สร้างวินัยทางการเงินด้วย 2 ขั้นตอนง่าย ๆ
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สร้างวินัยทางการเงินด้วย 2 ขั้นตอนง่าย ๆ

icon-access-time Posted On 01 ตุลาคม 2558
By อภินิหารเงินออม
"เราจะต้องออมเงินให้ได้!"
 
หลายคนเคยพูดประโยคข้างต้นนี้กับตัวเองโดยใช้วิธีออมเงินที่เรียบง่ายด้วยการเก็บไว้ในบัญชีเงินเดือน ที่เป็นบัญชีออมทรัพย์ เพราะรู้สึกง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องจดจำหลายบัญชีเพราะทำทุกอย่างครบ จบในบัญชีเดียวทั้งรายรับ เงินออม และรายจ่าย
ในช่วงแรกตั้งใจออมเงินที่ 10% ของรายได้ ก็ทำได้ครบตามที่วางแผนไว้ แต่พอระยะหลัง ๆ เริ่มมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงิน ทำให้ออมเงินน้อยลงเหลือ 5% ของรายได้ เดือนหน้าคิดว่าจะออมสมทบเพิ่มเข้าไปให้เท่ากับยอดที่ถอนออกมา เริ่มฝากน้อยลง เข้าสู่ช่วงถอนเงินมากกว่าฝากเงิน สุดท้ายผ่านไปเกือบปี เป้าหมายเงินออมที่ตั้งไว้ก็ยังไม่สำเร็จสักที
สาเหตุมาจากบัญชีเงินเดือนที่เราใช้เป็นบัญชีเงินออมนั้นถอนออกง่ายเกินไปทำให้ขาดวินัยการออมเงิน แม้ว่าเราจะมีใจที่มุ่งมั่นว่าต้องออมเงินให้ได้ แต่ถ้าวิธีเก็บเงินยังไม่เข้มงวดเพียงพอ สุดท้ายเราก็จะออมเงินไม่ได้
ถ้าเราต้องการสร้างวินัยการออมเงินควรเลือกวิธีออมเงินที่เป็นภาคบังคับ โดยแยกเงินออมออกมาจากบัญชีเงินเดือน แล้วตั้งชื่อบัญชีใหม่ว่าเป็น "บัญชีเงินออมเพื่ออนาคตเท่านั้น" ที่สำคัญควรถอนเงินออกยาก ๆ เพื่อเราจะได้ไม่เผลอกดเงินออกมาใช้

วิธีสร้างวินัยทางการเงิน

 

วิธีที่ สร้างวินัยการออมเงินด้วยการฝากประจำ

หลักเกณฑ์การฝากประจำ ดังนี้
 
  • วิธีการฝาก คือ รูปแบบของฝากประจำนั้นจะเป็นการฝากรายเดือนและฝากแบบเป็นก้อน
  • ระยะเวลาฝาก คือ สามารถเลือกเวลาฝากได้ เช่น 3 เดือน, 6 เดือน, 24 เดือน, 36 เดือน เป็นต้น
  • เรื่องภาษี ฝากประจำทั่วไปจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ถ้าเลือกฝากประจำแบบพิเศษ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีประกาศไว้ในโฆษณา
ผู้เริ่มออมเงินสามารถใช้การฝากประจำวางแผนการเก็บเงินตามเป้าหมายได้ เช่น 3 ปีหน้าเราคาดว่าจะไป เรียนต่อปริญญาโทด้วยงบ 360,000 บาท ก็ต้องมาคำนวณว่าแต่ละเดือนควรเก็บเท่าไหร่ คือ 360,000 บาท / 36 เดือน = 10,000 บาท เราก็เปิดบัญชีฝากประจำระยะเวลา 36 เดือน ฝากเดือนละ 10,000 บาท ถ้าเป็นฝากประจำชนิดปลอดภาษีจะดีมาก เพราะเราจะได้รับดอกเบี้ยมาเต็ม ๆ โดยไม่ถูกหักภาษี

วิธีที่ สร้างวินัยการลงทุนด้วย DCA

สำหรับผู้ที่เป็นนักลงทุนก็สามารถใช้หลักการฝากทุกเดือนของบัญชีฝากประจำมาปรับใช้กับพอร์ตการลงทุนเพื่อต่อยอดเงินให้เติบโตได้ โดยใช้ได้ทั้งการลงทุนกองทุนรวมและลงทุนหุ้นรายตัว วิธีการที่ว่านั้นคือ DCA (dollar cost averaging) หรือที่เราเคยได้ยินว่า “การถัวเฉลี่ยต้นทุน” โดยหลักการ คือ การใช้เงินทุนที่เท่ากันเข้าไปในพอร์ตการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกันของทุกเดือน โดยไม่สนใจราคาว่าจะเป็นเท่าไหร่
จากตัวอย่างเดิมที่เราต้องการเก็บเงิน 360,000 บาท ภายใน 3 ปี เราก็จะสะสมเดือนละ 10,000 บาท ดังนี้
  • เดือนที่ 1 ราคา 10 บาท เราจะซื้อได้ 1,000 หุ้น
  • เดือนที่ 2 ราคา 10.50 บาท เราจะซื้อได้ 952 หุ้น
  • เดือนที่ 3 ราคา 9.50 บาท เราจะซื้อได้ 1,052 หุ้น
วิธีนี้เราจะคุ้นเคยกับคำว่า "ออมหุ้น" ซึ่งเป็นการสะสมหุ้นทุกเดือน ๆ ในปริมาณเงินที่เท่ากัน หากเดือนไหนราคาหุ้นสูงขึ้น เราก็จะซื้อหุ้นได้ในปริมาณที่ลดลง แต่ถ้าเดือนไหนราคาหุ้นลดลง เราก็จะซื้อหุ้นในปริมาณที่มากขึ้น ซื้อโดยไม่สนใจราคา เพราะตัดความรู้สึกกังวลความผันผวนของหุ้นออกไป ราคาหุ้นในพอร์ตจะเป็นราคาเฉลี่ย
การสร้างวินัยการออมและการลงทุนนั้นเริ่มได้โดยใช้ระบบมาบังคับตัวเรา ผู้ที่เริ่มออมเงินครั้งแรกอาจเริ่มที่การฝากประจำเพราะเข้าใจง่าย ความเสี่ยงต่ำ ได้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากออมทรัพย์ รวมทั้งฝึกการออมภาคบังคับได้ดี ถ้าจะเริ่มนำเงินออมไปต่อยอดด้วยการลงทุนก็ใช้วิธีการออมหุ้นด้วยวิธีลงทุนแบบ DCA เพราะไม่ต้องมานั่งจับจังหวะการลงทุนและเป็นการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวอีกด้วย
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา