เหตุผลที่ยืนยันว่า ทำไมมนุษย์เงินเดือนควรซื้อกองทุน RMF
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เหตุผลที่ยืนยันว่า ทำไมมนุษย์เงินเดือนควรซื้อกองทุน RMF

icon-access-time Posted On 18 สิงหาคม 2566
By Krungsri The COACH
คุณเคยมีความคิดแบบนี้ไหม? หลังเกษียณไปแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้จ่าย มีวิธีไหนที่จะเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้อย่างสบายใจ จะลงทุนอะไรดีเพื่อให้มีเงินงอกเงยไปจนถึงวันที่ไม่มีรายได้แล้ว เมื่อมีคำถามเหล่านี้ แสดงว่าคุณเองก็เริ่มสนใจที่จะวางแผนการเงินเพื่ออนาคตแล้ว และคุณคงเคยได้ยินชื่อของกองทุน RMF มาแล้วแน่ ๆ แต่อาจจะยังไม่เข้าใจกองทุนตัวนี้จริง ๆ ว่ามีรายละเอียดและเงื่อนไขอะไรบ้าง ที่นอกจากจะซื้อกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่ง “มนุษย์เงินเดือน” ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ที่ส่วนใหญ่จะต้องทำงานไปจนถึงอายุ 55-60 ปี แล้วจึงเกษียณ ดังนั้นการวางแผนเพื่อชีวิตหลังเกษียณเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยาก ทั้งผ่านการออมและการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ และยังรวมไปถึงการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีในแต่ละปีด้วย ซึ่งภาครัฐก็ให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือน จัดสรรเงินและแบ่งมาลงทุนเพื่อการเกษียณด้วย ยกตัวอย่างเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน SSF และกองทุน RMF ที่เราจะมาเล่าในบทความนี้กัน

กองทุน RMF คืออะไร

RMF (Retirement Mutual Fund) หรือที่เรียกว่า “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ลงทุนได้เก็บออมในระยะยาว เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในยามเกษียณ ด้วยเงื่อนไขที่ต้องถือครองและลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ พร้อมให้สิทธินำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่ซื้อในแต่ละปี สูงสุดถึง 30% ของเงินได้

และเมื่อเป็นการลงทุนระยะยาว ผู้ลงทุนอาจจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาได้ กองทุน RMF จึงมีนโยบายการลงทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกการลงทุนได้ตามความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงและตามภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา และยังเปิดโอกาสให้เลือกสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันได้ในแต่ละปี โดยไม่ถือว่าเป็นการขายหน่วยลงทุน

กองทุน RMF ต่างจากกองทุน SSF อย่างไร

กองทุน RMF และ SSF มีสิ่งที่เหมือนกันคือ คุณสามารถเลือกลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภทตามนโยบายของกองทุนนั้น ๆ และตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุนจะไม่ต้องเสียภาษี ส่วนสิ่งที่ทำให้ทั้ง 2 กองทุนนี้แตกต่างกัน เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ต้องถือครอง และจำนวนสูงสุดที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือ
 

RMF : ลงทุนเพื่อการเกษียณ

  1. ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ในปีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำไปรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
  2. มีเงื่อนไขการลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยคือ “ปีเว้นปี”
  3. ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนไปเป็นกองทุนอื่น ๆ ที่เป็นกองทุน RMF เหมือนกันได้
  4. หน่วยลงทุนจะขายคืนได้เมื่อผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี 

SSF : ลงทุนเพื่อการออมระยะยาว 10 ปี ขึ้นไป

  1. ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้ในปีนั้น และต้องไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำไปรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
  2. มีเงื่อนไขการลงทุนอย่างน้อย 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อ แต่ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
  3. ผู้ลงทุนสามารถสับเปลี่ยนไปเป็นกองทุนอื่น ๆ ที่เป็นกองทุน SSF เหมือนกันได้

โดยทั้ง 2 ประเภทกองทุนนี้ ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหากทำผิดเงื่อนไข และสิ่งที่ต้องระวังนั้น สามารถจำได้ง่าย ๆ คือ “ไม่ซื้อเกิน ไม่ขายก่อน และไม่ลืมซื้อปีเว้นปีสำหรับ RMF”
 
ทำไมมนุษย์เงินเดือนควรซื้อ RMF

แล้วทำไมมนุษย์เงินเดือน ควรซื้อกองทุน RMF?

เมื่อมนุษย์เงินเดือนคือหนึ่งในผู้มีรายได้ จึงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นควรจะต้องรู้จักวิธีการวางแผนภาษี และคำนวณการลดหย่อนภาษี เพื่อการวางแผนการเงินที่ดี ที่สามารถทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ และอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ภาครัฐก็ได้ให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้มนุษย์เงินเดือนลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงบั้นปลาย แล้วทำไมกองทุน RMF ถึงน่าสนใจ การลงทุนนี้มีอะไรดีที่มนุษย์เงินเดือนควรลงทุน นั่นก็คือ
  • เป็นหลักประกันชีวิตหลังเกษียณว่า จะมีเงินก้อนใช้แน่นอน เพราะไม่สามารถขายคืนได้ก่อนอายุ 55 ปี
  • สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ จึงช่วยให้มีเงินเหลือเยอะขึ้น ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้สูงถึง 30% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น ๆ
  • สามารถเลือกลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตามต้องการ โดยไม่มีขั้นต่ำกำหนดไว้
  • มีระดับความเสี่ยง และสินทรัพย์ในการลงทุนให้เลือกหลากหลาย
  • ฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัยทางการเงิน เพราะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี หรือปีเว้นปี
 
จำนวนที่ซื้อ RMF ได้สูงสุดตามฐานเงินเดือน

เช็กเลย...ฐานเงินเดือนของคุณ ซื้อกองทุน RMF ได้สูงสุดเท่าไหร่

คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า กองทุน RMF ซื้อได้เท่าไหร่ถึงจะไม่ทำผิดเงื่อนไขและซื้อมากเกินกำหนดไว้ เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น สามารถดูตัวอย่างฐานเงินเดือนแต่ละช่วงได้จากตารางด้านล่างนี้
 
รายได้ต่อเดือน (บาท) รายได้รวมต่อปี (บาท) จำนวนที่ซื้อ RMF ได้สูงสุด 30% (บาท)
ไม่เกิน 26,583 บาท 318,996 ไม่จำเป็นต้องซื้อ เพราะได้รับการยกเว้นภาษี
30,000 360,000 108,000
40,000 480,000 144,000
50,000 600,000 180,000
60,000 720,000 216,000
70,000 840,000 252,000
80,000 960,000 288,000
90,000 1,080,000 324,000
100,000 1,200,000 360,000
110,000 1,320,000 396,000
120,000 1,440,000 432,000
130,000 1,560,000 468,000
140,000 1,680,000 ซื้อได้สูงสุด 500,000
จากตารางจะเห็นได้ว่า วิธีการคำนวณเบื้องต้นนั้นง่ายมาก ๆ ซึ่งหากจะเช็กว่าสำหรับคุณ RMF ซื้อได้เท่าไหร่ ให้นำรายได้ต่อปีของคุณไปคูณด้วย 30% ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการวางแผนที่ประหยัดภาษีจริง ๆ ขอแนะนำให้คุณนำสิทธิหักลดหย่อนภาษีทั้งหมดของแต่ละปีมาคำนวณเพื่อหารายได้สุทธิ ก่อนที่จะวางแผนเพื่อซื้อ RMF ตัวอย่างเช่น

หากฐานเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะหลังจากที่นำมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วจะมีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาท โดยใช้สูตร

“รายได้รวมทั้งปี - (ค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท + ค่าลดหย่อน) - เงินสะสมกองทุนประกันสังคม (อัตราปกติ 5%) = เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณภาษี
จึงเท่ากับ 318,996 - (100,000 + 60,000) - 9,000 = 149,996 บาท ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียภาษี

และอย่าลืมว่า เมื่อจุดประสงค์จริง ๆ คือการวางแผนเพื่อการเกษียณ ดังนั้นชีวิตในปัจจุบันก็ต้องมีความสมดุลอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็น หากต้องลดหย่อนจนเต็มแม็กซ์ แต่กลับมีเงินเหลือใช้อย่างลำบากในแต่ละเดือน แบบนี้อาจจะไม่ใช่แผนการเงินที่ดีนัก
 
กองทุน RMF ตัวไหนดี

ควรซื้อกองทุน RMF ตัวไหนดี RMF ตัวไหนน่าสนใจ มาดูกัน

หลังจากที่ได้รู้จักกับกองทุน RMF กันไปครบทุกมิติแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่จะต้องเลือกซื้อเพื่อเริ่มต้นลงทุนกันต่อ เราจึงขอแนะนำ 4 กองทุนรวม RMF ที่มีศักยภาพดีประจำปี 2023 ซึ่งเป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงทั้งต่ำและสูง สามารถเลือกตามที่คุณสนใจได้เลย
 

1. กองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFAFIXRMF)

กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดสรรพอร์ตการลงทุนแบบยืดหยุ่นผ่านตราสารหนี้และเงินฝาก ทั้งในภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน โดยกองทุนนี้มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 4 เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำได้ โดยมีความคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เน้นการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี และกองทุนนี้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศอยู่ด้วย
 

2. กองทุนเปิดกรุงศรีกรุงศรีโกลบอลสมาร์ทอินคัมเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFSINCRMF)

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อการขยายโอกาสการลงทุนผ่านตราสารหนี้หลายประเภททั่วโลก เลือกลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ PIMCO GIS Income Fund (Class I-Acc) เฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV แนวทางการลงทุนเป็นแบบเชิงรุกที่จะวิเคราะห์และปรับสัดส่วนการลงทุน และอายุของตราสารหนี้ (Duration) เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกองทุน RMF นี้มีระดับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 5 เป็นความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง และเมื่อเป็นการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนนี้จึงมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศอยู่ด้วย
 

3. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF)

กองทุนรวมตราสารทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 6 เป็นความเสี่ยงสูง โดยเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แบบไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงยังลงทุนในหุ้นที่อยู่ระหว่าง IPO ด้วย ใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกเพื่อหาสินทรัพย์ที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่สูง และเป็นการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนแบบมีความยืดหยุ่นสูง เลือกลงทุนได้แบบไร้ข้อจำกัดด้านประเภทหุ้น ซึ่งสามารถเลือกหรือปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ ทั้งในหุ้นปันผล หุ้นเติบโต หุ้นขนาดใหญ่หรือเล็ก โดยลงทุนในหุ้นเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และคาดหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัดของ SET50
 

4. กองทุนเปิดกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFACHINRMF)

กองทุนรวมตราสารทุนความเสี่ยงระดับ 6 ถือเป็นระดับความเสี่ยงสูง เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีนชั้นนำ ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ UBS (Lux) Investment SICAV-China A Opportunity (USD) (Class P-acc) ซึ่งเป็นกองทุนหลักที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น A-shares ของจีน เป็นหุ้นที่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของจีน ทั้งตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น มุ่งหวังเพื่อให้เกิดผลประกอบการเคลื่อนไหวตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลัก ที่ต้องการให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด MSCI China A Onshor ส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

ข้อแนะนำสำคัญในการเลือกซื้อกองทุน RMF หรือ SSF

สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรานั้น ควรเลือกซื้อกองทุนที่มีสินทรัพย์และความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเฉพาะบุคคล เนื่องจากกองทุน RMF เป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องการความต่อเนื่องในการลงทุน และจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปี ในขณะที่กองทุน SSF จะไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องก็ได้ แต่ต้องถือครองไว้เกิน 10 ปี ถึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ ซึ่งนอกจากจะเลือกจากระยะเวลาในการลงทุนแล้ว ยังควรเลือกจากนโยบายการลงทุนที่ตอบโจทย์ และมีระดับความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลรับได้ เช่น หากไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้น ก็แนะนำให้เลือกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือหากพร้อมรับความเสี่ยงสูงเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็เน้นลงทุนในหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกได้

แต่อย่าลืมว่า High Risk ไม่ได้หมายถึง High Return เสมอไป ต้องเพิ่ม High Know เข้าไปด้วย คือ เข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน หรืออาจจะเลือกกระจายความเสี่ยงของพอร์ตให้ครอบคลุมสินทรัพย์หลายประเภทก็ได้ สุดท้ายต้องพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลังและค่าธรรมเนียมซื้อขาย หรือสับเปลี่ยน ที่อาจจะมีการเรียกเก็บในแต่ละกองทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนได้อย่างแม่นยำ

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับกองทุน RMF แล้ว มนุษย์เงินเดือนที่เริ่มสนใจจะลงทุน แต่อาจจะยังขาดความมั่นใจและต้องการที่ปรึกษา เพื่อให้การลงทุนนี้เป็นการวางแผนการเงินหลังเกษียณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยวางแผนภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนในแต่ละปีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมเรื่องกองทุน RMF กับทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน ที่สามารถให้คำปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาติดต่อกลับ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะคุณก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • RMF เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
  • กองทุน KFAFIXRMF / KFSINCRMF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-investment grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
  • กองทุน KFAFIXRMF / KFSINCRMF ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
  • กองทุน KFACHINRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา