รับมือกับ AEC อย่างชาญฉลาด

รับมือกับ AEC อย่างชาญฉลาด

By Krungsri GURU SME

อีกไม่กี่วันทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การค้าขายการทำธุรกิจใน 10 ประเทศสมาชิก ไม่มีกำแพงภาษี ไม่มีการกีดกันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ และการลงทุน ขณะที่แรงงานมีฝีมือใน 7 สาขาอาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก และนักสำรวจ สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี

ข้อตกลงร่วมกันดังกล่าวล้วนมีประโยชน์กับสมาชิกโดยรวม แต่เปรียบเหมือนกับเหรียญต้องมีสองด้านเสมอ เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อด้อยเป็นธรรมดา แต่ถ้าผู้ประกอบการรู้เท่าทันสิ่งที่จะเกิดขึ้นและรับมือได้อย่างชาญฉลาดก็จะได้เปรียบเมื่อเข้าสู่ AEC เพราะผลดีของการเข้าสู่ AEC หลัก ๆ คือ จะมีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน ทำให้มีตลาดใหญ่ขึ้น ระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนแรงงานมากกว่า 300 ล้าน มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 429 ล้านไร่ ซึ่งในขณะที่โอกาสการทำธุรกิจเปิดกว้างขึ้น แต่ก็มีความท้าทายและมีคู่แข่งมากตามไปด้วย

 
ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ย่อมจะต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งอันที่จริงหากสังเกตุให้ดีผลกระทบจาก AEC ก็เริ่มมีเข้ามาแล้ว เพียงแต่อาจจะยังไม่เด่นชัด 100%
ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่าธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบในอันดับต้น ๆ มีธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการ โรงแรม และรีสอร์ท ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีนักลงทุนในอาเซียนเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้มากถึง 70% จากเดิมที่กำหนดให้แค่ 49% เท่านั้น นอกจากนี้ยังจะเกิดปัญหาสมองไหล โดยคนที่มีความรู้ความสามารถใน 7 สาขาอาชีพที่ระบุไว้ข้างต้นจะย้ายไปยังประเทศที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่าไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ซึ่งสองประเทศนี้ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าในไทยถึง 3 เท่า
ในอีกมุมหนึ่งนักลงทุนไทยก็จะได้ประโยชน์หากเข้าไปลงทุนทำธุรกิจบริการในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอัตรากำไรของธุรกิจที่สูงกว่าในไทย โดยเฉพาะในสิงคโปร์ และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และลาว ทำได้ง่ายและคล่องตัวขึ้น ซึ่งบ้านเราโดดเด่นในเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ อย่างธุรกิจสปา รวมทั้งเรื่องโรงพยาบาล

 

นี่เป็นภาพกว้าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้... แล้วผู้ประกอบการจะรับมือกับ AEC อย่างไรดี

เรื่องนี้ไม่ยากเลยสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นศักยภาพในการแข่งขันทั้งทางด้านวัตถุดิบ การผลิต การตลาด และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงเรื่องภาษาด้วย ซึ่งหากมีผู้ประกอบการในอาเซียนเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็สามารถที่จะแข่งขันได้ โดยจะต้องเรียนรู้และศึกษาความได้เปรียบเสียเปรียบของคู่แข่งด้วย
อย่างไรก็ตามแม้การเปิด AEC จะทำให้มีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็คือ เรื่องคุณภาพ และจะต้องขายในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
นอกจากนี้สินค้าจะต้องมีเอกลักษณ์โดดเด่น มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในทุกมิติ เนื่องจากลูกค้ามีสินค้าให้เลือกซื้อหลากหลาย
ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจเทรนด์ของสินค้า อาทิ สินค้าเกษตรที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น และจะต้องผลิตให้ได้มาตรฐานตามหลักสากล ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน ซึ่งนับวันผู้คนในโลกจะให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากยิ่งขึ้นและบางประเทศใช้เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ
สรุปแล้ว AEC ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ทำให้ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ตื่นตัวและเร่งพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรีเช่นนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา