สร้างเงินล้านด้วยเงินขวัญถุง ได้จริงหรือ?
เพื่ออนาคตลูก
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สร้างเงินล้านด้วยเงินขวัญถุง ได้จริงหรือ?

icon-access-time Posted On 24 มกราคม 2566
by Krungsri The COACH
เงินขวัญถุง เอามาเป็นต่อยอดเป็นทุนชีวิตได้แค่ไหน?

ด้วยเศรษฐกิจในช่วงหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 การที่นำเงินไปต่อยอด หรือทำให้งอกเงยถือว่าเป็นไอเดียที่ดีเลยทีเดียว แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจกับคำว่าเงินขวัญถุงกัน และในหลาย ๆ ครั้งมักที่จะมีคำถามตามมาเสมอว่า เงินขวัญถุงนี่คืออะไร และเงินขวัญถุงใช้ได้ไหมนะ? แล้วควรจะจัดการกับเงินขวัญถุงอย่างไรดี? ในบทความนี้จะพาไปดูวิธีต่อยอดเงินขวัญถุงว่าทำอย่างไรได้บ้าง เพราะยิ่งเก็บออมมากเท่าไหร่ ต้นทุนชีวิตของบุตรหลานเราในอนาคตก็จะยิ่งดีมากเท่านั้น
 
เงินขวัญถุงคืออะไร?

เงินขวัญถุง คืออะไร?

เงินขวัญถุง คือ เงินที่ผู้ใหญ่ให้บุตรหลานที่เกิดใหม่เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตในอนาคต หรืออาจจะเป็นเงินมงคลก็ได้ ซึ่งเงินขวัญถุงนี้ผู้ปกครองก็สามารถที่จะนำไปใช้ซื้อของจำเป็นให้กับบุตรหลาน หรือนำไปเก็บออมเพื่อทำให้เงินงอกเงยได้ในอนาคต

ถึงกระนั้นการที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยตามมามากมาย เพราะฉะนั้นจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้างตามไปดูกันเลย

4 วิธีเปลี่ยนเงินขวัญถุงให้เป็นเงินล้าน

1. ลงทุนระยะสั้น

การลงทุนกองทุนรวมเพื่อที่จะเป็นค่าเทอมลูกในอีกหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า ควรที่จะเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล ถึงแม้ผลตอบแทนจะไม่มากนัก แต่เราจะแน่ใจได้แน่ ๆ ว่าผลตอบแทนที่เราจะได้นั้นสามารถจ่ายค่าเทอมของบุตรหลานของเราได้แน่นอนในอีกหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า

ข้อควรระวัง! ถ้าหากเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นหน่อยอย่างระดับ 6 ขึ้นไป อย่างเช่น กองทุนรวมตราสารทุน, กองทุนรวมเฉพาะอุตสาหกรรม, กองทุนรวมทางเลือก ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงตามมาด้วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราอยากจะขายกองทุนนั้นเราจะต้องมาลุ้นว่าเราจะได้กำไร หรือขาดทุนจากกองทุนนั้นไหม ถ้าจังหวะไม่ดีนักเราก็จำเป็นที่จะต้องขายกองทุนในราคาที่ขาดทุนอีกด้วย

ถ้ารู้วิธีต่อยอดเงินจากเงินขวัญถุงก็สามารถมีเงินล้านได้แล้ว ถ้าอยากรู้วิธีที่เหลืออยู่ว่ามีอะไรบ้างตามไปฟังกันได้เลยที่ “Krungsri The COACH Ep.60 เงินขวัญถุงก็สร้างเงินล้านให้ลูกได้”

2. ลงทุนระยะยาว

การลงทุนระยะยาวเป็นการลงทุนให้บุตรหลานในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า ซึ่งการแบ่งเก็บก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคลไป ตัวอย่างเช่น แบ่งเก็บเดือนละ 5,000 บาท ก็ควรแบ่งออกเป็น 2 กองทุนด้วยกันเพื่อไม่ให้เกิดเบี้ยหัวแตก และระยะเวลาในการลงทุนแบบระยะยาวควรที่จะเป็นเงินที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ซึ่งการจัดพอร์ตควรจะเป็นแบบผสมระดับความเสี่ยงทั้งต่ำไปถึงสูง

ถ้าหากมีจุดหมายคือการออมเงินเพื่อบุตรหลานโดยที่จะไม่ใช้เงินระหว่างทาง ควรเลือกเป็นกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล แต่เป็นกองทุนที่เป็นแบบสะสมมูลค่าแทน

ตัวอย่างเช่น ตั้งใจจะซื้อกองทุนรวมเดือนละ 5,000 บาท ควรแบ่งเงินออกเป็นสองก้อน ก้อนแรกเอาไปลงทุนในกองทุนความเสี่ยงต่ำ 50% อีกครึ่งหนึ่งเอาไปลงในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงอีก 50%

เมื่อเราทำแบบนี้จะเห็นได้ว่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยงลดอัตราการเกิดเบี้ยหัวแตกได้ในอนาคต และเมื่อเราสะสมกองทุนมาได้สักระยะหนึ่ง ควรที่จะพิจารณาสัดส่วนกองทุนที่เราจัดสรรเอาไว้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตัวอย่างเช่น เราแบ่งสัดส่วนการซื้อกองทุนไว้ที่ความเสี่ยงต่ำ 20% ความเสี่ยงสูง 80% อาจจะขายกองทุนความเสี่ยงสูงออก และมาซื้อกองทุนความเสี่ยงต่ำแทนเมื่อภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนั้นมีแนวโน้มไม่ค่อยดี
 
การส่งมอบเงินขวัญถุงให้กับลูกหลาน

3. ส่งมอบเงินขวัญถุงให้กับลูกหลาน

ผู้ปกครองหลายคนอาจจะเป็นกังวลเรื่องการส่งมอบเงินขวัญถุงให้กับบุตรหลาน และคิดไม่ตกว่าจะทำยังไงดีไม่ให้บุตรหลานเอาเงินก้อนนี้ไปใช้จนหมดแบบที่ไม่มีการวางแผนการเงิน แต่ก็ต้องเริ่มจากการที่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังบุตรหลานเรื่องการเงินตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อบุตรหลานโตพอที่จะตัดสินใจเรื่องการเงินเองได้แล้วนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะว่าจะส่งมอบให้บุตรหลานได้เป็น “เจ้าของ” และมี “อำนาจในเงิน” ก้อนนั้นเมื่อไหร่

ณ จุดนี้แล้วถ้าหากบุตรหลานของเรานั้นมีพื้นฐานเรื่องการวางแผนการเงินมาบ้างแล้ว จากที่พวกเขาอาจจะขาย และนำเงินมาใช้ ในทางกลับกันพวกเขาอาจจะอยากลงทุนเพิ่มเพื่อให้เงินงอกเงยให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดที่เราผู้ปกครองเองที่จะต้องสนับสนุนให้พวกเขาได้ลงทุนเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ให้เงินตั้งต้นแก่พวกเขาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินส่วนที่สองที่เราให้เป็นเงินตั้งต้นก้อนที่สองอาจจะแยกบัญชีกันกับก้อนแรกที่เราได้ลงทุนไปให้เขา และก้อนที่สองลองให้บุตรหลานของเรานำไปลงทุนให้เกิดเป็นเงินงอกเงยขึ้นมา ถ้าเป็นในลักษณะนี้จะยิ่งสร้างความภาคภูมิใจในตัวบุตรหลานของเราเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาได้เห็นถึงเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่เขานำเงินไปลงทุนเอง
 
การซื้อประกันตลอดชีพเพื่ออนาคตของลูกจากเงินขวัญถุง

4. ประกันตลอดชีพเพื่ออนาคต

การทำประกันตลอดชีพถือว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ดีไม่น้อยกว่ากันเลยถึงแม้ว่าเบี้ยจะไม่สูงมากแต่ความครอบคลุมรับรองได้ว่าถึงลูกหลานแน่นอน เช่น ถ้าหากผู้ปกครองวัย 30 ต้น ๆ อยากที่จะสร้างหลักประกันให้กับลูกไว้เป็นเงิน 5 แสนบาท และส่งเบี้ยประมาณ 7 ปี ซึ่งจะต้องจ่ายเบี้ยประกันประมาณปีละ 3 หมื่นบาท เมื่อส่งครบกำหนด 7 ปีแล้วเงินที่จะได้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท แต่ถ้าหากเกิดกรณีฉุกเฉินโชคไม่ดีขึ้นมาเกิดเป็นอะไรไปก่อนลูกก็จะได้เงินประกันนั้นไปเลยประมาณ 5 แสนบาท ดังนั้น ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่ได้สูงมากเท่าไหร่ แต่ความคุ้มครองดีถึงลูกแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัวว่าสะดวกที่จะส่งเบี้ยประกันไหวเท่าไหร่

แต่สำหรับผู้ปกครองท่านใดที่ลงทุนก็อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มในเรื่องของสภาพคล่องไว้ด้วย ถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นที่ต้องใช้เงินขึ้นมา ณ ตอนนั้นเราสามารถที่จะขายกองทุนเพื่อที่จะนำเงินตรงนี้ไปเป็นสภาพคล่องของเราได้ทันที

เชื่อว่าทุกคนในที่นี้ย่อมรัก และอยากที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลานของตนเอง ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ปกครองว่าจะเตรียมรากฐานการเงินที่มั่นคงให้กับบุตรหลานของเราดีแค่ไหน เพราะสิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงความรักอีกรูปแบบหนึ่งแต่เป็นแบบรูปธรรมจับต้องได้นั่นเอง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา