หลาย ๆ คนคงทราบข่าวกันแล้วว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ
Long Term Equity Fund (LTF) กำลังจะหมดไปในสิ้นปี 2019 นี้ ถึงจะไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เพราะกองทุน LTF จะยังอยู่จนหมดอายุครบรอบ แต่จะสามารถซื้อเพิ่มได้แค่ถึงสิ้นปีนี้ และไม่สามารถซื้อ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีได้อีก โดยจะมี กองทุนหุ้นยั่งยืน หรือ Sustainable Equity Fund (SEF) ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาแทนในช่วงปีหน้า ถึงตอนนี้จะยังไม่มีกฎหมายจากภาครัฐออกมาว่าจะเปิดกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) อย่างชัดเจน นักลงทุนมือใหม่ทั้งหลายคงกำลังงงว่า SEF คืออะไร แตกต่างกับ LTF ตรงไหน วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันครับ
LTF และ SEF คืออะไร?
LTF (Long Term Equity Fund)
เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการออมผ่านการลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว โดยต้องถือครองหุ้นอย่างน้อย 7 ปี และมีสิทธิในการลดหย่อนภาษีมาเป็นแรงจูงใจ เน้นลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่ากองทุน เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
SEF (Sustainable Equity Fund)
กองทุนหุ้นยั่งยืนแบบใหม่ที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งเป็นภาคเอกชน นำเสนอต่อกระทรวงการคลังในรูปแบบของกองทุนใหม่ที่จะนำมาใช้ลดหย่อนภาษีแทนกองทุนหุ้น LTF หวังจะช่วยกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลางหันมาออมเงินระยะยาวมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน เช่นเดียวกับกองทุน LTF
แล้ว LTF กับ SEF ต่างกันอย่างไร?
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สำนักข่าว efinancethai
สิ่งแรกที่ทั้ง 2 กองทุนแตกต่างกันก็คือประเภทของการลงทุน LTF ต้องลงทุนในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้หรือหุ้นก็ได้ แต่ SEF จะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ บวกกับหุ้นที่มีความยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล (ESG), รวมถึงหุ้น SME และหุ้นในตลาด MAI ไม่น้อยกว่า 65% และอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือความสามารถในการซื้อ ซึ่งเดิมที LTF จะสามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วน SEF สามารถซื้อได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 250,000 บาท เห็นได้ชัดว่าเค้าโครงของกองทุน SEF ที่เพิ่มเปอร์เซ็นต์แต่ลดเพดานมูลค่าของการลดหย่อนภาษี เพื่อตอบโจทย์ชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนั้นจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น แต่ผู้ที่รายได้สูงจะลดหย่อนภาษีได้น้อยลง นโยบายของภาครัฐจึงต้องการออก SEF เพื่อให้กระตุ้นการลงทุนของคนในวงกว้าง ให้วางแผนการลงทุนมากขึ้น และไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอย่างเดียว ส่วนระยะเวลาการถือครองยังเหมือนเดิมคือ 7 ปีปฏิทินครับ
ในช่วงที่ยังขาดความแน่นอน ว่า SEF จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ยังมีกองทุนอีกตัวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund ที่เราเรียกกันย่อ ๆ ว่า RMF ที่เราสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน สามารถศึกษาไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกได้นะครับ
RMF เหมาะกับใคร?
กองทุนชนิดนี้ เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่มที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ถือเป็นการลงทุนที่จะช่วยสร้างวินัยการออมเงินระยะยาวเพื่อให้คุณมีเงินเก็บมากพอในช่วงบั้นปลายชีวิต จึงมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง และจะขายหน่วยลงทุนได้ก็ต่อเมื่อคุณอายุครบ 55 ปี เท่านั้นครับ ลองมาดูข้อมูลโดยย่อของ
กองทุน RMF กันครับ
เงื่อนไขในการลงทุน RMF
- เริ่มลงทุนแล้วต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
- ลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า
- ต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน (ยกเว้นปีที่ไม่มีเงินได้)
- ถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี และไม่ขายจนกว่าตัวเองจะอายุครบ 55 ปี หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน
สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF
- สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมเข้ากับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ผู้ลงทุนมีอยู่ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ ให้นับตามเวลาแบบวันชนวัน ตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มลงทุน
- กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ หากมีการลงทุนเกิน 15% ของเงินได้ หรือเกิน 500,000 บาท เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้วมีกำไร ผู้ลงทุนจะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน เฉพาะส่วนที่เกิน ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
กองทุน SEF ยังเป็นแค่ไอเดียที่อยู่ในขั้นตอนการหารือและพิจารณาของกระทรวงการคลัง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับอย่างแน่ชัดว่า จะเกิดขึ้นภายในปีหน้าจริงหรือไม่ เราก็ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่าในอนาคตกองทุนนี้จะสามารถตอบโจทย์การออม การลงทุน และการลดหย่อนภาษีของเราได้จริงหรือไม่ และจะอีกนานเท่าไหร่ต้องรอติดตามกันนะครับ