ทำไมไม่รวยสักที: คุยกับ Money Coach ถึง 5 บททดสอบทางการเงินของคนวัยสร้างตัว
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ทำไมไม่รวยสักที: คุยกับ Money Coach ถึง 5 บททดสอบทางการเงินของคนวัยสร้างตัว

icon-access-time Posted On 23 เมษายน 2561
By Money Coach

จากหนุ่มวิศวกรจุฬาฯ ที่มีหนี้สินจากครอบครัวนับสิบล้าน สู่การปลดแอกและเป็นอิสรภาพทางการเงินตั้งแต่อายุ 34 ปี จนวันนี้คุณหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ Money Coach ได้เดินบนเส้นทางการสอนแนวคิดความฉลาดทางการเงินให้คนไทยมาเป็นสิบปี จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในหมู่ลูกศิษย์ที่มาจากคนหลากหลายสาขาอาชีพ แม้แต่เจ้าของกิจการก็ยังมานั่งฟังงานสัมมนาของโค้ชหนุ่มเลยครับ

เราจึงอยากให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับหนุ่มคนนี้ให้มากขึ้น เลยถือโอกาสสัมภาษณ์โค้ชหนุ่ม พร้อมแชร์ทัศนะเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นความเจ็บปวดของคนวัยทำงานส่วนใหญ่ นั่นคือ อาการสุขภาพทางการเงินพัง หรือทำงานไปนานเท่าไรก็ไม่รวยสักที
จากประสบการณ์ที่ได้ให้คำปรึกษา และสอนลูกศิษย์มาทั่วประเทศเรื่องการเงิน คุณจักรพงษ์รู้สึกว่า คนส่วนใหญ่มักจะพลาดเรื่องอะไร ที่ทำให้ไม่มีเงินเก็บสักที
“ถ้าตอบแบบรวม ๆ ก็น่าจะพูดได้ว่า พลาดในเรื่องการบริหารเงินครับ แต่ถ้าให้เจาะรายละเอียดเป็นข้อ ๆ ก็พอจะแยกเป็นประเด็นสำคัญได้ 5 เรื่อง
1. ใช้จ่ายเกินตัว
อันนี้เป็นเหตุผลข้อสำคัญเลยนะ เป็นสมการการเงินที่ตรงไปตรงมา เพราะถ้าเราจ่ายเกินที่หาได้ ชีวิตการเงินก็ต้องแย่ เพราะเมื่อใช้เกิน คำถามคือ เราเอาส่วนเกินจากไหนมากินมาใช้ ก็เงินในอนาคตหรือหนี้ไงล่ะ ทีนี้ยาวเลยนะ มีหนี้ ก็ต้องจ่ายขั้นต่ำ จ่ายดอกเบี้ย เป็นภาระทุกเดือน แทนที่จะเอาดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้เขา มาออมมาลงทุนเพื่อตัวเอง
พูดถึงตรงนี้หลายคนอาจแย้งว่า “ก็มันจำเป็น ของมันต้องกินต้องใช้” อันนี้ก็อาจจะไม่ผิดนะ แต่แม้จะจำเป็น เราก็ต้องบริหารให้เป็นด้วย จะทำอะไร “ความจำเป็น” ต้องมาควบคู่กับ “ความพร้อม” ถึงจะเรียกว่าบริหารเงินได้ดี ของบางอย่างจำเป็น แต่ยังไม่ต้องรีบซื้อก็ได้ ถ้าดูแล้วผ่อนไม่ไหว เช่น บ้าน คอนโด หรือรถยนต์ เป็นต้น
เรื่องความจำเป็นและความพร้อม แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันนะ เลียนแบบกันหรือทำตามกันก็ไม่ได้ เราจำเป็นเหมือนเขา แต่เราไม่พร้อมเหมือนเขา แบบนี้ก็ต้องอดใจรอ หรือมีแผนเก็บออม (หรือสร้างรายได้เพิ่ม) เพื่อสร้างความพร้อมให้ตัวเอง
ผมว่าหลักการพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา ยังใช้ได้เสมอนะ มีเหตุผล (ดูความจำเป็นเป็นที่ตั้ง) พอประมาณ (ถ้าจำเป็น เริ่มจากที่เราไหวก่อน) มีภูมิคุ้มกัน (ก่อนตัดสินใจ คิดถึงวันข้างหน้า ว่าถ้าซื้อไปแล้ว การเงินจะเป็นอย่างไร)
ดังนั้น ถ้าอยากมีเงินเหลือออม เริ่มต้นง่าย ๆ อย่าใช้จ่ายเกินตัวครับ
2. ออมไม่เป็น
ที่เจอคนมาขอคำปรึกษา ก็มีหลายคนที่ตั้งใจจะเก็บออมกันนะ แต่ยังเก็บกันไม่เป็น เพราะคำสอนแบบเดิม ๆ ก็คือ เงินออม คือ เงินเหลือ พอคิดอย่างนี้ได้เรื่องเลย เพราะมันจ่ายจนหมดไม่เหลือนะสิ เมื่อไม่เหลือ ก็ไม่ได้ออม
ที่ถูกต้อง เงินออม คือ เงินที่ถูกจัดสรรไว้สำหรับวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ในอนาคต พอใช้คำว่า “จัดสรร” เห็นเลยว่าต้องกันไว้ แบ่งหรือแยกไว้ ไม่ให้ปะปนกับเงินใช้จ่าย ถ้าทำแบบนี้ก็จะได้ออมแน่ ๆ ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา โดยส่วนตัวผมจะแนะนำให้ใช้ระบบตัดออมแบบอัตโนมัตินะ ผูกบัญชีเอาไว้เลย เงินเดือนออกปุ๊บก็ตัดเข้าบัญชีที่แยกไว้ต่างหากสำหรับออม ทำแบบนี้ได้ผลมาเยอะแล้วครับ
อีกเรื่อง คือ การดูแคลนเงินออม ชอบหมิ่นว่าเงินน้อย รอให้เงินเยอะก่อนเดี๋ยวค่อยออม จะบอกเลยว่าการออมไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของการพัฒนานิสัยด้วย ดังนั้นต้องเริ่มเร็ว เริ่มเลย มากน้อยไม่เกี่ยว และทำให้ต่อเนื่อง เดี๋ยวพอเริ่มเก็บเห็นเงินโตขึ้น นิสัยจะเปลี่ยนเอง อยากออมมากขึ้น คราวนี้จะเริ่มสนุก อันนี้ยืนยัน
3. ไม่วางแผนการเงิน
อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ “คนที่ไม่เตรียมการณ์สำหรับอนาคต มักถูกอนาคตเล่นงานเสมอ” ชีวิตคนเรานั้นหลายเรื่องที่ว่าแน่นอน เอาเข้าจริง ไม่แน่นอนเลยสักอย่าง อะไรที่คาดไว้ ไม่เป็นไปตามคาด อะไรที่ไม่ได้คาดไว้ ดันวิ่งเข้ามาในชีวิต
บางคนทำงานรายได้ดี ใช้จ่ายเหมาะสม เก็บออมพอสมควร วันดีคืนร้ายเจอเรื่องไม่คาดฝัน พังหมดเลยนะ เงินออมหาย กลายเป็นหนี้เลยก็มี อันนี้การวางแผนช่วยได้ เริ่มต้นง่าย ๆ การวางแผนการเงินช่วยให้เรามองเห็นรายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น เมื่อเห็นอนาคต ก็วางแผนได้ จัดการได้ เตรียมการได้ เผื่อเหลือเผื่อขาดได้ แต่น่าเสียดายเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน
4. ชีวิตไร้เป้าหมาย
บางครั้งคนเราก็ไม่เคยตั้งโจทย์ ว่าจะออมไปทำไม สะสมเงินไปเพื่ออะไร และต้องสะสมเท่าไหร่ อย่างไร ชีวิตที่ไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยตั้งโจทย์ มันก็เลยไม่เห็นว่าคำตอบของโจทย์เหล่านี้มีความสำคัญไงครับ
เงินสำรองฉุกเฉิน เก็บเงินเรียนต่อ เก็บเงินแต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ สิ่งเหล่านี้ปัจจุบันเข้าถึงได้ด้วยหนี้หรือสินเชื่อหมดแล้ว แต่การเข้าถึงเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิต ด้วยหนี้หรือสินเชื่อ ย่อมต่างจากเงินเก็บเงินออม หรือเงินลงทุน จริงมั้ย
จริงอยู่ว่าบ้านหรือรถ อาจเป็นอะไรที่ใหญ่เกินเงินเก็บเงินออม และเราคงจ่ายทั้งก้อนด้วยเงินสดไม่ไหว อันนั้นไม่ว่ากัน แต่ปัจจุบัน กับแค่เงินดาวน์เรายังต้องผ่อนกันเลย
เมื่อไม่มีเป้าหมายบวกกับไม่วางแผน พอถึงเวลาต้องใช้จ่ายกับสิ่งที่ต้องการ เราจึงต้องเข้าไปสู่วงจรหนี้ ซึ่งก็เหมือนฉุดให้ชีวิตของเราถอยหลังหรือถอยห่างจากความมั่งคั่งออกไปอีก
5. ขาดวินัยทางการเงิน
ในบรรดาข้อที่พูด ๆ มา อันนี้แย่สุด ประมาณว่ารู้ดีรู้ชั่วแต่ทำไม่ได้ บางคนรู้ทุกอย่าง มีเป้าหมาย วางแผนเป็น พูดสอนคนอื่นได้เป็นข้อ ๆ แต่สุดท้ายไม่ทำ หรือทำไม่ได้ อดเปรี้ยวไว้คอยกินหวานไม่เป็น
หลายคนว่าเป็นเพราะนิสัย แต่เท่าที่ผมเจอ ผมว่าเป็นเพราะขาดแรงจูงใจมากกว่า คนเราถ้ามีเป้าหมาย มีเหตุผลที่ทรงพลังอยู่เบื้องหลัง ผมรับประกันว่าวินัยจะเป็นเรื่องเล็ก
ผมเคยเจอคนมาขอคำปรึกษา ว่าอยากรวยเป็นร้อยล้านทำไงดี พอถามว่าทำไมต้องมีเงินร้อยล้าน ตอบทื่อ ๆ แค่ว่า จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีก มีกินมีใช้ไปตลอด เอาจริง ๆ เลยนะ ผมว่าชีวิตคนธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องถึง 100 ล้านหรอก แค่สิบล้านก็อาจหมดกังวลแล้ว
แล้วก็อย่างที่คาด พอเป้าหมายถูกตั้งขึ้นแบบชุ่ย ๆ แรงจูงใจก็ต่ำ พฤติกรรมก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน
ตรงกันข้ามกับน้องอีกคน ทำงานเก็บเงินเก่ง มาปรึกษาเราว่าจะเก็บเงินซื้อบ้านต้องเตรียมอะไรบ้าง เราก็พูดคุยแนะนำไป พอถามว่า ทำไมถึงรีบซื้อบ้านจัง อายุแค่ 24 ปีเอง เขาบอกว่าชีวิตเขาอยู่บ้านเช่ามาตลอดชีวิต แม่อายุมากแล้ว อยากให้แม่ได้อยู่บ้านที่เป็นของเราเองสักครั้ง
เราฟังแล้วรู้เลยว่าเขาทำสำเร็จแน่ จะต้องอดแค่ไหนเพื่อเก็บออม เราก็เชื่อว่าเขาทำได้แน่ และเขาก็ทำได้จริง ไม่ถึงสองปีเขาซื้อบ้านให้แม่เขาได้จริง ๆ ในระดับที่ผ่อนไม่เหนื่อยจนเกินไปด้วยนะ เพราะเขามีเป้าหมายว่าจะซื้อบ้านเท่าไหร่ วางแผนเก็บเงินมาชัดเจนเลยว่า ผ่อนส่งเดือนละเท่าไหร่แล้วไม่เหนื่อยเกินไป
นี่คือพลังของเป้าหมายต่อวินัยทางการเงิน!!”
“คำถามคือ เราจะเดินชนแล้วก็คลำทางไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ หรือจะเลือกเดินหาสวิตช์ไฟ เพื่อเปิดให้เราเห็นภาพทั้งหมดให้ชัดเจนขึ้น”
คุณจักรพงษ์มีคำแนะนำอย่างไร
“เอาเข้าจริงผมว่ารากของปัญหาจริง ๆ คือ การที่เราขาดความรู้ทางการเงิน (หรือ Money Literacy) การใช้ชีวิตหรือแม้แต่ลงมือทำอะไรสักอย่างโดยขาดความรู้ในเรื่องนั้นมันเหมือนกับคนเดินในที่มืดเลยนะ เดินไปทางไหนก็ชนก็เตะสิ่งของไปหมด แล้วก็เจ็บตัว
ที่แย่คือ ทุกจังหวะของการดำรงชีวิตดันมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแทบจะทุกขั้นตอนเลยนะสิ มันก็เลยเหมือนเดินชนแล้วเปลี่ยนทาง ก็ไปชนทางอื่นอีก คำถามคือ เราจะเดินชนแล้วก็คลำทางไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ หรือจะเลือกเดินหาสวิตช์ไฟ เพื่อเปิดให้เราเห็นภาพทั้งหมดให้ชัดเจนขึ้น
ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นในเรื่องความรู้ทางการเงินนะ ผมว่านี่แหละคือสิ่งที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จในคราวเดียว”
อยากทราบความแตกต่างระหว่าง Money Literacy กับ Money Fitness
“สำหรับผม Money Literacy หมายถึง ความรู้ทางการเงิน หรือความฉลาดทางการเงิน ที่ครอบคลุม 4 มิติ สำคัญ อันได้แก่ การหารายได้ (Earning) การใช้จ่าย (Spending) การออม (Saving) และการลงทุน (Investing) แต่สำหรับ Money Fitness มันคือ สุขภาพการเงินที่ดี มันดูกันที่ผลลัพธ์
ความแตกต่างของสองคำนี้มันเป็นเรื่องของ “ความรู้” กับการลงมือ “ปฏิบัติ” เหมือนคนเราทุกคนรู้ดีว่า การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ แต่น้อยคนที่จะจัดสรรเวลาให้ตัวเองได้ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
การรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี อันนี้ก็เหมือนกับ Money Literacy แต่การที่สุขภาพเราดี ร่างกายแข็งแรง เต็มไปด้วยมัดกล้าม ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่เหนื่อยง่าย อันนี้แหละ คือ Money Fitness
หรือถ้าเปรียบกับเรื่องการเงินสักหน่อย ก็เหมือนเรารู้กันว่า การออมเป็นเรื่องดี การออมเป็นเรื่องจำเป็น (อันนี้คือ Money Literacy) แต่เอาเข้าจริงมีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีเงินเก็บเงินออมเลย (ขาด Money Fitness) เป็นต้น
Money Literacy นั้น แค่อ่าน แค่ฟัง แค่เรียน เราก็รู้ แต่ Money Fitness มันคือการปฏิบัติเป็นประจำ จนเกิดเป็นทักษะทางการเงินติดตัว หรือสรุปได้ง่าย ๆ เลยว่า ถ้าเป็นเรื่องความสำเร็จด้านการเงินแล้ว มันต้องระดับ Money Fitness ไม่ใช่ Money Literacy หรือแค่รู้ไม่พอ มันต้องมีผลลัพธ์ที่ดีด้วย”
ลูกศิษย์คนไหนที่คุณจักรพงษ์รู้สึกว่าเรื่องราวของเขามีพลังมาก และสร้างแรงบันดาลใจได้ดี
“จะว่าไปก็มีหลายคนนะครับ เพราะสอนมา 13 ปี ก็มีคนเคยมาเรียนด้วยเป็นหมื่นคน แต่ที่ประทับใจก็เรื่องของน้อง รปภ. คนนึงที่เก็บเงินล้านได้ตอนอายุ 32 ปี จะว่าไปก็มีลูกศิษย์หลายคนนะที่ทำแบบนี้ได้ แต่ที่ชอบเรื่องของเขาเพราะต้นทุนเขามาจากติดลบ ไม่มีความรู้ทางการเงิน แต่ก็สู้จนมีเงินล้านได้
คิดดูว่าคนเป็น รปภ. เงินเดือนบวกสวัสดิการต่าง ๆ เดือนละหมื่นนิด ๆ เก็บเงินได้เดือนละ 5,000 บาท เขาใช้จ่ายประหยัดจริง ๆ นะ เขาบอกผมประหยัดครับโค้ช แต่ผมไม่ได้รู้สึกลำบาก นอกเหนือจากงานประจำ เขายังรับจ้างทุกอย่าง ใครให้ไปซ่อมบ้าน ทาสีรั้ว ซ่อมห้องน้ำ เขารับทำหมด ก็อาศัยเวลาหลังเลิกงานและวันหยุดนั่นแหละ เขาเล่าว่าขยันเอ่ยปากหน่อย ทุกเดือนก็มีคนจ้างพอเก็บเงินได้ตกราว 5,000 บาทต่อเดือน
จากเงินเก็บสองช่องทางประมาณ 10,000 บาท เขานำไปลงทุน เราก็ถามเขานะว่าลงทุนกี่ปีถึงมีเงินล้าน เขาตอบว่า 7 ปี ก็เลยถามเขาว่าลงทุนอะไร เพราะถ้าเก็บได้เดือนละ 10,000 บาท ปีหนึ่งก็เก็บได้ 120,000 ถ้าเก็บ 7 ปี ก็ได้แค่ 840,000 บาท
พอเขาตอบมา เราถึงกับอึ้งเลยนะ เขาบอกว่า​ “เงินแต่ละเดือนที่ออมได้ผมแบ่งเป็นสองพอร์ต” ตอนได้ยินคำว่า “พอร์ต” เราแอบตกใจว่า “เฮ้ย! เขารู้เรื่องเงินจริง ๆ แฮะ” สองพอร์ตที่ว่านี้ พอร์ตแรกเขานำไปลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Average (DCA) ทุกเดือน มีเงินอยู่ในกองทุนประมาณ 7 แสนบาท อีกพอร์ตทั้งฝากแล้วก็ซื้อหุ้นสหกรณ์ มีเงินอยู่รวมกัน 5 แสนกว่าบาท ที่ชอบคือ เวลาที่เขาได้ปันผลมา ก็จะนำมาซื้อหุ้นสหกรณ์เพิ่ม เขาเล่าให้ฟังว่า คนอื่นฝากสหกรณ์เพราะอยากกู้เงิน แต่ผมฝาก เพราะอยากได้ผลตอบแทน สุดยอดเลย”
ช่วยเล่าเรื่องเคสที่เคยให้คำปรึกษา เป็นเคสที่ดูหนักที่สุด แล้วเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
“ผมว่าสำหรับเรื่องเงิน คำว่า “หนัก” คงไม่ใช่ว่ามีปัญหาเป็นตัวเงินมากหรือน้อย แต่ที่เราว่าหนัก คือ เรื่องความคิดมากกว่า คนบางคนมีหนี้ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด และหนี้นอกระบบรวมกันเกือบ 30 รายการ ถ้าเขาสู้ เขาอดทน ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันก็หลุดพ้นปัญหาได้
ตรงกันข้ามกับบางคนที่มีหนี้บัตรแค่ 3-4 ใบ แต่ไม่เอาอะไรเลย แนะนำให้ลดรายจ่าย ก็ย้อนว่าลดจนไม่รู้จะลดอะไรแล้ว ลดกว่านี้ก็ไม่ต้องกินข้าวแล้ว เราก็แนะนำว่า ถ้าลดรายจ่ายไม่ได้แล้ว ก็ลองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม เขาก็บอกทำงาน 5 วันก็เหนื่อยจะแย่ ความรู้ความสามารถพิเศษก็ไม่มี จะไปหารายได้เสริมได้ที่ไหนล่ะ ไม่ว่าจะแนะนำอะไรมันก็ติดขัด เป็นปัญหา มีเหตุผล (ข้ออ้าง) เต็มไปหมด คนกลุ่มนี้ถือว่าหนักมาก คือหนักทางความคิด เขาไม่ได้จนแค่เงิน แต่จนความคิดด้วย คนจนเงินเราช่วยได้นะ แนะนำได้ สอนได้ แต่คนจนความคิดนี่ยากมาก อะไรก็ไม่เอาไม่ทำทั้งนั้น แบบนี้รอดยาก
ลูกศิษย์คนหนึ่งที่บ้านเป็นหนี้ 30 กว่าล้าน มาจากธุรกิจรับเหมา และธุรกิจที่ทำงานกับภาครัฐ เจอช่วงชุมนุมประท้วงกัน รัฐจ่ายเงินช้า การเงินพังทั้งระบบเลย ตอนเจอเขาครั้งแรก ก็บอกเขาใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำงบการเงินออกมา แยกการเงินส่วนตัวกับการเงินกิจการ กิจการตัวไหนประเมินว่าไม่รอด ก็หาทางขายสินทรัพย์ เครื่องจักร ออกมาใช้หนี้ เดินเข้าไปคุยไปเจรจากับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ทุกธนาคาร ประนอมหนี้ปรับโครงสร้าง บางครั้งถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เขาไม่ท้อนะ เขาตั้งใจจะแก้ เขาบอกว่าต่อให้ต้องแก้เป็นสิบปีก็ยังคุ้ม เพราะถ้าหนี้หมด อย่างน้อยเขาก็ยังมีเวลาใช้ชีวิตที่มีความสุขได้อีกหลายปี ไม่เหมือนบางคน แค่เป็นหนี้ไม่กี่แสน ติดหนี้จนวันสุดท้ายของชีวิตเลยก็ยังมี
นอกเหนือจากขายสินทรัพย์ใช้หนี้ ก็สอนเขาลดรายจ่าย และแนะนำให้หารายได้เพิ่ม เขาก็ทำตามทุกอย่างนะ คนที่จะรอดนี่ดูง่ายนะ คือบอกอะไรก็ทำ ไม่มีข้ออ้าง ทำแล้วก็ดีขึ้นตามลำดับ ผ่านไป 2-3 ปี ก็เคลียร์หนี้เหลือแค่ 5-6 ล้าน คนเราแค่เห็นว่าชีวิตมีแนวโน้มดีขึ้น เขาก็มีความหวัง เดินต่อได้เอง ลุยต่อได้เอง ตอนนี้ผ่านมา 5 ปีแล้วสำหรับเคสนี้ สบายแล้วหนี้หมด อาจต้องปิดกิจการเดิมซึ่งเป็นกิจการที่ทำตั้งแต่รุ่นคุณพ่อไป แต่ก็มีกิจการใหม่ที่เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยยังเป็นหนี้ วันนี้เติบโตเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้
ที่มันเยี่ยมมากก็คือ คนกลุ่มที่สู้หนี้ด้วยตัวเองจนผ่านพ้นปัญหาไปได้ ผมรับประกันเลยว่าเขาจะไม่กลับมาจนอีกแน่นอน เพราะขณะที่สู้กับหนี้ เขาพัฒนาความรู้ทางการเงินของตัวเองขึ้นมาด้วย และความรู้นี้จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต”
คำว่า “รวย” หรือ “มั่งคั่ง” คุณจักรพงษ์มองว่าอย่างไร เราต้องมีเงินหรือความมั่นคงขนาดไหนถึงเรียกได้ว่า รวยหรือมั่งคั่ง
“คำว่า ‘รวย’ นี้แต่ละคนมองไม่เหมือนกันนะ แต่ถ้าสำหรับผม แค่มีเงินพอกินพอใช้ไม่ขาดมือ ทำให้ชีวิตไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง มีเงินจัดสรรให้เหลือพอสะสมต่อยอดเป็นทรัพย์สินได้ตามกำลัง ผมว่าก็ ‘รวย’ แล้วนะ อาจไม่ต้องมาก แค่ไม่ขาด อันนี้ก็ถือว่าชีวิตไม่ลำบากแล้ว มีเวลากับชีวิตในมิติอื่น ๆ ได้อีกมากเลย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ครอบครัว การงาน การพัฒนาตัวเอง และการทำเพื่อสังคม
พอใช้ชีวิตนานเข้า ให้คำแนะนำกับคนมาเยอะ ยิ่งทำให้เห็นเลยว่า “รวย” หรือ “จน” เราอาจไม่ได้วัดกันที่เงินนะ แต่วัดกันที่ว่า เรามีโอกาสได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการหรือออกแบบเองหรือเปล่ามากกว่า มีเวลาให้กับมิติอื่น ๆ ของชีวิต ที่จะทำให้ชีวิตเราอุดมสมบูรณ์ในทุกด้านหรือเปล่า
สุดท้ายเราเกิดมาแล้วก็ตาย หัวใจของการมีชีวิตอยู่จึงน่าจะอยู่ที่ ตลอดระยะเวลาที่มีลมหายใจ เราได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับมันหรือเปล่าอันนี้น่าจะเป็นเป้าหมายหลักของการดำรงชีวิตมากกว่าครับ”
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา