหรับทั้งปี 2565 คาดว่าราคาที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามต้นทุนค่าก่อสร้างที่จะทรงตัวในระดับสูงตามทิศทางราคาพลังงาน



แนวโน้มปี 2566-2568

​ตลาดที่อยู่อาศัยในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง สรุปได้ดังนี้

  • ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ทำให้การเดินทางสู่ใจกลางเมืองสะดวกขึ้น (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวในอัตราเร่งจนอยู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 ภายในปี 2568 และ (3) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ อาทิ การแก้ไขกฎหมายให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้[3] ตลอดจนการเข้ามาลงทุน/ทำงานในไทยของชาวต่างชาติ (Expatriates) ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น  ทว่าการเติบโตของธุรกิจจะถูกจำกัดจาก (1) สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานและวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง (2) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้บริโภค และ (3) หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูง ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวได้จำกัด

  • การเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.0-8.0% ต่อปี โดยผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับโครงการบ้านแนวราบ เพื่อรองรับกลุ่ม Real demand ที่มีกำลังซื้อ ขณะที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของคอนโดมิเนียมชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะทำเลท่องเที่ยว รอบสถาบันการศึกษาหรือใกล้แหล่งงาน เช่น นิคมอุตสาหกรรม ด้วยระดับราคาไม่สูงมากเพื่อตอบรับกลุ่มผู้ซื้อเพื่อปล่อยเช่าและกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะสามารถประคองธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ ขณะที่รายกลาง-เล็กจะเผชิญการแข่งขันรุนแรงทั้งด้านต้นทุนวัสดุก่อสร้างและแรงงานขาดแคลน

    • บ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์): มีทิศทางเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการอยู่อาศัยในระยะยาวและให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอย/ฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยทำเลชานเมืองจะได้รับความนิยมสูงขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินยังไม่สูงเท่าย่านใจกลางเมือง ประกอบกับมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่รอบนอกมากขึ้น อาทิ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีชมพู (แคราย–มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว–สำโรง) และสายสีส้ม (รามคำแหง–ลำสาลี)

    • คอนโดมิเนียม: มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อกลุ่มลงทุนเพื่อปล่อยเช่า ผลจากราคาน้ำมัน ค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นจะกดดันกำลังซื้อผู้บริโภค หนุนความต้องการเช่าเพิ่มขึ้น ขณะที่การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน จะเพิ่มกำลังซื้อในตลาดคอนโดมีเนียมโดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองและแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ขณะที่คอนโดมีเนียมในพื้นที่รอบนอกยังไม่เป็นที่นิยมเมื่อเทียบกับโครงการแนวราบในทำเลเดียวกัน และบางพื้นที่ยังมีอุปทานที่อยู่อาศัยคงค้างระดับสูง เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) และสายสีเขียว (บางนา-สมุทรปราการ) ผลประกอบการจึงมีแนวโน้มชะลอตัวและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

  • ประเด็นท้าทายที่ธุรกิจต้องติดตามใกล้ชิด ได้แก่ (1) หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ (2) ต้นทุนการพัฒนาโครงการมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และ (3) ปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมาใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV)[4] หลังผ่อนคลายชั่วคราวในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด อาจทำให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไร

ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วงครึ่งปีแรก ตลาดที่อยู่อาศัย 6 จังหวัดหลักภูมิภาค[1] โดยรวมกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวในปี 2564 สะท้อนจากอุปทานเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 52.0% YoY อยู่ที่ 10,175 ยูนิต นำโดยคอนโดมิเนียม +119.7% YoY และบ้านแนวราบ 37.2% YoY ขณะที่ยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น 73.7% YoY โดยบ้านแนวราบ +71.5% YoY และคอนโดมิเนียม +79.2% YoY ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง และการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว ด้านยอดโอนกรรมสิทธิ์ (ข้อมูล 8 เดือน) เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนยูนิตและมูลค่า (+9.0% YoY และ 8.1% YoY ตามลำดับ)

  • ช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะบ้านแนวราบ จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาใกล้เคียงปกติ การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบช่วยดึงดูดกำลังซื้อต่างชาติ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนจากภาครัฐ อาทิ การให้ Long–Term Resident Visa แก่คนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง[2] มาพำนักระยะยาวในไทยเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังถูกกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อลดทอนกำลังซื้อบางส่วน และราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานภาคก่อสร้างเป็นระยะ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2565 จำนวนยูนิตเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้น 75.0% ขณะที่ยอดขายโดยรวมจะเติบโต 19.0% และจำนวนยูนิตของยอดโอนกรรมสิทธิ์จะเพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2564

แนวโน้มปี 2566-2568

ธุรกิจที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลจาก (1) เป็นพื้นที่ที่กำลังซื้อ (ไทยและต่างชาติ) จะกลับมาได้เร็ว จากความโดดเด่น อาทิ การเป็นเมืองท่องเที่ยว การเป็นที่ตั้งของเมืองอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ EEC และการเป็นศูนย์กลางของจังหวัดในภูมิภาค (2) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตตามมา ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในชลบุรีและระยองฟื้นตัวได้เร็วกว่าจังหวัดอื่น (3) ความต้องการบ้านเพื่อเป็นที่พักอาศัย/บ้านหลังที่ 2 ที่มีพื้นที่ทำงานแบบ Hybrid workplace มีมากขึ้น และ (4) การแข่งขันในทำเลกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบมีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจยังถูกจำกัดจาก (1) หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ (2) ต้นทุนการพัฒนาโครงการมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้างและราคาพลังงาน และ (3) การกลับมาใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV Ratio) ของธปท.3/ หลังผ่อนคลายชั่วคราวในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด อาจทำให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อโดยเฉพาะกลุ่มซื้อเพื่อลงทุนในตลาดคอนโดมิเนียม

  • ที่อยู่อาศัยแนวราบ: การเปิดโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.0% ต่อปี จากความต้องการของกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน

  • ที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม): การฟื้นตัวจะช้ากว่าแนวราบ ทั้งนี้ คาดว่าการเปิดโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0% ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับนักลงทุน และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต และเชียงใหม่




​อาคารเชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล


อาคารสำนักงาน


สถานการณ์ปี 2565

  • ครึ่งปีแรก ธุรกิจเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่อุปทานใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 32,600 ตร.ม. (-76.5% YoY) ทำให้อุปทานสะสม ณ สิ้นเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 1.0% YoY อยู่ที่ 9.5 ล้านตารางเมตร ด้านผู้เช่าพื้นที่บางรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการลง สะท้อนจากยอดจดทะเบียนเลิกกิจการ[1] เพิ่มขึ้นถึง 21.9% YoY ส่งผลให้ความต้องการเช่าสุทธิ (Net take-up) ครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นเพียง 6,100 ตารางเมตร ขณะที่การเช่าพื้นที่สะสม (Occupied space) อยู่ที่ 8.2 ล้านตารางเมตร ลดลง -1.3% YoY ทำให้ Occupancy rate ลดลงสู่ระดับ 86.7% จาก 88.7% ในช่วงเดียวกันปี 2564

  • ช่วงครึ่งปีหลัง อุปทานใหม่มีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์พื้นที่เช่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายทำให้พนักงานทยอยกลับมาทำงานที่สำนักงานมากขึ้น โดยทั้งปี 2565 คาดว่าอุปทานพื้นที่เช่าสะสมจะอยู่ที่ 9.7 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.1% ขณะที่อุปสงค์พื้นที่เช่าจะอยู่ที่ 8.3 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 0.4% ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่จะลดลงอยู่ที่ 85% จาก 87% ปี 2564 ด้านอัตราค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน Grade A มีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดเล็กน้อย เนื่องจากยังเป็นที่ต้องการของผู้เช่าโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เติบโตได้ต่อเนื่องในช่วง COVID-19 อาทิ ธุรกิจด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่สำนักงาน Grade B ค่าเช่าอาจปรับลดลง เนื่องจากผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก

แนวโน้มปี 2566-2568​

  • ความต้องการเช่าอาคารสำนักงานในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 2.0% ต่อปี (เทียบกับปี 2558-2562 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5% ต่อปี) ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับสู่ระดับปกติ ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการคมนาคมจะช่วยหนุนอุปสงค์สำนักงานให้เช่าในพื้นที่ใจกลางเมืองโดยเฉพาะอาคารใหม่ ด้านอุปทานสำนักงานให้เช่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแผนธุรกิจ โดยเฉพาะย่านศูนย์กลางธุรกิจในโครงการ Mixed-use ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างหลายโครงการ อาทิ เดอะ ยูนิคอร์น/ พาร์ค สีลม/ เอ็มสเฟียร์/ และวัน แบงค็อก อย่างไรก็ตาม อาจมีบางโครงการต้องเลื่อนกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จออกไปจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นระยะ  ส่งผลให้อุปทานสำนักงานใหม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.8% ต่อปี ที่ 8.5 แสนตารางเมตร ด้านอัตราการเช่าจะปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 84% ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราค่าเช่าในตลาดสำนักงาน เนื่องจากผู้เช่าจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นจากอุปทานพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอุปสงค์

  • รายได้มีแนวโน้มเติบโตตามทำเลของสำนักงาน ดังนี้

    • สำนักงานให้เช่าใน CBD: รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาคาร Grade A เนื่องจากมีความต้องการต่อเนื่อง มีการออกแบบที่สวยงาม และใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงมีระบบบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ราคาค่าเช่าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

    • สำนักงานให้เช่าใน Non-CBD และพื้นที่ปริมณฑล: รายได้จะทรงตัวหรือชะลอลง จากอุปทานที่ค่อนข้างมากและส่วนใหญ่เป็นอาคาร Grade B ทำให้การแข่งขันสูง จึงไม่สามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้มากนัก

  • การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากอุปทานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดหลายโครงการ ท่ามกลางอุปสงค์การเช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากองค์กรบางแห่งได้นำรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid working)[2] มาใช้จึงอาจลดทอนความต้องการเช่าพื้นที่ลงบางส่วน



พื้นที่ค้าปลีกให้เช่า[1]


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจมีสัญญาณฟื้นตัวแผ่วลง ผลจากกำลังซื้อผู้บริโภคถูกกดดันจากราคาพลังงานและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เช่าบางส่วนปิดกิจการ ลดพื้นที่เช่าหรือขอคืนพื้นที่เช่า อย่างไรก็ตาม ผู้เช่าที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมยังขยายสาขาต่อเนื่องเพื่อรองรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ส่งผลให้ความต้องการเช่าพื้นที่โดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% YoY ที่ระดับ 6.2 ล้านตารางเมตร ขณะที่อุปทานพื้นที่ค้าปลีกสะสมเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% YoY ที่ 6.5 ล้านตารางเมตร มีผลให้ Occupancy rate เฉลี่ยที่ 94.9% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปี 2564

  • ครึ่งปีหลัง คาดว่าความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ขณะที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ คนละครึ่งเฟส 4 และ 5 และเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ผลจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูง รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และหนี้ครัวเรือนสูงถึง 88.2% ของ GDP (ไตรมาส 2/2565) ทั้งปี 2565 จึงคาดว่าความต้องการเช่าพื้นที่จะเพิ่มขึ้นเพียง 1.0% YoY (6.2 หมื่นตารางเมตร) ขณะที่อุปทานพื้นที่ค้าปลีกใหม่จะเพิ่มขึ้น 1.5% อยู่ที่ 9.5 หมื่นตารางเมตร เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้บางโครงการต้องเลื่อนกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จออกไป สำหรับอัตราการเช่าพื้นที่จะทรงตัวที่ระดับ 94%

แนวโน้มปี 2566-2568​

  • ​ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ามีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งและอยู่ที่ระดับก่อน COVID-19 ภายในปี 2568 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของร้านค้าในพื้นที่ท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปี ด้านผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดโครงการใหม่ตามแผนธุรกิจ ประกอบกับมีบางโครงการเลื่อนกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จมาจากปี 2565 จึงคาดว่าจะมีอุปทานพื้นที่ใหม่เข้าสู่ตลาดเฉลี่ย 4.2% ต่อปี ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 92% และค่าเช่าอาจปรับลดลงในบางพื้นที่

    • ศูนย์การค้าแบบปิด: รายได้มีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อย โดยเฉพาะในเขตใจกลางเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศ ประกอบกับจะมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดจาก Mix-used บางโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จ สำหรับพื้นที่ค้าปลีกใจกลางเมืองซึ่งมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ใหม่ จะเน้นลงทุนปรับปรุงรูปแบบให้ทันสมัย ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย

    • คอมมูนิตี้มอลล์: รายได้มีแนวโน้มทรงตัว จากอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนนำที่ดินมาพัฒนาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ด้านความต้องการเช่าพื้นที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากคอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่งจะรองรับกำลังซื้อที่เป็นผู้บริโภคในพื้นที่และทำเลใกล้เคียง ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มทรงตัว

    • พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน: รายได้มีแนวโน้มทรงตัว ผลจากอุปทานจะเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมากในย่านใจกลางเมือง จากโครงการ Mixed-use ที่จะทยอยสร้างเสร็จหลายโครงการ ขณะที่อุปสงค์ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ค่าเช่ามีแนวโน้มทรงตัว/ลดลง



​นิคมอุตสาหกรรม


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วงครึ่งปีแรก ยอดขายและให้เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอยู่ที่ 594 ไร่ ลดลง -9.9% YoY ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทำให้ธุรกรรมการซื้อขายและโอนที่ดินนิคมฯ โดยเฉพาะยอดขายในภาคตะวันออก (สัดส่วน 78% ของพื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศ) ลดลงถึง -26.1% YoY

  • ด้านอุปทาน ช่วงครึ่งปีแรก นิคมฯ จัดตั้งใหม่มีจำนวนทั้งสิ้น 2 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ 3,372 ไร่ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออก (จ.ฉะเชิงเทรา) ทั้งสิ้น ได้แก่ นิคมฯ ฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ (1,181 ไร่) และนิคมฯ เอเพกซ์ กรีน  (2,191 ไร่)  สอดคล้องกับมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในภาคตะวันออกอยู่ที่ 1.145 แสนล้านบาท (สัดส่วน 52% ของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 24.3% YoY สะท้อนถึงศักยภาพด้านพื้นที่ที่มีนโยบายส่งเสริมของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จำนวนนิคมฯ ทั่วประเทศ (จาก 16 จังหวัด) มีทั้งสิ้น 67 แห่ง (ข้อมูลครึ่งแรกปี 2565) รวมเป็นพื้นที่ 1.7 แสนไร่ โดยภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 77.8% ส่วนยอดขายหรือให้เช่าที่ดินสะสมทั่วประเทศมีจำนวน 1.31 แสนไร่ คิดเป็น Occupancy Rate (OR) 77.0%

  • ช่วงครึ่งหลังของปี ความต้องการซื้อและเช่าพื้นที่ในนิคมฯ มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นจากครึ่งปีแรก  สะท้อนจากการขยายตัวของมูลค่าการขอรับและการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ขณะที่มาตรการเข้มงวดต่างๆ ในช่วง COVID-19 ที่จำกัดการลงทุนได้ผ่อนคลายลง จึงคาดว่ายอดขายและให้เช่าที่ดินทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 1,800 ไร่ (+11.5%) ขณะที่ OR ทรงตัวอยู่ที่ 77.0%

​แนวโน้มปี 2566-2568

ยอดขายและให้เช่าที่ดินฯ ในแต่ละปีคาดว่าจะกลับมาขยายตัวดีที่ 18.0-20.0% ต่อปี อยู่ที่ 2,200 ไร่ 2,700 ไร่ และ 3,000 ไร่ ในปี 2566, 2567 และ 2568 ตามลำดับ ปัจจัยหนุนจาก (1) ภาวะคลี่คลายของ COVID-19 และการเปิดประเทศของไทยมากขึ้น หนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้ทยอยฟื้นตัว (2) แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมาอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้น จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล่าสุด มีบริษัทต่างชาติขยายฐานการผลิตมาไทยหลายราย เช่น บริษัท บีวายดี ออโต้อินดัสทรี จำกัด จากประเทศจีน ขยายการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้านอกประเทศแห่งแรกที่นิคมฯ ในจังหวัดระยอง เป็นต้น (3) ความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และ (4) มาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการนิคมฯ มีแนวโน้มมุ่งพัฒนานิคมฯ ในรูปแบบ Smart park ที่มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยีและพัฒนานิคมฯ เชิงนิเวศ (Eco Factory and Eco Industrial Town) ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นทำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างชาติได้ในระยะข้างหน้า

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC ภายใต้แผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ทำให้รายได้มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม พื้นที่นิคมฯ จัดตั้งใหม่มีแนวโน้มขยายตัวจำกัด จากราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และทำเลที่มีศักยภาพหายากมากขึ้น

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่จะยังเติบโตจากความได้เปรียบเชิงกายภาพด้านการคมนาคมขนส่ง หนุนให้รายได้ยังคงเติบโตดี โดยเฉพาะรายได้จากค่าบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่า

  • นิคมอุตสาหกรรมในภาคอื่นๆ: ความต้องการซื้อหรือเช่าพื้นที่ยังอยู่ระดับต่ำ แต่จะทยอยฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากต้องรอแรงผลักดันจากภาครัฐในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน   โดยเฉพาะการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในประเทศไปยังที่ตั้งนิคมฯ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน



​ธุรกิจให้บริการ

 

โรงแรม​


สถานการณ์ปี 2565

  • ธุรกิจโรงแรมช่วง 9 เดือนแรกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5.7 ล้านคน เทียบกับเพียง 85,845 คน ในช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหนุนหลักจาก (1) การเปิดประเทศเมื่อ 1 กรกฎาคม หนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยมากขึ้น และ (2) ประเทศต้นทางทยอยให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศได้ โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางมาไทยมากที่สุด จำนวน 9.7 แสนคน (จาก 1,474 คน ในช่วงเดียวกันปี 2564) คิดเป็นสัดส่วน 17.1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียมีเพียง 2.6% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศอยู่ที่ 103 ล้านทริป (+274.2% YoY) ผลจากภาครัฐผ่อนคลายข้อจำกัดด้านมาตรการควบคุม COVID ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนขยาย (กรกฎาคม–ตุลาคม 2565) ทำให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42.0% เทียบกับ 9.9% ช่วงเดียวกันปีก่อน หนุนให้ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนเพิ่มขึ้น 9.7% YoY และส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 417 บาท เมื่อเทียบกับเพียง 90 บาท ช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเร่งตัวขึ้น จาก (1) ความกังวล COVID-19 ที่คลี่คลายลงทำให้มีการเปิดประเทศเดินทางข้ามประเทศมากขึ้น (2) เป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวไทยน่าจะเติบโตดี ผลจาก (1) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง (2) การคลายความกังวลเรื่อง COVID-19 อย่างไรก็ตาม ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้ออาจบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเปราะบาง คาดทั้งปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 10.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2,318.6% และคนไทยเที่ยวในประเทศ 125 ล้านทริป เพิ่มขึ้น 135.7% ขณะที่อัตราเข้าพักอยู่ที่ 45% เพิ่มขึ้นจากเพียง 14.2% ในปี 2564


แนวโน้มปี 2566-2568​

คาดธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 (ปี 2562) ได้ในปี 2568 ที่ประมาณ 42 ล้านคน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับปกติในปี 2567 ประมาณ 185 ล้านทริป จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ยังคงขยายการลงทุนต่อเนื่อง แม้อาจล่าช้ากว่าแผนอยู่บ้าง โดยคาดว่าอัตราเข้าพักทั่วประเทศจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเฉลี่ยที่ 64% ในปี 2566 เป็น 68% ในปี 2567 และจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤต (ปี 2562) ที่ 71% ในปี 2568

  • โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต): คาดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยมีโอกาสสูงถึง 75% ในปี 2568

  • โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญและจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค: รายได้ทยอยฟื้นตัวตามนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมาต่อเนื่อง

  • โรงแรมในจังหวัดอื่นๆ: รายได้ยังฟื้นตัวช้า อัตราการเข้าพักมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โรงแรมที่ยังเปิดบริการอยู่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่าจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ


โรงพยาบาลเอกชน


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก รายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ผลจาก (1) จำนวนผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจากโรคทั่วไปทยอยกลับมารักษาในโรงพยาบาล หลังสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลาย (2) รายได้จากการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งรัฐชดเชยให้ในช่วงครึ่งแรกของปี และความต้องการใช้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับ COVID-19 เช่น การตรวจหาเชื้อ และการฉีดวัคซีน และ (3) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูป แบบ ทำให้ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยที่เคยเลื่อนการรักษาออกไปในช่วง COVID-19 และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 56% YoY (ข้อมูลล่าสุดช่วงครึ่งแรกของปีเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ารายได้จากโรค COVID-19 จะลดลง ขณะที่รายได้จากโรคทั่วไปจะเพิ่มขึ้น อานิสงส์จาก (1) เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ขณะที่ทางการประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง (มีผล 1 ตุลาคม) มีผลให้ประชาชนทยอยกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ขณะที่การรักษาระยะห่างลดความเข้มงวดลง ทั้งยังมีความเสี่ยงจากโรคตามฤดูกาลและการเกิดอุบัติเหตุ และ (2) การทยอยกลับมาของผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourist) ด้วย ส่งผลให้รายได้ทั้งปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 18.0-20.0% จากปี 2564

​แนวโน้มปี 2566-2568

รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.0-15.0% ต่อปี จากปัจจัย ดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก

    • ประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องการบริการการแพทย์ที่ต่อเนื่องและซับซ้อน โดยสภาพัฒน์คาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (สัดส่วนผู้อายุ 60 ปีมากกว่า 20%) ในปี 2566

    • การกลับมาของผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติที่กลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมตามปกติ (คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นใกล้ระดับก่อนเกิด COVID ในปี 2562 (ประมาณ 42 ล้านคน) ภายในปี 2568 ซึ่งมี Medical tourist รวมอยู่ด้วย)

    • รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งกลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับโรคตามฤดูกาลต่างๆ

    • ประชาชนให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคและมีความระมัดระวังเรื่องของสุขภาพมากขึ้น หนุนรายได้ของโรงพยาบาลที่ให้บริการด้าน wellness

  • ธุรกิจปรับตัวต่อเนื่องโดยการขยายรูปแบบการให้บริการการแพทย์ดิจิทัล อาทิ ระบบแพทย์ทางไกล telemedicine หรือให้บริการผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิด COVID-19

    • โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่: เตรียมความพร้อมต่อเนื่องเพื่อรองรับผู้ป่วยและการให้บริการในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญสูง นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายสาขาและพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนการขยายสาขาจึงสามารถขยายขอบเขตให้บริการเจาะจงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทำให้ฐานรายได้กว้างขึ้น ธุรกิจจึงมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง

    • โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก: เร่งหาพันธมิตรโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น การมีฐานลูกค้าประกันสังคมจะช่วยลดความผันผวนของรายได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทำให้โรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายจะถูกกดดันมากกว่า


ธุรกิจค้าปลีก

ร้านค้าปลีกสมัยใหม่


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี ธุรกิจปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) สถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาเกือบเป็นปกติ (2) การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 กรกฎาคม (9 เดือนแรก จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6,540% YoY) ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น (3) รายได้ภาคเกษตรปรับดีขึ้นต่อเนื่อง (เฉลี่ย 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น  14.4% YoY) ช่วยหนุนกำลังซื้อผู้บริโภค และ (4) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ คนละครึ่งเฟส 4-5 (มีนาคม-เมษายน และกันยายน-ตุลาคม) และเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 (กรกฎาคม-ตุลาคม) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจได้รับแรงกดดันจากปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ระดับกลางลงมา

  • ช่วงที่เหลือของปี ธุรกิจดีขึ้นต่อเนื่อง อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้ยอดขายทั้งปีฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 3.0-4.0% จากหดตัว -9.0% ในปี 2565

แนวโน้มปี 2566-2568

  • รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) กำลังซื้อทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตในอัตรา 3.0-4.0% ต่อปี (2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง โดยคาดว่าจะใกล้เคียงกับก่อนวิกฤต COVID-19 (42 ล้านคน) ภายในปี 2568 (3) การขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจออนไลน์ และ (4) ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญแรงกดดันจาก (1) กำลังซื้อผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวเปราะบาง ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่อง (2) การแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้น จากจำนวนร้านค้าที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการที่อยู่ใน segment อื่น รวมถึงคู่แข่งรายใหม่จากต่างประเทศ (3) คู่แข่งจากร้านค้าออนไลน์ที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาด C2C (Consumer to Consumer) และ (4) ต้นทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (อาทิ การใช้เทคโนโลยี 5G และ AR/VR)

  • แนวโน้มการเติบโตของรายได้ร้านค้าปลีกแต่ละประเภท มีดังนี้

    • ห้างสรรพสินค้า: คาดขยายตัวเร่งขึ้นเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี จาก 3.5% ในปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel และการใช้เทคโนโลยี 5G และ AR ทั้งยังขยายสาขาต่อเนื่องโดยเฉพาะในทำเลศักยภาพ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

    • ดิสเคาท์สโตร์: คาดเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี จาก 3.0% ปี 2565 ผลจากผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ อาทิ เพิ่มอาหารสดคุณภาพดี สินค้าพรีเมี่ยม รวมถึงปรับรูปแบบสาขาเป็น Lifestyle เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งยังพัฒนาช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัล และขยายเครือข่ายพันธมิตรสู่ร้านค้าดั้งเดิมที่กระจายอยู่ในแหล่งชุมชนทั่วประเทศ

    • ซูเปอร์มาร์เก็ต: คาดเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี จาก 6.0% ปี 2565 ขยายตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกประเภทอื่น เนื่องจากมีการปรับรูปแบบร้านค้าและสินค้าได้ดีสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง (เช่น เพิ่มสินค้าพรีเมี่ยม สินค้าสุขภาพ ออร์แกนิค ความสะอาดและความปลอดภัย)

    • ร้านสะดวกซื้อ: คาดเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี จาก 4.5% ปี 2565 จากการปรับกลยุทธ์ อาทิ เพิ่มสินค้าพร้อมทาน อาหารสดและการขายผ่านออนไลน์ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้เล่น segment อื่นที่ปรับรูปแบบสาขาให้เล็กลงใกล้เคียงกับร้านสะดวกซื้อ


ธุรกิจบริการทางการเงิน

 

บัตรเครดิต​


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบขยายตัว 32.1% YoY อยู่ที่ 1,609.4 พันล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างเพิ่มขึ้น 29.5% YoY ผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 และการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นในหมวดสินค้าต่างๆ อาทิ ประกันภัย ปั๊มน้ำมัน ของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน การซื้อของออนไลน์ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เกต ประกอบกับ ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์อัตราชำระขั้นต่ำที่ 5% จนถึงปี 2566 ด้านจำนวนบัญชีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 3.6% YoY

  • ช่วงไตรมาส 4 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 9 เดือนแรก จากการเข้าสู่เทศกาลใช้จ่ายปลายปี ประกอบกับคาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งทำให้มีความต้องการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง จะจำกัดปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมให้เติบโตไม่สูงมากนัก ทำให้ทั้งปี 2565 คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้น 5.0-6.0% จากที่หดตัว -1.2% ในปี 2564

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในระดับ 6.0-7.0% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว หนุนการบริโภคเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่การเติบโตของภาคท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นตามมา รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น

  • ผู้ประกอบการจะขยายฐานลูกค้ารายใหม่อย่างระมัดระวัง โดยเน้นขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้เสีย

  • การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาทิ การใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking, QR Code และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว และการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy now pay later) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของแพลตฟอร์ม E-commerce นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางรายยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น  AI เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการอนุมัติวงเงิน และการบริหารจัดการความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อลดต้นทุนช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน



 

ธุรกิจบริการอื่นๆ

 

บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่​


สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรกของปี รายได้ของธุรกิจทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ขณะที่ค่าครองชีพเร่งตัวขึ้น ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางลงมาจำกัดการใช้จ่ายหรือเปลี่ยนไปใช้แพ็กเกจที่ถูกลง  ขณะที่ผู้ประกอบการเน้นขายแพ็กเกจระดับราคาต่ำเพื่อรักษาฐานลูกค้าและจูงใจลูกค้าจากค่ายอื่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ลดลงในช่วง -5.0% ถึง -8.0% อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังได้อานิสงส์จากความต้องการใช้งานด้านข้อมูล (Data) เพิ่มขึ้น สำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและแรงงานต่างด้าว ทำให้มีรายได้จากบริการโรมมิ่งและการโทรระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มที่ยังคง Work from home และการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ช่วยประคับประคองให้รายได้ไม่ปรับลดลงมาก

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่ารายได้จะกลับมาเติบโตจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลในไตรมาส 4 (High season) ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าระบบเติมเงิน รวมถึงการขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุม 77 จังหวัด ส่งผลให้รายได้ค่าบริการทั้งปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 1.0-2.0% เทียบกับที่ทรงตัวในปี 2564

​แนวโน้มปี 2566-2568​

ธุรกิจบริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเติบโตแต่ในอัตราไม่สูงนัก คาดรายได้ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี จากปัจจัยหนุนดังนี้

  • ความต้องการใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก

    • เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเร่งตัวขึ้นและจะเพิ่มใกล้ระดับ 42 ล้านคน (ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19) ภายในปี 2568 ช่วยขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะระบบเติมเงิน

    • การใช้งานด้านข้อมูลบนสื่อออนไลน์ต่อเนื่อง เช่น บริการคอนเทนต์ด้านบันเทิง การใช้งานโซเชียลมีเดีย การทำธุรกรรมการเงิน และการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและรายได้

    • การใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล เช่น การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ การแพทย์ และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในชีวิตประจำวัน

    • นโยบายภาครัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล โครงการสมาร์ทซิตี้ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้มีการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมกระจายไปทั่วประเทศ กระตุ้นความต้องการใช้งานจากผู้บริโภคในพื้นที่ใหม่ๆ

  • ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนขยายโครงข่ายต่อเนื่องและพัฒนารูปแบบบริการเสริมเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ในระยะยาว เช่น ลงทุนในแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจดิจิทัล ขยายฐานสู่ลูกค้าองค์กร และให้บริการด้านโครงข่ายเฉพาะกับอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจอื่น ขณะที่การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และภาระต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายโครงข่ายและการประมูลคลื่นความถี่ จะเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจ



​โลจิสติกส์


คลังสินค้าทั่วไป


สถานการณ์ปี 2565

  • ธุรกิจโดยรวมเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) ภาคการค้าของไทยเติบโตต่อเนื่อง (คาดส่งออกปี 2565 เติบโต 6.0% และนำเข้า 16.0%) (2) การบริโภคทยอยฟื้นตัว (คาดขยายตัว 5.7%) ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น (3) ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และ (4) การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (Priceza คาดปี 2565 จะเติบโต 30% จากปี 2564) ปัจจัยข้างต้น หนุนความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มที่ต้องการสำรองสต็อกสินค้าไว้ผลิต/จำหน่าย/ส่งออก และกลุ่มผู้ให้บริการขนส่งแก่ร้านค้าออนไลน์ (Last-mile delivery) อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในประเทศที่เปราะบางลงจากค่าครองชีพปรับสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความต้องการใช้พื้นที่คลังสินค้าเติบโตในอัตราชะลอลงที่ 4.3% จากที่ขยายตัว 5.7% ในปี 2564 โดยความต้องการใช้พื้นที่สะสมจะอยู่ที่ 5.19 ล้านตารางเมตร

  • ผู้ประกอบการชะลอการขยายคลังสินค้าใหม่ เนื่องจากมีการเร่งลงทุนไปในปีก่อนหน้า ประกอบกับยังมีอุปทานพื้นที่ให้เช่าอยู่มาก ทั้งยังมีอุปทานคลังสินค้าเพิ่มขึ้นตามแนวชายแดนในประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้รองรับการขนส่งข้ามชายแดน (รถไฟลาว-จีน) สำหรับคลังสินค้าใหม่ในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบสร้างตามสั่ง (Built to suit) ที่ยืดระยะเวลาแล้วเสร็จจากปีก่อนหน้า จึงคาดว่าพื้นที่คลัง สินค้าให้เช่าปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 4.2% ชะลอลงจาก 4.8% ในปี 2564 ส่งผลให้อุปทานสะสมอยู่ที่ 6.06 ล้านตารางเมตร ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) จะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่  85.7% จาก 84.7% ปี 2564 ด้านค่าเช่าจะทรงตัวใกล้เคียงปีก่อนหน้า

​ แนวโน้มปี 2566-2568​

  • ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่  5.3% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนจาก (1) กิจกรรมการผลิตและการค้าทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจไทย (2) การเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง หนุนการใช้พื้นที่จัดเก็บสินค้าคงคลังและศูนย์กระจายสินค้า และ (3) การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจการค้าออนไลน์

  • อุปทานพื้นที่คลังสินค้าให้เช่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปี เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคการค้าและการลงทุน ประกอบกับการพัฒนาท่าเรือและท่าอากาศยานตามโครงการภาครัฐ ยังมีผลให้เกิดการลงทุนคลังสินค้าตามแนวโครงการต่างๆ ด้านผู้ประกอบการมีแนวโน้มร่วมลงทุนกับพันธมิตรในธุรกิจเดียวกันมากขึ้นเพื่อต่อยอดการบริหารพื้นที่ให้เช่าร่วมกัน โดยเฉพาะทำเลที่เป็นแหล่งธุรกิจ ได้แก่ BMR เมืองศูนย์กลางภูมิภาค พื้นที่ EEC และพื้นที่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค (SEC, NEC, NeEC และ CWEC)[1] รวมถึงจังหวัดชายแดนที่เป็นประตูการค้าและมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ อุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับอุปสงค์ ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มทรงตัวที่ 85.8%

บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน


​สถานการณ์ปี 2565

  • ช่วง 9 เดือนแรก ธุรกิจทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อน COVID-19 ผลจาก (1) ผู้ได้รับวัคซีนในประเทศรวมที่สูงถึง 143.2 ล้านโดส (กันยายน 2565) ทำให้ประชาชนทยอยกลับมาทำงานที่สำนักงาน และเข้าเรียนในสถานศึกษา และ (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบช่วยเพิ่มความต้องการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยสถานการณ์ธุรกิจ สรุปได้ดังนี้

    • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 171.9 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 72.8% YoY เป็นการใช้บริการ BTS (สัดส่วน 55.4% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด) 95.1 ล้านเที่ยว (+72.1% YoY) MRT (สัดส่วน 38.8%) 66.7 ล้านเที่ยว (+78.3% YoY) ARL (สัดส่วน 4.0%) 6.9 ล้านเที่ยว (+22.8% YoY) และ SRTET สายสีแดง (สัดส่วน 1.9%) 3.2 แสนเที่ยว (+159.0% YoY)

    • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.4 แสนเที่ยว เพิ่มขึ้น 75.2% YoY โดยผู้ใช้บริการ BTS เฉลี่ยที่ 3.5 แสนเที่ยว (+70.3% YoY) MRT 2.4 แสนเที่ยว (+77.2% YoY) ARL 3.8 หมื่นเที่ยว (+84.9%) และ SRTET 1.2 หมื่นเที่ยว (+219.3%)

    • รายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า (เฉพาะสายหลัก) เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 80.1% โดยรายได้ของรถไฟฟ้า BTS (สายสีเขียว) เพิ่มขึ้น 81.0% YoY และ MRT (สายสีน้ำเงิน) เพิ่มขึ้น 75.6% YoY

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลจากประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติหลังภาครัฐลดระดับ COVID-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และการขยายเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม หนุนให้มีการใช้บริการรถไฟฟ้าเส้นทางเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ) มากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูงทำให้ประชาชนบางส่วนเลือกใช้บริการรถไฟฟ้าแทนรถส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังถูกกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวในวงจำกัด ปี 2565 จึงคาดว่าผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวมจะอยู่ที่ 263.6 ล้านเที่ยว (+86.9% จากปี 2564) ขณะที่ผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันจะขยับขึ้นเป็น 7.3 แสนเที่ยว (+86.2%) และรายได้ของ BTS และ MRT จะเพิ่มขึ้น 205.3% และ 149.2% ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 16.0-18.0% ต่อปีในปี 2566-2568 แรงหนุนจาก (1) กำลังซื้อผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งและกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 (42 ล้านคน) ภายในปี 2568 (2) จำนวนที่พักอาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าและบริเวณใกล้เคียง และ (3) การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ซึ่งเชื่อมต่อเส้นทางเดินรถเดิม ทำให้มีจำนวนสถานีและระยะทางเดินรถหลากหลายและไกลขึ้น

  • รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นค่าโดยสารอัตราใหม่ตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ผนวกกับจะมีการเปิดเดินรถเส้นทางใหม่ ได้แก่ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง เปิดปี 2566) ส่วนต่อขยายสายสีชมพู (สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เปิดปี 2568) และสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เปิดทดลองเดินรถปลายปี 2568) ซึ่งรวมถึงความต้องการเช่าพื้นที่บริเวณรถไฟฟ้าจากห้างร้านและสถานบริการ รวมถึงสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าและจุดเชื่อมต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นตามมา​



บริการขนส่งสินค้าทางทะเล


สถานการณ์ปี 2565

  • ​ช่วง 8 เดือนแรก ธุรกิจเติบโตในอัตราชะลอลง จากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว (IMF คาดเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจะเติบโตที่ 3.2% และ 4.3% ในปี 2565 จาก 6.0% และ 10.1% ปี 2564 ตามลำดับ) และสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง ประกอบกับปัญหาความแออัดที่ท่าเรือคลี่คลาย (Global Supply Chain Pressure Index ต่ำสุดในรอบ 22 เดือนในเดือนสิงหาคม) ส่งผลให้ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI) ลดลง -16.4% YoY ขณะที่เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสะสมสต็อกสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากภาคการผลิตจีนสะดุดเป็นระยะจากการปิดเมืองสำคัญตามมาตรการ Zero-COVID ส่งผลให้ดัชนีค่าระวางเรือบรรทุกตู้สินค้า (CCFI) เพิ่มขึ้น 43.9% YoY

  • ช่วงที่เหลือของปี คาดรายได้ของธุรกิจจะชะลอลงต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ปรับลดลง หลังเผชิญปัญหาค่าครองชีพและเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลกตามราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปลายปีจะเร่งให้มีความต้องการใช้เรือบรรทุกสินค้ามากขึ้น ทั้งการขนส่งถ่านหินเพื่อเป็นพลังงานแทนก๊าซและน้ำมัน อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคและปัจจัยการผลิตอื่นๆ ส่งผลให้ทั้งปี 2565 รายได้ของธุรกิจเรือเทกองและเรือคอนเทนเนอร์[1]จะเพิ่มขึ้น 10.0% และ 38.3% ตามลำดับ จาก 62.0% และ 120.0% ปี 2564

แนวโน้มปี 2566-2568

  • ​รายได้ของธุรกิจเดินเรือมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแต่ในอัตราชะลอลง พิจารณาจากอัตราค่าระวางเรือมีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 2565 ผลจาก

            1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.1% ต่อปี จาก 3.2% ปี 2565 ขณะที่การค้าโลกจะเติบโตเฉลี่ย 3.3% ต่อปี จาก 4.3% ปี 2565 (ที่มา: IMF)

            2) ธุรกิจเรือเทกองยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของประเทศตะวันตก ทำให้การขนส่งถ่านหินและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ลดลง

            3) เรือคอนเทนเนอร์ถูกกดดันจากอุปทานตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7.0% ในปี 2566 จาก 3.0% ปี 2565 และเรือขนตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ (ปี 2564 มีการสั่งต่อเรือ 4.2 ล้าน TEUs และปี 2565 1.7 ล้าน TEUs) จะเข้าสู่ตลาดในปี 2566-2568 ขณะที่อุปสงค์จะเพิ่มขึ้นเพียง 3.0% ในปี 2566 (โดย Hapag-Lloyd)

  • อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังมีความต้องการสำรองสินค้าจำเป็นเพื่อการผลิต  บริโภคและเพิ่มความมั่นคงโดยเฉพาะอาหาร ขณะที่ธุรกิจเดินเรือสามารถส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาทิ เชื้อเพลิงและค่าธรรมเนียมต่างๆ ไปยังผู้ใช้บริการได้ รวมถึงการบริหารจัดการระวางบรรทุกและอุปทานเรือให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เรือ อาทิ จำกัดระวางขนส่งให้น้อยลง ยุบเส้นทางขนส่ง (Blank sailing) หรืองดการขนถ่ายสินค้าในบางท่าเรือ (Skip call) และลดค่าใช้จ่ายโดยการลดอุปทานเรือเก่า (Demolition) และตู้คอนเทนเนอร์เก่า (Ageing boxship) รวมถึงเพิ่มรายได้ในเส้นทางที่เติบโตดี (อาทิ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ละตินเมริกา และ Intra-Asia) ซึ่งจะพยุงรายได้ของธุรกิจในภาพรวมให้เติบโตเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี


บริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์


สถานการณ์ปี 2565

รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตดีในอัตรา 24.0% ในปี 2565 จาก 26.8% ในปี 2564
โดยการแข่งขันในธุรกิจมีทิศทางรุนแรงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มที่หลากหลาย

  • บริการดิจิทัล: รายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 30.0% (จาก 37.8% ในปี 2564) แรงหนุนจาก (1) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่พึ่งพาการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในวงกว้างมากขึ้นทั้งด้านการใช้จ่าย ลงทุน และการเงิน โดยมีปัจจัยเร่งจากการเว้นระยะห่างทางสังคมและการเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ที่ทั่วถึง และ (2) การแข่งขันพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์รองรับธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น

  • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์: รายได้มีแนวโน้มเติบโต 12.0% (จาก 13.0% ในปี 2564) เนื่องจากภาคธุรกิจหันกลับมาลงทุนพัฒนาระบบ IT และ Software เพื่อพัฒนาองค์กรหลัง COVID-19 รองรับความต้องการเฉพาะทางของลูกค้าในปริมาณมาก (Mass customization) เช่นเดียวกับหน่วยงานภาครัฐที่กำลังปรับโครงสร้างฐานข้อมูลสู่ระบบ Cloud เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการให้บริการลูกค้า ทั้งนี้ PwC Thailand ประเมินว่า ในปี 2565 บริษัทในไทยมากกว่า 50% หันมาใช้บริการบนคลาวน์ที่สนับสนุนการทำงานทางไกล

  • ดิจิทัลคอนเทนต์: รายได้มีแนวโน้มขยายตัวดี 12.0% (จาก 6.9% ในปี 2564) ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเกมส์ออนไลน์ (สัดส่วน 80% ของรายได้ในกลุ่มนี้) ที่ยังเติบโตจาก (1) การพัฒนาเกมส์ให้เชื่อมต่อกับ Social media platform และ (2) ผู้ประกอบการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพิ่มรายได้   ในรูปแบบ Gaming as a Service (GaaS) ที่ดึงดูดผู้เล่นให้ซื้อของในเกมส์ (In-game purchased) ได้ง่ายขึ้น ส่วนธุรกิจ Animation และ Characters ยังเติบโตไม่มากนัก ตามภาวะซบเซาของกำลังซื้อประเทศคู่ค้า

แนวโน้มปี 2566-2568

รายได้ของธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอัตรา 19.0-20.0%
โดยกลุ่มบริการดิจิทัลยังเป็นธุรกิจขับเคลื่อนหลัก

  • บริการดิจิทัล: รายได้คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 22.0-23.0% จาก (1) บริษัทเอกชนแข่งขันกันให้บริการลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น และ (2) เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ Metaverse และ AI ทำให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับการบริการได้หลายรูปแบบมากขึ้น โดยธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงอยู่ในกลุ่ม e-Retail, e-Logistics, Online media และ Fintech

  • ซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์: รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 11.0-12.0% จากการขยายตัวของเทคโนโลยีระบบ Cloud พร้อมกับการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากขึ้น เอื้อต่อระบบให้บริการด้าน  Cloud-based Software as a Service (SaaS) รองรับการปรับตัวของภาคเอกชนสู่ Digital transformation ที่เข้มข้นมากขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและบริการ และทำให้บริษัททั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ในการพัฒนาองค์กรมากขึ้น โดยธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง ได้แก่ SaaS, Software integration & consultation

  • ดิจิทัลคอนเทนต์: รายได้มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น 12.0-13.0% ตามธุรกิจเกมส์ที่จะเติบโตต่อเนื่อง จาก (1) การพัฒนาเกมส์ออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Blockchain เพื่อสะสม items แปลงเป็นรายได้ในรูปเหรียญดิจิทัล และ (2) นโยบายส่งเสริม e-Sport จากภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจ Animation และ Character มีทิศทางฟื้นตัวตามกิจกรรมบันเทิงที่กระเตื้องขึ้นในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการสตรีมผ่านแพลตฟอร์มบน Internet (Over-the-top: OTT) ที่กำลังเติบโต




​>> ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค
[1] สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
[2] AFTA  ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบรูไน
[3] RCEP ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่ค้าอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้
[4] USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) คือ ข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือ (เดิมคือ NAFTA) มีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา
[5] BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) คือ กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล
[6] EFTA (European Free Trade Area): สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
>> ข้าว
[1] อินเดียระงับการส่งออกข้าวหัก และกำหนดอัตราภาษีส่งออกข้าวหลายประเภท อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวกึ่งขัดสี และข้าวขาว ที่ 20%  (ยกเว้นข้าวนึ่งและข้าวบาสมาติ)
>> มันสำปะหลัง
[1] รวมผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ สาคู กากมันสำปะหลัง
>> ผลิตไฟฟ้า
[1] รวมกำลังการผลิตจากพลังน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2,920 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 45 เมกะวัตต์ ของ EGAT
>> ยาแผนปัจจุบัน
[1] ผลสำรวจจากผู้ประกอบการในประเทศซึ่งส่วนใหญ่ผลิตและจำหน่ายยาสามัญ จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
[2] โรคติดต่ออุบัติใหม่ คือ (1) โรคติดต่อชนิดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและต้องใช้เวลาในการวิจัยโรคใหม่เพื่อหาวิธีการรักษา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious disease) (2) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) (3) โรคติดต่ออุบัติซํ้า (Re-emerging infectious disease) และ (4) เชื้อก่อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistant organism)
[3] Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) เป็นกรอบความร่วมมือ ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ตรวจ  GMP ของประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะยุโรป เพื่อกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบด้านการผลิตยาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 49 ตั้งแต่ วันที่ 1สิงหาคม 2559
>> รถยนต์ (ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง)
[1] ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการพักชำระหนี้รถยนต์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน หรือ ไม่เกิน 3 งวดมีผลตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-ธันวาคม 2564 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1) เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 2) ไม่เป็นลูกหนี้ NPL  (ค้างชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 และ 3) มียอดค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 งวด ณ วันที่ลงทะเบียน ทั้งนี้ แต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินมีสิทธิ์ในการพิจารณามาตรการช่วยเหลือตามผลกระทบที่ลูกค้าได้รับตามแต่กรณี หากมีการขอเลื่อนการพักชำระหนี้ออกไป อีกจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ตามแต่ธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ เป็นผู้กำหนด
>> ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพและปริมณฑล
[1] ที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม
[2] ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยรวม หมายถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม โดยคำนวณจากข้อมูลสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ 17 ธนาคาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
[3] ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ในระหว่างศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว (หลังมีการเพิกถอนมติครม.ที่ได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565) ทั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามมติครม. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
[4] ธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV Ratio) โดยบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สัญญาที่ 1 วางดาวน์ต่ำสุดตั้งแต่0%-10% และกู้สินเชื่อ top-up ได้อีก 10% ของมูลค่าบ้าน สัญญาที่ 2 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า 2 ปี หรือ 20% หากผ่อนสัญญาที่1 น้อยกว่า 2 ปี และสัญญาที่ 3 วางดาวน์ขั้นต่ำ 30% สำหรับบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สัญญาที่ 1 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% สัญญาที่ 2 และ 3 วางดาวน์ 20% และ 30% ตามลำดับ (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
>> ที่อยู่อาศัย (6 จังหวัดหลักภูมิภาค)
[1] ที่อยู่อาศัย 6 จังหวัดหลักภูมิภาค ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต
[2] มาตรการดึงดูดให้เกิดการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง โดยอนุมัติวีซ่าระยะยาว 10 ปีแก่ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มที่มีศักยภาพสูง (Long-Term Resident Visa :LTR Visa) ได้แก่ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณ กลุ่มผู้ต้องการทำงานในไทยและกลุ่มผู้ชำนาญพิเศษ (มีผล 1 กันยายน 2565) โดยต้องรายงานตัวทุกปี และไม่จำกัดจำนวนครั้งในการเข้า-ออกประเทศ
[3] ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมาใช้เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV Ratio) โดยบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สัญญาที่ 1 วางดาวน์ต่ำสุด ตั้งแต่ 0%-10% และกู้สินเชื่อ top-up ได้อีก 10% ของมูลค่าบ้าน สัญญาที่ 2 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า 2 ปี หรือ 20% หากผ่อนสัญญาที่ 1 น้อยกว่า 2 ปี และสัญญาที่ 3 วางดาวน์ขั้นต่ำ 30% สำหรับบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สัญญาที่ 1 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% สัญญาที่ 2 และ 3 วางดาวน์ 20% และ 30% ตามลำดับ (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
>> อาคารสำนักงาน
[1] ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
[2] Hybrid working คือ การทำงานแบบผสมผสานระหว่างรูปแบบการใช้พื้นที่สำนักงานรูปแบบเดิมควบคู่ไปกับการทำงานนอกพื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นกับการทำงานระยะไกล (remote working)
>> พื้นที่ค้าปลีกให้เช่า

[1] พื้นที่ค้าปลีก หมายถึง ศูนย์การค้า 3 ประเภท ได้แก่ ศูนย์การค้าแบบปิด คอมมูนิตี้มอลล์ และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน
>> บัตรเครดิต
[1] ข้อมูลจำนวนบัตรเครดิตที่ปรับลดลงในปี 2558 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ ธปท. ได้ปรับฐานข้อมูลจำนวนบัตรเครดิตย้อนหลังเนื่องจาก (1) ผู้ให้บริการที่เป็น Non-bank ได้ปรับจำนวนบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว (Non-movement accounts) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 (2) ธนาคารพาณิชย์ได้หยุดให้บริการบัตรเครดิตบางประเภทตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559
>> โลจิสติกส์ (คลังสินค้าทั่วไป)
[1] SEC: Southern Economic Corridor ครอบคลุมจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช / NEC: Northern Economic Corridor  ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง / NeEC: Northeastern Economic Corridor ครอบคลุมจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย /  CWEC: Central - Western Economic Corridor ครอบคลุมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
>> โลจิสติกส์ (บริการขนส่งสินค้าทางทะเล)
[1] ที่มา: บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET, MAI)


 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา