3 Stages วางแผนการเงินให้ชีวิตคู่ราบรื่น
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

3 Stages วางแผนการเงินให้ชีวิตคู่ราบรื่น

icon-access-time Posted On 12 กันยายน 2566
By Krungsri The COACH
มีคำกล่าวว่าความรักเป็นเรื่องของคน 2 คน การที่คนเรามีความรู้สึกที่ดีต่อกันจนอยากจะใช้ชีวิตร่วมกัน นั่นหมายถึงการแชร์ทั้งชีวิตปัจจุบัน และในอนาคตที่ทั้งคู่จะต้องร่วมเดินไปด้วยกัน ดังนั้นการแบ่งปันแง่มุมการใช้ชีวิตต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสถานะที่คน 2 คนกำลังจะเป็นคนคนเดียวกัน

โดยเฉพาะเรื่องของการวางแผนจัดการการเงินนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตคู่ ที่ถ้าหากมองข้ามไปเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความรักของคน 2 คนนั้นไม่สามารถเดินเคียงคู่กันไปตลอดทางได้อย่างราบรื่น

สำหรับการบริหารจัดการการเงินในแบบฉบับคู่รักนั้นโดยพื้นฐานทั่วไปแล้วก็เหมือนกับการจัดการบริหารการเงินส่วนบุคคลเพียงแต่ว่าเราจะต้องมีการแชร์เป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตร่วมกัน และวางแผนให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคนให้มีความสุขในระหว่างทางไปพร้อม ๆ กัน
การบริหารเงินสำหรับคู่รัก

เริ่มต้นเดินทางโดยสำรวจสิ่งที่ทุกคนมีอยู่

แน่นอนว่าก่อนที่เราจะเริ่มต้นบริหารจัดการการเงินร่วมกันกับคนรัก สิ่งแรกที่เราจะต้องทำนั้นก็คือการเช็กสถานการณ์การเงินของแต่ละบุคคล หรือที่เราเรียกกันว่าการทำ Financial Health Check โดยคู่รักทั้ง 2 คนจะต้องแชร์ให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบว่าสถานการณ์การเงินของตัวเองในขณะนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องหนี้สิน เช่น บางคนอาจจะมีหนี้บ้าน หรือหนี้รถที่ยังต้องผ่อนอยู่ หรือมีหนี้สินของครอบครัวที่จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงภาระต่าง ๆ ที่ตนเองแบกรับอยู่ หรือแนวโน้มที่อาจจะต้องมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

โดยต้องรวบรวมทั้งจำนวนหนี้สินทั้งหมด และระยะเวลาที่ยังต้องผูกพันกับภาระเหล่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งได้รับผลกระทบจากภาระหนี้สินของตน หรือเพื่อวางแผนป้องกันในทางกฎหมายที่อาจจะต้องทำให้ทั้งคู่ต้องเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน เช่น การวางแผนที่จะจดทะเบียนสมรส หรือไม่จดทะเบียนสมรส แบบไหนจะเหมาะสมกับสถานการณ์ของคู่ของเรามากกว่า

นอกจากการเช็กเรื่องภาระของแต่ละคนแล้ว ขั้นตอนถัดมาก็คือการสำรวจรายรับของแต่ละคนว่ามีรายรับจากทางไหนบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร เป็นลักษณะของ Passive Income หรือ Active Income ทั้งคู่ การทำเช่นนี้ก็เพื่อที่จะเป็นการตรวจเช็กกระแสเงินสดที่จะเข้ามาในครอบครัวว่ามีเพียงพอกับการดูแลค่าใช้จ่าย และภาระต่าง ๆ ของทั้ง 2 คน หรือเป้าหมายที่กำลังจะมีร่วมกันในอนาคตหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่เพียงพออาจจะต้องมีการวางแผนหารายได้เพิ่มร่วมกันอย่างไร
 
เป้าหมายบริการสำหรับครอบครัว

แชร์เป้าหมายร่วมกัน

หลังจากที่เราได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของแต่ละฝ่ายแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่ทุกคนจะต้องแชร์เป้าหมายร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วยเป้าหมายส่วนตัวของแต่ละคน และเป้าหมายที่ตั้งใจจะสร้างร่วมกันในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายส่วนตัวในเรื่องการเกษียณของแต่ละคน ซึ่งสามารถระบุได้ทั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเงิน เวลา หรือไลฟ์สไตล์ที่ต้องการจะใช้ชีวิตในยามเกษียณ

ในขณะที่เป้าหมายที่จะสร้างร่วมกันในอนาคต เช่น การวางแผนมีบุตร ก็มักจะเป็นไปในเรื่องของการวางแผนการศึกษา เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษา อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนหลักสูตรไทย หรือหลักสูตรนานาชาติ หรือไปเรียนต่างประเทศ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู หรือถ้าครอบครัวไหนไม่ได้วางแผนการมีบุตร ก็อาจจะเป็นเป้าหมายอื่น ๆ อย่างการใช้ชีวิตร่วมกันในยามชรา หรือการท่องเที่ยวรอบโลก

ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายร่วมกันจะทำให้เรารู้ว่าแต่ละฝ่ายจะต้องมีเงินเท่าไหร่เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง และเป้าหมายที่มีร่วมกัน โดยการตั้งเป้าหมายที่ดีนั้นจะต้องมีเรื่องของจำนวนเงิน ระยะเวลาที่ชัดเจน และภาวะเงินเฟ้อ มาช่วยในการคำนวณเพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ด้วย
 
การบริหารเงินเมื่อมีรายได้เสริม

ลงมือบริหารจัดสรรการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมาย

เมื่อเราสามารถระบุเป้าหมายทั้งส่วนบุคคล และเป้าหมายที่จะมีร่วมกันในอนาคตได้แล้ว ขั้นต่อมาก็คือการวางแผนจัดสรรรายรับที่เข้ามาของแต่ละคนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ โดยต้องแยกเป้าหมายให้ชัดเจนว่าการจัดสรรเงินในส่วนนี้เป็นไปเพื่อเป้าหมายอะไร โดยแต่ละคู่อาจจะมีวิธีการจัดสรรรายรับที่เข้ามาแตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง เช่น
 
  • แบ่งจากรายได้ของตัวเองออกมาใส่ไว้ในกองกลางคนละเท่า ๆ กัน ถ้าเป็นการวางแผนจัดการค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เราอาจเริ่มจากการรวบรวมค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่ใช้ร่วมกัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าซื้อของใช้เข้าบ้าน ค่าอาหาร เป็นต้น หรือบางคนที่มีบุตรอาจจำแนกว่าแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ร่วมกันเท่าไหร่ด้วย

    ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดคือ 30,000 บาทต่อเดือน ก็อาจแบ่งจากรายรับของแต่ละคนเดือนละ 15,000 บาท เก็บไว้ในกองกลางสำหรับจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เดือนไหนใช้ไม่หมดก็สะสมไว้เป็นกองกลางเผื่อมีเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถดึงเงินในกองนี้ไปใช้ได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นการวางแผนอย่างเท่าเทียมกัน แต่อาจไม่เหมาะกับการวางแผนเป้าหมายใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะหลายคู่รายได้ไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดความอึดอัดได้

  • กำหนดเป็นสัดส่วนร้อยละที่เท่ากันจากฐานรายรับของแต่ละคน โดยอาจแบ่งออกมาเดือนละ 30% ของรายได้ของแต่ละคน เช่น ถ้าสามีมีรายได้เดือนละ 100,000 บาท ก็จะแบ่งออกมาเดือนละ 30,000 บาท ส่วนภรรยามีรายได้เดือนละ 50,000 บาท ก็แบ่งออกมาเดือนละ 15,000 บาท รวมกันทั้ง 2 คนคือ 45,000 บาท ซึ่งการแบ่งวิธีนี้แต่คนจะกันเงินออกมาไม่เท่ากัน แต่ข้อดีคือเป็นการแบ่งตามความสามารถในการหารายได้ของแต่ละคน ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหาได้น้อยกว่าก็จะทำให้ไม่มีความรู้สึกอึดอัดในการบริหารเงินร่วมกัน และมีปัญหาในระยะยาวได้
 
การบริหารเงินหลังจากเริ่มลงทุน

เริ่มใช้สูตรบริหารเงินเมื่อไหร่ และเอาไปเก็บไว้ที่ไหนดี?

หลายคู่มักเริ่มต้นบริหารจัดการการเงินร่วมกันเมื่อตกลงที่จะแต่งงานลงหลักปักฐานกัน แต่บางคู่ก็วางแผนไว้ตั้งแต่ตอนคบหากัน และมีความรู้สึกเริ่มอยากจะวางแผนอนาคตร่วมกัน โดยการเก็บร่วมกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ข้อดีคือสามารถนำมาใช้ในการจัดงานแต่งงานร่วมกันได้ด้วย ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

โดยในการเริ่มจัดสรร เราควรพิจารณาการวางแผนเงินฉุกเฉินก่อน ซึ่งถือเป็นเงินที่ต้องเตรียมไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคตที่ทำให้อาจต้องหยิบออกมาใช้โดยไม่ไปรบกวนเงินที่จัดสรรไว้ในส่วนอื่น ๆ

คำถามว่าเราควรนำเงินไปเก็บไว้ที่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการใช้เงินก้อนนั้น โดยแบ่งเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
 

Stage 1 : การบริหารจัดการเงินที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในระยะสั้น

ยกตัวอย่างเช่น เงินวางแผนในการดาวน์รถ หรือท่องเที่ยวในระยะเวลาอันใกล้ภายใน 1-3 ปี ซึ่งเงินก้อนนี้ควรพิจารณาเก็บในแหล่งที่ปลอดภัย สามารถหยิบออกมาใช้ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ แต่ก็อาจแลกมากับผลตอบแทนน้อย

ดังนั้นควรเก็บเงินระยะสั้นในบัญชีสะสมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ หรือกองทุนตลาดเงิน ที่อยากจะนำเงินออกมาใช้เมื่อไหร่ ก็ทำได้ในระยะเวลาอันสั้น
 

Stage 2 : การบริหารจัดการการเงินในระยะกลาง

คือเงินที่วางแผนจะใช้ภายใน 3-10 ปี เช่น วางแผนสร้างบ้านขยายครอบครัว หรือวางแผนสร้างธุรกิจ เงินก้อนนี้สามารถนำไปเก็บไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นได้ เพราะมีระยะเวลาของการถือครองที่ยาวขึ้น

แหล่งเก็บเงินที่เหมาะสม เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม ที่มีลักษณะความเสี่ยงที่ยอมรับได้และไม่สูงมาก เพื่อสามารถได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น
 

Stage 3 : การบริหารจัดการเงินก้อนระยะยาว

คือเงินที่มีวางแผนจะนำมาใช้ภายใน 10 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่คือแผนการเกษียณ หรือแผนการศึกษาบุตรในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเราสามารถพิจารณาแหล่งเก็บเงินที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้

เนื่องจากมีระยะในการเก็บที่ยาวนาน นอกจากกองทุนรวมตราสารทุน หุ้นคุณค่าต่าง ๆ เรายังสามารถพิจารณาการลงทุนทางเลือกต่าง ๆ เช่น กองทุนทองคำ น้ำมัน สกุลเงินดิจิทัล ฯลฯ ที่อาจได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ แต่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นบริหารจัดการพอร์ตในรูปแบบไหน เราควรศึกษาทำความเข้าใจให้เหมาะสมกับระดับการยอมรับความเสี่ยงได้ของคนทั้ง 2 คน และหมั่นบริหารจัดการปรับพอร์ตในระหว่างทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายร่วมกันเพื่อการบริหารเงินให้เป็นระบบ หรือเราอาจเลือกใช้บริการของการวางแผนการเงิน Plan your money ของธนาคารกรุงศรี เพื่อให้การวางแผนสะดวก และง่ายมากขึ้น

ชีวิตคู่เป็นเส้นทางที่คน 2 คนจะต้องเดินทางเคียงคู่กันไปทั้งทางที่ราบรื่น และต้องเจออุปสรรคอีกมากมาย การหันหน้าเข้าหากัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่จะต้องไม่ปิดบังกัน และไม่ตัดสินใจเองเพียงลำพังถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ความรักไม่สะดุด และอยู่กันได้อย่างยาวนาน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา