เคยได้ยินคำว่า FOMO: Fear of missing out กันบ้างไหม?
FOMO คืออาการที่เรากลัวพลาดบางสิ่งบางอย่างไป กลัวที่จะไม่ทันเทรนด์ หรือกลัวที่จะรู้ไม่เท่ากับที่คนอื่น ถ้าเป็นในแง่มุมของธุรกิจ FOMO จะเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดเป็นการอยากได้ อยากมี อยากซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ได้จำเป็นเลยในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะ FOMO เป็นความรู้สึกของเราที่ทำให้เราอาจจะตัดสินใจซื้อของ หรือใช้เงินเกินตัวไปได้ ส่งผลให้เราขาดสติในการใช้จ่าย จนเก็บเงินไม่อยู่ ลามไปถึงการเกิดปัญหาทางการเงินเรื้อรังไปเรื่อย ๆ
ผลกระทบของอารมณ์ต่อการตัดสินใจทางการเงิน
การศึกษาที่ดำเนินการโดยนักจิตวิทยาที่ได้รับรางวัลโนเบล Daniel Kahneman แสดงให้เห็นว่าคนเรามักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากถึง 85% และใช้ตรรกะเพียง 15% เท่านั้น เพราะเมื่อการตอบสนองทางอารมณ์ของเราจะไม่มีวันหายไปโดยสิ้นเชิง เราสามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ก่อนที่มันจะครอบงำ และควบคุมการตัดสินใจของเรา เราสามารถเรียนรู้วิธีทบทวนประสบการณ์ และการตัดสินใจจากการเงินในอดีตของเรา เมื่อเรารู้ว่าวิธีไหนในอดีตของเราที่เราทำไปแล้วจะมีผลต่อการตัดสินใจทางการเงินของเรา เราก็ควรพยายามเลี่ยงที่จะทำในสิ่งนั้น เรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง
นักบำบัดทางการเงิน และที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่ง Marilyn Wechter ชี้ให้เห็นถึงการบริจาคเพื่อการกุศล ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการใช้อารมณ์ที่กระตุ้นให้เราลงมือทำ “การบริจาคไม่ได้เป็นเพียงกลยุทธ์ในการลดภาระภาษีของเรา แต่มันยังเป็นสิ่งที่ทำแล้วเกิดผลดีตามมาไม่ใช่แค่ใช้เงินตามอารมณ์และไม่มีประโยชน์ใด ๆ ตามมาเลย และยังใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย”
ซึ่งผลวิจัยยังได้ระบุไว้ด้วยว่า “การให้” จะทำให้ผู้ที่ให้มีความสุข ถึงแม้ว่าจะต้องเสียสละเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างก็ตาม และคนที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลมักจะทำด้วยความเข้าใจ และเต็มใจ และรู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
วิธีการแก้ไข ไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลในการบริหารเงิน
1. ให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าความรู้สึก
เราจะต้องฝึกตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน และโฟกัสที่ความเป็นจริงที่เราเผชิญอยู่ และพยายามที่จะใช้หลักเหตุผลให้ได้มากที่สุด อย่ายอมให้อารมณ์เข้ามาครอบงำทำให้มีผลต่อการตัดสินใจของเราได้
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราไปเดินห้างในช่วงที่มีโปรโมชั่น อย่างช่วงสิ้นปี เราก็จะเห็นป้ายลดราคาเยอะแยะเต็มไปหมดเลย สิ่งเร้าพวกนี้แหละที่ทำให้ใจเราหวั่นไหวดึงดูดเรา ส่วนเราก็ต้องใจอ่อนเดินเข้าไปหาจนได้ เมื่อเราได้เห็นราคา เมื่อนั้นตัวเราก็จะใช้อารมณ์นำเหนือทุกเหตุผล เราอาจจะพลั้งซื้อมา และอาจจะนึกขึ้นได้ทีหลังว่าของที่เราซื้อมาเนี่ยแท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีความจำเป็นอะไรขนาดนั้นเลย แต่เราก็ซื้อมาแล้ว แต่ในช่วงเวลาที่เรากำลังจะซื้อเรามักจะคิดว่าซื้อไปก่อนของมันต้องมี สิ่งนี้คือที่ความน่ากลัวของการใช้อารมณ์เหนือเหตุผล
หากเราคิดว่าอารมณ์ของเราอาจส่งผลต่อความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล เราอาจจะต้องทำรายการที่จำเป็นในแต่ละเดือนเพื่อที่จะได้เห็นภาพมากขึ้นว่า สิ่งไหนกันแน่ที่สำคัญ และเราจะได้จัดลำดับ
ความสำคัญการวางแผนการเงินได้อย่างถูกต้อง เรื่องของค่าใช้จ่ายเราจะได้ไม่ต้องปานปลาย
2. รู้จัก Money script ของตัวเอง
ทฤษฎีทางการเงินของนักจิตวิทยา Brad Klontz กล่าวไว้ว่า Money script คือ ความสัมผัสระหว่างบุคคล และการเงินของตัวเอง ซึ่งหยั่งรากลึกมาตั้งแต่วัยเด็กส่งผลพฤติกรรม และมุมมองทางการเงินในวัยผู้ใหญ่ของเรานั้นเอง
โดยที่ Money script จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันดังต่อไปนี้
1. เงินคือศัตรู (Money avoidance)
กลุ่มคนที่หลีกเลี่ยงเงินเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยชอบที่จะเกี่ยวข้องกับเงินมากนัก เพราะพวกเขามีความเชื่อที่ว่าการมีเงินเยอะอาจจะไม่ใช่ข้อดีเสมอไป อาจจะเป็นข้อเสียก็เป็นได้ แต่ในทางกลับกันพวกเขาก็ไม่กล้าที่จะใช้เงินเช่นเดียวกัน กลุ่มนี้เลือกที่จะมีรายได้ที่ปานกลางแต่เลือกที่จะไม่อยากที่จะใช้จ่ายเยอะ
2. เงินคือพระเจ้า (Money worship)
คนกลุ่มนี้เชื่อว่าเงินจะเติมเต็มชีวิตพวกเขาเป็นหลักประกันชีวิต ยิ่งมีเงินมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ยิ่งมีความสุข โดยที่คนกลุ่มนี้จะทำงานอย่างหนัก และมีแนวโน้มจะใช้เงินเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุข “ของมันต้องมีรูดไปก่อน” คนกลุ่มนี้อาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าความเสี่ยงระดับไหนกันนะที่จะรับไหวถ้าต้องลงทุนในหุ้น กองทุน หรือสินทรัพย์อื่น ๆ
3. เงินคือหน้าตา (Money status)
ตามชื่อเลยเงินคือหน้าตาของคนกลุ่มนี้ พวกเขาจะใช้เงินเพื่อที่จะแสดงสถานะของพวกเขาเพื่อที่จะได้สร้างตัวตน คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะใช้เงินเกินตัวเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มวัตถุนิยม ถ้ามีคอลเลคชั่นใหม่ออกมาก็ต้องมีต้องได้ คนกลุ่มนี้อาจจจะเหมาะกับการลงทุนในระยะยาวเพื่อที่จะได้ฝึกวินัยให้กับตัวเองและจะได้ไม่เผลอลืมเอาเงินออกมาใช้จนเกินตัว
4. เงินคือความรัก (Money Vigilance)
คนกลุ่มนี้มองว่าเงินมีไว้เก็บ เวลาใช้จ่ายในทุก ๆ ครั้งก็จะคิดแล้วคิดอีก พวกเขาจะมองเห็นคุณค่าของเงินเป็นอย่างมาก แต่ในบางครั้งก็อาจะเก็บอย่างเดียวจนไม่กล้าลงทุนในอะไรเลยที่จะต่อยอดเงิน เพราะพวกเขาจะกลัวที่จะขาดทุน หรือจะไม่ได้กำไรคืน ซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้าลงทุนก็อาจจะเหมาะกับการลงทุนในกองทุน SSF เพราะมีความเสี่ยงที่ต่ำนั้นเอง
ตัวอย่างเช่น พวกเขาเลือกที่จะจ่ายเงินสดมากกว่า ที่จะยอมจ่ายด้วยบัตรเครดิต ถ้ามองอีกแง่มุมนึง
การใช้บัตรเครดิตเพื่อที่จะสร้างเครดิตให้กับตัวเองก็จะเป็นผลดีในอนาคตถ้าหากเราต้องการที่จะขอสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์
สรุป
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ในกลุ่มไหนของ Money script แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบไหน และรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองในทุก ๆ การใช้จ่าย เมื่อเรารู้ทันอารมณ์เราแล้วนั้น เราก็สามารถที่จะหาตัวช่วย หรือวิธีบริหารการเงินให้เหมาะกับชีวิตเราได้ อย่างเช่น
บัญชีมีแต่ได้ออนไลน์ของกรุงศรี ที่เปรียบเสมือนที่พักเงินแต่ผลตอบแทนสูงเหมาะสำหรับทุกวัยเลย
แหล่งที่มา:
baritessler.com
www.claritywealthdevelopment.com
www.cnbc.com
www.thepublicopinion.com