วางแผนลดหย่อนภาษีปี 2565 ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลให้ได้ประโยชน์ที่สุด
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนลดหย่อนภาษีปี 2565 ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลให้ได้ประโยชน์ที่สุด

icon-access-time Posted On 01 ธันวาคม 2565
by Krungsri The COACH
เป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของผู้ที่มีรายได้ในระบบภาษีอากร ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แน่นอนว่าประเทศไทยนั้นมีระบบฐานภาษีแบบอัตราขั้นบันได ยิ่งมีฐานรายได้สูงก็ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เราได้ผลประโยชน์เพิ่มเติม เราสามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายว่าด้วยการลดหย่อนภาษีที่กรมสรรพากรได้ประกาศไว้ ทั้งนี้การลดหย่อนจะให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมอย่างมากสำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิอยู่ในอัตราภาษีขั้นที่สูง

อัตราภาษีเงินได้บุคคล ปี 2565

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตัวอย่างเช่น นาย ก และนาย ข มีรายการลดหย่อนจำนวน 10,000 บาท เท่ากัน โดยที่ฐานภาษีของนาย ก เท่ากับ อัตรา 10% ผลประโยชน์ที่นาย ก จะได้รับจากรายการลดหย่อนนี้ คือการที่นาย ก จ่ายภาษีน้อยลง 10% x 10,000 = 1,000 บาท แต่นาย ข นั้นมีฐานภาษีเท่ากับ 30% ผลประโยชน์ที่นาย ข จะได้รับจากรายการลดหย่อนนี้ คือการที่นาย ข จ่ายภาษีน้อยลง 30% x 10,000 = 3,000 บาท จะเห็นว่านาย ข ได้ประโยชน์มากกว่านาย ก (เนื่องจากนาย ข ฐานภาษีสูงกว่า นาย ก) นั่นเอง

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนาย ก หรือ นาย ข หากไม่ได้วางแผนใช้ประโยชน์จากรายการลดหย่อนก็เปรียบเสมือนว่านาย ก ได้ละทิ้งผลประโยชน์เพิ่มเติมไป 1,000 บาท นาย ข ได้ละทิ้งผลประโยชน์เพิ่มเติมสูงถึง 3,000 บาท โดยเสียเปล่า ยิ่งเรามีรายได้ที่สูง ฐานภาษีของเราก็จะยิ่งสูงด้วย หากเราละเลยเรื่องของการลดหย่อนภาษีก็เปรียบเสมือนว่าเรากำลังละทิ้งผลประโยชน์ที่เราควรจะได้รับ

ก่อนที่เราจะไปถึงเรื่องของการลดหย่อนนั้นเราจะต้องเข้าใจวิธีการหารายได้สุทธิเสียก่อน โดยวิธีการหารายได้สุทธินั้นจะคำนวณได้จากสมการ
 
รายได้สุทธิ = (รายได้ที่ได้รับมา – ค่าใช้จ่าย) - ค่าลดหย่อน

ซึ่งรายได้ที่ได้รับแบ่งออกเป็นมาตราต่าง ๆ ในบางมาตรานั้นจะมีการหักค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งจะต้องหักให้เรียบร้อยก่อนจึงค่อยนำมาหักค่าลดหย่อน

ลดหย่อนภาษี อะไรได้บ้าง

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท
    เงื่อนไข
    • คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องถามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท เงื่อนไข สามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้ เอกสารหลักฐานที่ใช้คือ ใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาล
  3. ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท
    เงื่อนไข
    • บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
    • ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปี ในปีภาษีนั้น ต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
    • ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป ในปีภาษีนั้น ต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
    • หากเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
    • หากเป็นบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
    • หากมีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
  4. ลดหย่อนภาษี บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป 30,000 บาทต่อคน (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก 30,000 บาท เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
    เงื่อนไข
    • ต้องเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่คลอดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
    • ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
    • นับลำดับของบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
  5. ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม)
    เงื่อนไข
    • บิดา มารดา จะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
  6. ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท
    เงื่อนไข
    • ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดา มารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน
 
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

  1. เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง (สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท เนื่องจากปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม)
  2. เบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
    เงื่อนไข
    • ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้น และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท
  3. เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  4. เบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
    เงื่อนไข
    • บิดา มารดา มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
  5. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  7. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF: Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
  8. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
  10. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในธุรกิจ Social Enterprise ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
    เงื่อนไข
    • ธุรกิจนั้นต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทไม่ประสงค์แบ่งปันกำไร และต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเลิกกิจการ
หมายเหตุ
1. สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
2. สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุน RMF หรือ SSF ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ต้องแจ้งความประสงค์เพื่อให้ บลจ. นำส่งข้อมูลการซื้อหน่วยลงทุน RMF/SSF ให้กับกรมสรรพากร เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สำหรับลูกค้าของธนาคารกรุงศรี สามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุน SSF RMF เพื่อส่งให้กรมสรรพากรต่อไป
 
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

LTF ครบกำหนดแล้ว จะไปต่อหรือพอแค่นี้ : Krungsri The COACH EP.11

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

  1. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  3. เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ค่าลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

  1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท

ค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP สินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)

เมื่อเราทราบแล้วว่ามีรายการลดหย่อนอะไรบ้างที่เราสามารถนำมาใช้ได้ ในการวางแผนลดหย่อนนั้น เราจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ และความสำคัญของแต่ละรายการด้วย โดยผมจะออกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. รายการลดหย่อนที่จำเป็น หรือเป็นรายการพื้นฐานที่เราได้รับอยู่แล้ว แม้ว่าไม่มีเรื่องการลดหย่อนก็จำเป็นจะต้องมี ได้แก่
  • 1.1 รายการลดหย่อนที่เราทุกคนได้รับตามกฎหมาย อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
  • 1.2 รายการลดหย่อนที่เป็นการป้องกันความเสี่ยงในชีวิต และรักษาสวัสดิภาพในการดำรงชีวิต ได้แก่ ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ กองทุนบำนาญ ประกันชีวิต (ในกรณีที่มีหนี้สินที่คาดว่าจะเป็นภาระต่อครอบครัวหากเราจากไป / มรดก)
  • 1.3 รายการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการอยู่อาศัย ซึ่งเราต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยอยู่แล้วหากยังไม่ปลอดภาระ

ซึ่งรายการเหล่านี้เราต้องดำเนินการให้ครบถ้วน ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เพราะเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง เป็นสิทธิที่เรามีรวมถึงบางรายการจะส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของเราและครอบครัวของเราอีกด้วย

2. รายการลดหย่อนที่พิจารณาแล้วได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการใช้สิทธิ์
  • 2.1 รายการลงทุนประเภทต่างๆ ซึ่งพิจารณาระยะเวลา ผลตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการลดหย่อนแล้ว
  • 2.2 รายการอื่นๆ เช่น การบริจาค (มีความสุข ดีต่อใจ) โครงการช็อปดีมีคืน (ซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น) ซึ่งรายการเหล่านี้เราจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์โดยรวมก่อนใช้สิทธิ์ เช่น การลงทุนกองทุนในภาวะที่ ไม่เหมาะสมโดยหวังผลเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเดียวอาจจะเกิดการขาดทุนแม้ว่าจะรวม ผลประโยชน์ทางภาษีเข้าไปแล้วก็ตาม หรือการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้มีความจำเป็น เป็นต้น

เมื่อเราวางแผนเรียบร้อยแล้ว เราสามารถทดลองกรอกข้อมูลรายการต่างๆ เพื่อคำนวณภาระภาษีที่เกิดขึ้น รวมถึงใช้ในการติดตามรายการต่างๆ ไม่ให้ตกหล่นได้ที่ เครื่องมือคำนวณภาษี

สำหรับบทความนี้ ทางผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะนำหลักการในบทความนี้ไปวางแผนการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดที่เราควรจะได้รับ ไม่ให้ขาดตกบกพร่องนะครับ หากคุณต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมในด้านวางแผนทางการเงิน ทางธนาคารกรุงศรีมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ ที่สามารถปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรี ติดต่อกลับ

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา