ภาษีนิติบุคคล สิ่งที่ Startup ควรรู้ถ้าไม่อยากตกม้าตาย

ภาษีนิติบุคคล สิ่งที่ Startup ควรรู้ถ้าไม่อยากตกม้าตาย

By TaxBugnoms
สิ่งหนึ่งที่เหล่า Startup ทั้งหลายมักจะหลงลืมหรือสับสน คือ “เรื่องการเสียภาษี” พอรู้ตัวอีกทีก็แย่แล้ว ทำไมถึงวุ่นวายแบบนี้ ทั้งเอกสารบัญชีสรรพากรและปัญหามากมายอีกร้อยแปด ดังนั้น บทความกรุงศรีกูรู วันนี้ของ @TAXBugnoms เราจะมาพูดถึงเรื่องภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัท Startup กัน เพื่อให้ชีวิตไม่มีปัญหาที่สุดครับผม

ก่อนอื่นต้องแยกประเภทภาษีที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Startup นั้นจะมีอยู่สองประเภทหลัก ๆ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราจะเริ่มที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลกันก่อนครับ

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัท Startup ที่จดทะเบียนในประเทศไทยนั้นจะคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษีที่เกิดขึ้นในแต่ละปี (ปกติคือรอบวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม) และคูณด้วยอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนด และบริษัทมีหน้าที่ยื่นนำส่งข้อมูลนี้แก่กรมสรรพากรภายใน 150 วันหลังจากวันปิดรอบบัญชี (ปกติคือวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป) ด้วยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50)

สำหรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบัน ถ้าเป็นบริษัททั่วไป จะเสียภาษีอยู่ในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก และได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตราพิเศษ 15% สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 3,000,000 บาท สำหรับกำไรส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท จะเสียภาษีในอัตราปกติ 20% (อ้างอิงตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 583 พ.ศ. 2558) ถ้าหากรายได้ของ Startup ยังไม่มากนักในช่วงเริ่มแรก การจดทะเบียนในรูปแบบหลังจะช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่าครับ
 
กำไรสุทธิ อัตราภาษี
0 - 300,000 บาทแรก ยกเว้น
ตั้งแต่ 300,001 - 3,000,000 บาท 15%
กำไรส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท 20%
แต่มีข่าวล่ามาเร็ว ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ คือ ทางคณะรัฐมนตรีนั้น ตัดสินใจอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทจดทะเบียนใหม่ถึง 5 รอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งหนึ่งในกลุ่มนั้น คือ กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา นั่นแปลว่ากลุ่ม Startup จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีนี้เช่นเดียวกันครับ และเรื่องนี้คงต้องรอติดตามข้อกฎหมายที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งต่อไปครับ (อ่านวิธีสร้างต้นทุนความสำเร็จจากการทำสิ่งที่ชอบ)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

อีกหนึ่งภาษีนิติบุคคล ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริษัท Startup คือ ภาษีที่เก็บจากยอดขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน (จัดเก็บในอัตรา 7%) โดย Startup ที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของแต่ละเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป พร้อมทั้งจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง

วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จะคำนวณโดยการใช้

 
ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

ถ้าถามว่าภาษีนิติบุคคลคิดยังไง วิธีคิดก็คือ นำยอดที่เราเรียกเก็บจากทางผู้บริโภคหรือคนที่ซื้อสินค้าและบริการเรา (ภาษีขาย) มาหักออกจากยอดภาษีที่เราได้จ่ายให้กับผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ (ภาษีซื้อ) ผลต่างที่ได้มานั้น ถ้าหากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ เราก็มีหน้าที่นำส่งกรมสรรพากร แต่ถ้าหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย เราก็มีสิทธิขอคืนได้ครับ

ทางเลือกให้กับบริษัท Startup

บริษัท Startup ที่มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี สามารถเลือกที่จะไม่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ครับ แต่ถ้าหากมั่นใจว่ารายได้เกินแน่ ๆ ก็ควรเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหากับทางสรรพากรครับ

คำแนะนำสำหรับการจัดทำเอกสาร

บริษัท Startup คงไม่พ้นเรื่องของการจัดทำเอกสารทั้งทางด้านบัญชีและภาษี โดยทางบริษัท Startup เอง ควรจัดการเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและครบถ้วนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการประกอบธุรกิจ ซึ่งในส่วนนี้สามารถจ้างนักบัญชีหรือสำนักงานบัญชีมาดูแลได้ครับ แต่ข้อควรระวังก็คือ เลือกจ้างคนที่ทำงานดีและไว้ใจได้ เพื่อที่จะไม่มีปัญหาเหล่านี้ย้อนหลังครับ (อ่าน Startup เริ่มทำบัญชี เพื่อประโยชน์ดีเกินคุ้ม)

สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าเรื่องภาษีสำหรับบริษัท Startup ใหม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกสักระยะครับ และขอย้ำก่อนจากกันครับว่า ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังสนใจทำธุรกิจ Startup แล้วล่ะก็ ความรู้เรื่องภาษีอย่างถูกต้องอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของเราเหนือกว่าคนอื่นก็ได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา