คนทำงานแบบไหนที่องค์กรต้องการ

คนทำงานแบบไหนที่องค์กรต้องการ

By รวิศ หาญอุตสาหะ
เมื่อยุคของ “Automation” มาถึง ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป บางสายงานอาจโดน AI มาแทนที่ รวมถึงหลาย ๆ ปัญหาก็อยู่เหนือการควบคุมของเราอีกด้วย
แล้วในฐานะคนทำงานจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไร? มีเรื่องอะไรที่ควรทำและระวังบ้าง? รวมถึงจะพัฒนาและดึงศักยภาพให้ตัวเอง เพื่อเป็นพนักงานที่องค์กรต้องการและตามหาได้อย่างไรบ้าง?
ในบทความนี้มารู้จักมุมมองของผู้บริหารกันว่า คนทำงานแบบไหนที่องค์กร “ต้องการ” กัน
เมื่อก่อนหลายคนอาจคิดว่า “หุ่นยนต์แทนที่มนุษย์ไม่ได้” แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างในตอนนี้หลาย ๆ องค์กรก็นำระบบ Automation มาปรับใช้กันมากขึ้น
คนทำงานแบบไหนที่องค์กรต้องการ
จริงอยู่ที่เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน และจัดแจงทุกอย่างให้เป็นระบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหน้าที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของมนุษย์ก็จะถูก AI แทรกแซงด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะสายงาน Routine งานเอกสาร หรือการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนพยายามหาช่องทางพัฒนาทักษะและศักยภาพให้ตัวเองเป็นประจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ครับ แต่ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่าเท่านี้อาจจะไม่เพียงพอ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมและการพูดคุยกับผู้บริหารหลาย ๆ คน ทำให้ผมเริ่มมองเห็นภาพของการทำงานในอนาคตที่ชัดเจนขึ้น และก็พบความจริงที่ว่า…
“คนทำงานในยุคนี้เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะองค์กรต้องการคนที่ทั้งเก่งและมีทัศนคติที่ดี”
แล้วทัศนคติที่ว่านี้หน้าตาเป็นแบบไหน? ผมมี 6 สิ่งพื้นฐานที่คนทำงาน “ควรมี” เพื่อการทำงานในโลกยุคใหม่มาฝากกันครับ
ทักษะพื้นฐานที่คนทำงานยุคใหม่จำเป็นต้องมี

6 ทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมี

1. ทำงานเสร็จไม่พอ ต้องทำให้ “สำเร็จ” ด้วย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ทำงานเสร็จ” กับ “ทำงานสำเร็จ” ไม่เหมือนกัน ลองนึกภาพกันครับว่า ถ้า A มีหน้าที่ส่งข้อมูลสำคัญและเป็นเรื่องด่วนให้ B ทางอีเมล โดย A คิดแค่ว่าส่งให้ตามหน้าที่เท่านั้นจบ โดยไม่คำนึงว่า B จะได้รับและดำเนินการทันทีตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ลักษณะดังกล่าวคือคนที่ทำงานเสร็จอย่างเดียว ซึ่งตรงข้ามกับคนที่ทำงานสำเร็จที่มักจะโทรไปย้ำอีกที หรือส่งข้อความไปบอก เพื่อให้ปลายทางรับรู้ถึง “Sense of Urgency” และดำเนินการต่อตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น ลองปรับตัวเองให้เป็นคนที่ “ทำงานสำเร็จ” กันดูครับ แม้อาจต้องทำงานเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ เพื่อให้งานสำเร็จและมีประสิทธิภาพ

2. จัดลำดับความสำคัญของงานให้ได้

การจัดลำดับความสำคัญของงานเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ เพราะในแต่ละวันเรามีเวลาทำงานจริง ๆ น้อยมาก แถมยังมีเรื่องยิบย่อยเข้ามาอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ต้องพบว่าน้อยคนที่จะจัดลำดับความสำคัญได้ดี ทำให้ส่วนใหญ่เลือกทำงานที่ Priority ต่ำ ๆ ก่อน

โดยผลที่ตามมาไม่ใช่แค่งานไม่บรรลุตามเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังทำให้หน้าที่การงานของเราอยู่ในจุด “เสี่ยง” อีกด้วย เพราะเรามัวแต่ทำงานที่ไม่จำเป็นและละเลยงานที่ Priority สูง ๆ ทำให้เมื่อใดที่ระบบ Automation เข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ บางสายงานจะถูก AI มาแทนที่แน่นอน โดยเฉพาะงาน Routine และงานที่ Priority น้อย
คนทำงานแบบไหนที่องค์กรต้องการ

3. มี Common Sense ที่ดี

ถ้ามีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือมีงานแทรกเข้ามาในเวลาเร่งด่วน คนที่มี Common Sense ที่ดีจะตัดสินใจได้ทันทีว่าเรื่องไหนด่วน เรื่องไหนที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อทันทีและต้องรีบแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบ แม้จะอยู่นอกเวลางานก็ตาม ส่วนเรื่องไหนที่ไม่ด่วนมากก็ไว้ค่อยจัดการทีหลัง ในทางกลับกัน คนที่ไม่ค่อยมี Common Sense ก็อาจตัดสินใจผิดพลาด ส่งผลเสียต่อทีมและองค์กรได้

แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลไปครับ เพราะทักษะนี้สามารถฝึกฝนและพัฒนากันได้เสมอ โดยอิงจากประสบการณ์ทำงาน การลองผิดลองถูก ความใฝ่รู้ บทเรียนและคำแนะนำจากผู้อื่น

4. อย่ายึดติด Protocol มากเกินไป

ทุกวันนี้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แถมยังมีเรื่องไม่คาดฝันและเหตุการณ์ ที่อยู่เหนือการควบคุมเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทำให้เราจำเป็นต้องปรับแผนและพร้อมรับมือกับปัญหาเฉพาะอยู่เสมอ

ดังนั้น การทำงานควรมีความยืดหยุ่น อย่ามัวยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ มากไป เพราะงานรูปแบบซ้ำ ๆ AI ทำแทนเราได้ แต่สิ่งที่อาจทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ก็คือ การปรับตัว (Adapability) และการเจรจาต่อรอง (Negotiation) ซึ่งเป็นทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญและควรมีติดตัวไว้ เมื่อฉุกเฉินจน Protocol ก็ไม่ตอบโจทย์

5. ใช้ตรรกะและเหตุผลในการทำงาน

ทักษะด้านตรรกะและเหตุผล (Logic and Reasoning) เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญตลอดกาลของคนทำงานก็ว่าได้ เพราะช่วยแก้ไขปัญหา การรับและส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจับทางได้ว่าอะไรคือ Objective หลักของงานที่รับผิดชอบอยู่

หากเปรียบเทียบระหว่างคนที่ใช้ตรรกะและเหตุผลในการทำงานกับคนที่ไม่ใช้ เราจะพบว่าการแก้ปัญหาของคนสองกลุ่มนี้ต่างกันมาก ๆ เพราะคนที่มี Logic ที่ดีจะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่า และมีแผนสำรองอยู่เสมอ
การสื่อสารในองค์กรของคนทำงานให้มีประสิทธิภาพ

6. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

เคยเจอสถานการณ์ทำนองนี้ในที่ประชุมกันไหมครับ? คนที่พูดไปเรื่อยและพูดวกไปวนมา จนทำให้คนฟังสับสนและจับประเด็นไม่ได้ นำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดและไม่ครบถ้วน

แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ดังนั้น คนทำงานยุคใหม่จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการสื่อสาร และจับทางให้ได้ว่าเรื่องไหนสำคัญมาก-น้อย เพื่อสามารถสื่อสารออกไปได้อย่างตรงจุดตรงประเด็น ทำให้ทุกคนได้ข้อสรุปตรงกัน

หากใครยังเคยชินกับอะไรเดิม ๆ ไม่ยอมปรับตัว ทำงานแบบขอไปที รวมถึงเอาแต่คิดว่ารูปแบบงานที่ทำอยู่ก็ใช้จำนวนคนเท่าเดิมมาตลอด ต้องบอกว่าเสี่ยงที่จะโดน AI มาแทนที่ แถมยังไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรอีกด้วยครับ
อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกับคนทำงานทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่ง “CEO” จากทั้งหมดที่ผมรวบรวมมานี้ ก็อยากให้เป็นเครื่องเตือนใจให้กับตัวเองและคนทำงานทุกคนครับว่า โลกการทำงานในอนาคตที่ AI จะมีบทบาทสำคัญนั้น องค์กรไม่ได้ต้องการคนที่เก่งอย่างเดียว แต่ต้องการคนที่ทั้งเก่งและมีทัศนคติที่ดีควบคู่ไปด้วยกัน ตอนนี้ก็อยู่ที่เราแล้วครับว่าจะเดินหน้าต่อหรือหยุดอยู่กับที่รอให้คนอื่นและ AI แซงหน้าไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา