ผลกระทบของ Covid-19 ต่อเศรษฐกิจไทย และคนทำธุรกิจ SME

ผลกระทบของ Covid-19 ต่อเศรษฐกิจไทย และคนทำธุรกิจ SME

By Krungsri Plearn Plearn
มาวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ และ SME ไทย มีอะไรต้องปรับตัวบ้าง จากรายการ “Mission Tonight” Mission to The Moon สัมภาษณ์ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วทางกรุงศรีมองว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจจะค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเลขการคาดการณ์มาเรื่อย ๆ จนได้ข้อสรุปว่า GDP ของประเทศไทยจะมีตัวเลขอยู่ที่ติดลบ - 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล เพราะมันแปลว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ในตอนนี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มนิ่ง และคาดว่าตัวเลข GDP ไม่น่าจะปรับลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นทิศทางที่ไม่เลวร้ายกว่าเดิมเว้นแต่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นแบบที่เหนือความคาดหมาย
เมื่อวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอันดับแรก และหนักที่สุดก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาเราทำทุกอย่างเพื่อซัพพอร์ตนักท่องเที่ยวจีนมาโดยตลอด เมื่อนักท่องเที่ยวจีนหายไป เราก็ได้รับผลกระทบกันค่อนข้างหนัก และมันก็จะลามไปในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ยิ่งประเทศเราประกาศหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองด้วย ส่งผลกระทบให้ทุกกลุ่มธุรกิจก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
นอกจากนี้การบริโภคภายในประเทศ ถ้าพูดถึงในแง่เศรษฐกิจ ตัวเลข GDP ของกรุงเทพปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 40% ของประเทศ ซึ่งก็แปลว่าการสั่งหยุดกิจกรรมแค่ภายในกรุงเทพฯ ทั้งงานทั้งคนก็หายไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ตัวเลขคนทำงานในระบบมีตัวเลขอยู่ที่ 10 กว่าล้านคน และแน่นอนว่าคนทำงานที่อยู่นอกระบบ มีจำนวนที่มากกว่านั้น ถ้าเราปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คนก็ตกงาน ไม่มีกำลังซื้อ แน่นอนว่าการบริโภคมันก็จะหายไป
“การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เหมือนกับการปิดปาก ไม่ให้เราได้กินอาหาร แต่ถ้าปิดนานเกินไป เราอาจจะไม่อยากกินแล้ว อาจจะเกิดความเคยชิน ซึ่งมันก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว”

บริษัทที่มีบาลานซ์ชีท (Balance Sheet) แข็งแกร่ง ก็ไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงต่ำ

ดูเหมือนว่าธุรกิจหรือบริษัทที่มีงบการเงินที่ดีอาจจะได้เปรียบก็จริง อาจเป็นเพราะว่าบริษัทที่มีงบการเงินที่ดี จะมีความเสี่ยงต่ำกว่า ถ้าบริษัทที่มีงบการเงินไม่ดีจะมีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งจะส่งผลให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจ เช่น การขอสินเชื่อ ธนาคารก็จะอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น
แต่เมื่อเกิดวิกฤตแบบนี้ทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า Systematic Risk คือความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งระบบ ทำให้ส่งผลกระทบให้กับทุกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นบริษัทที่มีบาลานซ์ชีท (Balance Sheet) แข็งแกร่ง ก็ไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงต่ำซะทีเดียว การบริหารจัดการความเสี่ยง และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

แม้ว่าจะเปิดเมืองแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ได้กลับมาในทันที

เพราะสิ่งที่คนจะตระหนักมากขึ้นคือ เรื่องของความเสี่ยง หลังจากนี้แม้ว่าจะเปิดเมือง แต่ผู้บริโภคบางส่วนยังต้องใช้เวลา กว่าที่จะมีความกล้ากลับไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือกล้ากลับไปทานอาหารที่ร้าน นอกจากนี้กำลังซื้อจากต่างประเทศก็ยังหายไปด้วยเนื่องจากกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การที่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้
หลังจากที่กลับมาเปิดเมือง ร้านค้า หรือ SME จะต้องปรับตัวเองอย่างมาก เพราะร้านจะยังมี Capacity เท่าเดิม และจะหารายได้ด้วย Business Model เดิมได้น้อยลง ดังนั้นจึงต้องมองหา Revenue Model และ Business Model ใหม่ ๆ ต้องกลับมาคิดว่าลูกค้าอยากได้อะไร และจะตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างไรได้บ้าง โดยดูว่าอะไรคือสิ่งที่คนจะสนใจมากที่สุดหลังจากที่โควิด 19 จบไป (ซึ่งมีผลสำรวจออกมาแล้วว่าเป็นเรื่อง Trust Economy)
และเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาได้ ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากภาครัฐ และคนที่มีกำลังซื้อ ทั้งนี้ต้องออกแบบกลไกการใช้เงินเพื่อฟื้นฟูให้ได้อย่างยั่งยืน และใช้เงินไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การออกนโยบายจากภาครัฐเพื่อช่วยเหลือธุรกิจต้องเป็นแบบ Personalize

เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ดังนั้น นโยบายที่รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ จะทำแบบเดียวไม่ได้ แต่ต้องออกแบบแต่ละนโยบายที่แตกต่างกันตามระดับของผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น
กลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ: ได้แก่คนชนชั้นกลางขึ้นไป ลูกจ้างประจำ คนที่ยังไม่ได้ถูก Lay-Off รัฐต้องรีบสร้างแรงจูงใจให้เขาใช้เงิน เช่น นโยบายท่องเที่ยวเพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อดึงให้เขาเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจจะแย่จนถึงจุดที่เขาไม่มีกำลังซื้อ
SME หรือ ผู้ประกอบการ: ก่อนหน้านี้ช่วงที่ปิดเมือง ( Lockdown) ต้องให้เงินกู้เพื่อเยียวยาให้ธุรกิจรักษาสภาพคล่องไว้ได้ แต่เมื่อเงินสดสำหรับหมุนเวียนหมดแล้ว เมื่อกลับมาเปิดเมืองหรือดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ต้องมีนโยบายสนับสนุนเงินตั้งต้นสำหรับให้ดำเนินธุรกิจต่อได้

เศรษฐกิจโลกกับ Mega Trend

โลกจะถูกเปลี่ยนด้วย Mega Trend 5 ข้อนี้มาตั้งแต่แรก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพียงเพราะเกิดวิกฤต COVID-19 Mega Trend 5 ข้อ ได้แก่
  • Rise of Non-OECD: เศรษฐกิจนั้นขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แม้ GDP ต่อหัวอาจจะต่ำ แต่เมื่อรวมจำนวนประชากรกลุ่มนี้แล้วขนาดเศรษฐกิจจะใหญ่กว่าคนที่รวย สมัยก่อนของที่เป็น Luxury ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายคือ ขายให้เฉพาะกับคนรวย ก็พอที่จะอยู่ได้แล้ว แต่สมัยนี้จะเน้นไปที่ชนชั้นกลาง เพราะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเยอะ ส่งผลให้มีกำลังซื้อขนาดใหญ่กว่าMajor
  • Aging Sociaty หรือสังคมผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุในอนาคตจะไม่เหมือนในอดีต ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น คนสูงอายุจะไลฟ์สไตล์เหมือน Middle Income Class หรือ Middle Age มากขึ้น ทุกคนไม่ยอมอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงหลานแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอด ผู้ประกอบการต้องไปคิดเรื่องสินค้า และ บริการใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุยุคใหม่
  • Urbanization: ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงที่เป็น Distancing Urbanization คือสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ได้ และสามารถเชื่อมต่อกับสังคม เข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ได้ โดยผ่านทาง Social Media ซึ่งประเด็นนี้ก็เกิดขึ้นก่อนช่วงวิกฤต COVID-19 แล้ว
  • Rise of Middle Income Class: กลุ่มชนชั้นกลางจะมีจำนวนมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อก็จะเพิ่มมากขึ้น หากย้อนกลับไปดูข้อหนึ่งถึงข้อสามอีกครั้ง จะพบว่าการเป็นผู้สูงอายุ เป็นชนชั้นกลาง อาศัยอยู่ในเมือง มันสามารถบอกอะไรได้หลายอย่างมาก
  • Technology Disruption: นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะมาสร้างมูลค่าให้กับตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และประเด็นนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดผลิตภัณฑ์เดิม ที่ไม่มีการปรับตัว
;สำหรับคำถามที่ว่า COVID-19 จะเปลี่ยนโลกไหม? สรุปก็คือ Norm เดิม ๆ มันก็ถูกเปลี่ยนไปก่อนหน้านี้แล้ว วิกฤต COVID-19 แค่เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการปรับตัวเร็วขึ้น”

ภาคเศรษฐกิจที่จะฟื้นกลับมาหลังจบวิกฤตการณ์ Covid-19

ภาคธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้ก่อนคือ ภาคการผลิต ส่วนภาคบริการก็จะฟื้นตัวตามมาทีหลัง เพราะสิ่งที่เป็น Human Contact ก็จะฟื้นได้ยาก ก่อนที่จะเกิด COVID-19 การเชื่อมต่อของมนุษย์มันกว้างมาก สามารถเชื่อมต่อข้ามประเทศได้โดยง่าย แต่ตอนนี้มันไม่สามารถทำได้แล้ว
แม้วิธีแก้เรื่องการแพร่ระบาดของ COVID -19 คือ ปิดประเทศทั้งหมด ซึ่งการปิดประเทศอาจจะไม่เกิดการติดเชื้อ แต่ในความเป็นจริงเราจะปิดประเทศตลอดไปไม่ได้ ฉะนั้นทางออกสำหรับภาคบริการ คือต้องค่อย ๆ คลายทีละปม จะยังไม่เปิดทั้งหมดทันทีเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็น Business Model ใหม่ ถ้าต้องการเปิดประเทศ โดยให้ประเทศอื่นมาเที่ยว ก็ควรจะเปิดเป็นคู่ ๆ ก่อน เหมือนที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์กำลังทำอยู่ แต่ก็ต้องระวัง เนื่องจากประเทศคู่ของเราอาจจะไปคู่กับประเทศอื่นเช่นกัน
สุดท้ายแล้วรูปแบบของการท่องเที่ยวจะต้องเปลี่ยนไป ดังนั้นจะต้องมี Guideline สำหรับธุรกิจที่เป็นรูปแบบเดียวกัน เช่น ถ้าในโรงแรมมีลูกค้าที่มาจากประเทศที่ไม่มี COVID-19 ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่แน่นอนว่าในโลกความจริง เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักมันก็มีความเสี่ยงพอสมควร ดังนั้นจะต้องกำหนดว่าธุรกิจจะต้องมีการคัดกรองแบบไหน เพื่อให้รองรับลูกค้าได้อย่างปลอดภัย เพราะ COVID-19 จะอยู่กับเราไปอย่างน้อยก็ประมาณสองปี จากการคาดการณ์

ทิศทางของนโยบายที่เน้นไปที่การบริโภคสินค้าภายในประเทศ

สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดี ก็คือการออกนโยบายเพื่อให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการก็ต้องร่วมพัฒนาสินค้าและบริการไปด้วยเช่นกัน ซึ่งการเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราทุกคนได้เห็นแล้วว่าเราจะต้องกระจายความเสี่ยงเพราะการทำธุรกิจที่กระจุกไปอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือเน้นพัฒนาไปที่ภาคส่วนใดภาคส่วนเดียวก็จะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า
แต่อย่างไรก็ตามลูกค้าต่างชาติที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการนอกประเทศตัวเองก็ยังมีอยู่ ดังนั้นในภาพรวมก็จะต้องคิดในเรื่องของ Market Segment ใหม่

แนวโน้วเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

การคาดการณ์ว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ค่อนข้างได้รับผลกระทบหนักที่สุดแล้ว และเราก็เกือบจะผ่านไปได้แล้ว แต่ช่วงเวลาที่เหลือก็สำคัญ เพราะฉะนั้นต้องทำนโยบายให้ถูกต้อง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องทำให้ถูกต้อง และรวดเร็ว ผู้ประกอบการเองก็ต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน
โดยให้ถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสในการปรับตัว และถ้าเราข้ามผ่านช่วงนี้ไปได้ เราจะได้รับบทเรียนที่สำคัญในการทำธุรกิจในอนาคต และถ้าไม่มีวิกฤตนี้เกิดขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ก็ต้องมีอยู่แล้วที่รอให้เราเข้าไปแก้ไข
“ชาร์ลส์ ดาวิน เคยบอกว่า คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่รู้จักการปรับตัวที่สุด” สิ่งต่าง ๆ จะเป็นยังไงก็อยู่ที่เราปรับตัว และ COVID-19 ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า คนส่วนใหญ่ต้องการอะไร เราก็เรียนรู้จากตรงนั้น แล้วปรับตัว สุดท้ายเราก็จะผ่านมันไปได้ครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง:
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา