ทำธุรกรรมปลอดภัย ด้วย AI เปรียบเทียบใบหน้า

ทำธุรกรรมปลอดภัย ด้วย AI เปรียบเทียบใบหน้า

By Krungsri Plearn Plearn

ยังจำได้มั้ย? สมัยก่อนที่เรายังต้องตั้งรหัสเพื่อเปิดมือถือ หรือพกกุญแจหรือบัตรเพื่อเปิดประตูเข้าบ้านหรืออาคาร แต่ตอนนี้ ด้วยเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า Facial Recognition Technology (FRT) ทำให้เราสามารถเปิดโทรศัพท์มือถือ หรือเข้าออฟฟิศ ด้วยการสแกนใบหน้า... หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการสแกนใบหน้ามีประโยชน์เพียงเท่านี้ และไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ สั่นสะท้านวงการเทคโนโลยี แต่มีหลาย ๆ ครั้งที่การตรวจจับใบหน้าถูกนำเข้าไปรวมกับบริการต่าง ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ จนพูดได้คำเดียวว่า ‘ว้าว’ ฉะนั้นอย่ารอช้า มาทำความรู้จักกับเจ้าเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้านี้กันเถอะ!

เปรียบเทียบใบหน้า 101
เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2000 พร้อม ๆ กับระบบไบโอเมตริกรูปแบบอื่น ๆ เช่น ลายนิ้วมือ หรือม่านตา ซึ่ง ณ ตอนนี้ระบบพัฒนาการเปรียบเทียบใบหน้าจนแทบจะมีความเที่ยงตรงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 : การตรวจจับใบหน้า (Face Identification) ใช้ระบบ 2D หรือ 3D สแกนใบหน้าและเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นภาพให้เป็นข้อมูลเชิง Data ที่แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน โดยบางระบบอาจมีการนำข้อมูลของการสแกนม่านตาเข้ามาประกอบด้วย เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เที่ยงตรงและน่าเชื่อถือมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 2 : การเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) นำข้อมูลเข้าระบบอัลกอริทึม เปรียบเทียบข้อมูลใน Data Base ทั้งหมด เพื่อทำการยืนยันว่าใบหน้าที่ถูกสแกนเป็นใบหน้าของเราจริง ๆ ยิ่งสมัยนี้มีวิทยาการปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่สามารถประมวลผลและเปรียบเทียบข้อมูลได้อย่างเที่ยงตรงแม่นยำมากขึ้น นอกจากนั้นยิ่งระบบถูกใช้บ่อยครั้ง มีฐานข้อมูลที่เยอะขึ้น ระบบจะยิ่งเที่ยงตรงและประมวลผลได้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยพื้นฐานของ Machine Learning
ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้ามาใช้จริง
หลายคนอาจคิดว่าระบบเปรียบเทียบใบหน้าสามารถใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยเท่านั้น ตัวอย่าง Social Media ก็มีการนำระบบเปรียบเทียบใบหน้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการ Tag ใบหน้าใน Facebook หรือการใส่ Filter ที่ถูกปรับให้เข้ากับรูปหน้าของผู้ใช้อย่างใน Snap Chat หรือ Instagram นอกจากนั้นยังมีอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ภาครัฐ ไปจนถึงภาคเอกชน ที่สามารถนำการตรวจจับและเปรียบเทียบใบหน้า มายกระดับเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ให้มีความล้ำสมัยมากกว่าที่หลาย ๆ คนคาดคิด นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยกมาให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า
ห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Campus) มีใช้จริงแล้วในโรงเรียนมัธยมในเมืองหางโจว ประเทศจีน โดยวิทยาการนี้เริ่มมาจากปัญหาของนักเรียนจีนที่มีจำนวนมากจนอาจารย์ดูแลไม่ทั่วถึง โดยเริ่มจากมีการติดตั้งกล้องประมาณ 11 ตัวไว้ทั่วห้องเรียน ในกล้องจะมีระบบเปรียบเทียบใบหน้า ทำหน้าที่ตรวจสอบจำนวนนักเรียนในห้อง เพื่อเช็คชื่อว่านักเรียนคนไหนเข้าเรียน หรือขาดเรียน โดยที่ไม่ต้องอาศัยคุณครูมาตรวจสอบ นอกเหนือจากนั้นยังมีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่คอยตรวจจับใบหน้าของเด็ก ๆ และวิเคราะห์อารมณ์ของเด็กแต่ละคนอีกด้วย เพราะเด็กหลายคนอาจมีปัญหา ไม่เข้าใจบทเรียน กำลังเครียด แต่ไม่กล้าถามอาจารย์โดยตรง เจ้าเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า จึงทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ช่วยคุณครูอีกทีหนึ่ง
ยิ้มง่ายจ่ายเงิน (Smile to Pay) ยังคงอยู่กันที่ประเทศจีน ด้วยอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ฮือฮากันมากในวงการ Fintech กับการชำระเงินด้วยระบบเปรียบเทียบใบหน้า ซึ่งแคมเปญนี้จัดขึ้นโดย KFC เมื่อยอดขายโดยรวมของร้านเริ่มลดลง เนื่องจากร้านไม่ได้เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่เหมือนแต่ก่อน จึงพยายามสร้างบริการสุดล้ำที่เพิ่มความสะดวกสบายและดึงดูดคนหนุ่มสาวมากขึ้น จึงเป็นที่มาของเจ้าตู้จ่ายเงิน Smile to Pay ที่มีระบบเปรียบเทียบใบหน้าที่เที่ยงตรง สามารถจับภาพใบหน้าของคุณได้เที่ยงตรงแม้จะแต่งหน้า เปลี่ยนทรงผม หรืออยู่ท่ามกลางผู้คน ระบบก็สามารถรู้ว่าเป็นคุณ จ่ายเงินตัดบัตรได้แสนง่ายแค่ยิ้มให้กล้อง
สแกนหน้าขึ้นเครื่องบิน ในอนาคตเราอาจไม่ต้องหยิบพาสปอร์ตหรือตั๋วเครื่องบินให้ยุ่งยากก่อนขึ้นเครื่องบิน เพราะสนามบิน Dulles วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มนำระบบการเปรียบเทียบใบหน้าเพื่อตรวจสอบตัวตนผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง มาทดลองใช้จริงกับบางสายการบินแล้ว โดยเจ้าหน้าที่จะยืนยันตัวตนของเราผ่านรูปถ่ายที่มีระบบ AI ชั้นสูง นอกจากนั้นยังมีสายการบิน Lufthansa สัญชาติเยอรมัน ที่ใช้ระบบเดียวกัน ช่วยทำให้การขึ้นเครื่องเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นถึง 50%
ทำธุรกรรมปลอดภัย ด้วย AI เปรียบเทียบใบหน้า
ตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น หลายคนอาจสงสัยว่า ‘แล้วในประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าอย่างไรบ้าง?’ ...คำตอบคือมีแน่นอน และล้ำหน้าไม่แพ้ชาติอื่น ๆ ด้วย! มาทำความรู้จักระบบ เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Facial Recognition e-KYC) เพื่อเปิดบัญชีการเงิน ของธนาคารกรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ด้วยแนวคิด Think Digital First ดำเนินการยกระดับบริการด้านการเงินที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยจุดมุ่งหมายของระบบคือเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลในการเปิดบัญชีและธุรกรรม ป้องกันการสวมรอยของเหล่ามิจฉาชีพ ในขณะเดียวกันก็ยังคงความสะดวกสบายและรวดเร็วเช่นเดิม
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าวิทยาการเปรียบเทียบใบหน้า มีศักยภาพมากมาย และสามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษา เพื่อการเดินทาง หรือใช้ประกอบในเทคโนโลยีการเงิน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ หลากหลายรูปแบบมากมาย สามารถนำพาโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่าง เร็วขึ้น สะดวกขึ้น และปลอดภัยขึ้น!
ขอบคุณข้อมูลจาก: vijaichina.com ,customerthink.com ,washingtonpost.com
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา