ฝึกคนสไตล์ญี่ปุ่น...ทำอย่างไรให้ “คิดเป็น”

ฝึกคนสไตล์ญี่ปุ่น...ทำอย่างไรให้ “คิดเป็น”

By เกตุวดี Marumura

ตอนสอนเด็ก ๆ มหาวิทยาลัยในไทย เวลาดิฉันสั่งงาน เด็ก ๆ มักจะถามดิฉันว่า “จะนำเสนอยังไงดีอาจารย์?” หรือเวลาเด็ก ๆ ส่งไอเดียประกวดแผน เด็ก ๆ มักจะถามดิฉันว่า “เริ่มยังไงดี” เหมือนพวกเขากำลังรอคำตอบ ... รออาจารย์ชี้ทางสว่างอยู่

สมัยอายุเท่าพวกเขา ดิฉันก็เคยถามคำถามนี้กับอาจารย์คนญี่ปุ่น
คำตอบของอาจารย์ญี่ปุ่นที่ทำให้ดิฉันจดจำมาถึงทุกวันนี้ คือ ...
“แล้วเธอคิดว่าอย่างไร”
จากนั้น ก็ไล่ให้ดิฉันไปคิดมาเองก่อน อาจารย์ญี่ปุ่นเป็นแบบนี้ทุกท่าน

ตอนเรียนจบและกลับมาทำงานกับคนญี่ปุ่นก็เช่นกัน ดิฉันและเพื่อนในทีม ไม่มีใครพูดกับนายญี่ปุ่นว่า “เราจะโปรโมทสินค้าอย่างไรดี?” หรือ “เราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี”

แต่เราจะเดินเข้าไปพร้อมไอเดียของเรา นายญี่ปุ่นจะเป็นคนแค่ออกความเห็นว่า ควรทำหรือไม่ และต้องระวังประเด็นใดบ้าง

ทั้งอาจารย์ญี่ปุ่นและนายญี่ปุ่นดิฉันเอง มีเทคนิคคล้าย ๆ กันเพื่อฝึกให้พวกเราไม่รอแต่คำตอบแต่รู้จักคิดเอง แก้ปัญหาเอง คนญี่ปุ่น สอนหรือฝึกให้คนของเขารู้จักคิดเอง ลงมือทำเองอย่างไรนะ?

แนวคิดแรก ฮันเซไค หรือ สำนึกผิด (反省会)

คำว่า “Hansei” หากแปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ จะแปลว่า “สำนึกผิด” คำว่า “Kai” แปลว่า ประชุม Hanseikai แปลตรง ๆ ว่า “การประชุมสำนึกผิด”

ฟังดูรุนแรงนะคะ แต่ใช้ในความหมายเดียวกับ Reflect meeting หรือประชุมทบทวนหลังเสร็จงานนั่นเอง
เด็กนักเรียนญี่ปุ่น จะทำ “ฮันเซไค” หลังกิจกรรมที่ทำ เช่น หากจัดกีฬาสี จัดงานนิทรรศการ ไปแข่งกีฬา หรือจัดงานคอนเสิร์ต ทบทวนว่า ทีมตนเอง ทำได้ดีตรงไหน หรือมีตรงไหนที่ต้องปรับปรุงบ้าง
พนักงานบริษัทญี่ปุ่นเอง ก็ทำทุกครั้งที่ปิดโปรเจค เช่น หลังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หลังจัดอีเว้นท์
ดิฉันเคยสอนร่วมกับผู้สอนชาวญี่ปุ่น หลังจบคลาส เราก็มานั่งฮันเซไคกัน ดูว่า เราสอนตรงไหนได้ดี ตรงไหนที่นักเรียนเข้าใจยาก ตรงไหนที่ต้องปรับปรุง และหาทางแก้ไขโดยทันที
หากจบโปรเจคแล้วแยกย้าย หรือไปฉลองเลย เราอาจไม่ได้เรียนรู้ว่า เราทำอะไรได้ดี หรือมีอะไรที่ต้องระวัง มีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง
ฮันเซไค จะทำให้ทุกคนฝึกคิด ฝึกสังเกต และเห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และหาทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิม ๆ ขึ้นอีกนั่นเอง

แนวคิดที่สอง คือ คันโซบุน หมายถึง เรียงความ(感想文)

คันโซบุน หมายถึง เรียงความ

นักเรียนญี่ปุ่นทุกคนจะถูกฝึกให้เขียนคันโซบุนแทบตลอดเวลา เช่น เมื่ออ่านหนังสือนอกเวลา ก็ต้องเขียนว่า ตนเองรู้สึกหรือมีความคิดเห็นอย่างไรต่อหนังสือเล่มนี้
เวลาไปทัศนศึกษา ก็ต้องกลับมาเขียนคันโซบุนว่า ตนเองได้เรียนรู้ หรือได้เห็นอะไรบ้างจากทริปนี้
คนญี่ปุ่นจริงจังกับการเขียนเรียงความนี้มาก จนถึงกับมีการประกวดคันโซบุนจากหนังสือที่ได้อ่าน เป็นการประกวดระดับประเทศ สนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่น
เรียงความที่ชนะ จะถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ให้คนญี่ปุ่นทั้งเกาะได้อ่าน
กิจกรรมคันโซบุนนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น พนักงานบริษัทเอง ก็ถูกฝึกให้เขียนคันโซบุน เช่น เขียนหลังจากไปอบรมข้างนอก
ดิฉันเคยพบประธานบริษัทญี่ปุ่นบางท่าน ตั้งโจทย์ให้พนักงานเขียนคันโซบุนส่งทุกเดือน ตัวอย่างหัวข้อ เช่น “สำหรับฉัน การบริการที่ดี คืออะไร?” บางเดือน อาจเป็นหัวข้อที่เป็นนามธรรม เช่น “เราเกิดมาเพื่ออะไร?”
ทำไมต้องเขียน?
คนญี่ปุ่นเชื่อว่า การเขียน จะทำให้เราได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้คิดให้ลึกซึ้ง และได้รู้จักการเลือกใช้คำ การเรียบเรียงความคิดตนเอง ตลอดจนสื่อสารออกมาได้
“พนักงานที่เพิ่งเข้าใหม่ของผม ตอนแรก ๆ ก็ยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง จับประเด็นไม่ค่อยได้ แต่พอผมให้เขียนคันโซบุนบ่อย ๆ เขาก็เริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง เริ่มคิดได้ลึกซึ้งมากขึ้น” ประธานบริษัทญี่ปุ่นท่านหนึ่งเคยเล่าให้ดิฉันฟัง
กรณีบริษัทใหญ่ ๆ รุ่นพี่จะเป็นคนตรวจคันโซบุนพนักงานที่เข้าใหม่ ทำให้น้อง ๆ ได้ฝึกวิธีการสื่อสาร และฝึกคิด ฝึกจับประเด็นไปในตัว ?
โดยสรุปแล้ว ทั้ง “ฮันเซไค” กับ “คันโซบุน” เป็นการฝึกให้เราหยุดคิด
ฮันเซไค อาจเป็นการคิดถึงอดีต ... ฝึกให้เราคิดหาข้อผิดพลาดเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
คันโซบุน เป็นการฝึกคิดและฝึกสื่อสาร ...
อย่าปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ผ่านมาแล้วผ่านไป ... ลองหยุด ... คิด ... เก็บเกี่ยว ... เรียนรู้ ผ่านกระบวนการฝึกคิดแบบญี่ปุ่นนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา