สตาร์ทอัพไทย...กำลังเดินหน้าสู่ระดับยูนิคอร์น

สตาร์ทอัพไทย...กำลังเดินหน้าสู่ระดับยูนิคอร์น

By Krungsri Plearn Plearn

ในระยะเวลา 3-4 ปี ที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า “สตาร์ทอัพ” กันบ่อยครั้งเหลือเกิน เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการของธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็น Grab, Airbnb และ SnapChat ล้วนเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย บริษัทเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด แต่กลับสร้างมูลค่ามหาศาล!

หันกลับมามองสถานการณ์สตาร์ทอัพในไทยกันบ้าง จากสถิติของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พบว่ามีสตาร์ทอัพไทยจำนวนกว่า 1,700 ราย ซึ่งแนวโน้มตลาด Digital Economy ก็กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจสตาร์ทอัพไทยหลายราย รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์เทคโนโลยี ล้ำ ๆ เพื่อพัฒนาบริการของตัวเอง ผ่านโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ยกระดับเศรษฐกิจไทยและแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น

จากเทพนิยาย สู่แรงบันดาลใจในชีวิตจริง

หนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของสตาร์ทอัพคงหนีไม่พ้นการไปให้ถึงระดับยูนิคอร์น (Unicorn) ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ยูนิคอร์นเป็นสัญลักษณ์ของความสดใส เป็นสัตว์ในจินตนาการของใครหลายคน จนกลายเป็นเทรนด์ที่นำมาผนวกกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ แต่…ไม่เคยมีใครได้พบตัวยูนิคอร์นจริง ๆ!
จากสัตว์ในเทพนิยาย สู่แรงบันดาลใจในชีวิตจริง เมื่อ ยูนิคอร์น ถูกนำมาใช้เรียกสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจแค่ 3-5 ปี แต่ประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด จนมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 33,000 ล้านบาท ทั้งนี้คำว่า ยูนิคอร์น ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2556 จากบทความของ Aileen Lee ซึ่งเธอเล่าว่าโอกาสที่สตาร์ทอัพจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1 พันล้านเหรียญเป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าใครทำได้ก็จะกลายเป็นตำนานเหมือนยูนิคอร์นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีคำว่า มายลิตเติ้ลโพนี่ My Little Pony หมายถึงธุรกิจมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ “เดเคคอร์น” (Decacorn) มาจากคำว่า (Deca-) ที่แปลว่า 10 หมายถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญ เช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest

แกะรอย…ยูนิคอร์นอาเซียน

ในภูมิภาคอาเซียน มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเกิดขึ้นมากมาย อย่าง Sea Group จากประเทศสิงคโปร์ ผู้ให้บริการเกมและชอปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับเกม ROV และ LOL จนฮิตไปหลายประเทศ ต่อมาได้ขยายธุรกิจพัฒนา AirPay แอปพลิเคชั่นบริการชำระเงินออนไลน์ และ Shopee แพล็ตฟอร์ม E-Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด Sea Group สามารถพาธุรกิจตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้ ด้วยมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีสตาร์ทอัพด้านอสังหริมทรัพย์ที่มาแรง อย่าง Revolution Precrafted มูลค่าบริษัทพุ่งสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญ เป็นสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญการออกแบบบ้านโดยใช้เทคโนโลยี Prefabricated Building ซึ่งจะผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จ ก่อนจะนำมาประกอบกันที่หน้างานให้เข้ากับรูปแบบบ้าน และตอนนี้กำลังจะขยายบริการไปยัง 14 ประเทศ
สำหรับประเทศที่ครองสัดส่วนการลงทุนสตาร์ทอัพสูงสุดในอาเซียน ต้องยกให้อินโดนีเซีย เพราะมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่โตเร็วและโดดเด่นที่สุดอย่าง GoJek ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นบริการรถขนส่ง ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการคมนาคมในเมืองจาการ์ตา ปัจจุบัน GoJek ขยายธุรกิจไปยัง 25 เมืองใหญ่ในอินโดยนีเซีย พร้อมพัฒนาบริการอื่น ๆ เพื่อความหลากหลาย เช่น ชอปปิ้ง ส่งของ ทำความสะอาดบ้าน และธุรกรรมออนไลน์ ล่าสุดยังเข้ามาบุกตลาดไทย โดยร่วมลงทุนกับ GET แอปพลิเคชั่นเรียกรถมอเตอร์ไซค์เพื่อรับส่งผู้โดยสาร จะเห็นได้ว่า GoJek ใช้กลยุทธ์หาพันธมิตรที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกันในประเทศนั้น ๆ แล้วร่วมกันพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ยูนิคอร์นพันธ์ไทยอยู่ที่ไหน?

ที่ไหนมียูนิคอร์น สามารถชี้วัดได้ว่าที่นั่นมีธุรกิจสร้างสรรค์ที่เติบโตได้ดี แม้ปัจจุบันในประเทศไทยจะอยู่ในสถานะแค่เกือบมียูนิคอร์น แต่สตาร์ทอัพที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ก็คือ Omise (โอมิเซะ) สตาร์ทอัพฟินเทคกับธุรกิจ Payment Gateway หรือรูปแบบการชำระเงินออนไลน์ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2013 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของระบบชำระเงินของ True Corporation, Minor International, Kaidee, Ookbee และ Weloveshopping เป็นต้น
จากจุดเริ่มต้นในปี 2014 ด้วยเงินทุน 10 ล้านบาท จนสามารถระดมทุนใน Series B ได้สูงถึง 580 ล้านบาท ถือเป็นสตาร์ทอัพฟินเทคที่ใกล้เคียงระดับยูนิคอร์น เพราะมีมูลค่าการระดมทุนมากที่สุดในไทย และกำลังขยายธุรกิจไปยังหลายประเทศทั่วโลก
Omise มีจุดยืนที่ชัดเจน วาง Positioning ตัวเองอยู่ในระดับ พรีเมียมแบรนด์ ไม่ได้ราคาถูกที่สุด แต่ให้บริการดีที่สุด รองรับธุรกรรมคราวละมาก ๆ ที่เข้ามาพร้อมกันได้ โดยพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (Cutting Edge) สร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
Omise มาพร้อมกับฝันที่ยิ่งใหญ่ ถึงขั้นอยากเห็นป้ายรับชำระเงินผ่าน OmiseGO บนร้านค้าเช่นเดียวกับที่เราเห็นสัญลักษณ์ Visa หรือ MasterCard และมุ่งเน้นให้ทุกคนได้รับบริการรับชำระเงินออนไลน์ที่รวดเร็วและปลอดภัยมากที่สุด Omise จึงเหมาะสำหรับผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าออนไลน์ ปัจจุบันธุรกิจ Omise แตกไลน์ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ Omise Payment บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์, OmiseGO แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนและการชำระเงิน ผ่านเทคโนโลยี Blockchain, GO.Exchange เป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูง โปร่งใส และสร้างการแลกเปลี่ยนที่มีความยั่งยืน

เริ่มให้ดี คิดให้ใหญ่

การที่สตาร์ทอัพสามารถอัพเกรดไปให้ถึงระดับยูนิคอร์น ไม่ได้ประโยชน์แค่ตัวบริษัทเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงศักยภาพของการทำธุรกิจที่เน้นการเติบโตเร็ว ซึ่งถ้าสตาร์ทอัพไทยทำได้ การมีบริษัทมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ จะดึงดูดให้เหล่านักลงทุนต่างประเทศเข้ามา ทั้งยังช่วยต่อยอดให้ธุรกิจอื่น ๆ พัฒนาไปด้วย สร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศได้มากมาย อย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนจาก Google และ Facebook ที่ดูดเม็ดเงินจากคนทั่วโลกเข้าสหรัฐอเมริกาได้
จากความสำเร็จของสตาร์ทอัพยูนิคอร์น เริ่มจากคิดการใหญ่ให้บริษัทโตไว วางแผนจะขยายธุรกิจไปทั่วโลกตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง ไม่หยุดที่ความสำเร็จแค่ในประเทศ กล้าลงทุนกับพาร์ทเนอร์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ในด้านผลิตภัณฑ์ก็ต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ pain point ที่คนทั้งโลกต้องเจอ ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนในประเทศ จะยิ่งทำให้บริการของเรามีความเป็นสากลมากขึ้น หากสตาร์ทอัพไทยปลดล็อคแนวคิดนี้ได้ อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นยูนิคอร์นเกิดขึ้นจริงในไทย ร่วมกันเอาใจช่วยให้คนไทยไปไกลระดับโลกกันครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: thumbsup.in.th, techsauce.co, bossup.co.th, smeone.info, smartsme.co.th, tdri.or.th, thestandard.co, posttoday.com, noozup.me, thaismescenter.com, accelerate.dtac.co.th
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow