Hackathon คือเวทีแห่งไอเดียใหม่ในวงการ Fintech

Hackathon คือเวทีแห่งไอเดียใหม่ในวงการ Fintech

By Krungsri Plearn Plearn
คำว่า Hackathon อาจจะเป็นคำใหม่ที่หลายคนเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก ถ้าจะให้อธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ Hackathon คือ งานกิจกรรมที่รวมพลคนเก่งในทุกสาขาอาชีพมารวมตัวกัน เพื่อระดมไอเดียพัฒนาโครงการหรือแก้ไขปัญหาภายในเวลาจำกัด โดยชื่อ Hackathon เกิดจากคำว่า Hack (การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว) และ Marathon (การแข่งขันที่ต้องใช้ความอึด) เข้าด้วยกัน

และหนึ่งในโจทย์ยอดฮิตที่มักจะถูกหยิบยกมาใช้ในงาน Hackathon คือเรื่อง Fintech หรือ Financial Technology ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน ในวันนี้ น้องเพลินเพลินจึงขออาสาพาทุกคน โดยเฉพาะชาว Fintech มาทำความรู้จักกับงาน Hackathon กันแบบเจาะลึก Hackathon คืออะไร ลักษณะงานเป็นแบบไหน พร้อมตัวอย่างกิจกรรมงานที่น่าสนใจสำหรับ ชาว Fintech
การแข่งขัน hackathon คืออะไร

นิยามและลักษณะของงาน Hackathon คือ?

อย่างที่เกริ่นนำในตอนแรก Hackathon คือ กิจกรรมที่รวมกลุ่มคนที่มีความสามารถหลากหลายสาขามาร่วมกันระดมสมอง เพื่อพัฒนาโครงการหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่จำกัด โดยมักจะมีโจทย์ที่ชัดเจนให้ผู้เข้าร่วมได้โฟกัสในการทำงานร่วมกัน โดยลักษณะสำคัญของงาน Hackathon คือ
  • มีระยะเวลาจำกัด มักจัดขึ้นภายในระยะเวลา 1 - 7 วัน เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • ต้องทำงานเป็นทีม ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นทีม เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยนไอเดีย
  • มีการพรีเซนต์ไอเดีย เมื่อถึงกำหนดเวลา ทุกทีมจะต้องนำเสนอไอเดียของทีมตัวเองต่อคณะกรรมการเพื่อให้คะแนนและตัดสิน
  • บรรยากาศสนุกสนาน งาน Hackathon มักมีบรรยากาศที่เป็นกันเอง สนุกสนาน เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมการทำงานร่วมกัน
บรรยากาศการเข้าร่วมงาน hackathon

ทำไมงาน Hackathon มีความสำคัญต่อชาว Fintech?

ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วงาน Hackathon มักจะถูกจัดโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หรือหน่วยงานรัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานเหล่านี้มีประโยชน์ต่อ Startup ด้าน Fintech อย่างมาก เพราะเป็นเหมือนเวทีที่ให้ชาว Fintech ได้แสดงฝีมือและศักยภาพของตัวเองออกมาให้โลกเห็น

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันทางการเงินสุดล้ำ การคิดค้นวิธีการที่ตอบโจทย์ปัญหา หรือการนำเสนอไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นที่จับตามองของสถาบันการเงินชั้นนำ โดยสรุปแล้ว งาน Hackathon มีความสำคัญต่อชาว Fintech ดังนี้

1. สร้างเครือข่ายกับคนในอุตสาหกรรม

การเข้าร่วมงาน Hackathon คือ สถานที่ที่จะทำให้ได้พบกับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเงิน ได้อัปเดตข้อมูลต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม ทำให้เข้าถึงข่าวสาร รู้ทิศทาง และเทรนด์การพัฒนา ตลอดจนเข้าใจความต้องการและปัญหาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น

2. ได้ทดลองวิธีการและนวัตกรรมใหม่ ๆ

โดยทั่วไปแล้วหากเราต้องการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและต้องการนำไปใช้ได้จริง ๆ อาจจะต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งมีความยุ่งยากมาก และไม่รู้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อไอเดียของเราและให้เราไปใช้จริงไหม

ดังนั้น งาน Hackathon คือ สถานที่ที่สามารถนำเสนอไอเดียกับทางสถาบันการเงินได้โดยตรง ทำให้เราได้ทราบว่านวัตกรรมของเราเหมาะสมกับความต้องการของตลาดหรือไม่ ต้องขอใบอนุญาตอะไรบ้าง และแนวคิดที่นำเสนอมีข้อจำกัดอะไร ซึ่งวิธีการนี้มีความเสี่ยงที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการสร้างนวัตกรรมออกมาก่อน แล้วมาขอใบอนุญาตที่หลัง

3. เห็นโอกาสในการทำธุรกิจในอนาคต

ผู้ที่มางาน Hackathon ไม่ได้มีแค่นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีนักลงทุนที่มองหาไอเดียและธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย ดังนั้น หากผลงานเราเข้าตาใคร Hackathon คือ สถานที่ที่จะเปิดโอกาสให้เราสามารถได้รับเงินลงทุน เพื่อสร้างธุรกิจนั่นเอง
งาน hackathon ที่เกี่ยวข้องกับ fintech

ตัวอย่างงาน Hackathon ที่เกี่ยวข้องกับ Fintech ทั้งในไทยและต่างประเทศ

น้องเพลินเพลิน จะพามาดูตัวอย่างของงาน Hackathon ที่เกี่ยวข้องกับ Fintech ที่เคยจัดไปแล้ว เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ โดยตัวอย่างมีดังนี้

1. SET Hackathon 2023 (ไทย)

SET Hackathon คือ งานที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีโจทย์ที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะมาคิดด้วยกันคือ “เราจะช่วยผู้ลงทุนและบริษัทจดทะเบียนไทย ใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้าน ESG เพื่อเติบโตได้อย่างไร” ซึ่งตัวอย่างของโปรเจกต์ที่เข้ามาท้าชิงนั้นมีดังนี้
  • การใช้ ESG Data Platform เพื่อให้นักลงทุนได้รู้ว่าพอร์ตการลงทุนของเขามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
  • การสร้าง AI มาช่วยทำ ESG Solution Software เพื่อให้บริการคำแนะนำกับบริษัทจดทะเบียนที่อยากลดต้นทุนและการจัดการสิ่งแวดล้อม
  • การใช้ข้อมูล ESG ของธุรกิจ SMEs เพื่อนำไปขอเงินกู้แบบ Sustainability linked loans กับทางธนาคาร เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง
  • การสร้าง Community และพัฒนา Metaverse เพื่อให้ความรู้ด้าน ESG

เห็นไหมว่าไอเดียต่าง ๆ ที่ถูกนำมาประกวดนั้น ได้มีการนำข้อมูลด้าน ESG มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการลงทุน การลดต้นทุนต่าง ๆ ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งตัวธุรกิจ ผู้บริโภครวมไปถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
บรรยากาศงาน hackathon ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2. Hackatax 2019 (ไทย)

Hackatax คือ งาน Hackathon ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากรและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เมื่อปี 2562 เพื่อให้บริษัท Fintech ที่มาร่วมคิดและสร้างนวัตกรรมภายใต้โจทย์ “ภาษีไทย ถูกใจประชาชน” โดยไอเดียต่าง ๆ จะนำไปปรับใช้ได้จริง จะได้สามารถทำงานให้เร็วขึ้น บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาระบบจัดการภาษีของรัฐได้อย่างตรงจุด โดยโจทย์ที่มีการตั้งขึ้นให้แก้ปัญหามีดังนี้
  • การใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ลดการใช้กระดาษ
  • การขอคืน Vat ได้ง่ายขึ้น (Vat Registration) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่
  • Tax Simplification เพื่อสนับสนุนการใช้ National e-Payment และ Digital Platform
  • Tax Policy for SMEs และ Startup

จะเห็นได้ว่าโครงการเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้จริง เช่น การออกมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อของด้วย e-Tax Invoice และ e-Receipt นอกจากนี้เวลาที่เรายื่นภาษีบุคคลธรรมดา ก็ยังสามารถนำข้อมูลจาก NDID เพื่อให้ดึงข้อมูลรายได้ที่มีการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเราให้กับทางสรรพากร ทำให้การยื่นภาษีนั้นทำได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลงานที่มีการริเริ่มมาจากโครงการ Hackathon ในครั้งนี้
งาน hackathon ของ depa

3. POLYFINTECH100 API HACKATHON 2024 (สิงคโปร์)

POLYFINTECH100 API HACKATHON คือ งาน Fintech Hackathon ขนาดใหญ่ที่จัดในประเทศสิงคโปร์ โดยมีการแบ่งเป็น 5 หมวด Augmented Reality (AR), Decentralize Finance (DeFi), RegTech, InsureTech, Sustainability in Eldercare ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ตามหมวดที่ต้องการ หลังจากนั้นจะมีการทำ Workshop โดยจะมีทางสปอนเซอร์ให้คำแนะนำ รวมถึงการเยี่ยมเยียนสปอนเซอร์อีกด้วย
งาน fintech hackathon

Tips by น้องเพลินเพลิน : 5 เคล็ดลับในการเข้าร่วม Hackathon ให้ประสบความสำเร็จ

หากเพื่อน ๆ เป็นคนหนึ่งที่มีไอเดียดี ๆ และอยากเข้าแข่งขันบ้าง น้องเพลินเพลินก็มีเคล็ดลับดี ๆ สำหรับการเข้าร่วม Hackathon ให้สำเร็จ สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมมี ดังนี้

1. ต้องวางแผนให้รอบด้าน

เคล็ดลับแรกของการเข้าร่วม Hackathon คือ ต้องวางแผนให้รอบด้าน ต้องกำหนดกระบวนการทำงานกับเพื่อน ๆ ในทีมก่อนว่า เราจะให้เวลากับการทำอะไรบ้าง ต้องทำอะไรก่อนอะไรทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา การสร้างแอปพลิเคชัน การทดสอบการใช้งาน และการลงรายละเอียดเพื่อนำเสนอให้กับกรรมการ

2. หาทีมงานที่เชี่ยวชาญ

เคล็ดลับที่สองของการเข้าร่วม Hackathon คือ ต้องทำงานเป็นทีม จึงจำเป็นต้องหากลุ่มเพื่อนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น คนที่เชี่ยวชาญด้านการเงิน ไอที โปรแกรมเมอร์ การตลาด มาช่วยกันคิดและพัฒนานวัตกรรมออกมาให้ใช้ได้จริง

3. เข้าใจปัญหาและผู้ตัดสิน

เคล็ดลับที่สามของการเข้าร่วม Hackathon คือ เข้าใจปัญหาและผู้ตัดสิน เพราะโดยปกติแล้วทางผู้จัดจะมีเป้าหมายมาให้พร้อมกับโจทย์มาว่าเราจะต้องพัฒนาในเรื่องอะไร เราจะต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

4. ทดสอบไอเดียว่านำไปใช้ได้จริง

เคล็ดลับที่สี่ของการเข้าร่วม Hackathon คือ ต้องอย่าลืมว่าไอเดียต่าง ๆ นั้นต้องสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีประโยชน์ต่อคนในสังคมและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเทคโนโลยีได้

5. ลงรายละเอียดเพื่อการนำเสนอ

เคล็ดลับสุดท้ายของการเข้าร่วม Hackathon คือ ให้ความสำคัญกับการทำ Pitching Presentation เพื่ออธิบายรายละเอียดของโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งในเรื่องของแนวคิด แนวทางการพัฒนา ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ฝึกฝนการนำเสนอและเตรียมข้อมูลเพื่อตอบคำถามให้พร้อม แล้วเราจะกลายเป็นทีมที่โดนใจคณะกรรมการได้

สรุป

จะเห็นได้ว่างาน Hackathon คือ โอกาสทองของชาว Fintech ที่จะได้แสดงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ให้ทุกคนได้เห็น นอกจากจะได้พัฒนาความสามารถและโชว์ทักษะของตัวเองแล้ว งาน Hackathon คือ หนึ่งในเวทีที่เปิดโอกาสให้ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจชั้นนำในวงการ Fintech อีกด้วย

นอกจากนั้น Hackathon คือ สะพานเชื่อมระหว่าง Startup กับแหล่งเงินทุน เพราะไอเดียที่โดดเด่นอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุน และได้รับเงินทุนสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย

เห็นแบบนี้แล้ว น้องเพลินเพลินคิดว่าชาว Fintech พลาดไม่ได้แล้วล่ะ!
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา