4 เคล็ดลับการออมเพื่อลดหย่อนภาษี ที่ควรรู้ตั้งแต่ต้นปี
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

4 เคล็ดลับการออมเพื่อลดหย่อนภาษี ที่ควรรู้ตั้งแต่ต้นปี

icon-access-time Posted On 12 กุมภาพันธ์ 2562
By Krungsri The COACH
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร โดยมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้เสียภาษี ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจมาตรการจัดเก็บภาษีผู้มีเงินได้ก่อนยื่นภาษีกันดีกว่า
 

เงินเดือนเท่าไหร่ต้องเสียภาษี?

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการปรับโครงสร้างภาษีในปี 2560 โดยสรุปคือ อัตราภาษีจะยิ่งสูงขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งปัจจุบัน อัตราภาษี สูงสุดอยู่ที่ 35% และยกเว้นสำหรับคนที่รายได้ต่อเดือน น้อยกว่า 26,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่
เงินต่อได้สุทธิต่อปี อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
0 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น
150,000 - 300,000 บาท 5%
300,001 - 500,000 บาท 10%
500,001 - 750,000 บาท 15%
750,001 - 1,000,000 บาท 20%
1,000,001 - 2,000,000 บาท 25%
2,000,001 - 5,000,000 บาท 30%
5,000,001 บาท ขึ้นไป 35%
(ที่มา: http://www.rd.go.th)
สำหรับคนที่ต้องเสียภาษีเรามี 4 เคล็ดลับในการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินและลงทุน ซึ่งที่จริงแล้วเราไม่ควรพลาดที่จะทยอยเริ่มต้นลงทุนกันตั้งแต่ต้นปี เพราะหากปล่อยเวลารอให้ถึงช่วงสิ้นปีเงินที่จะนำมาออม นำมาลงทุน ก็อาจจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้

1. ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การฝากเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมเงินที่พลาดไม่ได้ นอกจากการสะสมเงินออมของเราในแต่ละเดือนแล้ว เรายังได้เงินส่วนสมทบจากนายจ้าง รวมถึงผลกำไรจากการดำเนินงานของกองทุนอีกด้วย เงินสะสมเข้ากองทุนในแต่ละปียังนำไปลดหย่อนภาษีได้ ในส่วนของการลดหย่อนภาษีนั้น ผู้ที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพสามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

2. ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว – LTF

การออมผสานการลงทุนในหุ้นปี 2562 เป็นปีสุดท้ายที่สามารถลงทุนใน LTF เพื่อการลดหย่อนภาษี ด้วยกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่ละกองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน กองทุน LTF บางกองทุนมีนโยบายคุ้มครองเงินต้น เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลประโยชน์ทางภาษี หรือบางกองทุนเน้นการลงทุนในหุ้น ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น และสามารถรับความเสี่ยงได้ โดยผลตอบแทน คือ ราคาส่วนต่างของหน่วยลงทุนในวันที่ขายกับวันที่ซื้อ แถมกองทุน LTF บางกองทุนมีนโยบายจ่ายปันผลระหว่างปีอีกด้วย และผลตอบแทนส่วนที่สาม คือ การนำค่าซื้อหน่วยลงทุนไปลดหย่อนภาษี โดยสามารถนำไปลดหย่อนได้ในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทิน สำหรับการซื้อวันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562

3. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ - RMF

อีกหนึ่งการออมที่สร้างโอกาสทำให้เงินออมเพิ่มค่า ใช้ในการวางแผนการเงินหลังเกษียณ อย่างที่ทราบกันครับว่า RMF เป็นการลงทุนระยะยาว ผู้ลงทุนจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ในส่วนรูปแบบของผลตอบแทน จะมีลักษณะเช่นเดียวกับ LTF ครับ นั่นคือส่วนต่างของมูลค่าหน่วยลงทุน เงินปันผลในบางกองทุน และสามารถนำไปลดหย่อนภาษี โดยค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF จะหักได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

4. การซื้อประกันภัย

การออมที่มาพร้อมกับความคุ้มครอง คือ การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต นอกจากความคุ้มครองแล้ว สำหรับกรมธรรม์ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยเบี้ยประกันชีวิตมี 2 ประเภท คือ
  • ประกันชีวิต แบบทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมายังสามารถลดหย่อนภาษีได้จากประกันสุขภาพ ใช้สิทธิลดหย่อนได้ ในส่วนที่จ่ายเป็นค่าประกันสุขภาพให้กับบริษัทประกันในประเทศสูงสุด 15,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนประกันชีวิตตามกฎหมายเดิมกำหนดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันสุขภาพครอบคลุมถึง
  • ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
การเลือกลงทุนที่เหมาะสม นอกจากผลตอบแทนที่จะได้รับเรายังได้รับผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม หากเราแบ่งการลงทุนเป็นรายเดือน จะทำให้เรามีสภาพคล่องตลอดปี ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนอีกด้วย
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: itax.in.th, aommoney.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา