จิตวิทยานักลงทุนที่ต้องมี หากจะเริ่มลงทุนกองทุนระยะยาว
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

จิตวิทยานักลงทุนที่ต้องมี หากจะเริ่มลงทุนกองทุนระยะยาว

icon-access-time Posted On 27 กันยายน 2566
By Krungsri The COACH
จิตวิทยากับการลงทุนระยะยาวมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก นักลงทุนหลายคนอาจจะคาดไม่ถึงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ ที่คิดว่าการลงทุนคืองานสบาย ได้ผลตอบแทนสูง ไม่ต้องออกไปทำงานให้เหนื่อย ที่คุณคิดเช่นนี้เพราะคุณตัดสินจากภาพของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จว่าพวกเขามีชีวิตที่ดีเพียงใด ซึ่งชุดความคิดนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิทยาด้วยเช่นกัน เพราะมนุษย์เรามักจะเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่นเสมอ ดังนั้นในบทความนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนทุกคนได้เข้าใจว่า เรื่องของจิตวิทยาก็ช่วยให้การลงทุนประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

จิตวิทยาการลงทุนคืออะไร เส้นทางสำคัญสู่การลงทุนระยะยาว

เราลองคิดถึงความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการลงทุนระยะยาวกับจิตวิทยาการลงทุน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่เพิ่งเริ่มต้นฝึกการเป็นนักลงทุน และคุณได้รับข้อมูลชุดแรกมาว่า กองทุนระยะยาวอย่าง RMF จะต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี และต้องมีอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนเพื่อนำเงินมาใช้ได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คุณจะคิด คือ ระยะเวลายาวนานเกินไป และตามมาด้วยคำถามอีกมากมาย นั่นเป็นเพราะคุณใช้ความรู้สึกตัดสินข้อมูลที่ได้รับไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดและไตร่ตรองถึงเหตุและผลต่าง ๆ

แต่เมื่อคุณได้ศึกษาลงไปถึงนโยบายการลงทุน และวัตถุประสงค์ของกองทุนว่า เป็นไปเพื่อสนับสนุนการออมเงิน สำหรับใช้ยามเกษียณ อีกทั้งยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ความคิดของคุณจะเปลี่ยนทันที จากความคิดว่ายาวนานเกินไป จะกลายเป็นน่าสนใจ และเหมาะที่จะใช้สำหรับวางแผนการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ นั่นเป็นเพราะเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น คุณจะตอบตัวเองได้ทันทีว่า การลงทุนนี้เหมาะกับคุณหรือไม่ และควรเตรียมตัวเพื่อการลงทุนนี้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ การเริ่มต้นเป็นนักลงทุนจึงต้องมีความเชื่อมโยงกับจิตวิทยาการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนรู้จักและเข้าใจจิตใจของตัวเองอย่างถ่องแท้

และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ ยังมีนักลงทุนบางกลุ่มที่อยู่ในโลกของการลงทุนมานาน แต่กลับไม่เข้าใจจิตวิทยานักลงทุน และตีความหมายไปว่าเป็น “พฤติกรรมการลงทุน” ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะเคยสังเกตไหมว่า ปัจจุบันเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนมากมายที่เราจะสามารถค้นหาเทคนิคการเก็งกำไรเจ๋ง ๆ ได้ง่าย ๆ เพียงแค่เชื่อมต่ออุปกรณ์กับอินเทอร์เน็ต แต่เหตุใดยังมีนักลงทุนมากมายที่ล้มเหลวจากการลงทุน นั่นเป็นเพราะความรู้รอบตัวเป็นเพียงองค์ประกอบของความสำเร็จ แต่ไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของจิตใจได้นั่นเอง

จึงอาจกล่าวได้ว่าจิตวิทยาการลงทุน คือ เรื่องปัจเจกที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการลงทุนโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับความคิดและจิตวิทยาของนักลงทุนว่า รู้จักตัวเองดีหรือยัง ตอบคำถามตัวเองได้หรือไม่ว่า เพราะเหตุใดจึงคิดจะลงทุน ลงทุนไปเพื่ออะไร และจะจัดสรรเงินส่วนไหนมาลงทุน หากค้นพบคำตอบจากใจตัวเองได้ สิ่งนี้จะส่งผลออกมาทางพฤติกรรมการลงทุนเองว่า คุณจะเป็นนักลงทุนแบบใด

สำคัญมาก จิตวิทยากับการลงทุนระยะยาว เรื่องที่ขาดจากกันไม่ได้

ก่อนอื่นมาเช็กกันก่อนว่า การลงทุนมีอะไรบ้าง ซึ่งการลงทุนนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ การลงทุนระยะสั้น และการลงทุนระยะยาว ดังตัวอย่างต่อไปนี้
 

การลงทุนระยะสั้น

  • หุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น
  • หุ้นกู้แบบระยะสั้น
  • ตราสารหนี้ระยะสั้น
 

การลงทุนระยะยาว

  • หุ้น
  • หุ้นกู้
  • พันธบัตรรัฐบาล
  • อสังหาริมทรัพย์
  • พลังงาน และทองคำ

สำหรับการลงทุนระยะสั้น เราจะได้เห็นบ่อยครั้งว่า มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่มักจะไม่เป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะกับการเทรดหุ้นแบบเก็งกำไรช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อเห็นนักลงทุนคนอื่นเทรดแล้วดี ทำแล้วได้กำไร ส่วนใหญ่ก็จะเลียนแบบไปตาม ๆ กัน สิ่งนี้ไม่ใช่จิตวิทยาการลงทุน แต่เป็นจิตวิทยามวลชน ที่เรามักจะทำอะไรตามผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะตลาดหุ้นมีความคึกคัก ส่วนการเทรดแบบระยะสั้นก็มีความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ถ้านักลงทุนมีจิตวิทยานักลงทุนร่วมด้วย โดยการใช้สติและความรู้ของตัวเองเพื่อวิเคราะห์หาจังหวะการเข้าเก็งกำไร ก็จะมีประโยชน์ไม่น้อย

ส่วนการลงทุนระยะยาว เรามักพบว่า นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ คือนักลงทุนที่เข้าใจความต้องการของตัวเอง มีสมาธิและเชื่อมั่นในความรู้ที่ได้ศึกษามาอย่างละเอียด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราลงทุนด้วยความเชื่อมั่น ความเสี่ยงในการลงทุนจะลดลง โอกาสประสบความสำเร็จจะเพิ่มมากขึ้น

ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จในการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้พฤติกรรมคนอื่น แต่เกี่ยวกับความคิดและจิตวิทยาของนักลงทุนเอง โดยองค์ประกอบของความสำเร็จจะประกอบด้วยความเชื่อมั่น และต้องเข้าใจความต้องการของตัวเอง บวกกับความรู้ที่ค้นหาจากภายนอกรอบตัว นำไปสู่รูปแบบและพฤติกรรมการลงทุนที่ออกแบบได้ว่า ต้องการลงทุนในอะไร และต้องการผลตอบในรูปแบบไหน จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้นักลงทุนมีวิธีการลงทุนที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง
 
จิตวิทยาการลงทุนระยะยาวเพื่อความสำเร็จ

อยากประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว ต้องรู้คุณสมบัติทางจิตวิทยา

ขึ้นชื่อว่าการลงทุนระยะยาวก็บ่งบอกได้แล้วว่า ไม่ใช่ระยะเวลาแค่เดือนเดียวหรือสองเดือนอย่างแน่นอน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการลงทุนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หากนักลงทุนเชื่อมั่นว่า ตัวเองเหมาะสมกับการลงทุนประเภทนี้ จะต้องรู้คุณสมบัติทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้การลงทุนนี้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ
 

1. มีความอดทน

เมื่อเป็นการลงทุนระยะยาว สิ่งที่จะตอบโจทย์ความสำเร็จได้ดีคือ ความอดทน แต่ความอดทนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ศึกษาถึงรายละเอียดของการลงทุนให้เข้าใจ เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า เรากำลังลงทุนกับอะไร ระยะเวลาเท่าไหร่ และผลตอบแทนของการรอคอยเป็นอย่างไร ความอดทนจะเกิดขึ้นกับเราเองจากความเข้าใจ
 

2. มีความรอบรู้ และรอบด้าน

ความรู้เป็นอาวุธที่ดีที่สุดของนักลงทุน แต่การค้นคว้าหาความรู้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่ลงทุนยังไม่พอ ต้องเพิ่มความรอบด้านเข้าไปด้วย อย่างการศึกษาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่ลงทุน และการติดตามข่าวสารจากทั่วโลก เพราะมีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นแล้วมากมาย ทั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง สงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน และสงครามทางค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นอีกฝั่งหนึ่งของโลก แต่ก็ส่งผลกระทบถึงเราได้
 

3. กล้าหาญ มีอิสระทางความคิด

นักลงทุนต้องมีความกล้าหาญที่จะออกจากกรอบที่เป็นกระแสของนักลงทุนส่วนใหญ่ เพราะกระแสที่มีผลทางจิตวิทยามวลชนนี้ จะมีอิทธิพลและครอบงำความคิด ให้เรามีความรู้สึกอยากทำตาม ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้วว่าจิตวิทยานักลงทุนเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่สามารถเลียนแบบกันได้ ดังนั้นถ้าหากต้องการลงทุนตามกระแสจริง ๆ นักลงทุนจะต้องคิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าจะส่งผลลัพธ์ที่ดี และถ้าหากฝึกฝนการวิเคราะห์ด้วยตัวเองจนกลายเป็นนิสัย จะช่วยให้มีอิสระทางความคิดมากขึ้น จนมีแนวทางเป็นของตัวเอง
 

4. มีสมาธิในสิ่งที่ทำ

สติและสมาธิเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เพราะการมีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ทำ โดยเฉพาะกับการลงทุนระยะยาว จะช่วยให้เราสามารถใช้ความคิดได้อย่างไร้ขีดจำกัด อย่าปล่อยให้เรื่องภายนอกมากระทบสมาธิในช่วงเวลาที่กำลังมุ่งมั่นกับการลงทุน และอย่ารับข้อมูลภายนอกเข้ามาโดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบและกลั่นกรองให้ดี

เรื่องที่ต้องศึกษา การลงทุนระยะยาวมีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง

การลงทุนระยะยาวถึงแม้จะเป็นการลงทุนที่นักลงทุนไม่ต้องเคร่งเครียดกับความผันผวนรุนแรงของตลาดแบบรายวัน เหมือนกับการลงทุนระยะสั้นแบบ Day Trade แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุน ก็ไม่ควรประมาท เพราะการลงทุนประเภทนี้ก็มีความเสี่ยงที่ควรระวังเช่นกัน นั่นก็คือการใช้เวลาเพื่อสะสมผลตอบแทนเป็นเวลานาน นักลงทุนจึงต้องมีวินัยในการจัดสรรเงินเป็นอย่างมาก หากใครมีเงินเดือนประจำต้องแบ่งสัดส่วนให้ดี และใครที่มีเงินเก็บก็ควรกันส่วนการลงทุน กับส่วนเงินเก็บแยกออกจากกัน ไม่นำมาปนกัน ไม่เช่นนั้นนักลงทุนอาจพบกับปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินได้

ส่วนในด้านของผลตอบแทน แน่นอนว่าเมื่อนักลงทุนอดทนจนถึงเป้าหมายปลายทางแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับจะมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก อีกทั้งในระหว่างทางของการลงทุนนักลงทุนยังสบายใจได้ว่า ความเสี่ยงในการขาดทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการลงทุนระยะสั้น และสิ่งสำคัญที่ได้รับจากความอดทนจนประสบความสำเร็จ นักลงทุนจะกลายเป็นผู้ที่มีวินัยในการลงทุน สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเป็นสัดส่วน อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีอิสระทางความคิด มีจิตวิทยาการลงทุนที่สามารถออกแบบรูปแบบการลงทุนของตัวเองได้
 
ลงทุนกองทุนระยะยาวกับกรุงศรีอยุธยา

เริ่มต้นลงทุนกองทุนระยะยาวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อความมั่งคั่งในอนาคต

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคัดเลือกกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาว มามอบให้กับนักลงทุนทุกท่าน ที่ต้องการสะสมผลตอบแทนและสร้างความมั่งคั่งในอนาคต โดยกองทุนที่แนะนำได้แก่
 
  1. กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM)
    กองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ PIMCO GIS Income Fund (Class I-Acc) ซึ่งเป็นกองทุนหลัก โดยกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล สามารถเริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำได้ที่ 500 บาท และมีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 5 ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ

  2. กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอร์อโลเคชั่น (KFCORE)
    กองทุนรวมผสมแบบไม่จ่ายเงินปันผล มีนโนบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ BGF ESG Multi-Asset Fund, Class 12 Hedged USD เน้นลงทุนในตราสารทุน และตราสารหนี้ที่เปลี่ยนมือได้ ซึ่งอาจรวมถึงตราสารหนี้ที่เปลี่ยนมือได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เหมาะสำหรับจัดเป็นสินทรัพย์หลักในพอร์ต เพราะมีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก และมีการปรับพอร์ตอย่างยืดหยุ่น สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทุกสภาวะของตลาด โดยการลงทุนนี้มีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 5 ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง สำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

จิตวิทยาในการลงทุนระยาวเปรียบได้ดั่งศิลปะการลงทุน ที่ต้องอาศัยความสงบและใจเย็น เพราะรูปแบบการลงทุนมีกลไกที่เคลื่อนไหวช้าและใช้เวลา นักลงทุนจะต้องมีสมาธิ อดทน และไม่วอกแวก ไม่ต้องตื่นตระหนกกับสถานการณ์รายวันที่เกิดขึ้นอย่างผันผวนในตลาดหุ้น ขอเพียงแค่รับข้อมูลมาและวิเคราะห์เก็บเอาไว้สำหรับใช้เป็นความรู้ติดตัว ทำทุกอย่างตามแผนการลงทุนที่วางเอาไว้เพื่อเป้าหมายระยะยาวเพียงอย่างเดียว และถ้านักลงทุนต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุน สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวด้านการเงินและการลงทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ โดยติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์  -ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • กองทุน KF-CSINCOM, KFCORE อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชาระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
  • กองทุน KFCORE อาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการซึ่งอาจมีต้นทุนสาหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • กองทุน KFCORE เป็นกองทุนที่ลงทุนกระจุกตัวในประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่กองทุนลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา