ยุคของ Subscription Model? ส่อง 4 ธุรกิจที่ทำระบบสมาชิกรายเดือน

ยุคของ Subscription Model? ส่อง 4 ธุรกิจที่ทำระบบสมาชิกรายเดือน

By รวิศ หาญอุตสาหะ
“Business Model” หรือ “โมเดลธุรกิจ” นับเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจทุกรูปแบบ เพราะช่วยให้เห็นภาพรวมของธุรกิจแบบครบวงจร ช่วยวิเคราะห์แนวโน้ม ความเสี่ยง และโอกาสต่าง ๆ รวมถึงสามารถต่อยอดไปถึงแนวคิด ต้นทุน หรือการหาลูกค้าได้ ซึ่งในตอนนี้ โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจและได้รับความนิยมก็คงหนีไม่พ้น “Subscription Model

และเมื่อพูดถึง “Subscription Model” ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เพราะเป็นโมเดลที่ธุรกิจ Streaming ส่วนใหญ่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่าง Netflix, Disney+ หรือ Spotify ซึ่งข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างยอด Subscriber ทะลุกว่า 100 ล้านคนและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี
ยุคของ Subscription Model? ส่อง 4 ธุรกิจที่ทำระบบสมาชิกรายเดือน
แต่การทำ Subscription ไม่ได้มีแค่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น สินค้าอุปโภค-บริโภค ยานพาหนะ หรือเสื้อผ้าก็ทำโมเดลนี้ได้เหมือนกัน ในบทความนี้ผมจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักโมเดลธุรกิจนี้กันว่าคืออะไร ทำไมถึงมาแรง และตอนนี้มีธุรกิจไหนที่ใช้ Subscription Model กันไปแล้วบ้าง

“Subscription Model” คืออะไร?

โมเดลการบริการที่ให้สมาชิกเลือกแผนจ่ายรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปีที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อรับสินค้าหรือบริการทุก ๆ เดือน และสามารถยกเลิกบริการเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภค (Consumer) เป็นผู้ใช้งาน (User) แทน และเน้นการสร้างประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ด้วยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)

โดย Business Model นับเป็นโมเดลที่ทั้งตอบโจทย์ลูกค้า และสร้างโอกาสให้ธุรกิจควบคู่กัน เพราะในปัจจุบัน เราจะพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลาย รวมถึงยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จึงมองหาสินค้า และบริการที่มีคุณภาพจากธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ ซึ่งการทำ Subscription ก็ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก หรือ Waste ต่าง ๆ ได้ดี หรือการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ใช้เป็นประจำ ผ่าน Subscription Model ช่วยให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าที่ประหยัด มากกว่าการซื้อที่หน้าร้าน

นอกจากนี้ การทำ Subscription ยังช่วยให้แบรนด์หรือธุรกิจสามารถคาดการณ์รายได้ ค่าใช้จ่ายในอนาคต รวมถึงการสต๊อกของ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าได้ และอีกประเด็นสำคัญก็คือ การได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการในครั้งต่อไป ทั้งด้านความนิยมของสินค้า ความถี่ในการจัดส่ง ไปจนถึงพื้นที่จัดส่ง

มาลองดูกันครับว่าธุรกิจทั้ง 4 ประเภทที่น่าสนใจ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ทำระบบสมาชิกรายเดือนนั้นจะมีธุรกิจอะไรบ้าง
Apple Fitness+ ธุรกิจด้านสุขภาพจาก Apple

1. “Apple Fitness+” ธุรกิจด้านสุขภาพจาก Apple

“Apple Fitness+” เป็นบริการด้านสุขภาพจาก “Apple” ที่เปิดให้บริการในช่วงสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา โดยจุดเด่นของ Fitness+ คือ มีโปรแกรมออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบให้เลือก รวมถึงโปรแกรมดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้งานผ่าน Apple Watch และสินค้าอื่น ๆ เช่น iPhone, iPad หรือ Apple TV ทำให้สามารถแนะนำคอร์สออกกำลังกายที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้ ผู้ใช้งานสามารถเลือก Subscription ได้ทั้งแบบรายเดือนและรายปี
Rent The Runway บริการเช่าเสื้อผ้าออนไลน์

2. “Rent The Runway” บริการเช่าเสื้อผ้าออนไลน์

เคยไหมครับ? ทั้ง ๆ ที่มีเสื้อผ้าอยู่เต็มตู้แต่กลับไม่รู้ว่าจะใส่อะไรดี หรืออยากมีเสื้อผ้าใหม่ ๆ แต่บางตัวราคาสูงไปหรือบางตัวก็ใส่ได้แค่บางโอกาสเท่านั้น และสุดท้ายซื้อมาทีไรก็เก็บไว้ในตู้ ไม่ค่อยได้ใส่ จนกลายเป็นขยะในที่สุด

ผมเชื่อว่าเป็นปัญหาที่แทบทุกคนเคยเจอ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ชื่นชอบการแต่งตัวเป็นพิเศษ ซึ่งธุรกิจเช่าเสื้อผ้าก็สามารถช่วยแก้ Pain Point ได้ดี เช่น “Rent The Runway” สตาร์ตอัปชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา กับเว็บไซต์เช่าเสื้อผ้าแฟชั่นระดับ High-End ที่ลูกค้าเพียงแค่กด Subscribe แล้วเลือกเสื้อผ้าที่ต้องการได้ไม่เกินจำนวนสูงสุดของแผน Subscription ที่เลือกไว้ เพียงเท่านี้สินค้าก็จะส่งตรงถึงหน้าบ้าน และเมื่อถึงเวลาคืน รถของบริษัทก็จะมารับสินค้าคืนถึงหน้าบ้านเช่นกันครับ
KINTO บริการเช่ารถระยะยาวจาก Toyota

3. “KINTO” บริการเช่ารถระยะยาวจาก Toyota

“KINTO” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” กับ “โตโยต้า ลีสซิ่ง” สู่บริการเช่ารถระยะยาวครั้งแรกของไทย ที่มีรถหลายรูปแบบให้เลือกตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน พร้อมบริการครอบคลุมแบบครบวงจร ทำให้ผู้เช่าไม่ต้องกังวลทั้งเรื่องหนี้ระยะยาว เงินดาวน์ ความทันสมัย รวมถึงการซ่อมบำรุง โดยระยะเวลาในการเช่าจะอยู่ที่ 3-4 ปี และยังมีบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้อย่างดี

อย่างที่ทราบกันครับว่าการซื้อรถสักคันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะเราต้องคำนึงและพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหากพิจารณาแล้วพบว่า การซื้อเพื่อเป็น “เจ้าของ” ไม่เหมาะกับการใช้งาน อาจเป็นคำตอบได้ว่า “การเช่า” เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า จึงทำให้บริการเช่ารถระยะยาวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
เครื่องชงกาแฟรายเดือน จาก NESCAFÉ

4. “เครื่องชงกาแฟรายเดือน” จาก NESCAFÉ

ธุรกิจให้บริการเช่าเครื่องชงกาแฟเริ่มมีแพร่หลายมากขึ้นในไทย อย่าง NESCAFÉ ที่มีบริการเช่าเครื่องชงกาแฟทั้งแบบรายเดือนและรายปี ซึ่งเป็นบริการที่เอาใจคนรักกาแฟได้เป็นอย่างดี เพราะมีเครื่องชงกาแฟและรสชาติกาแฟหลายรูปแบบให้เลือก พร้อมเสนอโปรโมชันของสินค้าและบริการให้ผู้ใช้อีกนับไม่ถ้วน เพราะสำหรับบางคนการได้ลิ้มรส “กาแฟ” ดี ๆ สักแก้วในตอนเช้าถือเป็นสัญญาณในการเริ่มต้นวันได้อย่างแจ่มใส ยิ่งใครเป็นคอกาแฟคงรู้ดีว่าการดื่ม และดมกลิ่นกาแฟที่หอมกรุ่นจากเครื่องทำกาแฟนั้นดีกว่าไหน ๆ

อย่างไรก็ตาม การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าสักเครื่องก็ตามมาด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งความทันสมัย การดูแลรักษา หรือความเหมาะสมต่อการใช้งาน ทำให้บริการเช่าเครื่องชงกาแฟ นับเป็นอีกตัวเลือกที่ดีทีเดียว ทั้งบุคคลทั่วไป ครอบครัว ร้านกาแฟ รวมถึงสำนักงาน
จากตัวอย่างธุรกิจทั้ง 4 ประเภทที่ผมยกมา จะทำให้เห็นว่าโมเดลธุรกิจแบบ Subscription ช่วยตอบโจทย์ให้ลูกค้าได้ตรงใจและตรงตามความต้องการมากขึ้น และในทางเดียวกัน ธุรกิจก็ได้ประโยชน์และโอกาสจากโมเดลดังกล่าวควบคู่ไปด้วยกัน ทำให้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ตั้งแต่กระบวนการผลิต การสต๊อกสินค้า การจัดจำหน่าย ไปจนถึงการพัฒนาและจัดทำโปรโมชันในครั้งต่อ ๆ ไป

ทั้งนี้ทั้งนั้นหัวใจสำคัญของการทำ Subscription คือ การสร้างประสบการณ์ของลูกค้า และการใส่ใจกับความต้องการเฉพาะบุคคล เพราะลูกค้าสามารถยกเลิกการเช่าเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น แบรนด์หรือธุรกิจจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพื่อสามารถคว้าใจลูกค้าไว้ให้อยู่หมัด และหากธุรกิจไหนที่สนใจอยากเริ่มทำโมเดลนี้ล่ะก็ ลองเริ่มต้นจากโมเดลเล็ก ๆ เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน แล้วค่อยขยายให้ใหญ่ขึ้นก็ได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา