"เช็ก ให้ ชัวร์" ตรวจสอบเว็บไซต์ที่ใช้อยู่ Real or Fake

By Krungsri Plearn Plearn
ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อค้นหาข้อมูล การซื้อของ หรือแม้กระทั่งการทำธุรกรรมออนไลน์ความสะดวกสบายนี้จึงทำให้การดำเนินชีวิตของเราง่ายยิ่งขึ้น
ขั้นตอนตรวจสอบเว็บไซต์ปลอม
ข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ปี 2565 พบว่าคนไทยใช้เวลาไปกับการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยถึง 7 ชั่วโมง 4 นาที (ข้อมูลจาก ETDA) และจากรายงาน Digital Stat ปี 2565 นั้น ยังพบอีกว่าคนไทยยังมีพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์รายสัปดาห์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกรองมาจากมาเลเซีย และเกาหลีใต้ แสดงให้เราเห็นว่าการซื้อขายของผ่านอินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไปตาม ๆ กัน
เว็บไซต์ปลอม หลอกขายของ

เมื่อความสะดวกสบายกลับกลายเป็น “ดาบสองคม”

จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าการที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในสังคมของเรา และสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ความสะดวกนั้นก็แฝงไปด้วย ภัยอันตรายจากมิจฉาชีพเช่นเดียวกัน เพราะในปัจจุบันก็มีเหยื่อหลายรายถูกล่อลวง หรือถูกฉ้อโกงออนไลน์ จากความไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพ
ตรวจสอบเว็บไซต์ปลอม หลอกให้กด SMS
ยิ่งตอนนี้สำนักข่าวหลากหลายสำนักได้ทำการรายงานข่าวเกี่ยวกับการฉ้อโกงผ่านทางออนไลน์ และใช้กลโกงแบบใหม่อย่างการทำเว็บไซต์ปลอม ในการล่อลวงเหยื่อให้เข้ามาทำธุรกรรมออนไลน์ หรือถูกหลอกให้โอนจ่ายสินค้าในเว็บไซต์ปลอมโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง

โดยภัยอันตรายของเว็บไซต์ปลอมส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการตั้งผ่าน URL หรือการพาดหัวเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับเว็บไซต์จริง หลอกให้เราคลิกลิงก์เพื่อหวังล้วงข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง

อาจจะหลอกให้เข้ามากรอกข้อมูล ส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัตรเดบิต/เครดิต เลข CVV 3 ตัวสุดท้ายหลังบัตรเครดิต เป็นต้น

ในวันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปจับสังเกตุหน้าเว็บไซต์ปลอม และเรียนรู้วิธีตรวจสอบเว็บไซต์ปลอมต่าง ๆ ว่ามีกลโกงอะไรบ้างที่ควรระวังไว้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกัน มาดูกันเลย

5 วิธีสังเกตุหน้าเว็บไซต์ปลอม

1. สินค้าราคาถูกเกินไปจนผิดสังเกต

ตรวจสอบเว็บไซต์ปลอม ก่อนทำธุรกรรมออนไลน์
หากคุณคลิกเข้าเว็บไซต์ขายของออนไลน์ แล้วเจอสินค้าที่มีราคาถูก หรือมีการโฆษณาโปรโมชันลดราคากระหน่ำเกินจริงจนน่าตกใจ ให้คุณสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าสินค้าที่วางขายในเว็บไซต์อาจไม่มีอยู่จริง เพื่อรู้เท่าทันกลลวงของเว็บไซต์ปลอม อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจกดซื้อให้ตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ของเว็บไซต์นั้นให้ชัวร์เสียก่อน ก็จะสามารถช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อได้

2. URL หรือลิงก์ของเว็บไซต์มีความแปลกผิดปกติ

ดูเว็บไซต์ปลอมจาก SSL
อยากให้ทุกคนลองมาสังเกตก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า ทำธุรกรรมออนไลน์ ว่าเว็บไซต์ที่มีตัวตนจริง ๆ หรือเว็บไซต์ที่เป็นทางการส่วนใหญ่นั้นจะใช้ชื่อเว็บไซต์ที่สามารถจดจำได้ง่าย ไม่มีความซับซ้อน เช่น Apple.com หรือ Krungsri.com เป็นต้น

หรืออีกวิธีที่เราสังเกตได้คือ การสังเกตโดเมนเนม โดยปกติแล้วเว็บไซต์ทั่วไปที่เป็นเว็บไซต์ค้าขายออนไลน์/เว็บไซต์เชิงพาณิชย์จะใช้โดเมนเนมเป็น .com แต่ถ้าหากเป็นเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่สกุลที่ใช้จะมีท้ายลิงก์เป็น .go.th และ .or.th แต่นอกจากโดเมนเนมที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็ยังมีนามสกุลอื่น ๆ ที่เราสามารถตรวจสอบได้เหมือนกันอีกนะ ตามไปดูลิสต์นามสกุลด้านล่างนี้เลย
  • .go.th : หน่วยงานภาครัฐ
  • .or.th : องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิ พรรคการเมือง องค์กรอิสระ
  • .ac.th : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา
  • .co.th : ธุรกิจร้านค้าในไทย
  • .mi.th : หน่วยงานภายใต้กองทัพไทย
  • .net.th : ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
  • .in.th : องค์กรทุกประเภทตามกฎหมายไทย

3. เว็บไซต์ที่ดีต้องมีใบรับรอง SSL CERTIFICATE

การตรวจสอบเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากสังเกตจากโดเมนเนมแล้ว SSL Certificate หรือใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ให้เราสังเกต และเฝ้าระวังเว็บไซต์ปลอมได้มากขึ้นด้วยนะ เพราะ SSL จะเป็นสัญลักษณ์ช่วยยืนยันให้กับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ว่า เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ดังภาพตัวอย่างที่ปรากฏด้านล่าง
ขั้นตอนตรวจสอบเว็บไซต์ปลอมของธนาคาร

4. หน้าเว็บไซต์มีข้อมูลรายละเอียด หรือองค์ประกอบน้อย

หากเราสังเกตดูดี ๆ มักจะพบว่าในเว็บไซต์ปลอมจะปรากฏแต่ภาพโลโก้ และชื่อหน่วยงานไม่ค่อยมีองค์ประกอบอื่น ๆ และเนื้อหารายละเอียดอะไรมากเหมือนเว็บไซต์ที่เราเคยพบเห็นอยู่ทั่วไป นั่นเพราะว่าเว็บไซต์นี้ไม่มีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

5. รูปแบบประโยค หรือการสะกดคำบนเว็บไซต์ผิดหลักไวยากรณ์

นอกจากเฝ้าระวังมิจฉาชีพคนไทยแล้ว มิจฉาชีพที่เป็นชาวต่างชาติอาจใช้กลยุทธ์ทำเว็บไซต์ปลอมแฝงมาเพื่อหลอกล่อผู้ใช้งานเว็บไซต์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยการแปลคำบรรยายเป็นภาษาไทยให้ตกเป็นเหยื่อได้ เพราะฉะนั้นแล้วการที่เราสังเกตรูปแบบภาษา และการสะกดคำก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน

ถ้าหากคุณเข้าไปเลือกซื้อสินค้า หรือใช้บริการเว็บไซต์นั้นแล้วสังเกตพบว่า มีการสะกดคำผิด ใช้ถ้อยคำไม่ถูกบริบท รูปแบบประโยคดูขัดหูขัดตา อาจตีความได้ว่าเป็นเว็บไซต์ปลอม ที่ถูกสร้างมารีบ ๆ เพื่อจุดประสงค์ฉ้อโกงหลอกลวงโดยเฉพาะ

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิคดี ๆ ที่เรานำมาฝาก เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากเหล่ามิจฉาชีพที่แอบอ้างทำเว็บไซต์ปลอม ดังนั้นควรพึงระวัง และมีสติในการท่องเว็บไซต์อยู่เสมอ เช็กให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์

ถ้าหากใครที่หลงกลมิจฉาชีพ สำหรับลูกค้าที่สงสัยว่าอาจได้รับความเสียหายจากมิจฉาชีพ สามารถติดต่อ สายด่วนของธนาคารกรุงศรี โทร. 1572 กด 5 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากใครพบเบาะแสการกระทำที่ผิด หรือมีเหตุน่าสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน หมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.go.th/ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา