กองทุนแบบไหนตอบโจทย์ฟรีแลนซ์ (ตอนที่ 2)
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

กองทุนแบบไหนตอบโจทย์ฟรีแลนซ์ (ตอนที่ 2)

icon-access-time Posted On 07 กุมภาพันธ์ 2559
By Krungsri the COACH
จากบทความตอนที่แล้ว ได้แนะนำการซื้อกองทุน RMF เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนเกษียณ ครั้งนี้ จะขอแนะนำกองทุนอีกประเภท และกองทุนแบบอื่น ๆ นะครับ

2. กองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีรวมทั้งเป็นการลงทุนในหุ้น


LTF เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้น เพื่อประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในฐานะผู้มีรายได้ ในขณะที่การลงทุนใน RMF เป็นการออมเพื่อวัยเกษียณ การลงทุนใน LTF มีระยะการถือครองที่สั้นกว่า หรืออาจมองได้ว่ามีสภาพคล่องมากกว่า RMF เพราะผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้หลังจากการลงทุนเป็นเวลา 7 ปีปฏิทิน โดยผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF มีลักษณะคล้ายกับ RMF คือ ผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ทางภาษีจากการหักค่าลดหย่อนในปีที่ซื้อหน่วยลงทุน บวกกับส่วนต่างระหว่างราคาหน่วยลงทุนในวันที่ขายกับวันที่ซื้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุน สำหรับกองทุน LTF บางกองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยเงินปันผลที่ได้รับในระหว่างปีจะต้องเสียภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินปันผลแล้วล่ะก็ การลงทุนในกองทุนที่ไม่จ่ายปันผลอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะทางกองทุนจะได้นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนและสร้างผลกำไรต่อไป
(ถ้าใครอยากรู้ว่าซื้อ LTF/RTF เท่าไหร่ดี ถึงจะพอ ลองอ่านบทความดูนะครับ)

3. การลงทุนในกองทุนรวมอื่น ๆ เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร


3.1
การเลือกกองทุนควรจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการลงทุน เช่น มีความต้องการที่จะนำเงินที่ได้รับจากการลงทุนไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ สามารถรับความเสี่ยงจากการขาดทุนได้แค่ไหน โดยเราอาจแบ่งเงินลงทุนเป็นสองก้อน เงินส่วนที่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งรับความเสี่ยงได้ต่ำ โดยลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารเงิน หรือตราสารหนี้ ที่มีสภาพคล่องสูง ซื้อขายได้ทุกวัน โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ประมาณ 1.5 - 2.5% ต่อปี
 
3.2
เงินลงทุนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะ 1-2 ปี ซึ่งรับความเสี่ยงได้สูง โดยแบ่งลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น เพื่อโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น หรือกองทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศ
ขึ้นชื่อว่าฟรีแลนซ์หลายคนอาจเป็นห่วงเรื่องรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอเท่ามนุษย์เงินเดือน แต่ถ้าหากฟรีแลนซ์ศึกษาหาข้อมูลการเงิน และรู้จักเตรียมตัวบริหารเงิน ก็สามารถใช้ชีวิตฟรีแลนซ์ได้อย่างสบาย ๆ ครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา