10 เคล็ดลับทำธุรกิจแบบลดภาษี (SME)

10 เคล็ดลับทำธุรกิจแบบลดภาษี (SME)

By Krungsri Guru

“ภาษี” กับการทำธุรกิจเป็นสิ่งคู่กัน แต่ภาษีสามารถทำให้ผลกำไรจากการทำธุรกิจลดลงไปอย่างน่าเสียดาย เรามาดูกันดีกว่าว่าเรามีเคล็ดลับการทำธุรกิจแบบลดภาษีได้อย่างไรบ้าง

เคล็ดลับที่หนึ่ง... ปรึกษานักบัญชีผู้เชี่ยวชาญ

การลดภาษีสำหรับ SME คงไม่มีใครรู้และมีประสบการณ์มากเท่ากับนักบัญชีที่คร่ำหวอดอยู่ในเรื่องราวของภาษีธุรกิจมานาน หากเราเลือกปรึกษานักบัญชีที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญ เราอาจมองเห็นวิธีการช่วย “ผ่อนหนักเป็นเบา” อย่างที่เราคาดไม่ถึง

เคล็ดลับที่สอง... เลือกประเภทการจัดตั้งธุรกิจให้ถูกต้อง

จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จะนำมาซึ่งผลลัพธ์อีกมากมาย การเลือกจัดตั้งธุรกิจสำหรับ SME นั้น จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า เราจะทำธุรกิจแบบไหน เพราะหากเราระบุไม่ชัดเจนจะทำให้การจัดเก็บภาษีคลุมเครือไปด้วย และเกิดการตีความไปต่าง ๆ นา ๆ ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากได้ในอนาคต

เคล็ดลับที่สาม... จดทะเบียนให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจ

การจดทะเบียนธุรกิจมีหลากหลายทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด เจ้าของกิจการควรเลือกให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง เพราะหากเราจัดทำเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะต้องเสียภาษีแบบก้าวหน้า และภาษีขั้นสูงสุดที่ต้องจ่าย คือ 37% หากเรามองภาพให้ชัดตั้งแต่ต้นทาง จดทะเบียนรองรับกิจการที่จะขยายใหญ่ในอนาคต ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก


(ศึกษา 3 วิธีที่ทำให้ธุรกิจของคุณประหยัดภาษีแบบสุด ๆ)

เคล็ดลับที่สี่... เลือกรูปแบบการหักภาษีให้ถูกต้อง

ปกติแล้วการเลือกรูปแบบการหักภาษีสำหรับธุรกิจนั้น ทางกรมสรรพากรจะมีให้เลือกสองแบบ คือ การหักตามความเป็นจริง และหักแบบเหมาจ่าย สำหรับการหักตามความเป็นจริงจะยุ่งยาก เนื่องจากต้องเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน แต่ก็สามารถหักลดหย่อนในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในส่วนของการหักแบบเหมาจ่ายก็จะสะดวกกว่าไม่ต้องเก็บบิลยิบย่อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจของเรา

เคล็ดลับที่ห้า... หักสิทธิลดหย่อนภาษีกันเถอะ

เจ้าของกิจการหลายท่านอาจไม่รู้ว่าบางอย่างสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์สำนักงาน ยานพาหนะ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากเรายอมสละเวลาซักเล็กน้อยเพื่อศึกษาสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะทีเดียว

เคล็ดลับที่หก... หักค่าใช้จ่ายจากการลงทุน

สำหรับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลบางประเภทสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ด้วยการลงทุน หรือซื้อหน่วยลงทุนต่าง ๆ ยกตัวอย่างสำหรับบุคคลธรรมดาก็สามารถซื้อหน่วยลงทุนประเภท LTF หรือ RMF มาหักลดหย่อนภาษีได้ครับ ศึกษาดูแล้วคุณจะพบช่องทางประหยัดค่าใช้จ่ายในแบบที่นึกไม่ถึง สำหรับบุคคลธรรมดาสามารถนำหน่วยลงทุนมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายรับประจำปี

เคล็ดลับที่เจ็ด... ซื้อประกันชีวิตหักภาษี

ประกันในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะประกันชีวิตสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยการทำประกันเราสามารถทำเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน และนำมาหักลดหย่อนได้ตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรที่ตั้งเอาไว้ โดยประกันบางประเภทสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ถึง 100%

เคล็ดลับที่แปด... ซื้อประกันภัยหักภาษี

การซื้อประกันภัยที่เราต้องซื้ออยู่แล้ว ได้แก่ ประกันวินาศภัย ประกันอัคคีภัย ประกันภัยพิบัติ ฯลฯ เจ้าของกิจการสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการดำเนินงาน และนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกันครับ ศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน และอย่าลืมมองมิติของการลดหย่อนภาษี

เคล็ดลับที่เก้า... ซื้อกิจการอื่น

เคล็ดลับนี้หลายท่านที่เป็นเจ้าของกิจการอาจจะนึกไม่ถึงก็คือ การซื้อกิจการอื่น หรือการเทคโอเวอร์กิจการที่น่าสนใจเอามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจการของเรา ผลจากการซื้อกิจการอื่นจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมา ซึ่งนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ทำแบบนี้เจ้าของกิจการจะได้ถึงสองต่อ คือ ได้กิจการดี ๆ และได้ลดหย่อนภาษีไปในตัว

เคล็ดลับสุดท้าย... ศึกษาแนวทางการลดหย่อนภาษีอย่างสม่ำเสมอ

เคล็ดลับสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด เพราะทางกรมสรรพากรมักจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ออกมาเป็นประจำ หากเราไม่ได้ศึกษาเอาไว้เท่ากับเราเสียสิทธิไปโดยเปล่า การหมั่นศึกษาแนวทางการลดหย่อนภาษีอย่างสม่ำเสมอ และคอยติดตามการประกาศสำคัญ ๆ เกี่ยวกับภาษีจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้าของกิจการทุกท่าน เพราะเงินของเรา เราต้องดูแลให้หมุนเวียนในระบบให้ดี เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเจ้าของกิจการอย่างเราตลอดไปนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow