ลงทุนสไตล์เด็กจบใหม่ เทคนิคต่อยอดเงินเดือนเป็นเงินล้าน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ลงทุนสไตล์เด็กจบใหม่ เทคนิคต่อยอดเงินเดือนเป็นเงินล้าน

icon-access-time Posted On 14 พฤศจิกายน 2566
By Krungsri The COACH
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันการมีรายได้ทางเดียวอาจไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้อีกต่อไปแล้ว ยิ่งโดยเฉพาะในกลุ่ม First Jobber หรือเด็กจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานที่กำลังอยากรีบสร้างอนาคต หรืออยากเริ่มต้นวางแผนเรื่องการลงทุน แต่จะเริ่มลงทุนด้วยวิธีไหนดีล่ะ? ในบทความนี้เราจึงอยากมาแบ่งปันความรู้ด้านการลงทุนต่าง ๆ ที่ควรศึกษาไว้ พร้อมไอเดียการลงทุนมาฝากกัน
เด็กจบใหม่เริ่มลงทุนตั้งแต่ได้งานแรก

สำหรับเด็กจบใหม่แน่นอนว่าฐานเงินเดือนแม้ยังไม่สูง แต่รู้ไหมว่าหากน้อง ๆ เลือกที่จะนำเงินมาลงทุนก็มีข้อได้เปรียบ ข้อหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ เรื่องของเวลานั่นเอง เนื่องจาก

เคล็ดลับที่ทำให้เงินมันสะสม และงอกเงยประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1. พลังของดอกเบี้ยทบต้น

คือ การที่สามารถนำผลตอบแทน หรือกำไรจากการลงทุนมาทบต่อ เพื่อให้มีมูลค่ามากขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
 

2. ผลตอบแทน

ถ้าเราเลือกการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง (แลกมาด้วยความเสี่ยงสูง) และสะสมไปเรื่อย ๆ จากพลังของดอกเบี้ยทบต้น ก็จะทำให้ผลตอบแทนยิ่งสูงขึ้น
 

3. เวลา

ยิ่งเวลาผ่านไปนานขึ้นพลังของดอกเบี้ยทบต้น ประกอบกับผลตอบแทนสูง จะทำให้เงินเรางอกเงยได้แบบทวีคูณ

“ออมก่อน รวยก่อน” ประโยคนี้ยังคงใช้ได้เสมอรู้แบบนี้แล้ว ทำไมเราจะไม่รีบออมรีบเก็บเงินเพื่อนำเงินไปลงทุนกันล่ะหากเรารู้ว่าว่ามีแต้มต่อที่สำคัญขนาดนี้

ซึ่งการเก็บเงินก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน ไม่มีกำหนดตายตัว ขออย่างเดียว คือ รีบเก็บรีบออมรีบลงทุน ทีนี้แล้ว

การเก็บเงินมันมีวิธีไหนบ้าง มาดูกัน

วิธีการที่ 1

1. วิธีแบบ 50-30-20 ซึ่งมีหลาย ๆ คนใช้วิธีนี้อยู่ คือ
  • 50% สำหรับ Needs คือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าไฟ
  • 30% สำหรับ Wants คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับความสุขส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า หนังสือ อัลบั้มศิลปินที่ชอบ
  • 20% สำหรับ Saving คือ ส่วนที่จะนำมาออม และลงทุน

ตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือน 15,000 บาท
  • 7,500 บาทจะถูกแบ่งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
  • 5,250 บาทจะถูกแบ่งไว้สำหรับความสุขส่วนตัว
  • 2,250 บาทจะต้องเป็นส่วนที่เราเก็บเพื่อเอาไปลงทุนให้เงินมันงอกเงย
 
เด็กจบใหม่ลงทุนแบบกระจายในกองทุนรวม


วิธีการที่ 2

วิธีออมก่อนใช้ อยากให้จำสมการนี้ให้ขึ้นใจเลย

รายรับ – ออม = รายจ่าย

ยิ่งเราทำงานประจำแล้วละก็ทุกครั้งที่เงินเดือนออก ให้เราโอนเงินสำหรับออมไปอีกบัญชีหนึ่งก่อนเพื่อเป็นบัญชีไว้ออมเงิน ให้ทำแบบนี้อัตโนมัติ แบ่งเงินออกไปเลยให้ชัดเจนว่าเราจะเก็บออมเดือนละเท่าไหร่อาจจะเป็นจำนวนเงิน หรือ % ก็ได้ หลังจากนั้นที่เหลือเราก็เอาไว้เป็นค่าใช้จ่าย อยากจ่ายอะไรก็ได้ตามใจเลย เพราะอย่างน้อยเรามีเงินเก็บเงินออมไว้ลงทุนให้เงินงอกเงยแล้ว

หลังจากจะเราวางแผนเก็บเงินตามสูตรข้างบนแล้ว ให้เราศึกษาข้อมูลการเงินที่ถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจบใหม่ หรือคนที่ไม่เคยศึกษาเรื่องการลงทุนมาก่อน การลงทุนมีหลายรูปแบบและต่างก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น เช่น ลงทุนในกองทุน, ตราสารหนี้พวกพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน, ลงทุนให้หุ้น, ทองคำ, อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป

การศึกษาข้อมูลทางด้านการลงทุนจะช่วยให้เราสามารถเลือกลงทุนในกลุ่มความเสี่ยง และผลตอบแทนที่เรายอมรับได้ เพื่อให้เงินที่เก็บไว้งอกเงย บรรลุตามเป้าหมายทางการเงินที่เราวางไว้ หากเราเริ่มเก็บออมตอนอายุยิ่งมาก จำนวนเงินเก็บออมก็จะมากขึ้น มาดูตัวอย่างตามด้านล่างกัน
  • นาย A อายุ 20 ปี เริ่มทำงานเก็บเงินเรื่อย ๆ มาอย่างสม่ำเสมอ เดือนละ 3,500 บาท เท่า ๆ กัน
  • นาย B อายุ 30 ปี เริ่มเก็บเงินจำนวนที่เยอะกว่า คือ เดือนละ 5,000 บาทเท่า ๆ กัน
  • นาย C อายุ 40 ปี เริ่มเก็บเงินจำนวนเยอะกว่านาย A และ นาย B โดยนาย C เก็บเดือนละ 8,000 บาท เท่า ๆ กันทุกเดือน

ทั้ง 3 คน เมื่ออายุ 60 ปี ทายซิใครมีเงินเยอะกว่ากัน (ได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเท่ากัน) ผลก็คือ นาย A ที่เริ่มเก็บเงินก่อน ทั้งใช้เงินต้น เงินออมที่น้อยว่า แถมตอนปลาย มีเงินเยอะกว่าด้วย แบบนี้แหละ ที่เค้าเรียกว่า ออมก่อนรวยก่อน
 
อายุเริ่มเก็บเงิน ออมเดือนละ เงินเก็บที่ได้ตอนอายุ 60 ปี
(ผลตอบแทน 3% ต่อปี)
20 ปี 3,500 บาท 3.2 ล้านบาท
30 ปี 5,000 บาท 2.9 ล้านบาท
40 ปี 8,000 บาท 2.6 ล้านบาท
หมายเหตุ: สมมติฐานว่าได้ผลตอบแทน 3% ต่อปีคงที่ทุกปี

พอเห็นตารางข้างต้น เด็กจบใหม่น่าจะมีกำลังใจขึ้นเยอะเลย แล้วถ้าเงินออมต่อเดือนเราเยอะกว่านี้ แถมเราศึกษาข้อมูลการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่าตัวอย่าง แน่นอนว่าไม่ต้องรอจนอายุ 60 ปี เราก็สามารถจับเงินล้านได้แล้ว
 
เด็กจบใหม่จัดพอร์ตลงทุนด้วยพลังดอกเบี้ยทบต้น

แล้วเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุน ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งเราอายุน้อย เรายิ่งรับความเสี่ยงได้มาก โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงก็มีมากขึ้น เริ่มแรกเรามาดู

ลักษณะของพอร์ตการลงทุนที่ดีก่อนว่ามีอะไรบ้าง

1. ความยืดหยุ่น

สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
 

2. ไม่หลากหลาย หรือกระจัดกระจายมากเกินไป

เพราะจะทำให้ยากในการติดตามราคา และข่าวสารเกี่ยวข้อง
 

3. มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

มีความสมดุลกันระหว่างการลงทุนในสินทรัพย์ และระดับความเสี่ยงที่รับได้

ส่วนวิธีการลงทุนจริง ๆ แล้วเราก็มาดูว่า

เราชอบการลงทุนสไตล์ไหน?

เพราะแต่ละคนรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน พอร์ตการลงทุนสามารถแบ่งได้ตามวัย หรือตามความสามารถในการรับความเสี่ยง ดังนี้
 

1. พอร์ตเชิงรุก (Aggressive)

อาจเป็นคนที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน รับความเสี่ยงได้สูง มีระยะเวลาลงทุนนานอาจ จัดพอร์ตเชิงรุก (Aggressive) แบ่งเป็นเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน 5% ตราสารหนี้ 15% ตราสารทุน 73% และทรัพย์สินทางเลือก 7%
 

2. พอร์ตรับความเสี่ยงปานกลาง (Moderate)

อาจจะเป็นวัยกลางคน รับความเสี่ยงได้ปานกลาง เพราะมีภาระครอบครัวมากขึ้น อาจจัดพอร์ตลงทุนเสี่ยงปานกลาง แบ่งเป็นเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน 10% ตราสารหนี้ 40% และตราสารทุน 45% และทรัพย์สินทางเลือก 5%
 

3. พอร์ตระมัดระวัง (Conservative)

วัยใกล้เกษียณ รับความเสี่ยงได้น้อย เพราะมีระยะเวลาการลงทุนไม่มาก และจำเป็นต้องรักษาเงินต้นไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ อาจจัดพอร์ตแบบระมัดระวัง (Conservative) แบ่งเป็นเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน 20% ตราสารหนี้ 50% และตราสารทุน 25% และทรัพย์สินทางเลือก 5%
 
เด็กจบออมเงินที่ได้กำไรจากเงินลงทุน

น้อง ๆ ที่เพิ่งจบใหม่ และต้องการเริ่มลงทุน กองทุนรวมนั้นจัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ น่าจะตอบโจทย์ได้ดี เพราะกองทุนนั้นลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้บริหารมืออาชีพช่วยบริหารให้ ช่วยประหยัดเวลา และเราสามารถบริหารจัดการพอร์ตเราเองได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก แทนที่เราจะนำเงินเราไปซื้อ และลงทุนตราสารทางการเงินต่าง ๆ เองโดยตรง

โดยเราสามารถใช้กองทุนในการจัดพอร์ตตามประเภทข้างบนได้ ซึ่งเราควรลงทุนกองทุนที่ตรงกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของเรา ไม่ว่าจะเป็น กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนผสม กองทุนทองคำ หากเราเป็นเด็กจบใหม่ แต่เราไม่ใช่สาย Aggressive แต่เป็นคนรับความเสี่ยงได้ปานกลาง เราอาจจัดพอร์ตการเงิน ดังตัวอย่างด้านล่างนี้
 
เงินสด 10% 10% กองทุนรวมตลาดเงิน
ตราสารหนี้ 40% 30%
10%
กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ
กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ
ตราสารทุน 45% 25%
20%
กองทุนรวมหุ้นในประเทศ
กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ
ทรัพย์สินทางเลือก 5% 1.5%
3.5%
กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
อสังหาริมทรัพย์กองทุนทองคำ
แล้วที่เคยได้ยินเรื่องจับจังหวะการลงทุนล่ะ มันคืออะไร?

มันคือการจับจังหวะว่าช่วงไหนที่เราควรเข้าไปลงทุน เพราะโอกาสเติบโตของสินทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน แต่หากเรายังเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนไม่อยากที่จะคอยมานั่งจับกระแสการลงทุน หรือยังไม่รู้วิธีการเพราะมันต้องอาศัยประสบการณ์การลงทุนระดับหนึ่ง เราอาจเลือกลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยเน้นลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น

ซึ่งเป็นการตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป ทำให้ลงทุนได้สม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และเป็นอีกวิธีในการลดความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของตลาดได้ โดยหากใครที่ต้องการตัวช่วย เพื่อนออม เพื่อลงทุน เรากรุงศรีมีกองทุนให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตามเป้าหมายการลงทุน ตามธีมการลงทุน หรือตามประเภทความเสี่ยง ปรึกษาเราได้ที่ ธนาคารกรุงศรีใกล้บ้าทุกสาขา หรือสนใจสอบถามข้อมูลกองทุนจากที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน โทร. 0-2296-5959 หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา