แซนด์วิช เจเนอเรชั่น วัยสุดช้ำ ที่ต้องแบกรับทั้งการเงินและความคาดหวัง
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

แซนด์วิช เจเนอเรชั่น วัยสุดช้ำ ที่ต้องแบกรับทั้งการเงินและความคาดหวัง

icon-access-time Posted On 30 พฤศจิกายน 2564
By Krungsri The COACH
สำหรับใครที่อายุ 30 ปีขึ้นไป เชื่อได้เลยว่าหลาย ๆ คนน่าจะเริ่มมีความกังวลกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าจะทำอย่างไรดี เนื่องจาก "ภาระ" ต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอนาคตของตัวเองที่ต้องสร้างรากฐานสร้างครอบครัว แล้วเมื่อสร้างครอบครัวของตัวเองก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูกน้อยที่กำลังจะเกิด
ประกอบกับคุณพ่อแม่คุณแม่ก็กำลังเข้าสู่วัยเกษียณอายุเต็มตัว การที่จะต้องดูแลท่านก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่คนรุ่นนี้จะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนรุ่นนี้ถูกนิยามว่า "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น"
"แซนด์วิช เจเนอเรชั่น" ที่ต้องดูแลตัวเอง - พ่อแม่ - ลูก

"แซนด์วิช เจเนอเรชั่น" ที่ต้องดูแลตัวเอง - พ่อแม่ - ลูก

เหตุผลที่ถูกเรียกว่า "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น" ก็เพราะว่าสิ่งที่คนรุ่นนี้ต้องดูแลมีทั้ง "ตัวเอง" ที่เปรียบเสมือนไส้กลางของแซนด์วิช อีกทั้งยังต้องดูแลทั้ง "พ่อแม่" และ "ลูก" ตัวน้อย ๆ ที่เปรียบเสมือนกับแผ่นขนมปังแผ่นบนและแผ่นล่างของแซนด์วิช ซึ่งต้องบอกว่าคำว่า "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น" เพิ่งถูกใช้มากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

ทำไมถึงเกิดแซนด์วิช เจเนอเรชั่น ขึ้นมาได้?

เหตุผลแรกก็เพราะว่า "โครงสร้างประชากร" ที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว คนรุ่นพ่อแม่ที่เคยถูกเรียกว่ารุ่น Baby Boomer ที่เป็นสัดส่วนประชากรที่ใหญ่ที่สุดกำลังเข้าสู่วัยเกษียณอายุทั้งหมด สมัยก่อนในยุคที่คนรุ่น Baby Boomer เป็นแรงงานทำงานอยู่ โครงสร้างประชากรก็จะมีคนทำงานมากกว่าคนวัยเกษียณอายุ ทำให้ "สวัสดิการรัฐ" ต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าเพียงพอ
แต่ในปัจจุบันต้องบอกว่า สวัสดิการเหล่านี้ไม่เพียงพออีกต่อไป จากปัญหาคนทำงานมีสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับคนวัยเกษียณ ทำให้ภาระการดูแลชีวิตยามเกษียณของคนรุ่น Baby Boomer ตกมาสู่คนรุ่น "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำไมถึงเกิดแซนด์วิช เจเนอเรชั่น ขึ้นมาได้ ?
เหตุผลที่สอง คือ เรื่องของ "ค่าใช้จ่าย" ที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นได้จากเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าหากเรานึกถึงสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ารถ ราคาน้ำมันต่าง ๆ ที่เราซื้อใช้เป็นประจำ มีราคาที่ถูกกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน แล้วหันกลับมามองในส่วนของรายได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ทำให้การเก็บออมเงิน รวมถึงการจัดสรรเงินต่าง ๆ เป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ

"วางแผนการเงิน" ทางออกของคนรุ่น "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น"

หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยเหลือคนรุ่น "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น" ได้ก็คือการ "วางแผนการเงิน" ที่จะช่วยให้เราสามารถจัดสรรเงินได้อย่างมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล พร้อมจะช่วยทำให้เห็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนว่าเมื่อเหลือเงินเก็บ เราควรนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไรก่อนจะเหมาะสมมากที่สุด หรือถ้ากำลังประสบกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเรื่องหนี้สินจะมีวิธีการบริการจัดการอย่างไรเพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นคลี่คลายลงได้บ้าง
ซึ่งจุดเริ่มต้นในการจัดการแผนเรื่องการเงินจะเริ่มต้นที่เรื่องของการ “บริหารจัดการเงินสด (Cash Flow Management)” สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้เหลือ “เงินออม” หลังจากนั้นจะมาจัดการเรื่อง “บริหารความเสี่ยง (Risk Management)” ที่มีโอกาสเกิดขึ้นและอาจจะส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ อุบัติเหตุ ชีวิตและสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งวิธีการบริหารความเสี่ยงที่นิยมที่สุดก็คือการทำประกัน ให้มี “ความคุ้มครอง” ทั้งในส่วนของตัวเราเองและคนที่เราต้องดูเลอย่างพอเพียงและเหมาะสม โดยสามารถเริ่มต้นจากการกลับไปตรวจสอบสวัสดิการของตัวเองว่ามีอยู่เท่าไหร่บ้าง แล้วลองประเมินต่อว่าเราควรจะมีความคุ้มครองอะไรและมีเท่าไหร่ จากนั้นให้ทำประกันคุ้มครองส่วนต่างที่ยังขาดหายไปอยู่
และสุดท้ายเราก็จะถึงเรื่อง “การลงทุน (Investment)” ซึ่งก่อนการลงทุนทุกครั้ง สิ่งที่สำคัญมากก็คือ การกำหนด “เป้าหมายการเงิน” ที่เราต้องการจากการลงทุนทุกครั้ง เพราะเป้าหมายที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้สินทรัพย์การลงทุนที่เราเลือกใช้แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ถ้าเราต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุในระยะยาว ก็สามารถเลือกใช้ Retirement Mutual Fund หรือ RMF ได้ แต่ถ้าหากเป็นเป้าหมายระยะที่ไม่ได้ยาวอย่างการซื้อบ้านในอีก 5 ปีข้างหน้า การใช้ RMF ก็จะไม่ใช่ทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสม
"วางแผนการเงิน" ทางออกของคนรุ่น "แซนด์วิช เจเนอเรชั่น"
จะเห็นได้ว่าการ "วางแผนการเงิน" หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงเฉพาะเรื่องของการลงทุนยังไงให้ได้กำไรมากที่สุดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวางแผนการเงินนั้นจะไม่ได้พูดถึงเฉพาะเรื่องการลงทุนเท่านั้น แต่จะดูเรื่องของ "ความเสี่ยง" และ "ความสำคัญ" ของเป้าหมายการเงินอื่น ๆ ประกอบด้วย เพราะต่อให้ลงทุนได้กำไรมากเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่บริหารจัดสรรอย่างถูกต้องก็อาจจะไม่เหลือเงินเก็บได้เช่นกัน
สำหรับใครที่กำลังสับสน เครียดไม่รู้ว่าจะทางออกเหล่านี้อย่างไร แนะนำให้ลองเข้ามาที่นี่ เพื่อเริ่มต้นศึกษาขั้นตอนการ "วางแผนการเงิน" อย่างถูกต้อง แต่สุดท้ายต้องบอกก่อนว่า "การวางแผนการเงิน" ไม่ได้ช่วยทำให้เป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้เป็นจริงขึ้นมา แต่การวางแผนการเงินจะช่วยให้เรามี "เข็มทิศ" ที่รู้ว่าเราจะต้องเดินไปทางไหน ด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผลและเหมาะกับตัวเองมากที่สุดนั่นเอง
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา