ในชีวิตของคนทุกคนนั้น...ไม่ว่าจะทำอะไรย่อมต้องเจอกับความเสี่ยงอยู่เสมอ เดินไม่ดีก็สะดุดล้ม ทำงานไม่ดีก็มีสิทธิ์โดนไล่ออก รักษาทรัพย์สินไม่ดีก็อาจจะสูญหาย หรือต่อให้พยายามป้องกันทุกอย่างก็ตาม สุดท้ายกลับต้องมาจบลงเพราะอุบัติเหตุหรือโรคร้ายก็ไม่ใช่น้อย
ที่พูดมาแบบนี้...ไม่ใช่จะมาแช่งหรือกวนใจให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เสียขวัญกันนะครับ แต่ตั้งใจจะมาพูดคุยให้ฟังถึงเรื่องราวของการทำประกันชีวิตเพื่อจัดการความเสี่ยง รวมถึงแนะนำขั้นตอนการทำประกันชีวิตเพื่อวางแผนประหยัดภาษีไปพร้อม ๆ กันครับ แต่ก่อนอื่น...เรามาทบทวนกันสักหน่อยดีกว่าว่า ประกันชีวิตแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะอย่างไรบ้างครับ
1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
เงื่อนไขของประกันชีวิตแบบนี้ คือ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์ทันที เมื่อเราเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองอยู่ และถือเป็นการคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ประกันชีวิตประเภทนี้จะมีลักษณะคล้ายกับประกันแบบชั่วระยะเวลา เพียงแต่เพิ่มเติมเป็นความคุ้มครองตลอดชีพ และถ้าหากเราเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกันครับ
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
สำหรับประกันชีวิตประเภทนี้จะเน้นไปที่การ “ออมเงิน” มากกว่า “คุ้มครอง” โดยเมื่อครบกำหนดอายุตามที่กรมธรรม์กำหนด เราจะได้รับเงินประกันคืนเมื่อครบกำหนดสัญญาพร้อมทั้งได้รับผลตอบแทนบางส่วนกลับมาด้วยครับ
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันประเภทสุดท้ายนี้ ชื่อก็บอกชัดเจนแล้วว่าเป็น “บำนาญ” โดยบริษัทประกันชีวิตจะกำหนดให้จ่ายเงินจำนวนเท่า ๆ กันคืนมาให้กับเราตามอายุที่กำหนดไว้กับทางบริษัทประกัน ซึ่งประกันประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการวางแผนเกษียณเป็นหลักครับ
ประกันทั้ง 4 แบบที่เราทำนั้น จะเรียกว่า “สัญญาหลัก” และให้เราสามารถซื้อ “อนุสัญญา” เพิ่มเติมสำหรับเพิ่มความคุ้มครองด้านอื่น ๆ ที่เราต้องการเข้าไปได้อีกครับ เช่น โรคร้ายแรง หรือ สิทธิพิเศษเพิ่มเติมอื่น ๆ
เอาล่ะครับ..ทีนี้ก็มาถึง 3 ขั้นตอนวางแผนการทำประกันชีวิตเพื่อประหยัดภาษีแล้วล่ะครับ เรามาดูกันต่อเลยนะครับว่ามีอะไรบ้าง
1. กำหนดความคุ้มครองที่ต้องการและตรวจสอบความสามารถในการชำระค่าเบี้ยประกัน
ลำดับแรก ผมอยากให้ตรวจสอบตัวเองก่อนครับว่า ตัวเรานั้นมีความต้องการและความจำเป็นในการทำประกันชีวิตมากน้อยแค่ไหน และประกันประเภทไหนเหมาะสำหรับเราจริง ๆ
สำหรับคนที่ต้องการเน้นเรื่องความคุ้มครองและป้องกันความเสี่ยงให้กับคนรุ่นหลัง เราควรมองหาประกันที่เน้นไปในเรื่องของความคุ้มครองมากกว่าออมทรัพย์ อย่างเช่น ประกันแบบชั่วระยะเวลา หรือแบบตลอดชีพจะดีกว่าครับ ที่ผมเน้นเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก็เพราะว่าการทำประกันบางประเภทนั้นไม่ได้จบแค่จ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีภาระในอนาคตที่เราต้องต่ออายุไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน ดังนั้นลองสำรวจตัวเองต่อไปอีกสักนิดว่า ความคุ้มครองที่เราต้องการนั้น ต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นจำนวนเงินเท่าไร และเรามีความสามารถในการจ่ายไหวด้วยหรือเปล่าครับ
2. คำนวณผลตอบแทนที่แท้จริง
สำหรับข้อนี้สำหรับคนที่ทำประกันโดยหวังผลตอบแทนจากการออมทรัพย์ ผมอยากให้ลองคำนวณ ผลตอบแทนที่แท้จริงโดยวิธี IRR (Internal Rate of Return) เพื่อที่จะได้รู้ว่าผลตอบแทนจากประกันที่เราได้รับนั้นเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งปกติผลตอบแทนสูงสุดที่ไม่รวมสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะอยู่ที่ประมาณ 2 - 3% ต่อปีเท่านั้นครับ
ดังนั้น หากใครที่ต้องการทำประกันโดยหวังผลตอบแทนจากการออมทรัพย์ไปด้วย คงต้องพิจารณาในส่วนนี้ให้เหมาะสมเช่นกันครับ
3. ตรวจสอบเงื่อนไขทางภาษีให้ถูกต้อง
อันที่จริงแล้ว…ในการตัดสินใจทำประกันชีวิตนั้น ผมอยากให้มองที่วัตถุประสงค์ในการป้องกันความเสี่ยงของเราเป็นหลักก่อนครับ แล้วค่อยมาดูสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ว่าเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากหรือน้อยแค่ไหน และที่สำคัญต้องใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ถูกต้องด้วย ตามเงื่อนไขดังนี้ครับ
กรณี เบี้ยประกันชีวิต ที่สามารถลดหย่อนได้ทั้งสิ้นจำนวน 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงนั้น มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ครับ
- กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทรับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในประเทศไทย
- ถ้ามีการจ่ายเงินคืนเงินปันผลหรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
- กรณีได้รับเงิน คืนทุกปี ยอดเงินคืนนั้นต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
- กรณีได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น 2 ปี 3 ปี 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา และกรณีอื่น ๆ ผลรวมของเงินคืนตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันสะสมในช่วงนั้น ๆ
ส่วนกรณี เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท จะมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องเอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย
- มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ จะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้
- มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์
"ประกันชีวิตทั้งหมดนั้นจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมทั้งสิ้นสูงสุด 300,000 บาท"
จากตรงนี้มีเคล็ดลับอีกนิดหน่อยครับว่า ประกันชีวิตทั้งหมดนั้นจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมทั้งสิ้นสูงสุด 300,000 บาท บาท ในส่วนของประกันชีวิตแบบทั่วไปจำนวน 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญในจำนวนสูงสุด 15% ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเราสามารถเลือกใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียวได้สูงสุดถึง 300,000 บาท เพราะเงื่อนไขของประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น ถือว่าเข้าเงื่อนไขประกันชีวิตแบบทั่วไปเช่นเดียวกันครับ
อีกเรื่องที่อยากจะย้ำก่อนจากกันก็คือ ในการลดหย่อนภาษีนั้น ต้องเป็นการทำประกันชีวิตของตัวเราเอง เท่านั้นนะครับที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ การจ่ายเบี้ยประกันชีวิตของบุตรหรือพ่อแม่ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ครับ
เรื่องราวของประกันชีวิตนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการวางแผนการเงินของเราทุกคนครับ ที่ได้ประโยชน์ทั้งเรื่องป้องกันความเสี่ยง และการวางแผนลดหย่อนภาษี แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด เราทุกคนต้องรู้จักประเมินตัวเองให้ดีด้วยครับว่า ความต้องการของเรานั้นเหมาะกับประกันชีวิตแบบไหน ร่วมกับผลตอบแทนที่ได้รับ และที่สำคัญที่สุด คือ เงื่อนไขของภาษีที่ห้ามผิดพลาดโดยเด็ดขาด
สุดท้ายนี้...ผมหวังว่าบทความนี้ของผมจะช่วยให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนเลือกทำประกันชีวิตได้อย่างถูกใจ สบายกระเป๋า และได้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนะครับ