นับตั้งแต่ทั่วโลกได้รู้จักกับโควิด-19 สิ่งต่าง ๆ รอบตัวก็เริ่มปรับเปลี่ยนไป มนุษย์เราได้พบกับการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดำรงชีวิตมากขึ้น ลู่เข้าไปสู่สังคม “New Normal” กันในที่สุด ในภาคธุรกิจนั้นย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับผลพวงไปตามกัน เจอพิษมรสุมทางเศรษฐกิจ ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาหลายครั้งหลายครา เมื่อมองลงมาในกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ในโลกนั้น “อาเซียน” นับเป็นอีกภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เมื่อโลกเริ่มหายป่วยจากโรคระบาดและมีอาการดีขึ้น อาเซียนเองก็เริ่มกลับมาฉายแววได้สดใสเช่นกัน
การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับภาพในระยะสั้น การเติบโตของ
เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนนั้นยังคงแข็งแกร่ง แม้คาดว่าจะชะลอลงจาก 5.5% ในปีก่อนหน้าลงมาที่ 4.6% ในปีปัจจุบัน
สาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่ลดลงตามภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นกลุ่มคู่ค้าสำคัญของภูมิภาค
เมื่อลงมาศึกษารายละเอียดในแต่ละประเทศ จะพบว่ากลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเป็นหลัก เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ต่างประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงประเทศที่มีสัดส่วนพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างต่ำ อาทิ อินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการบริโภคภายในประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึง 53% และ 75% ตามลำดับ จึงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ แม้อาเซียนจะเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนยังคงได้รับปัจจัยหนุน (Tailwinds)
ปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน
ประการแรก การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ
ที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในแต่ละประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แรงส่งต่อการบริโภคในประเทศส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากรายได้ที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับลดลงจากปีก่อน
ประการที่สอง ธุรกิจภาคบริการ
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่เคยได้รับผลกระทบหนักเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดแรงงานกลับมาแข็งแกร่งสู่ช่วงก่อนโควิด-19
ประการสุดท้าย วงจรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะใกล้สิ้นสุดลง
เนื่องจากธนาคารกลางเริ่มคลายความกังวลเมื่อเงินเฟ้อในแต่ละประเทศทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งไว้ กอปรกับค่าเงินภูมิภาคที่ผันผวนและคลี่คลายลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อยกเว้นในบางประเทศอย่าง สปป.ลาว และเมียนมา เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนค่าอย่างมากจากปัจจัยเฉพาะในประเทศจะทำให้ธนาคารกลางคงนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป
ทั้งนี้ จากปัจจัยหนุนดังกล่าว คาดว่าระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกรงต่อเนื่องในปีหน้าโดยยังสามารถขยายตัวที่อัตรา 4.5% โดยมีการบริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมที่จะรับมือสถานการณ์ความแปรปรวนของเศรษฐกิจทั่วโลก
ความท้าทายที่ภูมิภาคอาเซียนยังคงต้องเผชิญ
ความท้าทาย (Headwinds) สำคัญที่ภูมิภาคอาเซียนยังคงต้องเผชิญในระยะหนึ่งปีข้างหน้า มีสองประการ กล่าวคือ
การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในกลุ่มคู่ค้าสำคัญของภูมิภาค โดยกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักเหล่านี้ และ
อีกประการคือเหตุการณ์ “เอลนีโญ่” ที่เริ่มรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2567 สร้างผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคแตกต่างกันไป ประเทศที่พึ่งพาภาคการเกษตรมากกว่าย่อมได้รับผลกระทบหนักกว่า อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำมาหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและก่อสร้าง
โดย
สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา จะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากประชากรส่วนมากในประเทศเหล่านี้เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย เอลนีโญ่ยังส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลง ประเทศที่นำเข้าอาหารจำนวนมากจึงมีแนวโน้มที่ค่าครองชีพจะปรับสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
แม้ว่าภาพระยะสั้น อาเซียนอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกและสภาพอากาศ แต่เมื่อฉายภาพมาในระยะปานกลาง เศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคนมีแนวโน้มกลับมาฉายแววสดใสได้อีกครั้ง และคาดว่าจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตในอัตราสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 – 5.0 % ต่อปี โดยอาศัยจุดเด่นของภูมิภาค
จุดเด่นของภูมิภาคอาเซียน
1. กระแสภูมิภาคนิยม (regionalization)
หรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้มีข้อตกลงการค้าและการลงทุนเสรีภายในภูมิภาคหลากหลาย โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียน ร่วมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจา ที่ครอบคลุมร้อยละ 30 ของ GDP โลก ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศเติบโตได้ต่อเนื่อง และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของภูมิภาคจากการคุกคามของประเทศมหาอำนาจได้อีกด้วย
2. การยกระดับความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุน
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงแต่เป็นการเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนจากต่างชาติ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอีกด้วย
ประเทศเหล่านี้ยังพัฒนาบรรยากาศการลงทุนด้านอื่น ๆ อาทิ
- การผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ
- การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
- ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตลาดในประเทศที่มีขนาดใหญ่
- กำลังซื้อที่สูงตามสัดส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งยังมีศักยภาพการขยายตัวอีกมากเนื่องจากมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่สูง
จากปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศในอาเซียนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ ได้แก่
เวียดนามที่มีดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ปรับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 67 ในปี 2021 ก้าวกระโดดขึ้นมาจากอันดับที่ 77 ในปี 2018 ทั้งนี้ เมื่อผนวกกับลมที่เปลี่ยนทิศทางของห่วงโซ่อุปทานของนักลงทุน (supply chain relocation) บรรษัทข้ามชาติจึงหันมาให้ความสนใจการลงทุนในอาเซียน ซึ่งน่าจะเห็นภาพได้ชัดมากขึ้นภายในอีก 3-5 ปีต่อจากนี้
3. มีแหล่งทรัพยากรสำหรับธุรกิจสีเขียว
ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีแหล่งทรัพยากรสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างนิกเกิล ทองแดง และโคบอลต์ ได้ส่งสัญญาณนำเสนอนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยอาศัยความเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของอุตสาหกรรม EV และการเงินสีเขียว (Green finance) ในภูมิภาคที่มีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีติตต่อกัน มีมูลค่าสูงกว่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 ที่ผ่านมา
4. โอกาสเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในภูมิภาคอาเซียน
ได้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มธุรกิจฟินเทคยังเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ที่จะเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคนำไปสู่สังคมโลกยุคดิจิทัลพร้อมก้าวทันสถานการณ์โลก
จุดแข็งของภูมิภาคอาเซียนที่กล่าวข้างต้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการลงทุนของอาเซียนยังคงสดใสแข็งแกร่ง อาเซียนได้เรียนรู้วีธีการอยู่รอดได้ด้วยตนเอง ผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคได้ ทั้งนี้
อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดหวังให้นำทัพอาเซียนสู่ภูมิภาคที่เติบโตเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนประชากรจำนวนมากอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การออกนโยบายเชิงโครงสร้างที่หลากหลายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอานิสงส์ของการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานที่แสงสปอตไลท์ฉายเข้าสู่ฝั่งทวีปเอเชีย และผลบวกต่อเนื่องจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคกันเอง ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ณ ขณะนี้
ปัจจัยดังกล่าวจึงเปรียบเสมือน
“สร้างเกราะป้องกันตนเองและสร้างความเข้มแข็ง” นำอาเซียนไปสู่ภูมิภาคที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมรับมือกับผลกระทบและยังช่วยบรรเทาความรุนแรงจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเงินโลกที่รออยู่เบื้องหน้าได้อย่างมั่นคง