เรื่องควรรู้ก่อนวางแผน
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เรื่องควรรู้ก่อนวางแผน "ฝากไข่" ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

icon-access-time Posted On 25 กุมภาพันธ์ 2566
by Krungsri The COACH
ในยุคนี้สาว ๆ หลายคนอาจจะยังไม่อยากที่จะรีบมีบุตรกัน และกำลังมองหาวิธีการที่จะรักษาไข่ไว้ให้สดใหม่สำหรับอนาคตเผื่ออยากมีลูกขึ้นมา แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า การฝากไข่เนี่ยคืออะไร? หรือการฝากไข่ในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? วันนี้เราจะไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย
 
การฝากไข่สำหรับคนอยากมีครอบครัวในอนาคต

ฝากไข่ คืออะไร?

การฝากไข่ คือ หนึ่งในเทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์ โดยการนำเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดของผู้หญิงมาแช่แข็งไว้ในไนโตรเจนเหลวในอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของไข่ไว้ขณะที่ยังสมบูรณ์ ด้วยเทคโนโลยีแช่แข็ง และนำมาใช้ในภายหลัง ซึ่งไข่ที่แช่แข็งไว้นั้นสามารถนำมาละลายและนำไปผสมกับน้ำเชื้อ หรือที่เราคุ้นหูกันในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)

ทำไมต้องฝากแช่แข็งไข่?

ตั้งแต่แรกเกิดผู้หญิงจะมีไข่อยู่ประมาณ 1-2 ล้านใบ โดยที่เซลล์ไข่จะมีความสมบูรณ์ที่สุดในช่วงอายุ 20-35 ปี และจะค่อย ๆ ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการมีบุตรยากในช่วงอายุที่มากขึ้น และหมดประจำเดือน หรือวัยทองนั่นเอง (Menopause) ซึ่งในช่วงวัยทองรังไข่จะค่อย ๆ หยุดทำงาน ดังนั้นคนที่ต้องการวางแผนที่จะมีลูกควรอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการฝากไข่เอาไว้ในช่วงที่ยังสามารถผลิตไข่ได้เยอะ และไข่ยังมีประสิทธิภาพที่ดีอยู่ โดยที่ช่วงอายุที่จะฝากไข่ก็ไม่ควรเกิน 40 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล และควรที่จะปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การฝากไข่สามารถช่วยลดความเสี่ยงของบุตรที่จะเกิดมา และลดความผิดปกติของโครโมโซมเนื่องจากตัวคุณแม่มีอายุมากขึ้นได้อีกด้วย การฝากไข่ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราฝากไข่ตอนอายุ 25 ปี แต่ยังไม่มีแผนที่จะตั้งครรภ์ในเร็ว ๆ นี้ แต่ในอนาคตตอนนั้นเราอายุ 45 ปี เราพร้อม และมีแผนที่จะตั้งครรภ์เราก็ยังสามารถใช้ไข่ที่เราฝากไว้ตอนเราอายุ 25 ปี ได้นั่นเอง

มากไปกว่านี้ค่านิยมในการอยากมีบุตรปัจจุบันก็เปลี่ยนไป เนื่องด้วยจากหลาย ๆ ปัจจัยและสิ่งแวดล้อม จากผลสำรวจของ Theconversation.com ผู้หญิงในช่วงวัย 31 ปี มีความกังวลในเรื่องการหาคู่จึงทำให้เกิดการแต่งงานช้าลง ซึ่งส่งผลให้ความพร้อมในการจะมีบุตรช้าลงตามไปด้วย ฉะนั้นผู้ที่จะวางแผนที่อยากจะมีบุตรควรที่จะต้องเข้ารับการฝากไข่ตั้งแต่เนิ่น ๆ กันนะ
 
ใครบ้างควรฝากแช่แข็งไข่?

ใครบ้างควรฝากแช่แข็งไข่?

คนที่เหมาะกับการฝากแช่แข็งไข่คือ คนที่ยังไม่มีแผนจะมีบุตรในช่วงอายุยังน้อย หรือวางแผนไว้ว่าจะมีบุตรในช่วงอายุ 35 ปี ขึ้นไป รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับการทำเคมีบำบัด หรือการฉายแสง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ไข่ฝ่อไม่สมบูรณ์ หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องได้รับการผ่าตัดรังไข่ หรือเป็นซีสต์ ฯลฯ ซึ่งหลังการผ่าตัดจะทำให้จำนวนไข่ลดลง หรือแม้แต่เหตุผลทางพันธุกรรม ที่ทำให้รังไข่เสื่อมเร็ว หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ซึ่งเราจะสังเกตได้จากแม่เรา ซึ่งถ้าหากคุณแม่ของเราเข้าช่วงหมดประจำเดือนเร็วเราก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีภาวะรังไข่เสื่อมเร็วได้เหมือนกัน

เตรียมตัวอย่างไร? ก่อนเข้าสู่การฝากไข่

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมความเครียด หรือพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีโปรตีนสูง ทานอาหารที่สมดุลกับร่างกาย และครบ 5 หมู่
  • รับประทานวิตามิน หรืออาหารเสริม (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทาน)
  • รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าตรู่ แสงแดดจะช่วยกระตุ้นจังหวะการหลับตื่นของเราให้ดีขึ้น

โดยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ควรที่จะเข้าไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินอาการ และให้คำปรึกษาเราได้อย่างตรงจุดก่อนที่เราจะเริ่มกระบวนการฝากไข่

ขั้นตอนในการฝากแช่แข็งไข่จะมีอยู่ 6 ขั้นตอนหลัก ๆ เลยคือ

1. ตรวจเลือด และฮอร์โมน

ในขั้นตอนนี้เมื่อเราเข้าไปพบแพทย์ พยาบาลจะทำการซักประวัติเบื้องต้นของเรา เช่น ประวัติการแพ้ยา ประวัติการตั้งครรภ์ รวมถึงมีการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูรังไข่เบื้องต้น

2. การกระตุ้นไข่

หลังจากได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว จะมีการฉีดกระตุ้นรังไข่ ซึ่งจะเป็นยาสำหรับไว้กระตุ้นรังไข่โดยเฉพาะ โดยที่ตัวยาที่ใช้ฉีดก็จะขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคนด้วย ในช่วงเดียวกันแพทย์จะฉีดตัวยาระงับไม่ให้ไข่ตก

3. ติดตามขนาดไข่

ต่อเนื่องจากการกระตุ้นไข่ ก็จะเข้าสู่การติดตามขนาดของไข่ หลังจากที่ได้กระตุ้นไข่ไปได้สักประมาณ 3-5 วัน แพทย์จะนัดพบเพื่อมาตรวจเลือดดูฮอร์โมน เพื่อดูขนาดไข่ และอัลตร้าซาวด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ ถ้าหากขนาดของไข่ได้ตามที่แพทย์ต้องการแล้ว แพทย์ก็จะทำการฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก

4. ฉีดยากระตุ้นไข่ให้ตก

ในขั้นตอนนี้แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์ ดูว่าถ้าหากไข่เจริญเติบโตพอแล้วแพทย์จะฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก โดยที่ตัวยาที่ใช้กระตุ้นให้ไข่ตกก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณฮอร์โมนของแต่ละบุคคลไป

5. การเก็บไข่

หลังการฉีดกระตุ้นให้ไข่ตกแล้วประมาณ 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะเริ่มทำการเก็บไข่ โดยที่จะอัลตร้าซาวด์ตรวจดูตำแหน่งที่ไข่อยู่ จากนั้นจึงจะทำการดูดเซลล์ไข่ออกมา ซึ่งการเก็บไข่เนี่ยเป็นหัตถการขนาดเล็ก ดังนั้นคนไข้จะได้รับยาสลบระหว่างที่แพทย์เก็บไข่ โดยที่ระยะเวลาในการเก็บก็จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาที และหลังจากเก็บเสร็จควรที่จะนอนพักสัก 1-2 ชั่วโมง

6. การแช่ไข่

หลังจากที่ดูดเซลล์ไข่ออกมาแล้วแพทย์จะนำหลอดแก้วมาใส่ไข่เอาไว้ จากนั้นจะนำไปแช่ไว้ในตู้แช่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส และจะนำไข่ออกมาปฏิสนธิอีกทีก็ต่อเมื่อผู้ที่ฝากไข่ต้องการ

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจการฝากไข่เบื้องต้น รวมถึงขั้นตอนในการฝากไข่กันไปแล้ว ต่อไปเราไปดูในส่วนของค่าใช้จ่ายในการฝากไข่กัน…
 
ฝากไข่แพงไหม?

ฝากไข่แพงไหม?

แน่นอนว่าการฝากไข่ย่อมมีค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง โดยที่ราคาก็จะขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราไปฝากไข่ด้วย โดยที่ราคาโดยประมาณจะอยู่ที่ 100,000 – 200,000 บาท หรือถ้าในบางกรณีอยากที่จะนำไข่ที่ฝากไปทำเด็กหลอดแก้วก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา โดยที่การฝากไข่จะต้องมีค่าฝากไข่ให้กับธนาคารฝากไข่ด้วย และเงื่อนไขในการฝากของแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับใครที่กำลังวางแผนฝากไข่ และยังกังวลอยู่ว่างบจะพอไหม? ค่าใช้จ่ายเกินหรือเปล่า ขอแนะนำ สินเชื่อ Krungsri iFIN ยื่นกู้ง่ายผ่านแอป KMA ใช้บัญชีธนาคารไหนก็สามารถกู้ได้ เพื่อการวางแผนค่าใช้จ่ายให้ดี และรัดกุมก่อนก่อนวางแผนฝากไข่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดกันก่อนได้เลย

สรุป
การฝากไข่มีข้อดีมากมายเลยเพราะจะช่วยรักษาเซลล์ไข่ของผู้หญิงเราไว้ได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป 10 ปี ก็ตาม อีกทั้งยังเป็นแผนสำรองให้กับสาว ๆ ที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตรในเร็ว ๆ นี้ แต่อาจจะมีแผนการมีบุตรในอนาคต อีกทั้งยังสามารถเลือกช่วงเวลาการตั้งครรภ์ได้อีกด้วย และสามารถลดความเสี่ยงของความผิดปกติของโครโมโซมในเด็กที่จะเกิดมาในแม่ที่มีอายุไข่เยอะได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากสาว ๆ คนไหนมีแผนที่จะฝากไข่ก็ควรศึกษาให้ดีก่อน และก็ควรที่จะเข้าไปรับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา