แก้พอร์ตหุ้นอย่างไร? พอกันทีคำว่า “ติดดอย”
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

แก้พอร์ตหุ้นอย่างไร? พอกันทีคำว่า “ติดดอย”

icon-access-time Posted On 19 ตุลาคม 2565
by Krungsri The COACH
ก่อนที่จะไปเรียนรู้เทคนิคการแก้พอร์ตหุ้นหรือปรับพอร์ตหุ้น เรามาทำความรู้จักคำสุดฮิตอย่าง “ติดดอย” กันก่อน

ติดดอย เป็นคำแสลงของนักเล่นหุ้นที่มักจะพูดกันจนติดปาก เวลาที่ซื้อหุ้นมาในราคาที่สูงหรือราคาแพงมาก เสมือนขึ้นไปอยู่บนยอดดอย แต่สุดท้ายหุ้นนั้นกลับราคาดึ่งลงมาแบบฉุดไม่อยู่ ก็กลายเป็นว่า “เราติดดอย” ไปซะอย่างนั้น!

แค่ได้ยินคำว่า “ติดดอย” หลายคนก็รู้สึกหนาวสั่นจนขนลุก แต่การติดดอยของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป เพราะดอยในตลาดการลงทุนมีมากมายให้เลือกติดเสียเหลือเกิน เช่น ดอยน้ำมัน ดอยทองคำ ดอยหุ้น และอื่น ๆ จนหลายครั้งก็สับสนว่าควรจะปรับพอร์ตหุ้นยังไงดี? ให้ชีวิตนี้ไม่ต้องอยู่บนยอดดอนอันหนาวเหน็บอีก

เรามาดูพร้อมกันดีกว่าว่า มีทางแก้อาการติดดอยสำหรับมือใหม่ที่ลงทุนในหุ้นหรือคนที่ยังคงหาทางลงจากยอดดอยไม่ได้อย่างไรดี
 
แก้พอร์ตหุ้นอย่างไร? พอกันทีคำว่า “ติดดอย”

5 วิธีลงจากดอยอย่างไรให้พร้อมไปต่อ

1. ขายหุ้นไร้อนาคต (Cut Loss)

"Cut Loss" คือ การขายหลักทรัพย์ออกไปโดยที่ยัง "ขาดทุน" แต่จะทำเพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุดก่อนที่หุ้นจะมีมูลค่ามากกว่าที่มีอยู่ เมื่อมูลค่าหุ้นของนักลงทุนลดลงจนถึงจุดที่ไม่ต้องการให้ลงไปมากกว่านี้ การ “Cut loss” นั้นก็จะเป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำให้นักลงทุนขาดทุนลดลงได้ ซึ่งการลงทุนแต่ละครั้งก็จะมีเกณฑ์การ Cut Loss ที่ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมรับความเสี่ยงได้มากหรือน้อยแค่ไหน บางคนอาจเลือกเปอร์เซ็นต์การสูญเสียพอรับได้ที่ 5-10% หรืออีกทางหนึ่ง หากราคาทะลุแนวรับของกราฟทางเทคนิคไปแล้ว บางคนก็เลือกที่จะขายออกได้

เพื่อให้มองเห็นภาพชัดขึ้น โดยรวมแล้วเมื่อพิจารณาว่าอุตสาหกรรมของหุ้นที่เราลงทุนไม่ได้ทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พื้นฐานในหุ้นเปลี่ยนแปลง หากธุรกิจกำลังมุ่งหน้าไปในทางที่ผิด อาจจำเป็นต้อง "Cut Loss" โดยตระหนักถึงขีดจำกัดการขาดทุนของตนเองตามเปอร์เซ็นต์ หรือตามมูลค่าที่เรารับไหว

แม้จะทำให้เจ็บใจหรือขาดทุนไปบ้าง แต่เทคนิคนี้ จะช่วยให้มีเงินกลับเข้ามา และผันเงินในหุ้นที่มีแนวโน้มไม่ดี สามารถเอาไปลงทุนอย่างอื่นและลดหุ้นตัวแดงในพอร์ตลงได้บ้าง

2. ปรับพฤติกรรมการลงทุนของเราให้เหมาะสม

ในกรณีนี้อาจจะต้องลองมานั่งดูว่ามีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้การลงทุนในชีวิตการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในรูปแบบการลงทุนในตลาดหุ้นหรือรูปแบบไหนก็ตาม ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่เราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง เช่น ตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นนั้นเพราะอะไร? มีปัจจัยอะไรบ้างในการคัดเลือกซื้อหุ้นที่เราลงทุน หลายคนอาจตัดสินใจจากการ “ซื้อตามการบอกเล่า เขาเล่าว่า หรือการซื้อตามข่าวลือ” ที่เป็นเหตุทำให้พอร์ตเราติดตัวแดงและมูลค่าลดลงจนติดดอยขึ้นมาได้ หรืออีกหนึ่งตัวอย่างเช่น “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งคติที่หลาย ๆ คนเลือกทำจนเป็นเหตุให้ติดดอยได้เช่นกัน เมื่อเราสังเกตพฤติกรรมการลงทุนของเราเองแล้วนำมาปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเรา ก็จะส่งผลดีกับชีวิตการลงทุนของเราได้ในระยะยาว

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เริ่มอยากฟังเกี่ยวกับการแก้พอร์ตหุ้น หรือกำลังหาวิธีลงจากดอย แบบยาว ๆ เราขอแนะนำ Krungsri The COACH ใน Ep.34 เรื่องแก้พอร์ตหุ้นอย่างไร? พอกันทีคำว่า “ติดดอย” ที่ได้ดูแบบเต็ม ๆ

3. ขายไปก่อนและซื้อคืนทีหลัง (Short Against Port)

Short Against Port ความหมายคือ การที่เรามีหุ้นอยู่ในมือ และคาดว่าราคาของหุ้นกำลังจะตกหรือมีมูลค่าลดลง จึงพิจารณาและขายหุ้นตัวนั้นในตลาดก่อน พอราคาหุ้นตกลง แล้วค่อยซื้อกลับคืนจากตลาดในราคาที่ถูกกว่ากลับเข้ามา ซึ่งมีนักลงทุนหลายท่านเริ่มสนใจกลยุทธ์ Short Against Port ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติเรามีหุ้น ABC อยู่ ปัจจุบันราคา 50 บาท และเชื่อว่าจะมีการปรับตัวลงมาระยะสั้น และถ้าเชื่อแบบนี้แทนที่จะถือหุ้นไว้เฉย ๆ อาจเลือกขายหุ้น ABC ที่ราคา 50 บาท แล้วพอราคาปรับตัวลงมา เช่น 47 บาท ค่อยเข้าไปซื้อ จะทำให้เราสร้างผลตอบแทนได้ 3 บาทต่อหุ้นด้วยกลยุทธ์ Short Against Port นี้

4. บริหารพอร์ตให้ดี ปรับพอร์ตเมื่อสภาวะตลาดเปลี่ยน

หุ้นไหนดีก็เก็บไว้ แต่ถ้าแนวโน้มหุ้นอันไหนทรงไม่ค่อยดีแล้วก็ต้องขายออกไป ถ้าทิ้งตัวที่ไร้อนาคตไปแล้วก็จะมีเงินทุนกลับมา ซึ่งมันก็จะนำไปสู่เรื่องที่จะกล่าวถัดไป คือ “จะลงทุนอย่างไร”

โดยอีกกลยุทธ์นึงที่สามารถทำได้ก็คือ “เลือกตามธีม” ตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ในช่วงภาวะโควิดแล้วใกล้จะเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวก็เริ่มที่จะกลับมา ดังนั้น ธีมการลงทุนที่น่าสนใจก็อาจจะเลือกได้จาก “ธีมเปิดเมือง” หุ้นที่จะคึกคักเลยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ใน กลุ่มโรงแรม กลุ่มสายการบิน และอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเลือกธีมก็คือเราจะต้องเข้าใจสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจช่วงนั้นเพื่อที่จะเลือกธีมได้ถูก เลือกให้ดีและเติบโตไปกับหุ้นเหล่านั้น ก็จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในจังหวะที่ดีและถูกต้อง
 
หุ้น Laggard คืออะไรเลือกลงทุนอย่างไร

5. กลยุทธ์การลงทุนแบบเลือกหุ้น Laggard

หุ้น Laggard ความหมายคือ หุ้นที่ราคายังไม่ปรับขึ้นมากและมีการปรับตัวของราคาที่ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมหรือในตลาด โดยอิงความหมายจากคำว่า Laggard ที่แปลได้ว่า เชื่องช้า หรือชักช้า ซึ่งวิธีเลือกหุ้น Laggard ก็แบ่งออกได้ 2 รูปแบบ เริ่มจาก
  • เลือกจากพื้นฐานเป็นกลยุทธ์แรก หุ้น Laggard ถือเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ พื้นฐานที่ต้องเหมือนกับหุ้นผู้นำ เพราะมูลค่าหุ้นหรือการประเมินมูลค่าหุ้นไม่ควรเปลี่ยนแปลงเมื่อนำปัจจัยพื้นฐานมาเปรียบเทียบกัน ดังนั้นราคาหุ้นก็ควรปรับขึ้นตามเช่นเดียวกัน
  • เลือกหุ้น Laggard ตามแนวโน้มการลงทุนในปัจจุบัน เช่น หุ้นปันผล หุ้นเมกะโปรเจกต์ บริษัทเทคโนโลยี หุ้นส่งออกที่ได้เงินบาท หุ้น New Economy และหุ้นพลังงานหมุนเวียน ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

บางคนอาจจะตามธีมไม่ทัน ก็จะมีอีกวิธีคือ “หุ้น Laggard” ในกลุ่มประกัน เช่น ตัวไหนบ้างที่ขึ้นไปแล้ว แต่บางคนอาจจะมองว่าราคายังแพงเกินไปก็จะไปดูในส่วนของหุ้นตัวรองลงมา ทำไมต้องเป็นหุ้นตัวรองลงมา? ก็เพราะว่า หุ้นตัวนำนั้นได้มีราคาขึ้นไปแล้วเพราะฉะนั้นตัวรองก็ต้องขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

การลงทุนหุ้น Laggard จะต้องดูให้ดี ๆ ว่ามีปัจจัยพื้นฐานหุ้นที่ดีอยู่ ไม่ใช่ว่าเลือกหุ้น Laggard ตัวที่มีปัจจัยที่ไม่ดีสังเกตคร่าว ๆ ได้จากอาจจะมีปัญหาหนี้สินเยอะเกินไป หรือมีปัจจัยลบอื่น ๆ จากบริษัทที่เราสนใจเลือกมาเป็นหุ้น Laggard

ไม่ว่าเราจะวางแผนพอร์ตลงทุนหุ้นไว้รอบคอบเพียงใด ก็ต้องไม่ลืมว่า “ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” ดังนั้นจำเป็นจะต้องเผื่อใจไว้เจ็บบ้าง “ความล้มเหลว” ก็คือ “ความสำเร็จ” ถ้าหากเราเรียนรู้และปรับแผนการลงทุนของเราให้ดี ก็จะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของเราได้ดีในระยะยาวเช่นกัน
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา