7 เช็กลิสต์ลงทุนกองทุนรวม ที่ควรรู้ก่อนลงทุน
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

7 เช็กลิสต์ลงทุนกองทุนรวม ที่ควรรู้ก่อนลงทุน

icon-access-time Posted On 13 กุมภาพันธ์ 2566
by Krungsri The COACH
การที่เราจะเลือกซื้ออะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็จะต้องเริ่มจากการพิจารณาสินค้าตัวนั้น ไม่ว่าจะในแง่ของราคาจะแพงเกินไปไหม คุณภาพสมราคาหรือเปล่า จะเกิดการเปรียบเทียบราคาของสินค้าที่เราจะซื้อกับร้านค้าอื่นที่ขายสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เราจะซื้อกองทุน ในแง่ของการจะเลือกซื้อกองทุนรวมธนาคารไหนดี? หรือกองทุนรวมที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ และกองทุนที่เราจะซื้อเนี่ยมีความเสี่ยงอยู่ในระดับไหน ซึ่งแน่นอนว่าเราจะพลาดไม่ได้เลยที่จะตรวจสอบให้ละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจ ซื้อ ขาย ในทุกครั้ง เพราะฉะนั้นวันนี้เราพาทุกคนไปดูว่ามีเช็กลิสต์อะไรบ้างที่ไม่ควรพลาดก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมไปดูพร้อม ๆ กันเลย
 
เช็กลิสต์ก่อนลงทุนกองทุนรวม ต้องดูอะไรบ้าง?

เช็กลิสต์ก่อนลงทุนกองทุนรวม ต้องดูอะไรบ้าง?

1. รู้ว่าจะซื้อกองทุนประเภทไหน และนโยบายของกองทุนเป็นอย่างไร

สิ่งแรกที่เราจะพลาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ เราควรที่จะรู้ว่าเราจะซื้อกองทุนอะไร และกองทุนที่เราจะซื้อมีนโยบายการลงทุน หรือมีกรอบการลงทุนแบบไหน เพื่อที่เราผู้ซื้อจะได้มองแล้วเห็นภาพมากขึ้น ว่าเงินที่จะเอาไปให้ผู้บริหารกองทุนจะเอาเงินเราไปลงทุนกับสินทรัพย์อะไรบ้าง

ตัวอย่างเช่น เอาไปลงทุนที่เงินฝากตราสารหนี้ของรัฐ, รัฐวิสาหกิจ, ภาคเอกชน ฯลฯ หรือในบางกองทุนอาจจะมีแค่หุ้นเดียว แต่ในบางกองทุนอาจมีการใช้อนุพันธ์ร่วมด้วย และสิ่งที่สำคัญเลยคือ ควรที่จะรู้ว่ากองทุนที่เราจะซื้อมี Top Holdings เป็นหุ้น หรือสินทรัพย์อะไร สิ่งสุดท้ายเลยที่ควรรู้ก็คือตัวเลขดัชนีชี้วัดที่ใช้วัดผลตอบแทนเป็นอย่างไร เพราะเมื่อตอนที่เราไปดูหนังสือชี้ชวนกองทุนในอนาคตข้างหน้า และมีการปรับพอร์ตเราจะได้รู้ที่มาที่ไปของการลงทุน
 

2. ระดับความเสี่ยงตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน

 
ระดับความเสี่ยงตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน

ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมมีตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 8 เราจะไปเริ่มกันที่ความเสี่ยงระดับ 1 มีความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงระดับ 8 จะมีความเสี่ยงสูงมาก ตัวอย่างเช่น หากระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้อยู่ที่ระดับ 4 แสดงว่าสามารถลงทุนในกองทุนที่มีระดับคะแนนตั้งแต่ 1 - 4 แต่ถ้าอยากลงทุนในความเสี่ยงระดับ 5 ขึ้นไป นั่นหมายความว่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินกว่าความเสี่ยงที่เราจะรับไหวนั่นเอง เพราะฉะนั้นความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เวลาเราจะเลือกซื้อกองทุนไหนสักกอง เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และการที่เราเข้าใจ และรับรู้ถึงระดับความเสี่ยงที่เราจะรับไหวก่อนที่จะลงทุนจะทำให้การลงทุนนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วถ้าอยากฟังแบบรวดเดียวจบแบบไม่สะดุดแนะนำ Krungsri The COACH Ep. 59 เช็กลิสต์สายช้อปกองทุนรวม ไปฟังกันต่อได้เลย

 

3. ผลการตอบแทนย้อนหลังของกองทุน

เมื่อดูระดับความเสี่ยงแล้วสิ่งสำคัญที่จะไม่ดูไม่ได้เลยคือ ผลการดำเนินงานซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
  • ผลการดำเนินงาน และดัชนีชี้วัดย้อนหลัง 5 ปีปฏิทิน (% ต่อปี)
    วิธีการดู คือจะดูตั้งแต่เดือน มกราคม - ธันวาคม แบบย้อนหลังไปอีก 5 ปี
  • ผลการดำเนินงานย้อนหลังปักหมุด (% ต่อปี)
    วิธีการดู ตัวอย่างเช่น ข้อมูลสิ้นสุดที่เดือนกันยายน 2565 โดยที่จะดูตัวเลขที่ 3 ปี ย้อนหลังกลับไป

โดยที่การดูผลตอบแทนกองทุนสำหรับมือใหม่จะมีแนวทางง่าย ๆ คือ ถ้าหากผลตอบแทนกองทุนสูงกว่าดัชนีอ้างอิง และสูงกว่าผลตอบแทนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถือว่ากองทุนนั้นเป็นกองทุนที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลประกอบการในอดีตไม่ได้เป็นตัวการันตีได้ว่าผลประกอบการในปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นกองทุนที่ดี ดังนั้น จึงต้องดูปัจจัยอื่นควบคู่ไปด้วยนั่นเอง
 

4. เข้าใจข้อมูลเชิงสถิติ (Fund Fact Sheet)

ต่อเนื่องจากสองข้อที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้ที่คิดจะลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนอื่น ๆ ควรที่จะเข้าใจในตัวของ Fund Fact Sheet หรือข้อมูลเชิงสถิติให้ดี โดยที่ Fund Fact Sheet จะแบ่งออกเป็น 6 ข้อหลักด้วยกัน
  • Maximum Drawdown คือ การวัดความเสี่ยงของกองทุน ในกรณีที่กองทุนตกลงสูงสุดในรอบ 5 ปี
  • Recovering Period คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หน่วยราคาติดลบ การที่จะกลับมาที่ต้นทุนเดิมใช้เวลานานเท่าไหร่ มีหน่วยเป็น เดือน วัน ปี ซึ่ง Recovering Period “ยิ่งสั้น ยิ่งดี”
  • FX Hedging คือ หากเกิดการผันผวนของค่าเงินผู้ดูแลกองทุนจะดูแลในส่วนนี้ให้ตามนโยบายของธนาคารนั้น ๆ ที่เราไปซื้อกองทุนด้วย
  • อัตราส่วนการหมุนเวียนการลงทุน คือ ปริมาณการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุน ซึ่งสะท้อนกลยุทธ์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้ดียิ่งขึ้น
  • อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ คือ ระยะเวลาการจ่ายคืนเงินเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินในแต่ละงวด หรืออาจเปรียบเสมือนกับอายุคงเหลือของตราสารหนี้นั้น ๆ ตัวอย่างเช่น อายุเฉลี่ยตราสารหนี้ 1 ปี และในปีนั้นธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยขึ้น 1% นั่นหมายความว่า ตราสารหนี้อายุ 1 ปี ก็จะติดลบ 1% ซึ่งอายุเฉลี่ยมีผลสำคัญที่จะไปเกี่ยวโยงกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด และในเศรษฐกิจด้วย
  • Yield to Maturity คือ ผลตอบแทนตราสารหนี้ที่อยู่ในกองทุน “ยิ่งสูง ยิ่งดี
 

5. ทรัพย์สินที่ลงทุน

การที่เราลงทุนนำเงินไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ นั้นแปลว่าเราคือเจ้าหนี้ ดังนั้น เรามีสิทธิ และอยากที่เข้าไปดูหน้าตาลูกหนี้ของเรา โดยทาง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ให้เราดูด้วย เพื่อที่จะให้เราทราบว่าลูกหนี้ของเรามีศักยภาพและความแข็งแรงทางการเงิน และแนวโน้มการชำระเงินคืนมากแค่ไหน

ตัวอย่างเช่น AAA ความหมายคืออยู่ในระดับดีมาก เราให้ยืมเงิน 20 บาท คืนแน่นอน 20 บาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งอะไรก็ตามที่เป็น BBB+ ขึ้นไป (Investment Grade) ถือได้ว่าสถานะทางการเงินดีมีโอกาสในการชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเราสูง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างมีความเสี่ยง ซึ่งการที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดเกรดเพื่อแค่บอกได้ว่าลูกหนี้เรามีโอกาสสูงที่จะคืนเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยเรา
 
มีค่าธรรมเนียมอย่างไรบ้าง
 

6. มีค่าธรรมเนียมอย่างไรบ้าง

มาดูในส่วนของขั้นตอนสุดท้ายกันเลยก็คือ ค่าธรรมเนียมก่อนทำการซื้อขาย เนื่องจากตัวเลขนี้คือตัวเลขที่เราจะถูกหักออกจากผลตอบแทนที่เราได้รับ โดยค่าธรรมเนียมที่กองทุนเรียกเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรงจะมีค่าธรรมเนียมหลัก ๆ อยู่สองรูปแบบ
  • ค่าธรรมเนียมในส่วนของ Front-End หรือค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน เก็บตอนกองทุนขายหน่วยลงทุนให้กับเรา
  • ค่าธรรมเนียมในส่วนของ Back-End หรือค่าธรรมเนียมซื้อหน่วยลงทุน เวลาเราขายกองทุน กองทุนจะซื้อหน่วยลงทุนของเราคืนไปนั่นเอง

และค่าธรรมเนียมอีกรูปแบบหนึ่งคือ ค่าธรรมเนียมที่กองทุนรวมเรียกเก็บจาก (Net Asset Value: NAV หรือทรัพย์สินสุทธิ) ซึ่งจะหักจากของกองทุนรวมในทุกวัน ค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการกองทุน และดูแลผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่เจ้าของกองทุน ทั้งนี้ทั้งนั้นควรต้องตรวจสอบในหนังสือชี้ชวนอย่างละเอียด เพราะกองทุนแต่ละประเภทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้ไม่เท่ากัน
 

7. การซื้อหน่วยลงทุน

การที่เราจะซื้อ-ขาย หน่วยลงทุนเราจำเป็นที่จะต้องรู้เวลาในการเปิด-ปิด และวันทำการซื้อด้วย เพราะถ้าสมมุติว่าเรารีบที่จะต้องใช้เงินก้อนนั้น แล้วกองทุนของเราปิดตอน 15:30 น. ดังนั้นเราจะต้องรีบส่งคำสั่งซื้อ-ขาย ให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือผู้ดูแลกองทุนว่าเราจะขาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องไปดูที่กองทุนที่เราซื้อด้วยว่าการคืนเงินหน่วยลงทุนของเราเป็นแบบไหน เช่น (T+1) ถ้าเราส่งคำสั่งขายวันนี้ เขาจะส่งเงินคืนให้เราในวันถัดไป หรืออีกกรณีหนึ่ง คือแบบ (T+5) สมมุติว่าเราส่งคำสั่งขายวันนี้ก็นับไปอีก 5 วันข้างหน้า โดยที่จะไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดพิเศษ ดังนั้นก็ต้องดูให้ดี ๆ ว่านโยบายกองทุนที่เราซื้อเป็นแบบไหน

สรุป
อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันผลประโยชน์ของเราอย่างดีที่สุดก็อย่าลืมทำตามเช็กลิสต์ข้างบนกันนะทุกคน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับพอร์ตของเราได้ เพราะฉะนั้นใช้เวลาศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนที่นำเงินไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในกองทุนไหนก็ตาม
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา