วางแผนหลังเกษียณ ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนหลังเกษียณ ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ

icon-access-time Posted On 11 สิงหาคม 2560
By Maibat

กังวลกับชีวิตหลังเกษียณว่าจะดูแลตัวเองอย่างไร
การวางแผนการเงินที่ดีตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณสบายใจได้

"เกษียณ" คำที่บอกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตว่า คนเรามีเวลาหาเงินกับใช้เงินไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยคนไทยเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานตอนอายุ 20 ปีจะมีเวลาหาเงิน 40 ปีและมีเวลาใช้เงิน 60 ปี จึงทำให้ผู้สูงอายุเกินครึ่งมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ เพราะเวลาใช้เงินยาวนานกว่าหาเงินถึง 20 ปี ต้องใช้ชีวิตลำบากยามที่ร่างกายอ่อนแรง สำหรับคนรุ่นใหม่อายุยังไม่มากมองเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าเวลาผ่านไปเร็วกว่าที่คิด พอถึงวันใกล้เกษียณก็เก็บเงินไม่ทันซะแล้ว
ผมเพิ่งได้รู้ปัญหาของคุณครูเกษียณโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งจึงขอหยิบยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจ คุณครูกลุ่มนี้สอนด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี แทบไม่เคยเปลี่ยนงานเลยเพราะภูมิใจในสถาบันการศึกษาแห่งนี้และได้ประกอบอาชีพสร้างคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม แม้เงินเดือนที่ได้รับจะน้อยนิดอยู่จนเกษียณยังอยู่ที่หลักหมื่นต้น ๆ เท่านั้นเอง ท่านยังมีความหวังพึ่งบำนาญที่จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน ๆ สุดท้ายจ่ายไปเรื่อย ๆ จนสิ้นอายุขัย แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อจู่ ๆ โรงเรียนเปลี่ยนกฎข้อบังคับให้คุณครูทุกคนรับบำเหน็จแทน ซึ่งได้เงินเป็นก้อนครั้งเดียวเพียงหลักแสนไม่ถึงล้าน แล้วจะใช้อย่างไรให้พอกับชีวิตหลังเกษียณอีก 20 ปีหรือมากกว่านั้น ครูบางท่านต้องจำใจทำงานต่อจนถึงวันหมดสิ้นเรี่ยวแรง ครูบางท่านทนอยู่อย่างลำบากเก็บเงินไว้เป็นค่ารักษาตัว ครูบางท่านนำบำเหน็จไปลงทุนทำการเกษตรสุดท้ายเจ๊ง
บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่าต้องพึ่งตัวเองต้องรู้จักเก็บเงินเอง หากรายได้น้อยก็ต้องหาอาชีพเสริมทำคู่กันไป จริงอยู่ว่าเงินไม่สามารถซื้อทุกอย่าง แต่ไม่มีเงินก็อยู่ลำบาก
ผมแนะนำให้เริ่มเก็บเงินทันทีเป็นประจำทุกเดือน โดยเริ่มจากเงินจำนวนน้อยไปมากเอาที่ไม่ลำบากจนเกินไป เปรียบเหมือนการออกกำลังกายหักโหมมากไปจะท้อจนเลิกทำ เคล็ดลับอยู่ที่การเปลี่ยนโฟกัสจากมีความสุขเวลาใช้เงินเป็นมีความสุขเวลาหาเงิน ยิ่งมีเป้าหมายว่าเก็บเงินเพื่อใครเพื่ออะไรด้วย ยิ่งมีความสุขเวลาทำสำเร็จ ดังนั้นก่อนเก็บเงินต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการเก็บเงิน เคล็ดลับอีกอย่าง คือ ตั้งเป้าหมายระยะสั้น เช่น มีเงินเก็บให้ครบ 1 ล้านบาทภายใน 5 ปี เวลาทำสำเร็จจะมีแรงฮึดไปต่อและเชื่อมั่นในตัวเองว่าฉันทำได้จริง หรือศึกษาวิธีวางแผนการลงทุนให้งอกเงย แบบฉบับวัยเกษียณ
วัยเกษียณควรเป็นวัยที่ปลอดหนี้ได้แล้ว มีบ้านมีรถเป็นชื่อตนเองปลอดภาระผ่อนกับสถาบันการเงิน ใช้บัตรเครดิตก็สามารถจ่ายเต็มจำนวนไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ที่สำคัญเงินเก็บควรมีให้พอสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ท่องเที่ยว รักษาตัวที่โรงพยาบาล และต้องไม่ลืมคิดเผื่อเงินเฟ้อด้วยเพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แพงขึ้นทุกปี สำหรับสูตรการคำนวณอย่างง่าย คือ

เงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ = ภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x อายุขัยหลังเกษียณ x 2 เท่า
เช่น วางแผนเกษียณอายุ 55 ปี คาดว่าอนาคตจะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และมีอายุขัยถึง 80 ปี ดังนั้นต้องเตรียมเงิน 25,000 x 12 x (80-55) x 2 = 15 ล้านบาท หากตัวเลขไม่เหมาะสมก็ปรับแผนได้ เช่น เปลี่ยนเป็นเกษียณอายุ 60 ปี ดังนั้นต้องเตรียมเงิน 25,000 x 12 x (80-60) x 2 = 12 ล้านบาท สาเหตุที่ผมแนะนำให้เตรียมเงิน 2 เท่าของภาระค่าใช้จ่ายประจำเดือน เพราะค่าท่องเที่ยวและค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เงินเฟ้อก็ทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น และไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอายุขัยตนเองอยู่ได้ถึงเมื่อใด สูตรนี้จึงเน้นจำนวนเงินที่ปลอดภัยมากพอ
ส่วนสูตรที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น การกะประมาณเวลาช่วงหลังเกษียณควบคู่ไปกับปัจจัยต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าลองดูครับ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ ไม่ควรเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากเพียงอย่างเดียว ควรเก็บในกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางและอสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่าด้วย เพื่อให้ทรัพย์สินงอกเงยบนความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไป อีกทั้งเวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการกระจายพอร์ตช่วยลดความเสี่ยงเงินด้อยค่าได้ดี แต่ก่อนจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา