เงินปันผล VS หุ้นปันผล แบบไหนดี เลือกได้ให้เหมาะกับคุณ

เงินปันผล VS หุ้นปันผล แบบไหนดี เลือกได้ให้เหมาะกับคุณ

By Krungsri Guru
เมื่อธุรกิจสามารถทำรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกำไรสะสม บริษัทมักจะมีนโยบายการจ่ายปันผลหุ้นเพื่อเป็นการแบ่งกำไรกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้น การจ่ายปันผลหุ้นสามารถจ่ายเป็นลักษณะของเงินปันผลหรืออาจจะจ่ายเป็นหุ้นปันผลก็ได้ วันนี้ เรามาดูกันครับว่า การจ่ายปันผลหุ้นแต่ละแบบมีข้อดีอย่างไร

การจ่ายปันผลของหุ้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ

1. การจ่ายเป็นเงินปันผล คืออะไร?

สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ธุรกิจค่อนข้างจะอยู่ตัวและไม่ได้มีโครงการใหญ่ ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก หลายบริษัทมักจะจ่ายปันผลหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินปันผล เช่น ประกาศอัตราการจ่ายปันผลหุ้น 0.50 บาทต่อหุ้น หากเรามี 10,000 หุ้นก็หมายความว่า เราจะได้รับเงินปันผล 5,000 บาท แต่เงินปันผลนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือเท่ากับว่า เราจะได้รับเงินเข้าบัญชี 4,500 บาท อย่างไรก็ตาม เงินปันผลที่ถูกหักภาษีนี้สามารถนำไปขอคืนภาษีได้ครับ

หนึ่งในข้อดีของการถือหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ คือ นับว่าเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดแบบ Passive income ได้ทางหนึ่งเลย

2. การจ่ายปันผลเป็นหุ้น คืออะไร?

หุ้นปันผล จะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในบริษัท ทว่ามูลค่ารวมของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จึงส่งผลให้มูลค่าต่อหุ้นลดลงหรือที่เรียกว่า Dilution effect ทั้งนี้ ในด้านของผู้ถือหน่วยลงทุน ถึงแม้ว่ามูลค่าต่อหุ้นจะลดลง แต่ก็ได้รับการชดเชยด้วยจำนวนหุ้นปันผลที่ได้รับเพิ่มขึ้น จึงทำให้มูลค่ารวมยังคงเท่าเดิม

โดยหากมองถึงข้อดีในภาพรวมแล้ว จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นในตลาดเป็นการเสริมสภาพคล่องสำหรับบริษัทที่มีหุ้นน้อยได้ทางหนึ่ง ส่วนใหญ่ การจ่ายปันผลเป็นหุ้นจะจ่ายร่วมกับเงินปันผล เช่น

จ่ายหุ้นปันผลด้วยอัตราส่วน 8 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผลและจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.0125 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากเราถือหุ้น 10,000 หน่วย ก็จะได้รับหุ้นปันผลเพิ่ม 1,250 หน่วย รวมเป็น 11,250 หน่วย และได้รับเงินปันผล 125 บาท โดยการปันผลก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่นเดียวกัน ซึ่งทั่วไปแล้ว หลังการจ่ายปันผลหุ้น ราคาหุ้นจะลดลงเนื่องจาก Dilution effect ดังที่กล่าวข้างต้น แต่หลายครั้งที่ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Fair value) เช่น หากราคาตลาดหลังการจ่ายปันผลหุ้นสูงกว่า Fair value ก็นับเป็นโอกาสที่จะขายทำกำไรได้ครับ

ทั้งนี้ การจ่ายปันผลเป็นหุ้นนับได้ว่าเป็นการให้ทางเลือกกับผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะเก็บหุ้นไว้เพื่อรอให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปตามการเจริญเติบโตของบริษัทหรือจะนำหุ้นปันผลไปขายเพื่อรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทเอง การจ่ายปันผลเป็นหุ้นบางส่วนจะทำให้มูลค่าธุรกิจคงเหลือสูงกว่าการจ่ายปันผลเป็นเงินสดทั้งหมดและธุรกิจยังมีเงินสดเหลือสำหรับการนำไปใช้หมุนเวียนได้อีกด้วย ทั้งยังเป็นการประหยัดเงินภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อเทียบกับการจ่ายปันผลทั้งหมดเป็นเงินสด

ในแง่ของราคาหุ้นในตลาดกับการจ่ายปันผลหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายปันผลเป็นเงินหรือเป็นหุ้น ในช่วงใกล้ประกาศเงินปันผลจนก่อนถึงวัน XD ราคาหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีนักลงทุนที่เข้าซื้อเพื่อต้องการรับปันผลและราคาหุ้นมักจะปรับลดลงตามมูลค่าของการปันผลนับจากวัน XD เพราะผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิในการรับเงินปันผลไปแล้ว จึงสามารถขายหุ้นออกเพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นต่อไป โดยราคาหุ้นหลัง XD ควรจะสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นหลังการจ่ายปันผล

การตัดสินใจว่าจะเลือกจ่ายปันผลเป็นเงินหรือจ่ายเป็นหุ้นจะดีกว่ากันนั้น อาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น การประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัทหรือการที่ผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิ์ที่จะถือหุ้นปันผลหรือจะขายเป็นเงิน ทั้งนี้ นักลงทุนระยะยาว อาจจะชอบการปันผลเป็นหุ้น เพราะสามารถถือหุ้นไปยาว ๆ เพื่อรับผลตอบแทนจากการเจริญเติบโตของธุรกิจ ในขณะที่หุ้นที่จ่ายเป็นเงินปันผลจะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างแหล่งกระแสเงินสดครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow