เบื่องาน เบื่อคน เหนื่อยกับงานอยู่รึเปล่า? ต้องมาระบายลงในโซเชียลมีเดีย โพสต์สเตตัสพร้อมแฮชแท็กว่า #Ihatemyjob #Ihatemonday #TGIF #Happyfriday อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะแต่ละวันเราใช้เวลาอยู่ที่ทำงานมากกว่าในห้องนอนเสียอีก ยังไม่นับรวมเวลาในการเดินทางไปออฟฟิศและกลับบ้าน ถ้าเราได้ทำงานที่รักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรก็ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ตื่นมาทำงานด้วยความรู้สึกแฮปปี้ ตรงกันข้ามถ้ามีปัญหากับงานจนจัดการอารมณ์ไม่ได้ แน่นอนว่าส่งผลต่อจิตใจและร่างกาย หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้ตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) หรือหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ เรามาทำความรู้จักสองอาการนี้ให้มากขึ้น แล้วเช็กให้ชัวร์สักนิดจะได้แก้ไขทัน
Burnout Syndrome อาการหมดไฟ
Burnout Syndrome เป็นอาการ
หมดไฟจากการทำงานหนักมากเกินไปและพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกเหนื่อยกับงานที่ทำ เบื่องานหรือเวลาอยู่ในออฟฟิศจะเครียด ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดตลอด เพราะอยากให้เวลาผ่านไปเร็ว ๆ จะได้กลับบ้านซะที จริง ๆ แล้ว อาการเหล่านี้ใคร ๆ ก็เป็นได้ แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ถ้าทำแล้วก็ยังเครียดเหมือนเดิม ก็น่าสงสัยว่าคุณอาจจะตกอยู่ในภาวะหมดไฟก็ได้
สัญญาณของอาการหมดไฟ
เคยเป็นไหมครับ รู้สึกเหนื่อยกับงานตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงานเลย ถอนหายใจตั้งแต่อยู่หน้าประตูออฟฟิศแล้ว เพราะเวลาร่างกายอ่อนแรง ก็ทำให้จิตใจอ่อนแอตามไปด้วย จากที่ไม่มีความสุขกับงานอย่างเดียว ก็ลามไปถึงเรื่องอื่น ๆ มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดความกระตือรือร้น ขอแค่ให้งานเสร็จวันต่อวัน ไม่สนใจว่าผลงานจะออกมาดีมั้ย กลายเป็นวงจรชีวิตที่น่าเบื่อ เครียด ไม่อยากตื่นมาทำงาน เบื่องาน ไม่อยากลุกออกจากเตียง บางคนอาจถึงขั้นร้องไห้เลย พออาการหนักเข้าก็หาข้ออ้างลาหยุด ทั้งหมดนี้ คือสัญญาณเตือนแล้วว่าคุณตกอยู่ในอาการหมดไฟและอาจมีความเสี่ยงเป็น
โรคซึมเศร้าได้มากกว่าปกติด้วย
Brownout Syndrome อาการหมดใจ
เมื่อทำความรู้จักกับอาการหมดไฟไปแล้ว ยังมีอาการหมดใจที่เรียกว่า Brownout Syndrome ด้วย ซึ่งข้อแตกต่างก็คือ การหมดใจเกิดจากความเบื่อหน่ายหรือไม่พอใจกับคนและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน มักจะเกิดขึ้นกับพนักงานที่มีความสามารถ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากเพื่อนร่วมงาน กฎเกณฑ์ของบริษัทหรือการที่องค์กรให้ผลตอบแทนกับพนักงานเท่ากัน คือใครทำดีหรือไม่ดีก็ได้เท่ากันหมด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำดีแค่ไหนก็เสมอตัว โดยรวมแล้วอาการ Brownout รุนแรงกว่า Burnout มาก เพราะส่งผลกับสภาพจิตใจของพนักงานเองและองค์กรด้วย
สัญญาณของอาการหมดใจ
คนที่เข้าข่ายอาการหมดใจ ภายนอกดูเป็นปกติทุกอย่างแต่ในใจรู้สึกอึดอัดจนอยากระบายออกมาดัง ๆ ว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่? แต่ก็ทำไม่ได้ ได้แต่เก็บไว้ในใจ พอเครียดแล้วก็ส่งผลกับสุขภาพ พักผ่อนน้อยและไม่ดูแลตัวเองที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ คนเหล่านี้อาจจะลาออกกลางคันเพราะเบื่องาน ทำให้คนอื่นช็อก ไม่ทันตั้งตัว อาการนี้มักจะเกิดกับพนักงานที่ทำงานเก่ง เพราะพวกเขามีโอกาสหางานใหม่ได้เร็ว การที่จะลาออกเลยก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถึงแม้เจ้านายจะยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินหรือเลื่อนตำแหน่งให้ก็ฉุดไว้ไม่อยู่ ถึงแม้จะเป็นงานที่รักมากขนาดไหนและสามารถทำงานได้ดีแต่ก็ยังรู้สึกว่าอยู่ผิดที่ผิดทาง องค์กรก็ยังเสียโอกาสที่จะร่วมงานกับคนเก่ง
อย่างไรก็ตามภาวะ Burnout และ Brownout อาจเกิดขึ้นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับความร่วมมือจากองค์กรและเพื่อนร่วมงานที่ช่วยผลักดันปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรหรือระบบการทำงาน เปิดใจพูดคุยถึงความต้องการในการทำงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อเติมไฟให้มีกำลังใจต่อไป ส่วนพนักงานก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เรามี 4 แนวทางปฏิบัติง่าย ๆ เพื่อรับมือกับภาวะหมดไฟและหมดใจ
4 แนวทาง รับมือกับภาวะหมดไฟและหมดใจ
1. ตั้งเป้าหมายในการทำงาน
ถ้ารู้สึกว่าเบื่องาน ขาดความกระตือรือร้นในการทำงานหรือทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจจะเลือกตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ แล้วคิดว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ถ้าทำสำเร็จจะส่งผลดีอย่างไรบ้างกับตัวเราและองค์กร จะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ ก็ได้ เช่น วันนี้จะไม่เข้างานสายหรือจะเขียนบทความให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมงและพยายามให้คุณค่าทุกงานเท่ากัน ไม่เลือกงานที่รักมักที่ชัง สร้างพลังบวกให้กับตัวเอง การทำเป้าหมายเล็ก ๆ สำเร็จ จะช่วยสร้างกำลังใจและทำให้เรารู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ
2. หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ
บางครั้งเราอาจทำงานหนักไปจนละเลยสุขภาพ เข้าใจว่าบางคนอยากให้งานเสร็จไว ๆ จนต้องหอบเอางานมาทำต่อที่บ้าน ไม่ก็ปั่นงานที่ออฟฟิศจนดึก สำหรับคนที่อายุ 20 ปลาย ๆ อาจจะคิดว่าร่างกายแข็งแรง นอนน้อยก็ยังมีแรงทำงาน แต่หากทำบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว จนมีความเครียดสะสม ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยกับงาน ควรหาเวลาออกกำลังกายบ้าง ใส่ใจอาหารการกิน และพักผ่อนให้เพียงพอ สามเรื่องนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่ฟังดูเหมือนง่าย แต่บางคนกลับไม่ใส่ใจและหาข้ออ้างว่าไม่มีเวลา การดูแลตัวเองคือการสร้างวินัยที่ดี หากเราทำสำเร็จ ก็จะส่งผลดีต่อชีวิตด้านอื่น ๆ เมื่อความเครียดลดลง ก็คิดงานสร้างสรรค์ได้ไม่จำกัด
3. ใช้วันลาพักร้อน ออกห่างจากงานซะบ้าง
ถ้ารู้สึกไม่อยากไปทำงานเพราะเบื่องาน เบื่อสิ่งแวดล้อมในออฟฟิศหรือเพื่อนร่วมงาน ควรหาเวลาพักผ่อน อาจเลือกลาพักร้อน ออกไปเจอผู้คนและสถานที่ใหม่ ๆ เราอาจจะได้แรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น ออกไปเปิดหูเปิดตา ไปท่องเที่ยวบ้าง ก็อีกหนึ่งเป็นวิธีช่วย
เติมไฟในการทำงานได้มากทีเดียว เป็นการเยียวยาสุขภาพจิตและร่างกายที่ดีและยังได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการทำงานอีกด้วย เพราะการทำอะไรซ้ำ ๆ เจอคนหน้าเดิม ทำให้ชีวิตหมดความตื่นเต้นและน่าเบื่อ
4. ให้เวลากับสิ่งที่ไม่ใช่งาน
เมื่อมีเวลาว่างก็อย่าคิดแต่เรื่องงานอย่างเดียว ควรหาเวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำสวน ช้อปปิ้งหรือให้เวลากับเพื่อนและครอบครัว นอกจากนี้งานอดิเรกบางอย่างอาจต่อยอดไปสู่รายได้เสริมอีกด้วย เช่น บางคนทำขนมเก่ง ก็ใช้เวลาหลังเลิกงานอบขนมส่งร้านกาแฟหรือขายของออนไลน์ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายและเติมเต็มความสุข ลดความเครียดจากการทำงาน เพราะเราจะโฟกัสกับสิ่งที่ชอบ ปัญหาหรือความรู้สึกเหนื่อยกับงานของคุณก็จะดูเบาลงไป
ภาวะหมดไฟหรือหมดใจในการทำงานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากเรามีสติรู้ตัวว่าไฟกำลังจะมอด ควรพยายามแก้ปัญหา ลุกขึ้นมาเติมพลังให้ชีวิตของตัวเราบ้าง เพราะความสุขและความทุกข์ขึ้นอยู่กับตัวคุณ เราเลือกสร้างทัศนคติด้านบวกกับงานที่ทำได้ง่าย ๆ มาเริ่มสร้างสมดุลให้งานกับชีวิตมีความสุขเท่ากันวันนี้เลย