บริหารการเงินในครอบครัวอย่างไร ให้ชีวิตคู่สุขใจไร้กังวล

บริหารการเงินในครอบครัวอย่างไร ให้ชีวิตคู่สุขใจไร้กังวล

By Krungsri Plearn Plearn
หลังงานแต่งงานผ่านพ้นไป การใช้ชีวิตคู่อย่างแท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น นอกจากวิถีปฏิบัติที่คู่สามีภรรยาจะต้องปรับจูนเข้าหากันแล้ว ทัศนคติทางการเงินกับชีวิตคู่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องพูดคุยและตกลงกันให้เข้าใจ เพื่อให้การบริหารการเงินในครอบครัวเป็นไปด้วยความราบรื่น รอบคอบ และรัดกุม ไร้ปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง
สิ่งแรกที่ควรพูดคุยกันอย่างเปิดใจ คือ สถานภาพทางการเงินในปัจจุบันของทั้งคู่ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงินได้ชัดเจน และวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับรายรับ รายจ่าย ที่ไม่เท่ากันในแต่ละครอบครัว เช่น รายได้ต่อเดือน ค่าใช้จ่ายรายเดือน ภาระหนี้สิน จากนั้นจึงเริ่มวางแผนการเงิน บางครอบครัวอาจตกลงที่จะใช้กระเป๋าเดียวกันโดยให้คนใดคนหนึ่งรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และจัดสรรปันส่วนด้วยตนเอง ซึ่งข้อดีของกรณีนี้คือผู้ที่รับผิดชอบสามารถตัดสินใจได้เอง แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการเงินในครอบครัวในแง่ของความไม่เท่าเทียมกัน ส่วนบางครอบครัวอาจตัดสินใจแยกกระเป๋ากัน ทำให้มีอิสระในการใช้เงินมากกว่า ซึ่งหากใช้เพลินเกินตัวก็อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตามมาได้
โดยส่วนมากคู่รักที่หารายได้เข้าบ้านทั้งคู่แบบในปัจจุบัน มักวางแผนการเงินในครอบครัวด้วยการ “แยกกระเป๋ากันใช้จ่าย แต่แบ่งเงินบางส่วนไว้เป็นเงินกองกลาง” นับเป็นทางเลือกที่ลงตัวที่สุดสำหรับหนุ่มสาวยุคใหม่ โดยการสร้างบัญชีเพื่อแบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ เอาไว้ให้พร้อม ทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาทางการเงินชีวิตคู่อีกด้วย

บัญชีกลางสำหรับค่าใช้จ่ายประจำ

ค่าใช้จ่ายประจำเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่ต้องจ่ายอย่างแน่นอนในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้าน เป็นต้น ดังนั้นควรเปิดบัญชีไว้สำหรับเงินกองกลางของครอบครัวโดยนำเงินรายได้ของแต่ละฝ่ายเข้าบัญชีเท่า ๆ กัน ประมาณ 40-50 % ของรายได้ ส่วนที่เหลือถือเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินในชีวิตคู่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเอาเปรียบกันหรือทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจ

บัญชีเงินออมและเงินสำรองยามฉุกเฉิน

การมีเงินออมและเงินสำรอง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกในครอบครัวว่าจะมีหลักประกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วยแบบกะทันหัน หรืออุบัติเหตุ ซึ่งทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นคู่สามีภรรยาจึงควรบริหารการเงินในครอบครัวโดยสำรองเงินส่วนนี้ไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถเบิกถอนได้สะดวก แต่หากไม่มีเหตุฉุกเฉินใด ๆ เงินส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเงินออมเพื่อเป้าหมายในอนาคต หรืออาจนำไปต่อยอดให้งอกเงยได้ด้วยการฝากประจำหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล

บัญชีกองทุนเงินสะสม

เงินกองทุนสะสม เป็นเงินออมอย่างหนึ่งที่สะสมไว้โดยไม่มีการเบิกถอน คู่แต่งงานสามารถบริหารการเงินในครอบครัว และเมื่อมีเงินเหลือเก็บ สามารถนำเงินไปลงทุนในบัญชีตราสารหนี้ กองทุนรวม หรือหุ้นต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มดอกเบี้ย เงินปันผล ไว้เป็นเงินสะสมให้แก่ครอบครัวในอนาคต ซึ่งเงินส่วนนี้อาจหักจากเงินรายได้อย่างน้อย 10 % ถือเป็นการลงทุนที่ส่งผลดีและสร้างความมั่นคงได้ในระยะยาว

บัญชีเพื่อลูกรัก

หากคู่สามีภรรยาที่ต้องการวางแผนอนาคตลูกน้อยและเตรียมความพร้อมอย่างเนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินในครอบครัว ควรมีบัญชีเงินฝากสำหรับออมค่าใช้จ่ายของลูกน้อยในอนาคต เช่น ค่าคลอดบุตร ค่าเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายทางการศึกษา อาจเก็บออมในบัญชีเงินฝากประจำหรือการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่สามารถรับเงินคืนได้ในอนาคต เพื่อให้สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ ไม่ขาดตกบกพร่อง

การแยกกระเป๋ากันใช้จ่าย แต่แบ่งเงินบางส่วนไว้เป็นเงินกองกลางของครอบครัว เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลดีต่อ สามีภรรยาในยุคปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างทำงานและมีรายได้เลี้ยงชีพ สร้างความเท่าเทียมกันโดยไม่มีใครเป็นผู้ควบคุมหรือถูกจำกัดทางการเงินเพียงฝ่ายเดียว ถือเป็นการลดความขัดแย้งทางความชอบและลักษณะนิสัยด้านการใช้จ่ายที่แตกต่างกันของทั้งคู่ แถมยังเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันโดยไม่ให้คนใดคนหนึ่งแบกรับความเครียดไว้เพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างวินัยด้านการใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย
ความขยันและมีวินัยในการเก็บออม รวมถึงการวางแผนทางการเงินที่ดี จะเป็นเกราะป้องกันปัญหาทางการเงิน เพื่อให้ชีวิตคู่ของคุณมีความสุขและมั่นคงยิ่งขึ้นไปในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.happywedding.life ,http://www.checkraka.com
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow