3 วิธีที่ทำให้ธุรกิจของคุณประหยัดภาษีแบบสุดๆ

3 วิธีที่ทำให้ธุรกิจของคุณประหยัดภาษีแบบสุดๆ

By TaxBugnoms

สำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ นอกจากคำถามเรื่องการบริหารจัดการ การวางแผนงานต่างๆ แล้ว มีอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆคนมักจะเกิดข้อสงสัยว่า “เราจะวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจยังไง แบบไหน และอย่างไรดี” เพราะเรื่องของ “ภาษี” นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการทำธุรกิจ แหม่... สำหรับคนที่เพิ่งตั้งไข่ธุรกิจมาใหม่ๆ การลดค่าใช้จ่ายนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด อะไรประหยัดได้ให้รีบประหยัด โดยเฉพาะเรื่องของภาษี ยิ่งลดได้มากแค่ไหน ยิ่งแปลว่ากำไรของธุรกิจยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

วันนี้ @TAXBugnoms เลยจะมาแนะนำวิธีดีๆ สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ ถึงวิธีการประหยัดภาษีแบบง่ายๆ สบายๆ ให้ฟังกันครับ ซึ่ง 3 วิธีที่ว่านี้ คือ “เลือกรูปแบบของธุรกิจให้ถูกต้อง” “มองหาสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มเติม” และ “เริ่มต้นเก็บเอกสารให้ครบถ้วน”

1. เลือกรูปแบบของธุรกิจให้ถูกต้อง

โดยปกติแล้วรูปแบบการทำธุรกิจนั้น สามารถแบ่งประเภทได้เป็น 2 ประเภท คือ “ธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา” เช่น ร้านต่างๆ และ “ธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล” เช่น บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน
ดังนั้นก่อนที่จะทำธุรกิจ เราอาจจะต้องพิจารณาก่อนว่า รายได้จากธุรกิจในแต่ละรูปแบบนั้น เสียภาษีแตกต่างกันอย่างไร และธุรกิจของเรานั้นเหมาะสมกับรูปแบบไหนมากที่สุด
จากตารางด้านล่างนี้ เราจะเห็นว่า ธุรกิจในรูปแบบของ “บุคคลธรรมดา” นั้น จะมีภาระภาษีที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจในรูปแบบ “นิติบุคคล” ในช่วงของรายได้ (กำไร) สุทธิที่แตกต่างกัน เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นอยู่ในรูปแบบ “ขั้นบันได” นั่นเองครับ
ซึ่งข้อดีของธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา คือ การที่เราไม่ต้องจัดทำบัญชี แถมยังไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านเอกสารต่างๆ ซึ่งสำหรับธุรกิจบางประเภท กฎหมายได้กำหนดค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้ไว้ในอัตราสูงถึง 80% ของรายได้ ซึ่งถือว่าง่ายและสะดวกสำหรับคนที่เป็นเจ้าของคนเดียวและไม่มีเวลาบริหารจัดการเอกสาร หรือเป็นคนที่ไม่ชอบทำธุรกิจยุ่งยากในรูปแบบนิติบุคคล ทางเลือกนี้ก็เป็นคำตอบที่ดีครับ
tax-tips-for-sme-table
แต่สำหรับธุรกิจนิติบุคคลนั้น จะแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ คือ “เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท” หรือพูดง่ายๆในสไตล์ @TAXBugnoms ได้ว่า สำหรับนิติบุคคลที่มี “ทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี” ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2557 (และคาดว่ากฎหมายจะบังคับใช้ต่อในปี 2558) ดังนี้ครับ
สิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2557
ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษี
ส่วนที่เกิน 300,000 - 1,000,000 บาท      
15%
ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท        
20%
แต่สำหรับธุรกิจที่ไม่เข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ถือว่ามีหน้าที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรกครับ สรุปได้ว่าทางที่ดีที่สุดก็คือ เราต้องคาดการณ์ธุรกิจของเราให้ถูกต้องว่า จะมีรายได้ประมาณเท่าไร และการเสียภาษีแบบไหนตอบโจทย์ที่เราต้องการ และสามารถประหยัดภาษีและเวลาได้มากที่สุดครับ

2. วางแผนใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ

เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายด้านภาษีสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่มีสินทรัพย์ถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน โดยมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น การหักค่าเสื่อมราคา การหักค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนา รวมถึงการหักรายจ่ายในการฝึกอบรมพนักงานอีกด้วย ลองพิจารณาดูว่า ซึ่งในส่วนนี้สามารถศึกษาข้อมูลได้เพิ่มเติมที่เว็บไซด์กรมสรรพากรครับ

3. ทำความเข้าใจเรื่องรายจ่ายส่วนตัวกับกิจการ

เรื่องสุดท้ายนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดในการทำธุรกิจ เนื่องจากการที่เจ้าของธุรกิจนั้น อาจจะแยกแยะความเป็น “ส่วนตัว” กับ “กิจการ” ออกจากกันไม่ได้เด็ดขาด หรือมักจะเข้าใจว่า “รายจ่ายของกิจการก็คือรายจ่ายของเรา” และ “รายจ่ายของเราคือรายจ่ายของกิจการ” ไปซะงั้น แต่ทว่า... กฎหมายไม่อนุญาตให้ ”รายจ่ายที่เป็นการส่วนตัว” และ “รายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรของกิจการ” สามารถถือเป็นรายจ่ายของธุรกิจได้ครับ และถ้าใครฝ่าฝืนเรื่องนี้ บอกไว้ก่อนเลยว่า ธุรกิจของเราอาจจะมีปัญหากับพี่สรรพากรได้นะครับ
สุดท้ายนี้ อยากจะเน้นย้ำอีกทีว่า ถ้าหากเจ้าของธุรกิจอย่างเราๆ เข้าใจรูปแบบธุรกิจอย่างถูกต้อง เลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกใจ และไม่เข้าใจผิดเรื่องรายจ่ายต่างๆ แล้วล่ะก็ @TAXBugnoms ขอรับรองเลยว่าจะประหยัดภาษีได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจเลยล่ะคร้าบบบ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow