จุดไฟความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรให้การทำงานในยุค Hybrid

จุดไฟความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรให้การทำงานในยุค Hybrid

By รวิศ หาญอุตสาหะ
หลายทศวรรษที่ผ่านมา ชีวิตการทำงานของมนุษย์เราเปลี่ยนไปมาก แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้เราติดต่อกันและกันได้สะดวกขึ้น แต่เมื่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบ ๆ ตัวลดลงและถูกแทนที่ด้วยสังคมดิจิทัล ผลที่ตามมาคือความโดดเดี่ยวที่มากขึ้น และความสุขที่ลดน้อยลง
จุดไฟความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรให้การทำงานในยุค Hybrid
ความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นอันตรายกว่าที่เราคิด งานวิจัยพบว่าพนักงานที่รู้สึกว่าตน “ไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร” มักจะมีความพึงพอใจในงานที่ทำน้อยกว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำกว่า และมีแนวโน้มว่าจะลาออกสูงกว่า
และที่น่ากลัวคือพนักงานจำนวนมากรู้สึกเช่นนี้ ในการสำรวจปี 2014 ของ Christine Porath และ Tony Schwartz ที่สำรวจเรื่องอุปสรรคขัดขวางประสิทธิผลที่ดีในการทำงานและความพึงพอใจของพนักงานพบว่า กว่า 65% ของพนักงานรู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
แล้วพนักงานที่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรล่ะ? พวกเขามีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่าถึง 58% มีส่วนร่วมกับองค์กรมากกว่าถึง 55% และมีแนวโน้มถึง 66% ว่าจะไม่ย้ายงาน เท่านั้นยังไม่พอ พนักงานเหล่านี้ยังเครียดน้อยกว่า และมีโอกาสประสบความสำเร็จในด้านอื่น ๆ นอกจากงานอีกด้วย
ประโยชน์ที่มากับชุมชนอันแน่นแฟ้นนี้ทำให้หลาย ๆ องค์กรมุ่งหน้าที่จะพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรให้ดีขึ้นผ่านวิธีต่าง ๆ ตั้งแต่การปรับวิธีการทำงาน เพิ่มการสื่อสาร จัดดินเนอร์ระหว่างทีม ไปจนถึงการทำออฟฟิศให้น่าอยู่
แต่โชคร้ายที่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักเมื่อการระบาดของโควิด-19 มาถึง
รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้ความโดดเดี่ยวเพิ่มเป็นทวีคูณ “อาการเบิร์นเอาท์” หรืออาการหมดไฟในการทำงาน กลายมาเป็นสิ่งที่พนักงานจำนวนมากต้องเผชิญ ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยลาออก และถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้น การทำงานก็ถูกเปลี่ยนเป็นแบบ “Hybrid” อย่างถอยหลังกลับไม่ได้
แต่ในวันที่ห่างไกลกันยิ่งกว่าเดิมและโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิมเช่นนี้ จะสร้าง “ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร” ให้พนักงานได้อย่างไร? ในบทความนี้มี 4 ไอเดียในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรให้เหนียวแน่น แม้จะต้องทำงานแบบ Hybrid มาแบ่งปัน

4 ไอเดียรักษาความสัมพันธ์พนักงานในองค์กรยุค Hybrid

สร้างโอกาสในการเรียนรู้ภายในองค์กรการทำงาน

1. สร้างโอกาสในการสอนและเรียนรู้สำหรับทุก ๆ คน

เคยได้ยินไหมครับว่า “การสอน” นั้นมีประโยชน์ต่อเราทุกคนมากกว่า “การเรียน” เสียอีก เพราะการสอนเป็นหนึ่งในวิธีการทบทวนความรู้ที่ดีที่สุดนั่นเอง หลังจากสร้างโปรแกรมการเรียนรู้ภายในองค์กรมาได้หลายปี บริษัท Motley Fool บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ค้นพบว่า ผู้สอนนั้นได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างมากกว่าผู้เรียนมาก ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทจึงเริ่มโปรแกรมแบ่งปันความรู้และทักษะสำหรับพนักงานในองค์กร โดยที่ 10% ของโค้ชผู้สอนนั้นคือพนักงานด้วยกันเอง

Lee Burbage หัวหน้าฝ่ายบุคลากรแห่ง Motely Fool กล่าวว่า การแบ่งปันความรู้ระหว่างพนักงานนี้ ช่วยฟูมฟักความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กรได้เป็นอย่างดี

โดยคลาสเรียนที่พนักงานจัดนั้นมีตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ไปจนถึงงานอดิเรก เช่น คลาสสอนการเป็น DJ คลาสสอนแล่เนื้อ หรือคลาสสอนการเย็บผ้า เป็นต้น นอกจากพนักงานจะได้ความรู้ใหม่ ๆ แล้ว พวกเขายังค้นพบอีกว่าการสอนเพื่อนร่วมงานด้วยกัน กลายมาเป็นสิ่งที่พนักงานหลาย ๆ คนชอบที่สุด

ในบริษัท Mission To The Moon Media เองก็มีการจัด Knowledge Sharing แบบนี้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อพนักงานได้มีโอกาสไปเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มา
การระลึกถึงเรื่องราวในอดีตช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานในการทำงาน

2. ใช้พลังแห่งความคิดถึงเรื่องราวในอดีต

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การชวนระลึกถึงเรื่องราวในอดีตก็ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานได้ดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ที่เคยจัดร่วมกัน โปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จ ทริปเอาท์ติ้ง หรือวันครบรอบต่าง ๆ งานวิจัยพบว่าการคิดถึงความทรงจำดี ๆ ที่มีร่วมกันในอดีต ช่วยให้พนักงานรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น มีน้ำใจต่อกันและกันมากขึ้น แถมยังช่วยต่อต้านความรู้สึกโดดเดี่ยวและวิตกกังวล ที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในการทำงานยุค Hybrid อีกด้วย
จุดไฟความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรให้การทำงานในยุค Hybrid

3. สร้างประสบการณ์ร่วมกันผ่านโลกออนไลน์

ในอดีตที่ยังต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โอกาสที่พนักงานจะได้แบ่งปันประสบการณ์ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันนอกเหนือจากการทำงานนั้นมีมาก แตกต่างกับปัจจุบันที่ต้องตื่นมาทำงานคนเดียว และได้พูดคุยกับผู้คนผ่านหน้าจอหรือเพียงตัวหนังสือ

ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจึงหล่นหาย พร้อม ๆ กับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร การหาวิธีใหม่ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลองมาดูกรณีตัวอย่างจากบริษัทอื่น ๆ กันดูว่าเขาทำอย่างไรกันบ้าง

Sanjay Amin หัวหน้าฝ่าย Youtube Music+ จากบริษัทดังอย่าง Youtube บอกเล่าว่า ทีมของเขาทำตั้งแต่การบอกเล่าเรื่องราวในชีวิต ชวนกันฟังเพลงจากอัลบั้มเดียวกัน ไปจนถึงลองสูตรอาหารของใครสักคนในทีมพร้อม ๆ กัน

นอกจากนั้นทุก ๆ วันก่อนการประชุมทีมประจำสัปดาห์ เขาจะส่งคำถามชวนคิดไปให้ทีม ก่อนจะนำคำตอบมาแชร์กันตอนประชุม ยกตัวอย่างคำถาม เช่น “ถ้าคนบนโลกทุกคนมีพลังวิเศษ อยากให้พลังนั้นเป็นพลังอะไร” หรือ “บทเรียนชีวิตที่เราอยากให้สอนกันตั้งแต่วัยเรียนมีเรื่องอะไรบ้าง” เป็นต้น เขาเชื่อว่าการทำแบบนี้ช่วยให้ทีมเข้าใจว่าแต่ละคนมีมุมมองต่อโลกที่ต่างกัน และช่วยให้เห็นด้านที่เป็นมนุษย์ ด้านที่เปราะบางของกันและกันมากขึ้น
การพักผ่อนแบบทีมช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตพนักงานในการทำงาน

4. พักผ่อนกันแบบทีม

การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะในยุคที่ชวนเกิดอาการเบิร์นเอาท์เช่นนี้ ในการสำรวจหนึ่งพบว่า 10% ของผู้ตอบคำถามพักแค่วันละ 1 ครั้ง ส่วน 50% พักสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และกว่า 22% ไม่ได้พักเลย แถมการแยกตัวเองออกจากเทคโนโลยียิ่งเป็นเรื่องยาก มีเพียง 8% เท่านั้นที่ระบุว่า หาเวลาในแต่ละวันเพื่อออฟไลน์จากเทคโนโลยี

ผมจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาจาก Ernst and Young (EY) บริษัทสำนักงานบัญชีที่หลายคนอาจรู้จักกันดี

ในปี 2018 ทีมหนึ่งจากบริษัท Ernst and Youn ได้เผชิญกับโปรเจกต์ที่ท้าทายและยุ่งมาก ๆ ซึ่งความเหนื่อยล้าสะสมตลอดทั้งฤดูกาลส่งผลให้พวกเขาหมดแรง หมดขวัญกำลังใจ และลาออกไปจำนวนมาก

เพื่อแก้ไขสถานการณ์และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำในอนาคต บริษัทจึงร่วมมือกับ The Energy Project บริษัทที่มุ่งพัฒนา Productivity และคุณภาพชีวิตของพนักงาน ส่งทีมดังกล่าวนี้ร่วม “Resilience Boot Camp” ในปี 2019 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มุ่งมั่นเรื่องการสอนให้พนักงานรู้จักพักผ่อน และพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ เพื่อที่จะได้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต และอารมณ์ที่ดี ตลอดช่วงเวลาเคร่งเครียดในการทำงาน

หลังจากจบโปรแกรมแล้ว ทุก ๆ 14 สัปดาห์ยังมีการจัดชั่วโมงสนทนา ให้คนในทีมออกมาแชร์ปัญหาและความท้าทายที่เจอในงาน ให้กำลังใจกันและกัน และชวนกันพักผ่อนในรูปแบบใหม่ ๆ

แน่นอนว่าผลที่ตามมานั้นแตกต่างจากในปี 2018 อย่างมาก

แม้งานจะเยอะและยากเหมือนเดิม แต่การรู้จักพักผ่อนอย่างมีคุณภาพและทำพร้อม ๆ กันกับคนในทีม ช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานดีขึ้น โดยพวกเขาใช้เวลาทำงานน้อยลง 12-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และมีเวลาพักมากขึ้น และพอโปรเจกต์อันท้าทายในปี 2019 จบลง ทีมรู้สึกดีกว่าปีก่อนมาก ทำให้อัตราการคงอยู่ของพนักงาน (Retention Rate) อยู่ที่ 97.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

Tony Schwartz นักเขียนและ CEO ของ The Energy Project บอกว่าบทเรียนที่เขาได้จากเรื่องนี้คือ “พลังของความเป็นหนึ่งเดียวขององค์กรนั้นสำคัญยิ่ง” การพักผ่อนแบบตัวใครตัวมันหลังจากโปรเจกต์ใหญ่ ๆ อาจช่วยบ้าง แต่นี่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผลลัพธ์นั้นเทียบกับการพักผ่อนไปพร้อม ๆ กันแบบเป็นทีมไม่ได้เลย

ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนั้นไม่ต่างจาก “เครื่องมือช่วยเหลือ” ในการเอาตัวรอดในโลกของการทำงานที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดและกดดัน ความรู้สึกที่คอยย้ำเตือนกับเราว่า “เราไม่ได้ตัวคนเดียว” ช่วยให้เรากล้าเผชิญหน้ากับงานอันท้าทาย และก้าวผ่านอุปสรรคไปพร้อมคนอื่น ๆ

แต่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีความร่วมมือจากทุกคน ดังนั้นหากเราทำได้ จงยื่นมือเข้าหากันและช่วยกันสร้างความเป็นหนึ่งเดียวขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราต้องการกันและกันยิ่งกว่าเคย อย่างการทำงานในยุค Hybrid นี้
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา