เทคนิคลดหย่อนภาษี สร้างเงินเพิ่มด้วยการหมุนเงินลงทุน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เทคนิคลดหย่อนภาษี สร้างเงินเพิ่มด้วยการหมุนเงินลงทุน

icon-access-time Posted On 19 ธันวาคม 2559
By Maibat
ผมอยากบอกคุณว่า อย่าลืมใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกันนะครับ เพราะรายการต่าง ๆ ที่รัฐออกมาล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวคุณเอง ผมคิดว่า เป้าหมายหลักรัฐต้องการให้คนไทยออมเงินระยะยาวเป็น เกษียณไปจะได้ไม่ลำบาก เป้าหมายรอง คือ เพื่อให้รู้จักการลงทุน ผันเงินออมให้เป็นเงินลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยลดปัญหาการเงินระดับประเทศ ผู้สูงอายุมีเงินใช้ยามชราแบบพึ่งตนเองหรือถึงขั้นมีเงินใช้อย่างมั่งคั่งและมั่นคง
คนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีควรพยายามหาลู่ทางลดหย่อนภาษีให้มาก เพราะถือเป็นการลงทุนได้ประโยชน์ถึง 3 ต่อเลยนะครับ ต่อที่ 1 ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ต่อที่ 2 ได้สิทธิลดหย่อนภาษี และต่อที่ 3 ได้ประสบการณ์ในการลงทุน ครั้งนี้ผมจะขอกล่าวถึงรายการลดหย่อนภาษีตัวหลัก ๆ และเรียงลำดับจากรายการที่หมุนเงินลงทุนได้ง่ายไปหายาก เพราะเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่มีเรื่องต้องใช้เงินตลอดเวลาไม่อยากผูกมัดนาน และหลายคนต้องการใช้เงินก้อนเดิมมาลงทุนซ้ำเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอีก ตัวอย่างเช่น
ลงทุนกองทุน LTF 100,000 บาท และอัตราภาษีอยู่ที่ 20% จึงได้รับภาษีคืน 20,000 บาท พอครบกำหนดขายได้ปรากฏว่ามูลค่าเพิ่มจาก 100,000 บาท เป็น 180,000 บาท ก็ทำการขายคืน ได้รับเงินรวมกับภาษีคืนเท่ากับ 200,000 บาท หลังจากนั้นก็นำเงิน 200,000 บาท มาลงทุนกองทุน LTF อีกรอบจึงได้รับภาษีเงินคืน 40,000 บาท พอครบกำหนดขายมูลค่าเพิ่มเป็น 220,000 บาท ก็ทำการขายคืน ได้รับเงินรวมกับภาษีคืนเท่ากับ 260,000 บาท
ขั้นตอนต่อไปมาดูกันครับว่า รายการลดหย่อนภาษีที่ผมแนะนำมีอะไรบ้าง

1. เครดิตภาษีหุ้นปันผล



รู้ไหมครับว่า เงินปันผลจากหุ้นนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เพราะหากนำมายื่นคำนวณภาษีเงินได้ส่วนบุคคลจะกลายเป็นเสียภาษีซ้ำซ้อนระหว่างภาษีนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา รัฐจึงเปิดโอกาสให้ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลในรูปสิทธิลดหย่อนภาษีนั่นเอง (คุณเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิหรือไม่) ตัวอย่างเช่น
 
ถือหุ้น ABC 20,000 หุ้น จ่ายเงินปันผล 1 บาทต่อหุ้น สามารถเครดิตภาษีได้ 20% เท่ากับขอคืนภาษีได้ประมาณ 20,000 x 1 x 20% / (100% - 20%) = 5,000 บาท ทั้งนี้จำนวนปีถือครองขั้นต่ำไม่มีการผูกมัด ขอเพียงถือหุ้นจนถึงวันประกาศจ่ายปันผลขึ้นเครื่องหมาย XD ครับ
 


2. กองทุน LTF




กองทุนนี้เน้นลงทุนในหุ้นไม่น้อยว่า 65% ของมูลค่าเงินลงทุน หมายความว่าเงิน 100 บาท ที่ซื้อกองทุน LTF จะนำไปลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65 บาทตลอดเวลา โดยซื้อกองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี เช่น
 
รายได้ทั้งปี 1 ล้านบาท อัตราภาษีอยู่ที่ 20% ดังนั้นลงทุนได้ไม่เกิน 1,000,000 x 15% = 150,000 บาท เท่ากับขอคืนภาษีได้ 150,000 x 20% = 30,000 บาท ทั้งนี้จำนวนปีถือครองต้องไม่ต่ำกว่า 7 ปีปฏิทิน หมายความว่านับปีเป็นหลักไม่สนวันและเดือน เช่น ลงทุน 31 ธ.ค. 2559 - 1 ม.ค. 2565 ก็ถือว่าครบตามเงื่อนไขแล้ว
 
 

3. ประกันชีวิต



ประกันชีวิตสำหรับผมถือว่าเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยนำค่าเบี้ยมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และสามารถเลือกระยะเวลาชำระค่าเบี้ยกับระยะเวลาคุ้มครอง เช่น
 
ประกันชีวิต 15/8 คือ ชำระค่าเบี้ย 8 ปี คุ้มครอง 15 ปี ทั้งนี้จำนวนปีคุ้มครองอย่างน้อย 10 ปีที่จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
 


4. ดอกเบี้ยกู้บ้าน

 


บ้านอยู่อาศัยเองและเก็บไว้ลงทุนที่กู้กับธนาคารสามารถนำดอกเบี้ยกู้บ้านที่จ่ายไปแล้วจริงมาลดหย่อนได้ โดยนำดอกเบี้ยกู้บ้านมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เช่น
 
ซื้อคอนโด 3 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารทั้งปี 150,000 บาท อัตราภาษีอยู่ที่ 20% นำไปลดหย่อนได้ 100,000 บาท เท่ากับขอคืนภาษีได้ 100,000 x 20% = 20,000 บาท ทั้งนี้จำนวนปีถือครองค่อนข้างยาวนาน เพราะราคาบ้านเป็นหลักล้านต้องใช้เวลา สัญญากู้บ้านที่ทำมักจะ 30 ปีแต่ก็ขึ้นอยู่กับอายุผู้กู้ด้วย
 
 

5. กองทุน RMF



กองทุนนี้สามารถเลือกรูปแบบการลงทุนที่ชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ โดยยอดซื้อกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันบำนาญ รวมกันมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี เช่น
 
รายได้ทั้งปี 1 ล้านบาท ฐานภาษีอยู่ที่อัตรา 20% มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 50,000 บาท แต่ไม่มีประกันบำนาญ ดังนั้นลงทุนได้ไม่เกิน 1,000,000 x 15% - 50,000 = 100,000 บาท เท่ากับขอคืนภาษีได้ 100,000 x 20% = 20,000 บาท ทั้งนี้จำนวนปีถือครองต้องให้ถึงอายุครบ 55 ปี และลงทุนขั้นต่ำสุดอย่างน้อยปีเว้นปี โดยปีที่ลงทุนต้องมียอดซื้อกองทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาทนะครับ
ผมขอฝากรายการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ไว้พิจารณาให้เหมาะสมกับตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกรายการแต่มีหลายรายการหน่อยก็ดีครับ เพราะแสดงว่า เราได้พยายามใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่แล้ว
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา