ชวนออม...ออมไว้ในหุ้น แบบลงมือทำจริง
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ชวนออม...ออมไว้ในหุ้น แบบลงมือทำจริง

icon-access-time Posted On 23 มีนาคม 2565
นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์

ในสมัยก่อน ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่สอนว่า “อยากมีรายได้พอประมาณอย่างสม่ำเสมอให้ไปเป็นลูกจ้าง แต่ถ้าอยากร่ำรวยแต่รายได้ไม่สม่ำเสมอให้ไปทำการค้า” ตอนนั้นผมก็เคยแอบคิดนะครับ ว่าแล้วถ้าอยากได้ข้อดีทั้ง 2 อย่าง คือ รายได้สม่ำเสมอด้วย และร่ำรวยด้วย มันเป็นไปได้ไหม


หลังจากใช้ชีวิตและทำงานมานานปี ก็พบว่ามันพอมีความเป็นไปได้จริง ๆ ที่คนเราจะสามารถมีรายได้สูงแบบสม่ำเสมอ และร่ำรวยได้ เช่น
  • ลูกจ้างระดับผู้บริหาร เงินเดือนหลายแสนบาท ทำงานได้นาน มีบริษัทจ้างถึงวัยเกษียณ
  • ฟรีแลนซ์มืออาชีพ มีฐานลูกค้าแน่น รายได้เดือนละหลายแสนบาท มีทักษะที่หาผู้ใดทดแทนได้ยาก เช่น แพทย์ผู้ชำนาญการ ทนายความมือฉมัง นักออกแบบมือรางวัล หรือโปรแกรมเมอร์มือทอง
  • เจ้าของกิจการ กำไรเดือนละหลายแสนบาท ธุรกิจมั่นคงมาก อาจจะเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าเฉพาะทาง อพาร์ทเม้นท์ในทำเลที่มีผู้เช่าเต็ม หรือร้านขายสินค้าแบบซื้อมาขายไปที่กำไรดี

อย่างไรก็ตาม ทั้งลูกจ้างระดับผู้บริหาร ฟรีแลนซ์มืออาชีพ และเจ้าของกิจการ ในยุคสมัยนี้เริ่มพบอุปสรรคจากโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เทรนด์การจ้างงานถึงวัยเกษียณที่ลดลง คลื่นลูกใหม่ฟรีแลนซ์ที่ทำให้การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งดิสรัปชั่นที่ท้าทายความยั่งยืนของเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้ ทั้ง 3 อาชีพทำเงินที่กล่าวมา ล้วนพึ่งพา “ตัวบุคคล” ที่จะต้องรักษาความสามารถและชื่อเสียงในระดับสูง อีกทั้งยังต้องทำงานตลอดเวลา ซึ่งเป็นต้นธารของรายได้ทั้งสิ้น นี่คือรายได้ชนิด Active Income แปลว่า ต้องแอคทีฟก่อนจึงจะมีรายได้ (income) โดยเอาแรงกาย ทักษะ และเวลาชีวิตไปแลกมา

ในโลกการเงินยุคปัจจุบัน เราจะเริ่มได้ยินคำว่า “Passive Income” คือรายได้ที่เป็นเงินไหล ได้รับรายได้โดยใช้แรงหรือเวลาน้อยมาก (แทบไม่ต้องออกแรงแอคทีฟ) คำถามใหญ่คือ เอาอะไรไปแลก… เพื่อให้ตอบโจทย์ “รายได้สม่ำเสมอด้วย และร่ำรวยด้วย”

นี่คือที่มาของ หลักการ “ออมในสินทรัพย์เพิ่มค่า” ตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อให้วันหนึ่ง เงินออมจะทำงานแทนเรา และจะดีเยี่ยมหากสินทรัพย์นั้น นอกจากเพิ่มค่าในระยะยาวแล้ว ยังสามารถจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินปันผลเป็นเงินไหล คล้ายห่านทองคำที่ออกไข่ทองคำออกมาเลี้ยงดูเราได้อีก ฟังดูดีมาก ทุกคนอยากได้ แต่ไม่ใช่อยากได้แล้วจะได้ทันทีครับ นี่คือเรื่องที่ใช้เงินลงทุน วินัย และระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานพอสมควร

passive income

หนึ่งในสินทรัพย์เพิ่มค่า ที่เหมาะในการออมระยะยาวที่สุดคือ “หุ้น” ซึ่งก็คือส่วนของกิจการนั่นเอง หุ้นที่จะเพิ่มค่าได้ระยะยาวและจ่ายปันผลได้งาม ก็ต้องเป็นหุ้นเติบโตหรือหุ้นแข็งแกร่งที่สามารถมีรายได้ และกำไรเพิ่มขึ้นพร้อมกับการจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว นี่คือการมองการลงทุนในหุ้น เป็นการ “สะสมความมั่งคั่ง” เพื่อสร้างฐานะ สร้างเครื่องจักรผลิตเงินสดด้วยพอร์ตการลงทุน ให้เติบโตระยะยาวด้วยหุ้น แทนที่จะเป็นการไปซื้อ ๆ ขาย ๆ กินกำไรคำเล็ก หรือเก็งกำไรในระยะสั้น นั่นเอง

ผมคิดว่า การออมในหุ้น เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้คนในยุคนี้ควรศึกษา และพิจารณา เพราะเราไม่มีทางเลือกในการนำเงินออมไปฝากธนาคารเพื่อกินดอก 10% แบบรุ่นพ่อแม่อีกต่อไปแล้ว เราอยู่ในยุคที่ดอกเบี้ยธนาคารไม่เกิน 1% หรือแม้แต่หุ้นกู้เอกชนอายุ 2 ปี ยังให้ผลตอบแทนเพียง 2-3% เท่านั้น คำถามใหญ่คือ ถ้าเราอยากเริ่มต้นออมไว้ในหุ้น แบบลงมือทำจริง ต้องรู้อะไรบ้าง?

1. ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การออมหุ้น ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการ
  1. จำนวนเงินออมที่เติมทุกเดือน ใส่เงินออมหุ้นแต่ละเดือนมากกว่า...พอร์ตโตไวกว่า
  2. ระยะเวลาที่ออม ระยะเวลาที่ออมยาวนานกว่า...พอร์ตจะโตกว่า
  3. ฝีมือการเลือกหุ้น และปรับพอร์ต ฝีมือการเลือกหุ้น และปรับพอร์ตได้อย่างถูกต้อง เปลี่ยนหุ้นด้อยออก ซื้อหุ้นดีเข้า คือหุ้นที่มีรายได้และกำไรโตในระยะยาวได้มากกว่า...พอร์ตการลงทุนจะโตกว่า

2. ออมหุ้น... คือ “หุ้น” อะไร?
ผมขออธิบายหลักการ ออมในหุ้น มาจากคำว่า ออมในสินทรัพย์เพิ่มค่า ซึ่งหุ้นเป็นหนึ่งในนั้น เพราะหุ้นเป็นสินทรัพย์เพิ่มค่า ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แม้จะผันผวนได้มากในระยะสั้นก็ตาม ซึ่งจักรวาลของคำว่า “หุ้น” ที่นำมาใช้ออม ขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละท่าน ว่าจะเลือกใช้อะไร เช่น
สินทรัพย์เพิ่มค่า ตัวอย่าง
หุ้นรายตัว หุ้นไทย หุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นอเมริกา หุ้นเทคโนโลยี ฯลฯ
กองทุนหุ้นแบบประหยัดภาษี กองทุน SSF กองทุน RMF แบบที่ลงทุนในหุ้น
กองทุนหุ้นอิงดัชนี Index Fund กองทุน SET50 กองทุน China CSI300 กองทุนอิงดัชนี S&P500 กองทุนอิงดัชนี NASDAQ ฯลฯ
กองทุนหุ้น Active Fund ที่ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกหุ้นสร้างพอร์ตในกองทุนตามธีมที่กำหนดได้ เช่น กองทุนเฮลธ์แคร์ กองทุนChina Technology กองทุน Blockchain กองทุน Gaming กองทุนClean Energy ฯลฯ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการลงทุนทุกเดือนโดยหักจากเงินเดือนพนักงาน ซึ่งหากเลือกลงทุนสัดส่วนหนึ่งไว้ในกองทุนรวมหุ้นในนโยบายการลงทุน ก็จัดเป็นการออมหุ้นแบบหนึ่ง
โดยสรุป ไม่ว่าจะเป็นการออมหุ้นรายตัว หรือกองทุนรวมหุ้นชนิดใดก็ตาม หากสินทรัพย์ไส้ในกองเป็นหุ้น ก็นับเป็นการออมหุ้นได้ทุกกรณี

3. วิธีการ “ออมหุ้น”
การออมหุ้น คือแนวทางที่เน้นให้นักลงทุนสะสมหุ้นเพิ่มเข้าไปเรื่อย ๆ ซื้อเพิ่มทางเดียว เหมือนการออมเงินที่ฝากเงินเข้าบัญชีเข้าไปเรื่อย ๆ ทางเดียว แบบไม่ถอนออกมานั่นเอง
  1. นักลงทุนบางท่านอาจใช้วิธีจับจังหวะซื้อหุ้นเพื่อออม เฉพาะตอนราคาถูกเท่านั้น โดยใช้การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน มีการวัดมูลค่าหุ้น หรืออาจวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิค ก็สามารถทำได้
  2. นักลงทุนบางท่านอาจใช้วิธีซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยกำหนดวงเงินซื้อต่อครั้งชัดเจน และมีรอบระยะเวลาชัดเจน เช่น รายเดือน หรือรายสัปดาห์ ที่เราเรียกว่าวิธี Dollar Cost Averaging (DCA) ซึ่งเป็นการออมหุ้นโดยไม่สนใจภาวะตลาด ในช่วงที่ตลาดแพงจะซื้อหุ้นได้จำนวนน้อยลง ในช่วงที่ตลาดถูกจะซื้อหุ้นได้จำนวนมากขึ้น โดยอัตโนมัติ
asset management

4. รู้จักกระจายความเสี่ยง
ระหว่างทางของการลงทุนออมหุ้นที่กินระยะเวลายาวนานเกิน 15 ปี ย่อมมีช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นและลง ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น เราจะเจอกับช่วงที่ดีเป็นฟองสบู่ และช่วงที่แย่เป็นวิกฤตอย่างแน่นอน ซึ่งนักลงทุนออมหุ้นก็ควรจะต้องสะสมหุ้นต่อไปทั้งในยามดี และร้าย

แม้ว่าหุ้นที่เราเลือกมาเพื่อออมหุ้น จะเป็นหุ้นที่เราวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วว่า เป็นหุ้นเติบโตหรือหุ้นแข็งแกร่ง ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเยี่ยมก็ตาม แต่การซื้อสะสมเข้าไปเรื่อย ๆ ในหุ้นเพียง “ตัวเดียว” โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยงเลย นับเป็นสิ่งที่อันตรายเช่นกัน การออมในหุ้น ควรมีการกระจายความเสี่ยงบ้าง เช่น กระจายในหุ้นประมาณ 5-7 ตัว และแต่ละตัวมาจากอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าเราชอบธนาคาร จึงเลือกออมหุ้นแบงก์ทั้ง 5 ตัว แบบนี้ไม่ได้ ไม่ใช่การกระจายความเสี่ยงที่ดี เราอาจเลือกหุ้นแบงก์ หุ้นพลังงาน หุ้นสื่อสาร หุ้นค้าปลีก หุ้นขนส่ง หุ้นท่องเที่ยว และหุ้นการแพทย์ มาอย่างละหนึ่งตัว เพื่อสร้างเป็นพอร์ตออมหุ้น

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ออมหุ้น ใช้วิธีการออมกองทุนรวม ถือว่าไส้ในของกองทุนหุ้นมีการกระจายความเสี่ยงให้ระดับหนึ่งแล้ว เช่น SET50 กระจายลงทุนในหุ้นใหญ่ของไทย 50 ตัว เป็นต้น หากต้องการกระจายในรูปแบบกองหุ้นไทย กองหุ้นจีน กองหุ้นเทคฯ และอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็นพอร์ต ก็สามารถทำได้เช่นกัน

5. ตัวอย่างการสร้างพอร์ตออมหุ้น ด้วยหุ้นไทยรายตัว
หลักการเลือกหุ้นเพื่อออม ไม่ต่างจากการเลือกหุ้นเพื่อลงทุน เราต้องเลือกหุ้นที่มั่นใจได้ว่า มี Growth Story (เรื่องราวของการเติบโต) มีผู้บริหารที่เก่ง และเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมนั้น ๆ จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น
  • ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก ห้างขายวัสดุ ...การขยายสาขา คือ รายได้เพิ่ม การเพิ่มยอดขายในสาขาเดิม ก็คือรายได้เพิ่ม
  • โรงพยาบาล...ขยายสาขา คือรายได้เพิ่ม การเทคโอเวอร์โรงพยาบาลอื่นก็เป็นการสร้าง Economy of Scale ก็คือลดต้นทุนและสร้างกำไรเพิ่ม การขึ้นราคาค่ารักษา รักษาโรคซับซ้อนได้เก่งขึ้น ก็คือรายได้เพิ่ม
  • ขนส่ง...โครงการรถไฟฟ้าขยายเส้นทางมากขึ้น มีโครงการใหม่ ๆ เปิดเพิ่ม ขยายเส้นทางไปได้ไกลขึ้น ก็คือการเพิ่มราคาเฉลี่ยตั๋วโดยสารต่อเที่ยว และเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในระบบ ก็คือรายได้เพิ่ม
  • ท่องเที่ยว...มีคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ก็ทำให้สนามบินมีรายได้เพิ่ม ธุรกิจโรงแรมมีรายได้เพิ่ม ธุรกิจบริการที่เน้นนักท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

เลือกเอาหุ้น “ที่หนึ่งหรือที่สอง” ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม มาสร้างเป็นพอร์ตการลงทุน แล้วแจ้งต่อบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ว่า เราจะออมหุ้นเดือนละกี่บาท ออมหุ้นอะไรบ้าง ตัวละกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต เช่น ออมหุ้น 5 ตัว ลงทุนตัวละ 20 % ของเงินออมรายเดือน ด้วยเงินลงทุนเดือนละ 20,000 บาท เป็นต้น โบรกเกอร์จะตัดเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของเราทุกเดือน เพื่อออมหุ้นตามแผนที่เรากำหนดไว้

passive income

6. ความเสี่ยงและข้อควรระวัง
  • ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง แม้แต่การลงทุนระยะยาว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องประสบผลสำเร็จในทุกกรณี ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการออมหุ้นระยะยาว คือ หุ้น หรือกองทุนหุ้นที่เราเลือก จะต้องเติบโตและให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
  • การลงทุนระยะยาวกับหุ้นด้อยคุณภาพ ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ... ยิ่งออม ยิ่งถัว เงินลงทุนของเราจะยิ่งจมหาย การทำ stock selection จึงสำคัญที่สุด ดีที่สุดคือเลือกให้ถูกตั้งแต่ครั้งแรก ดีรองลงมาคือการปรับพอร์ตเมื่อเลือกผิดตัว
  • การทยอยซื้อออมหุ้นทางเดียว ควรดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการรีวิวรายชื่อหุ้นในพอร์ตปีละครั้ง ว่าหุ้นทุกตัวยังมีแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่ดีอยู่หรือไม่ หากมีหุ้นตัวไหนไม่ดี พื้นฐานเปลี่ยน หรือพบตัวที่ดีกว่า เราสามารถเปลี่ยนตัวหุ้นลงทุนได้ เหมือนผู้จัดการทีมฟุตบอลขอเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่ฟอร์มไม่ดีออก แล้วเอาผู้เล่นฟอร์มสดลงไปเล่นแทน เพื่อพัฒนาภาพรวมของเกมให้ดูดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • ในยามตลาดขาขึ้น พอร์ตออมหุ้นจะเขียวสดใส แต่ในยามตลาดขาลง พอร์ตออมหุ้นส่วนใหญ่จะแดงช้ำ ลองนึกถึงเหตุการณ์โควิดในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 2563 ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงจาก 1,650 จุด ลงมาต่ำสุดที่ 977 จุดเท่านั้น นี่คือจุดวัดใจของนักลงทุนว่า ยังสามารถออมหุ้นต่อไปได้ตามวินัยหรือไม่ หรือจะตกใจกลัวแล้วขายล้างพอร์ตที่จุดไม่น่าขายที่สุด ทั้งที่ทำมาดี ๆ เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งในตลาดช่วงวิกฤตทุกครั้งสอนเราว่า การขายล้างพอร์ตช่วงวิกฤตเป็นความคิดที่แย่เสมอ เพราะที่สุดแล้วตลาดหุ้นจะกลับมาได้ เพียงแต่ต้องให้เวลา
  • หากนักลงทุนไม่มั่นใจว่าเลือกหุ้นเป็นหรือไม่ ปรับพอร์ตถูกต้องตามสถานการณ์หรือไม่ แนะนำให้ออมกองทุนประหยัดภาษีดีที่สุด ได้ทั้งการออมและลดหย่อนภาษีได้ด้วย หรืออาจเป็นกองทุนรวมที่เน้นการเติบโตที่น่าสนใจก็ได้เช่นกัน

นี่คือการออมไว้ในหุ้น แบบลงมือทำจริง ออมเงินทุกเดือน ในรูปแบบของหุ้น ปรับพอร์ตทุกปีเพื่อให้รายชื่อหุ้นในพอร์ตเป็นชุดผู้เล่นที่ดีที่สุด ถ้าเรามีรายได้เพิ่ม มีเงินเดือนเพิ่ม ก็ควรออมเพิ่มขึ้น หัวใจสำคัญคือ การออมไปเรื่อย ๆ ระยะยาว ในสินทรัพย์เพิ่มค่า เพื่อให้พอร์ตการลงทุนเติบใหญ่ที่สุด และสร้างกระแสเงินสดจากเงินปันผล เป็น Passive Income ให้กับเราได้ในที่สุด
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา