สาระความรู้เพื่อนักลงทุน Passive Fund กองไหนดี ปั้นพอร์ตเติบโตอย่างมั่นคง
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

สาระความรู้เพื่อนักลงทุน Passive Fund กองไหนดี ปั้นพอร์ตเติบโตอย่างมั่นคง

icon-access-time Posted On 27 กันยายน 2566
By Krungsri The COACH
หัวข้อการลงทุนแบบ Passive Fund ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเงินและการลงทุนมีความเสี่ยงและความผันผวนอย่างในปัจจุบัน นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญแนะนำให้นักลงทุนน้องใหม่เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนประเภทนี้ เพื่อเป็นตัวช่วยให้พอร์ตมีโอกาสได้เติบโตอย่างมั่นคงในช่วงที่ทุกอย่างยังคงชะลอตัว คำถามที่ตามมาคือ การลงทุนแบบนี้คืออะไร และควรเลือกอย่างไรเพื่อให้มีผลตอบแทนที่งอกเงย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะร่วมศึกษาการลงทุนที่นับว่า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีไปพร้อมกัน

Passive Fund คืออะไร ทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทุกคน

Passive Fund คือ การลงทุนในกองทุนรวม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงให้มากที่สุด หลายคนรู้จักกันดีในชื่อของ “กองทุนรวมดัชนี (Index Fund)” ซึ่งมีนโยบายการลงทุนด้วยการซื้อหุ้นตามดัชนีที่ใช้อ้างอิง อย่างเช่น หากกองทุนมีนโยบายสร้างผลตอบแทนล้อไปกับ SET50 Index ผู้จัดการกองทุนก็จะซื้อหุ้นเลียนแบบดัชนี SET50 เป็นต้น ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน (Benchmark) อยู่

และเกณฑ์มาตรฐานนี้เองที่เป็นเป้าหมายการลงทุน ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น โดยยกตัวอย่างให้ SET50 ราคาวันนี้ +3% กองทุนรวมดัชนี ที่เข้าซื้อหุ้นตามดัชนี SET50 จะสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดของ SET50 โดยผลตอบแทนอาจจะได้เกือบเท่ากับราคาตลาด หรือประมาณ 2.9% ก็ได้ เพื่อให้ใกล้เคียงกับเกณฑ์มากที่สุด แต่กองทุนรวมดัชนีจะไม่สามารถสร้างผลกำไรจนนำตลาดได้ เนื่องจากกองทุนมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การลงทุนใน Passive Fund จึง “เป็นการลงทุนเชิงรับ”

สิ่งสำคัญที่นักลงทุนหลายคนอาจไม่ทราบคือ กองทุนดัชนีไม่ได้มีเฉพาะดัชนีราคาหุ้นเท่านั้น ยังมีดัชนีราคาสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย เช่น ดัชนีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) ดัชนีตราสารหนี้ หรือดัชนีสินทรัพย์โภคภัณฑ์อื่น ๆ แต่ที่ได้รับนิยมมากที่สุดจริง ๆ ก็คือดัชนีราคาหุ้น

จึงสรุปได้ว่า กองทุนรวมดัชนี คือ หนึ่งในรูปแบบการลงทุน แบบ Passive ที่ลงทุนไปตามความเคลื่อนไหวของตลาด ไม่ว่าหุ้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้อ้างอิง

รู้จักหรือยัง Passive Fund vs Active Fund ความต่างที่เลือกได้

เมื่อเรารู้จักแล้วว่ากองทุนแบบเชิงรับ หรือ Passive Fund คืออะไร เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับกองทุนแบบเชิงรุก หรือ Active Fund กันด้วยว่า แตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนหน้าใหม่ หรือผู้ที่เริ่มต้นศึกษาการลงทุนได้เลือกรูปแบบการลงทุนได้ถูกวัตถุประสงค์ เพราะการลงทุนทั้ง 2 รูปแบบนี้มีความแตกต่างกัน
 

1. มีวิธีการรับรู้และเข้าใจตลาดแตกต่างกัน

ดังที่กล่าวไป กองทุนดัชนีแบบเชิงรับนั้น เน้นสร้างผลตอบแทนตามตลาดหรือดัชนีราคาสินทรัพย์ที่อ้างอิง เพราะ Passive Fund จะมองว่า ทุกอย่างเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาด จึงไม่จำเป็นต้องสร้างผลตอบแทนให้นำหรือฉีกจากตลาดจนเกิดเป็นความเสี่ยง แต่ในมุมกลับกัน ผู้จัดการกองทุน Active Fund จะมองว่า มูลค่าการตลาดสามารถสร้างให้มีผลตอบแทนได้มากกว่านั้น ดังนั้น Active Fund จึงมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญ และนักวิเคราะห์จำนวนมาก ที่ช่วยกันคิดกลยุทธ์และเทคนิคเพื่อหาทางเอาชนะตลาด

หรือจะสรุปง่าย ๆ ว่า Passive Fund มีวิธีการรับรู้และเข้าใจตลาดตามสภาวะความเป็นจริง ลื่นไหลไปตามความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น การเข้าซื้อหุ้นจึงซื้อตามดัชนี และเกาะตามกระแสไปเรื่อย ๆ แต่ Active Fund จะมีมุมมองและเข้าใจตลาดว่า ถึงแม้เศรษฐกิจหรือปัจจัยแวดล้อมโดยรวมของโลกจะเป็นอย่างไร ก็มักจะมีหนทางให้เข้าทำกำไรได้เสมอ ดังนั้น Active Fund จะพยายามเลือกซื้อหุ้นโดยคัดเลือกตัวที่ดีที่สุด และมีแนวโน้มว่า จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
 

2. มีวิธีการสร้างผลกำไรที่แตกต่างกัน

ด้วยมุมมอง Passive Fund ที่เชื่อว่าทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงตามกระแสของตลาด และราคาประเมินมูลค่าของดัชนี (Benchmark) ที่กำหนดมานั้นมีความสมเหตุสมผลอยู่แล้ว วิธีการสร้างผลกำไรจึงอ้างอิงตามสถิติที่บันทึกไว้ทั้งกำไรและขาดทุน ส่วน Active Fund จะเชื่อว่า ทุกการลงทุนสามารถสร้างผลกำไรที่สูงกว่าราคาประเมินได้ ถ้ามีกลยุทธ์ที่ดี รู้จักจังหวะการเข้าทำกำไร วิธีการสร้างผลกำไรจึงไม่สนใจกรอบของราคาประเมิน และมักจะหลุดจากสถิติที่บันทึกไว้
 

3. มีวิธีตรวจสอบความเสี่ยงแตกต่างกัน

ข้อนี้มีความสำคัญมากที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ เพราะการลงทุนใน Passive Fund จะพยายามเลียนแบบผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีราคาที่ใช้อ้างอิงมากที่สุด นักลงทุนจึงอาจจะคาดหวังผลตอบแทนตามนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทุนมีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียม แต่ตัวดัชนีไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจึงต้องหักค่าใช้จ่ายก่อนที่จะออกมาเป็นผลตอบแทนสุทธิ ซึ่งจุดนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนในการเลือกกองทุน เพราะถ้าหากนักลงทุนตัดสินใจมาทางสาย Passive Fund แล้ว ควรเลือกกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เพื่อให้ผลตอบแทนสุทธิใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีที่สุด

และช่องว่างที่แตกต่างกันของผลตอบแทนระหว่างกองทุนดัชนี กับตัวดัชนีจะเรียกว่า Tracking Error ซึ่งรวมไปถึงค่าความเสี่ยง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้จัดการกองทุนเห็นว่า อัตราผลตอบแทนเริ่มแตกต่างจากเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ไม่ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม ถ้าแนวโน้มเริ่มจะฉีกจากราคาตลาด ไม่มีความใกล้เคียง ผู้จัดการกองทุนจะมองว่ามีความเสี่ยงสูง เรียกว่าเป็น Tracking Error ได้เช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน Active Fund จะไม่ประเมินความเสี่ยงจากค่ามาตรฐานของตลาด แต่จะยึดหลักการวิเคราะห์แนวโน้มของผลตอบแทนว่าจะไปในทิศทางใด โดยอ้างอิงจากเครื่องมือช่วยเทรดต่าง ๆ หากผลที่ออกมามีอัตราสูงกว่าค่ามาตรฐานของตลาด ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ ผู้จัดการกองทุนจะมองว่ายิ่งมีโอกาสทำกำไรได้มากเท่านั้น และด้วย Active Fund เต็มไปด้วยบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมากมาย ทำให้มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ดังนั้นนักลงทุนต้องพิจารณาและตัดสินใจให้รอบคอบก่อนการลงทุน
 
จุดเด่นและข้อจำกัดของ Passive Fund

สาย Passive Fund ควรทราบ จุดเด่นและข้อจำกัดของกองทุนมีอะไรบ้าง

มาถึงจุดนี้นักลงทุนหลายคนอาจจะตัดสินใจได้แล้วว่า จะมาเป็นสาย Passive Fund ดีหรือไม่ เพราะกองทุนนี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ “การลงทุนอย่างเรียบง่าย” และในส่วนของนักลงทุนที่ยังลังเลอยู่ว่า ควรจะเลือกลงทุนดีไหม เรามาเจาะลึกถึงข้อดี ที่รวมไปถึงข้อจำกัดให้ชัด ๆ กันเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
 
  1. มีค่าใช้จ่ายต่ำ
    ด้วยนโยบายกองทุนที่เลียนแบบผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิง ทำให้ Passive Fund ไม่ต้องใช้บุคลากรหรือทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อช่วยวิเคราะห์คัดเลือกหลักทรัพย์ที่ลงทุน ค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมกองทุนจึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนแบบ Active Fund

  2. ไม่ต้องเสียเวลาเลือกหุ้นเอง
    กองทุนรวมดัชนีที่ซื้อหุ้นตามดัชนีที่ใช้อ้างอิง ไม่ต้องเสียเวลาในการคัดเลือกหุ้นเอง เพราะกองทุนจะเข้าซื้อหุ้นตามดัชนี และสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีราคานั้น ๆ

  3. ถือครองได้ระยะยาว ไม่ต้องปรับพอร์ตบ่อย ๆ
    น่าจะเป็นที่ถูกใจของนักลงทุนที่ชอบการลงทุนระยะยาว เพราะ Passive Fund มีนโยบายที่จะเกาะความเคลื่อนไหวของตลาดไปเรื่อย ๆ นักลงทุนจึงสามารถถือครองได้ระยะยาว
เมื่อได้ทราบถึงจุดเด่นของ Passive Fund กันแล้ว มาถึงข้อจำกัดของกองทุนกันบ้าง แน่นอนเพราะการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ซึ่ง Passive Fund ก็มีข้อจำกัดที่นักลงทุนควรทราบเช่นกัน
 

ข้อจำกัดบางประการของกองทุนแบบ Passive Fund

  1. นักลงทุนต้องถือสินทรัพย์ตามดัชนีตลอดเวลา
    ด้วยนโยบายของกองทุนที่สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่เลือกลงทุน ทำให้ไม่ว่าตลาดนั้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง นักลงทุนก็ต้องถือสินทรัพย์ตามดัชนีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเป็นช่วงขาขึ้น ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะดีและน่าพอใจ แต่ถ้าเป็นช่วงขาลง นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนที่ลดลงตามไปด้วย

  2. ไม่มีการเปลี่ยนกลยุทธ์
    เมื่อเลือกลงทุน Passive Fund แล้ว นักลงทุนต้องพึงระลึกว่า กองทุนนี้จะไม่เปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนเป็นอย่างอื่น จะมุ่งสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงมากที่สุดเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากนักลงทุนคาดหวังให้กองทุนไปลงทุนกับหุ้นตัวอื่นที่มีความร้อนแรงกว่า ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังนั้น นักลงทุนควรรอบคอบและศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ละเอียด

เลือกอย่างไรให้ได้ Passive Fund ที่ดี

มาถึงคำถามที่นักลงทุนหลายคนต้องการคำตอบ “ควรเลือกกองทุนดัชนีตัวไหนดี” อันดับแรก เรามาทราบกันก่อนว่า Passive Fund เหมาะกับใครบ้าง เพื่อให้นักลงทุนได้เริ่มต้นสำรวจตัวเองก่อนว่า เหมาะสมกับกองทุนประเภทนี้หรือไม่
  1. เหมาะกับนักลงทุนที่ชอบการลงทุนระยะยาว เพราะ Passive Fund จะมีการปรับพอร์ตทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปีต่อครั้งตามที่ดัชนีกำหนดเท่านั้น
  2. เหมาะกับนักลงทุนที่เข้าใจนโยบายของกองทุนดีว่า จะได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงเท่านั้น รวมไปถึงความเสี่ยงที่ได้รับก็จะอยู่ในระดับเดียวกันกับดัชนีด้วย ไม่มีการเปลี่ยนการลงทุนไปสู่หุ้นตัวอื่นที่อยู่นอกเหนือจากดัชนีที่ใช้อ้างอิง
  3. เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือนักลงทุนที่ไม่มีเวลาวิเคราะห์เลือกหุ้นเอง รวมไปถึงนักลงทุนที่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนล้อไปกับตลาด
เมื่อได้ทราบแล้วว่า Passive Fund เหมาะกับใครบ้าง เราจะแนะนำหลักการเลือกกองทุนดัชนีตัวไหนดีกันต่อ ในข้อมูลเบื้องต้นเราได้กล่าวถึง Tracking Error กันไปแล้ว ตัว Tracking Error นี้เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการเลือกกองทุนดัชนี

โดยนักลงทุนสามารถดูข้อมูลกองทุนที่ต้องการซื้อว่า มีผลตอบแทนที่แตกต่างจากดัชนีอ้างอิงมากน้อยเพียงใดได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) หากพบว่ากองทุนนั้น ๆ ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าผลตอบแทนของดัชนีมากเกินไป เช่น ผลตอบแทนของดัชนี SET50 อยู่ที่ +10% แต่กองทุนรวมดัชนี SET50 กลับกลับอยู่ที่ +5% แบบนี้จะเรียกว่ามีความแตกต่างและผิดเพี้ยนไปจากเกณฑ์มาตรฐานมาก เรียกว่า Tracking Error สูง ก็อาจจะไม่เหมาะที่จะเลือกลงทุน เป็นต้น

เหตุที่ทำให้เรากล่าวว่า กองทุนที่มี Tracking Error สูงยังไม่น่าลงทุนนั้น เพราะอย่าลืมว่า Passive Fund มีเป้าหมายในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงเท่านั้น การที่กองทุนมีอัตราที่ไม่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาด และถือว่าการเคลื่อนไหวของกองทุนไม่ได้เป็นไปตามกระแสตลาดอย่างแท้จริง จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนแบบ Passive

ดังนั้นแล้วนักลงทุนจึงควรเลือกกองทุนที่มีค่า Tracking Error ต่ำ เพราะจะให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของของดัชนีที่ใช้อ้างอิงจริง ๆ
 
แนะนำกองทุน Passive Fund จากกรุงศรี

แนะนำ Passive Fund ยอดนิยมจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา

จากข้อมูลของ Passive Fund ที่กล่าวมาข้างต้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาขอแนะนำ Passive Fund เพื่อตอบโจทย์นักลงทุน เพื่อโอกาสสร้างการเติบโตให้กับพอร์ตการลงทุน ได้แก่
  1. กองทุนเปิดกรุงศรียูเอสอิควิตี้อินเด็กซ์เฮดจ์เอฟเอ็กซ์-สะสมมูลค่า (KFUSINDX-A)
  2. กองทุนเปิดกรุงศรี SET100-สะสมมูลค่า (KFS100-A)
  3. กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าอิควิตี้ CSI 300 ชนิดสะสมมูลค่า (KFCSI300-A)
Passive Fund หรือกองทุนรวมดัชนีที่มีสไตล์เรียบง่าย เหมาะสำหรับนักลงทุนทั้งมือใหม่และผู้มีประสบการณ์สูง รวมไปถึงผู้ที่กำลังสนใจศึกษาด้านการลงทุน กองทุนชนิดนี้มาพร้อมกับกลยุทธ์ “สร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีที่ใช้อ้างอิงเท่านั้น” นักลงทุนจึงไม่ต้องมาคัดเลือกหุ้นเอง และสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวด้านการเงินและการลงทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ โดยติดต่อผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • กองทุน KFUSINDX-A เป็นกองทุนที่ลงทุนกระจุกตัวในประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่กองทุนลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย
  • กองทุน KFCSI300-A อาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา