ไม่ได้ตั้งใจดัง: ถอดบทเรียนธุรกิจที่ทำเล่น ๆ  แต่ดังเปรี้ยงหลายพันล้าน

ไม่ได้ตั้งใจดัง: ถอดบทเรียนธุรกิจที่ทำเล่น ๆ แต่ดังเปรี้ยงหลายพันล้าน

By Krungsri Plearn Plearn

ในยุคสมัยที่เครื่องไม้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีก้าวหน้า ความสำเร็จในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อาจไม่ได้จำกัดพื้นที่อยู่แค่ในองค์กรใหญ่ แต่ยังขยายไปสู่ใครก็ได้ที่มีไอเดียสร้างสรรค์ เพราะในปัจจุบันพื้นที่การโชว์ไอเดียล้วนเป็นของทุกคน วันนี้เรามีตัวอย่างของธุรกิจที่สร้างจากคนตัวเล็ก ๆ ที่มีไอเดียสร้างธุรกิจที่เจ้าตัวเองก็ไม่คิดว่าจะดัง แต่กลับติดตลาด และไวรัลจนสร้างเม็ดเงินมหาศาล เผื่อบทเรียนที่ได้จากธุรกิจเหล่านี้ จะช่วยให้เราเหลาไอเดียธุรกิจที่มีอยู่ให้คม และกล้าทำออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

1. Flappy Bird เจ้านกที่บินไม่เก่ง แต่นำโชคพันล้านมาสู่เจ้าของเกม

หากใครชอบพักผ่อนด้วยการหาแอปพลิเคชันเกมที่เล่นได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน คงได้เห็นเกมฟรีที่ติดท็อปชาร์ตของแอปสโตร์เมื่อหลายปีก่อน อย่างเกม Flappy Bird ที่ช็อกโลกด้วยความนิยมเป็นไฟลามทุ่งเพียงชั่วข้ามคืน

หากถามว่าฮิตแค่ไหน ก็ฮิตถึงขนาดที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าว ตัดสินใจปิดการดาวน์โหลดเกมไปชั่วคราวเลยล่ะครับ ด้วยเหตุผลเพราะ รับมือกับรายได้ของค่าโฆษณาที่เข้ามาจำนวนมากไม่ไหว”
 
Flappy Bird
ภาพ: เจ้านก Flappy Bird เกมที่ผู้เล่นต้องคอยประคองให้นกบินไปได้เรื่อย ๆ และคนติดกันงอมแงม เพราะเรามักจะหัวเสียจากการที่มันตายง่ายเกินไป/ ภาพจาก Pacific Standard, GEARS Studio

Flappy Bird ถูกพัฒนาขึ้นโดย ดอง เหงียน (Don Nguyen) นักออกแบบเกมและโปรแกรมเมอร์ชาวเวียดนาม ผู้สร้างผลงานที่ตัวเขาเองก็ยังไม่เชื่อว่าจะได้รับความนิยมขนาดนี้ โดยในเว็บไซต์ techinasia ได้วิเคราะห์เหตุผลเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าสิ่งที่ทำให้ Flappy Bird ได้รับความนิยมไปทั่วโลก คือ
  • ดีไซน์ของเกมถูกออกแบบมาให้ดูน่ารักได้อารมณ์ 8 บิตในอดีต แต่มีความยากแบบผู้ใหญ่ ที่พร้อมจะทำให้ใครก็ตามหัวร้อนได้ทุกเมื่อ
  • ไม่ใช่เกมแก้ปัญหาหรือเกมเชาว์ปัญญา เป็นเกมที่ไม่มีรางวัลเมื่อทำสำเร็จ
  • นี่คือเกมที่ควบคุมโดยการแตะนิ้วตามแรงโน้มถ่วงของเกมเท่านั้น ไม่ต้องมีตรรกะใด ๆ แค่หาจังหวะของตัวเองให้เจอ
  • ผ่านการเล่นด้วยปุ่มคำสั่งเพียง 3 ปุ่มที่ผู้เล่นสามารถเล่นได้ด้วยมือข้างเดียว ทำให้เกมนกหลบท่อนี้ถูกบอกต่อเป็น Viral อย่างรวดเร็ว
 

2. Vocaloid เสียงแห่งอนาคต

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความสำเร็จของผู้คิดค้นโปรแกรม Vocaloid โปรแกรมสังเคราะห์เสียงที่เกิดจากแนวคิดที่ว่า ในอนาคต มนุษย์อาจไม่ต้องใช้เสียงจริงในการสร้างสรรค์บทเพลงแล้ว เช่น เมื่อเราเขียนคำร้องและทำนองเพลงเสร็จ แต่ไม่ต้องการขับร้องเอง โปรแกรม Vocaloid สามารถทำหน้าที่ขับร้องแทนได้โดยการกำหนดพยางค์ กำหนดตัวโน้ต จากนั้นจึงนำเอาเสียงไปรวมกับดนตรีที่แต่งไว้ ซึ่งตัวโปรแกรมในภาษาญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นจาก Yamaha และถูกพัฒนามาโดยบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านดนตรีอย่าง Crypton Future Media Inc. (ส่วนในแบบภาษาอังกฤษถูกพัฒนาต่อโดยบริษัท Zero-G)

ความนิยมที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากเป็นตัวโปรแกรม มาสคอตแต่ละตัว โดยเฉพาะคาแรคเตอร์ Miku Hatsune ที่มีความน่ารักสดใสแบบที่ใครเห็นก็อดเอ็นดูไม่ได้ ยิ่งทำให้ความนิยมของโปรแกรมเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น
 
Miku Hatsune
Miku Hatsune มาสคอตดังจากโปรแกรม Vocaloid/ ภาพโดย Kay Morrison

Miku เป็นเจ้าของเสียงในเพลงกว่าแสนเพลงที่เหล่าผู้ใช้โปรแกรมร่วมกันสร้างขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง ส่งผลให้โปรแกรมดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยังมีการประเมินว่า Miku สามารถสร้างรายได้ถึง 3,000 ล้านบาท จากการขายโปรแกรม ค่าลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ และการจัดคอนเสิร์ต โดยโฮโลแกรมของเธอได้แสดงร่วมกับนักดนตรีจริงบนเวทีเดียวกัน

“ครั้งหนึ่งเคยมีการใช้โฮโลแกรม Miku เป็นโชว์เปิดคอนเสิร์ตให้แก่ Lady Gaga ด้วย”
 
Miku Hatsune
ความน่ารักสดใสของ Miku Hatsune ยังทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรม Vocaloid ได้รายได้เพิ่มเติมจากลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์อีกด้วย/ ภาพโดย Maximilian Meyer

หากสังเกตดู ทั้ง 2 ความสำเร็จที่ยกตัวอย่างขึ้นมานั้น มีสิ่งที่คล้ายกันคือ “สร้างมาเพื่อทุกคน” ไม่ใช่เฉพาะโปรเพลเยอร์ครับ

Flappy Bird คือเกมที่อ้าแขนรับคนเล่นทุกเพศทุกวัย (เรทอายุตามรายละเอียดแอปพลิเคชันคือ อายุ 4 ปีขึ้นไป) เป็นเกมที่หยิบมาเล่นได้ทุกเมื่อ ไม่ยืดเยื้อ ไม่ต้องรอเวลาว่างตรงกันกับเพื่อนในเกม เข้าใจง่ายทั้งการควบคุมและภารกิจ ขณะเดียวกันไม่มีการเติมเงินสำหรับแลก point หรือ coin เพื่อเพิ่มความสามารถในเกม การบรรลุภารกิจเกิดขึ้นด้วยฝีมือและไหวพริบของผู้เล่นล้วน ๆ

ในขณะที่ Vocaloid ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ดีสำหรับมืออาชีพ และตัวช่วยชั้นยอดของมือสมัครเล่น เปรียบได้ว่าแฟนคลับทุก ๆ คนสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงร่วมกับศิลปินที่เขาชอบได้นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก: Tech in Asia, ลงทุนแมน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow