ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ประชากรไทยทุก ๆ 5 คน จะมีคนที่อายุมากกว่า 60 ปีอยู่ 1 คน รวมทั้งยังมีอัตราการเกิดที่น้อยลง นั่นจึงทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มมีเพดานการเติบโตที่จำกัด ทั้งในแง่ของกำลังซื้อ แหล่งทรัพยากร และตัวเลขแรงงาน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเริ่มมองหา
ประเทศที่น่าลงทุนหรือธุรกิจที่น่าสนใจในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดเพิ่มเติม
Krungsri The COACH มองว่าประเทศที่น่าลงทุน และกำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง คือ “ASEAN Market” หรือตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของดีใกล้ ๆ บ้านเรานี่เอง ถ้าใครอยากรู้ว่าเพราะอะไร? ประเทศไหนบ้างในอาเซียนที่น่าลงทุน? และธุรกิจที่น่าสนใจในต่างประเทศมีอะไรบ้าง เพื่อต่อยอดหรือขยายธุรกิจของเรา? หากอยากคว้าโอกาสทำธุรกิจต้องเตรียมตัวอย่างไร ไปดูกันเลย
ทำไมธุรกิจไทยต้อง Go ASEAN?
1. ขนาดเศรษฐกิจอาเซียนใหญ่กว่าอินเดีย ทั้งที่มีประชากรน้อยกว่าครึ่ง!
ภูมิภาค ASEAN มีจำนวนประชากรราว 680 ล้าน ขนาดของเศรษฐกิจของอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของ “อินเดีย” โดยประเทศอินเดียมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
นอกจากนี้เมื่อมองที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียนประมาณ 4.5 - 5% ถือเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด
2. ขนาดพื้นที่ใหญ่และมีความหลากหลายของทรัพยากรสูง
หากนำพื้นที่ทั้งหมดของ 10 ประเทศในภูมิภาค ASEAN มารวมกัน จะมีขนาดพื้นที่เทียบเคียงกับทวีปยุโรปเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงความเจริญและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากประชากรหลากหลายชาติพันธุ์
3. ธุรกิจเริ่มมองหา “ประเทศที่เป็นกลาง” เพื่อตั้งฐานการผลิต
จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจอย่าง “จีน และสหรัฐฯ” ที่ถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกันในเวทีโลก ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจรวมถึงประเทศข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบ ทำให้นักธุรกิจเริ่มมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทเหล่านี้ ดังนั้นภูมิภาค ASEAN จึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหลายประเทศที่ “วางตัวเป็นกลาง” คือ สามารถรักษาความสัมพันธ์ทั้งฝั่งจีนและสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี
4 ประเทศที่น่าลงทุนใน ASEAN ธุรกิจส่งออกไทย ต้องจับตา
ด้วยขนาดของเศรษฐกิจของอาเซียนที่ค่อนข้างใหญ่ ถ้าจะให้พูดถึงประเทศที่เศรษฐกิจดีที่สุดในอาเซียน คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะในบรรดา 10 ประเทศจากภูมิภาค ASEAN ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ล้วนมีความโดดเด่นแตกต่างกัน แต่หากจะมองในแง่ของ
ประเทศที่น่าลงทุนทำธุรกิจ Krungsri The COACH ขอแนะนำ 4 ประเทศที่น่าจับตามองดังต่อไปนี้
1. ประเทศมาเลเซีย
จุดเด่นที่น่าสนใจ :
ประเทศที่น่าลงทุนในอาเซียนประเทศแรก คือ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับภาคใต้ของไทย แม้จะมีจำนวนประชากรน้อยกว่าราวครึ่งหนึ่ง แต่ก็มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทยเลยทีเดียว เมื่อมองที่ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศมาเลเซียจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี โดยทางรัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่า จะสามารถยกระดับจากประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง สู่การเป็นประเทศกลุ่มรายได้สูง ภายในปี 2026
หากมองในแง่การลงทุนทำธุรกิจ มาเลเซียเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง ประชากรจึงมีกำลังซื้อสูง หรือหากมองในแง่การตั้งบริษัทหรือฐานการผลิต ค่าแรงก็ถือว่าไม่ได้สูงมาก นอกจากนี้ทางรัฐบาลมาเลเซียก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง “Intel” ได้เลือกมาเลเซียเป็นฐานที่ตั้งการผลิต
ความท้าทายสำคัญ :
เริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานประเภท “3D” คือ งานหนัก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous) นอกจากนี้ยังมีกฎหมายการจ้างแรงงานต่างชาติที่มีความเข้มงวด จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อนักธุรกิจที่ต้องการไปตั้งโรงงานหรือขายสินค้าได้
เหมาะกับอุตสาหกรรม/ธุรกิจประเภทใด :
สินค้าน่าส่งออกไปประเทศมาเลเซีย ได้แก่ ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ น้ำยางข้น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ สินค้าอาหารส่งเสริมสุขภาพ สินค้า Keto และอาหารสัตว์
2. ประเทศอินโดนีเซีย
จุดเด่นที่น่าสนใจ :
อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าลงทุนในอาเซียน ประเทศหมู่เกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ รวมถึงแร่ธาตุอย่าง “นิกเกิล” ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Tesla ตัดสินใจมาตั้งโรงงานผลิตที่นี่ นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีจำนวนประชากรสูงราว 280 ล้านคน โดยมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อยคือ 30 ปีเท่านั้น หากมองในแง่ธุรกิจจึงถือเป็นแหล่งแรงงานขนาดใหญ่ และค่าแรงไม่สูงมาก
ความท้าทายสำคัญ :
แรงงานอาจจะไม่ได้มีทักษะสูงมาก นอกจากนี้ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงอาจมีขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่ซับซ้อน
เหมาะกับอุตสาหกรรม/ธุรกิจประเภทใด :
สินค้าน่าส่งออกไปที่อินโดนีเซีย ได้แก่ อุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ EV เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ
3. ประเทศฟิลิปปินส์
จุดเด่นที่น่าสนใจ :
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก จนถูกมองว่ากลับมาฟื้นได้ยาก แต่หลังจากมีการปฏิรูปประเทศ และมุ่งปราบปรามคอร์รัปชัน ฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนในอาเซียน ที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยราว 5% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศ คิดเป็นราว 50 - 60% ต่อสัดส่วน GDP นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นที่ "ทรัพยากรมนุษย์" คือเป็นประเทศที่มีประชากรใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ใน ASEAN รองจากสิงคโปร์เท่านั้น
ความท้าทายสำคัญ :
ฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นกัน จึงอาจมีระเบียบขั้นตอนในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ข้อกฎหมายต่าง ๆ ของที่นี่ก็ค่อนข้างซับซ้อน สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจในฟิลิปปินส์อาจมองหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญมาให้ความช่วยเหลือได้
เหมาะกับอุตสาหกรรม/ธุรกิจประเภทใด :
สินค้าไทยที่เหมาะกับการส่งออกไปสู่ตลาดการค้าฟิลิปปินส์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแปรรูป เช่น อาหารแปรรูปที่มีอายุเก็บรักษายาวนาน ผงปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอส ฯลฯ เนื่องจากเป็นประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติค่อนข้างบ่อย จึงมีความขาดแคลนทางด้านอาหารเป็นหลัก
4. ประเทศเวียดนาม
จุดเด่นที่น่าสนใจ :
เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างโดดเด่นและต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ราว 6% และพบว่าชนชั้นกลางเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น นอกจากนี้เวียดนามยังมอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้กับนักลงทุนอย่างเต็มอัตรา และมีความสัมพันธ์อันดีทั้งกับจีนและสหรัฐฯ
ความท้าทายสำคัญ :
เวียดนามมีขั้นตอนในการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากนี้แม้ว่าชาวเวียดนามรุ่นใหม่จะมีความสามารถทางภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่หากมองไปที่แรงงานโดยภาพรวมแล้วอาจยังมีอุปสรรคเรื่องของภาษาอยู่
เหมาะกับอุตสาหกรรม/ธุรกิจประเภทใด :
สินค้าไทยที่เหมาะกับการส่งออกไปประเทศเวียดนาม ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบยานยนต์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากยางและเหล็ก นอกจากจะเหมาะกับการตั้งฐานการผลิตแล้ว เวียดนามยังเหมาะกับการตั้งฐานจำหน่ายสินค้าให้คนในประเทศอีกด้วย
อยากขยายธุรกิจส่งออกไป ASEAN ต้องรู้อะไรบ้าง
จนถึงตอนนี้หลายคนคงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าประเทศที่น่าลงทุนในอาเซียนหรือธุรกิจที่น่าสนใจในต่างประเทศมีอะไรบ้าง ซึ่งหากเจ้าของกิจการหรือนักธุรกิจที่สนใจขยายธุรกิจสู่กลุ่มประเทศ ASEAN นอกเหนือจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว Krungsri The COACH แนะนำว่าควรศึกษาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่
- ประเมินธุรกิจของเราอยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่มใด ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง
- ศึกษาข้อมูลว่าแต่ละประเทศตอบโจทย์อุตสาหกรรมใด วัฒนธรรมของประชากรเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าเรามีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นหรือไม่
- ตลาดในประเทศนั้น ๆ มีผู้เล่นรายใดอยู่บ้าง ยังมีช่องทางที่สามารถสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจของเราได้อีกไหม
- ตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจในประเทศที่ตอบโจทย์ธุรกิจเรามากที่สุด
สำหรับเจ้าของธุรกิจที่มีความสนใจในการขยายธุรกิจส่งออกไปที่กลุ่มประเทศที่น่าลงทุนอย่างอาเซียน ASEAN และกำลังมองหาผู้เชี่ยวชาญและตัวช่วยในการขยายธุรกิจไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน Krungsri The COACH ขอแนะนำให้รู้จักกับบริการ
ASEAN LINK จากธนาคารกรุงศรี ที่ปรึกษาผู้รู้รอบด้านและเข้าใจตลาด ASEAN เป็นอย่างดี สามารถให้ข้อมูลและวิเคราะห์โซลูชันต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ พร้อมช่วยดูแลคุณตั้งแต่การเริ่มธุรกิจ การส่งออก การหาความร่วมมือหรือหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาด ด้วยเครือข่าย MUFG ที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาค
อีกทั้งธนาคารยังมุ่งเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจนิติบุคคลทั่วไปที่สนใจ ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ลูกค้าธุรกิจได้พบคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่น่าเชื่อถือ ผ่านแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ
Krungsri Business Link ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2,000 บริษัท พร้อมเสริมด้วยกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching ที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรียังพร้อมสนับสนุนและเสริมสภาพคล่องธุรกิจของคุณ เพื่อให้ก้าวสู่ตลาดอาเซียนได้อย่างมั่นคงด้วย
สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ บริการสินเชื่อเพื่อการนำเข้า-ส่งออก โดยสามารถกู้ได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศ และบริการรับซื้อ/ซื้อลดตั๋วส่งออกและเอกสารภายใต้เลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ
อ้างอิง