เทคนิคการลงทุนเพื่อเอาชนะตลาดในระยะยาว
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เทคนิคการลงทุนเพื่อเอาชนะตลาดในระยะยาว

icon-access-time Posted On 22 กรกฎาคม 2563
By Krungsri the COACH
ถ้าเรากลับมามองที่ตลาดการลงทุนในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น หรือแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือกอย่างน้ำมันและทองคำก็ตาม ปีนี้ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนเป็นอย่างมาก สาเหตุก็มาจากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่กลับมาระอุอีกครั้ง รวมถึงในช่วงที่ผ่านมาก็ยังมีวิกฤตราคาน้ำมันที่เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดผันผวนขึ้นไปมากกว่าเดิม คำถามที่หลาย ๆ คนต้องหาคำตอบกันในช่วงนี้ก็คือ เราจะปรับพอร์ตการลงทุนหรือลงทุนอะไรกันดี ?
ถ้ากลับมามองบทวิจัยการลงทุน จะมีปัจจัยในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

การจับจังหวะ (Market Timing)

การเลือกจังหวะการลงทุนที่ดีก็คือ ซื้อให้ถูกขายให้แพง

การเลือกสินทรัพย์ (Asset Selection)

การเลือกสินทรัพย์การลงทุน ถ้าหากเราเลือกสินทรัพย์ แล้วสินทรัพย์การลงทุนไม่มีการปรับตัวขึ้นในระยะยาว การลงทุนนั้นก็จะไม่สร้างผลกำไรให้กับเราหรือในทางทฤษฎีเราจะขาดทุนจากสภาวะเงินเฟ้อด้วย

การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)

คำพูดติดหูสำหรับเรื่องการจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุน ก็คือ Don't put all your eggs in one basket หรือ อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวนั่นเอง การลงทุนที่ดีต้องมีกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์อย่างเหมาะสม ตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ว่าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนหรือไม่นั้น ก็คือ “การทำAsset Allocation” จากบทวิจัยพบว่ามากกว่า 90% ประสบความสำเร็จในการลงทุน และที่เหลืออีก 10% มาจาก การจับจังหวะการลงทุน และการคัดเลือกสินทรัพย์สินทรัพย์ในการลงทุน
ถ้าหากเรามองการลงทุนเป็น ”การลงทุนระยะสั้น” หรือใครที่มองตัวเองว่าเป็น นักเก็งกำไร (Speculator) แล้ว สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เราต้องมีเลยก็คือการจับจังหวะ (Market Timing) ที่ดีมาก ๆ ตามหลักการก็คือ “ซื้อให้ถูกขายให้แพง” ซึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนสูง นักเก็งกำไร (Speculator) จะมีความชื่นชอบตลาดในสภาวะนี้อย่างมาก เนื่องจากราคาของสินทรัพย์มีการปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะทำกำไรที่ดี
แต่ในทางกลับกันสำหรับ “การลงทุนระยะยาว” ความผันผวนแทบจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนสักเท่าไหร่ หรือพูดง่าย ๆ ว่า การจับจังหวะ (Market Timing) สำหรับการลงทุนระยะยาวนั้นเราแทบจะไม่ต้องสนใจเลยก็ว่าได้ เนื่องจากจุดที่เข้าลงทุน ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนหรือไม่อย่างมีนัยสำคัญ
ตัวอย่างนี้น่าจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น สมมติว่าเรากำลังจะซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 10 บาท นักลงทุนคนหนึ่งสามารถหาจังหวะในการลงทุนที่ดีได้ รอจังหวะให้หุ้นตัวนั้นมีราคาปรับตัวลดลงมาแถว ๆ 9 บาทค่อยลงทุน เมื่อเทียบกับนักลงทุนอีกคนที่ไม่ได้สนใจจังหวะเหล่านี้แต่ลงทุนที่ราคา 10 บาทเลยทันที จะเห็นได้ว่านักลงทุนที่สามารถเข้าลงทุนในราคา 9 บาทได้กำไรไปมากกว่า 10% ทันที
แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หุ้นตัวนี้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ราคา 100 บาท นักลงทุนที่ลงทุนที่ราคา 9 บาท ก็จะได้กำไรไปมากกว่า 91 บาท แต่นักลงทุนอีกคนที่ลงทุนในราคา 10 บาท ก็ได้กำไร 90 บาท จะเห็นได้ว่าการที่เราพุ่งความสนใจไปที่การจับจังหวะการลงทุนนั้น ในระยะยาวไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนสักเท่าไหร่
แต่การลงทุนในระยะยาวจะพุ่งความสนใจไปที่การจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุน (Asset Allocation) ที่ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุด จากงานวิจัยทั่วโลกลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าถ้าอยากลงทุนในระยะยาวให้สำเร็จปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ “การจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุน (Asset Allocation)”
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าทำไมการจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุน (Asset Allocation) เป็นปัจจัยที่สำคัญ สามารถดูได้จากตารางผลตอบแทนย้อนหลังของสินทรัพย์ต่าง ๆ ระยะเวลา 15 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2005 ถึง 2019 จาก JPMorgan จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ทุกสินทรัพย์มีจังหวะและเวลาของตัวเองเสมอ บางปีอาจจะให้ผลตอบแทนสูงมากกว่า 70% แต่บางปีก็อาจจะพาเราไปติดลบได้มากกว่า -50% ได้เช่นกัน
จากภาพถึงแม้ว่าการจัดสรรการลงทุนไปหลากหลายสินทรัพย์นั้นถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผลตอบแทนดีที่สุดในทุก ๆ ปี บางปีอาจติดลบได้ เช่น ในปี 2008 ที่เกิด วิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวลงกว่า 40% ส่วนตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวลงกว่า 50% หากเรามีการจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุนไปทั้งในตราสารหนี้ หุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ จะช่วยลดความผันผวนลง จากตัวอย่างในภาพ ติดลบ 25.4% ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว
ซึ่งในสถานะนักลงทุน อนาคตเป็นที่สิ่งคาดเดาได้ยาก แม้แต่ Berkshire Hathaway บริษัทลงทุนของมหาเศรษฐี Warren Buffett ยังผิดพลาดได้ โดยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบริษัทได้ขายหุ้นของ 4 สายการบินออกมาจนหมด และยังกล่าวว่า COVID-19 สร้างผลกระทบต่อสายการบินอย่างมาก รวมถึงยอมรับความผิดพลาดที่ลงทุนในหุ้นของสายการบินด้วย
ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย แล้วถ้าเรามีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมจะช่วยลดความผันผวนทำให้พอร์ตเราเติบโตได้ในระยะยาว
นักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffet ก็ออกมาพูดหลายครั้งว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การกระจายการลงทุนให้ดี แล้วรอคอยอย่างมีวินัยเป็นหลักการที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนแต่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่จะช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จในระยะยาวได้
สำหรับใครที่ต้องการจัดพอร์ตการลงทุน แต่ยังไม่แน่ใจว่าควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นเงินฝากเท่าไหร่ ตราสารหนี้เท่าไหร่ หุ้นเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตัวเอง แนะนำให้ลองใช้เครื่องมือวางแผนทางการเงินที่จะช่วยคำนวณพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมจาก Plan your Money ได้เลย
และเมื่อเรารู้สัดส่วนพอร์ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเราแล้ว เราสามารถลงทุนผ่าน “กองทุนผสม (Balanced Fund)” ที่มีนโยบายตามสัดส่วนพอร์ตที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงของเราได้ ทาง ธนาคาร กรุงศรีฯ เองก็มีกองทุนผสมให้เลือกหลากหลายกองทุน แต่ละกองทุนก็มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน สามารถดูรายชื่อกองทุนรวมผสมได้ที่นี่ คลิก
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา