PVD และ RMF กองทุนที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ เพื่อไม่พลาดวางแผนวัยเกษียณ
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

PVD และ RMF กองทุนที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ เพื่อไม่พลาดวางแผนวัยเกษียณ

icon-access-time Posted On 13 พฤศจิกายน 2566
By Krungsri The COACH
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คือตัวช่วยสร้างความมั่นคงให้กับมนุษย์เงินเดือนในช่วงวัยเกษียณ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ยังมีมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับกองทุนเหล่านี้มากนัก เพราะความเข้าใจผิดที่คิดว่า เงินเดือนที่ถูกตัดออกไปทุกเดือนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้รายได้ลดลง แต่แท้ที่จริงแล้วเงินลงทุนนี้คือ “เงินออม” ที่มีความสำคัญต่อชีวิตเมื่อถึงวาระที่ต้องเกษียณอายุเป็นอย่างมาก กองทุนประเภทนี้สำคัญอย่างไร และผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ลองไปดูแผนชีวิตที่เกิดจากการออมเงินกับกองทุนเหล่านี้กันว่า เมื่อลงทุนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะสร้างความสุขให้ขนาดไหน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) โอกาสสู่ความมั่นคงของมนุษย์เงินเดือน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือตัวเลือกแรก ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนไม่ค่อยให้ความสนใจ อาจจะเพราะการขาดความเข้าใจในการลงทุน บวกกับความคิดที่ว่า กองทุนนี้ทำให้ได้รับเงินเดือนลดน้อยลง และใช้ระยะเวลาลงทุนหลายปี เรามาเริ่มสร้างความเข้าใจกันให้ถูกต้องตั้งแต่ตอนนี้เลย


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า PVD มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์เงินเดือนได้มีเงินออมเก็บเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ พร้อมทั้งรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับนายจ้างและลูกจ้างได้เห็นถึงความคุ้มค่าของการจัดตั้งกองทุน โดยกองทุนนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องนำเงินส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุนทุกเดือน ซึ่งเงินส่วนของลูกจ้างจะเรียกว่า “เงินสะสม” ส่วนของนายจ้างจะเรียกว่า “เงินสมทบ” จึงลบความคิดที่ว่า การลงทุนกับ PVD ทำให้มีรายได้ลดลงไปได้เลย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มต้นออมจะเท่ากับว่า คุณจะมีนายจ้างเป็นผู้ช่วยทำให้เงินออมของคุณมีมูลค่าเพิ่มในทันทีแบบเท่าตัว

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ลูกจ้างจะมีสิทธิส่งเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินค่าจ้าง และนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินสมทบในจำนวน 2-15% ด้วยเช่นกัน โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ คือ
 

1. มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่งอกเงย

ทั้งเงินสะสมและเงินสมทบที่ได้ส่งเข้าไปในกองทุน PVD จะไม่ได้เป็นการฝากไว้เฉย ๆ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมา และจะนำไปเฉลี่ยให้กับผู้ลงทุนตามสัดส่วนของเงินลงทุนของแต่ละคน โดยจะเรียกว่า ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีเงินสะสม นอกจากจะมีเงินสมทบเพิ่มขึ้นมาแล้ว ยังมีผลประโยชน์ของเงินสะสมร่วมด้วย ช่วยให้เงินออมจากมนุษย์เงินเดือนก้อนเล็ก ๆ กลายเป็นความมั่นคงในวัยเกษียณได้
 

2. สามารถลดหย่อนภาษีได้

สิทธิประโยชน์ต่อมาสำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ คุณสามารถนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดคือไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่เมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท เช่น เบี้ยประกันบำนาญ กองทุนเเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นต้น โดยค่าลดหย่อนนี้ จะถูกนำไปหักออกจากรายได้ทั้งปีที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ทำให้เงินได้สุทธิเหลือน้อยลง และผลลัพธ์คือ คุณจะเสียภาษีน้อยลงด้วยนั่นเอง
 

3. ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี

อีกหนี่งสิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับ คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน “ไม่ต้องเสียภาษี” เพราะเป็นไปตามนโยบายกองทุนที่ต้องการส่งเสริมการออมระยะยาว เพื่อให้มีเงินสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ ไม่ว่าผลตอบแทนนั้น ๆ จะเกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม จึงเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับเงินลงทุนได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามแม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะสร้างผลตอบแทนได้ดี แต่ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการสะสมความมั่นคงให้กับตัวเองยามเกษียณ ต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาความเสี่ยงของกองทุนด้วยว่า อยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ ผู้ลงทุนจึงควรไตร่ตรองให้รอบคอบ เพื่อให้เงินออมของคุณเติบโตเร็วขึ้น และผลประโยชน์ของเงินสะสมกับผลประโยชน์ของเงินสมทบ จะช่วยให้คุณสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถเกษียณอายุได้เร็วขึ้น

แต่ถ้าต้องออกจากงานควรทำอย่างไรดี? การออกจากงานไม่ว่าจะกรณีใด คุณมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ คงความเป็นสมาชิกในกองทุน PVD เดิมเอาไว้ เพื่อรอโอนย้ายไปสู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่ หรืออีกหนึ่งทางเลือก คือ โอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปสู่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่เรียกว่า “กองทุน RMF for PVD” นั่นเอง
 
RMF กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทางเลือกเพื่อความสุขของคนวัยเกษียณ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF คือตัวเลือกการลงทุนที่มีความสำคัญต่อผู้ลงทุนที่ต้องการวางแผนเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการเกษียณอายุอย่างแท้จริง และด้วยวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องการให้เป็นเงินออมสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ กองทุน RMF ทุกกองทุนจึงไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกสินทรัพย์ที่มีความสนใจได้หลากหลายตามนโยบายของกองทุน เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และทองคำ เป็นต้น โดยข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุนคือ
 
  1. เมื่อเริ่มต้นลงทุนกับกองทุน RMF แล้ว นักลงทุนต้องลงทุนต่อเนื่องกันทุกปี หรือลงทุนอย่างน้อยปีเว้นปี รวมแล้วต้องลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี
  2. ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน
  3. ไม่มีนโยบายจ่ายปันผลในทุกกองทุน
  4. นักลงทุนจะต้องถือครองกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อกองทุน และต้องมีอายุครบ 55 ปี จึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้
  5. ผลตอบแทนที่ได้จากกองทุน RMF ไม่ต้องเสียภาษี
  6. กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนให้เลือกมากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักลงทุนจะต้องเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับความต้องการของตัวเป็นหลัก
  7. เงินที่ซื้อกองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง และนักลงทุนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี สูงสุด 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
เปรียบเทียบความแตกต่าง PVD vs RMF

PVD vs RMF เปรียบเทียบความแตกต่างของ 2 ประเภทกองทุน

จากข้อมูลได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าทั้งกองทุน PVD และ RMF มีความเหมือนกันที่วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ที่ต้องการให้เกิดการออมเงินระยะยาว เพื่อนำผลตอบแทนไปใช้จ่ายยามเกษียณ อีกทั้ง 2 กองทุนนี้นักลงทุนยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และผลตอบแทนที่ได้รับจากกองทุนจะไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกัน ส่วนความแตกต่างกันของ 2 กองทุนนี้คือ สามารถดูง่าย ๆ จาก
 
ความแตกต่าง กองทุน PVD กองทุน RMF
รูปแบบการออม เป็นการออมที่เกิดขึ้นร่วมกัน ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง เป็นการออมที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของนักลงทุนเอง
ขั้นต่ำในการลงทุน 2-15% ของเงินค่าจ้าง ไม่มีขั้นต่ำ
ระยะเวลาการถือครอง ถือครองระยะยาว จนกว่าจะออกจากงานในทุกกรณี และต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และระหว่างการถือครองจะไม่มีการเบิกจ่ายเงินสะสมออกมาโดยเด็ดขาด ลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี และเมื่อต้องการขายคืนหน่วยลงทุนจะต้องมีอายุครบ 55 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ถือครองกองทุนจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลไม่ว่ากรณีใด ๆ
การสลับกองทุน หากลาออก สามารถสับเปลี่ยนจากกองทุน PVD ไปสู่กองทุน RMF for PVD ได้ สามารถสับเปลี่ยนจากกองทุน RMF A ไปสู่กองทุน RMF B ได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนประเภทกองทุนได้
ค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ในกองทุน 500 บาท/ปี ไม่มี

คุณอาจไม่รู้ กองทุน PVD ย้ายมา RMF ได้โดยไม่เสียสิทธิต่าง ๆ

ดังที่ได้กล่าวไป เมื่อจำเป็นต้องออกจากงานไม่ว่ากรณีใด เช่น ต้องการเปลี่ยนงานใหม่ โดนให้ออกจากงาน ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือแม้แต่บริษัทเลิกกิจการ นักลงทุนจะสามารถเป็นสมาชิกของกองทุน PVD เดิมต่อไปได้หากยังไม่มีการยกเลิกกองทุน เพื่อรอโอนย้ายไปสู่กองทุน PVD ของบริษัทใหม่ แต่ถ้าหากบริษัทใหม่ไม่มีกองทุน PVD ล่ะ จะทำอย่างไร ซึ่งหากเลือกคงสถานะกองทุน PVD เดิมต่อไป จะมีค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท ส่วนอีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ การเลือกโอนย้ายไปยังกองทุน RMF for PVD

กองทุน RMF for PVD คือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้แผนการเกษียณอายุไม่ต้องสะดุดลงเพราะการออกจากงานในทุกกรณี อีกทั้งยังช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้กับนักลงทุนในกองทุน PVD เดิม โดยเงื่อนไขการลงทุนกับกองทุน RMF for PVD จะคล้ายกับกองทุน PVD คือจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป

ประการสำคัญ คือ เมื่อทำการย้ายกองทุนแล้ว นักลงทุนไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องเหมือนการลงทุนในการกองทุน RMF ทั่วไป เพราะกองทุน RMF for PVD จะเปิดรับเฉพาะการโอนย้ายเงินที่มาจากกองทุน PVD เท่านั้น

6 กองทุน RMF น่าสนใจจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ย้าย PVD มาได้

สำหรับนักลงทุนที่มีความสนใจย้ายจากกองทุน PVD เดิม มาสู่กองทุน RMF for PVD แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะเลือกกองทุนไหนดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยาแนะนำ 6 กองทุน RMF ที่น่าสนใจดังนี้
 

1. กองทุนเปิดกรุงศรีแอคทีฟตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFAFIXRMF)

กองทุนรวมประเภท Mid Term General Bone มีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 4 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ทั้งจากภาครัฐบาล ภาครัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน อีกทั้งกองทุนยังมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศด้วย
 

2. กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF)

กองทุนรวม RMF ประเภท Equity General ที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 6 ความเสี่ยงสูง มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ตราสารทุน หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่อ้างอิงผลตอบแทนของหุ้น หรือกลุ่มหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนข้างต้น รวมถึงหุ้นที่อยู่ในระหว่าง IPO ด้วย โดยสินทรัพย์หลักที่ลงทุน จะลงทุนเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ซึ่งกองทุนนี้จะคัดเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตสูง เฟ้นหาหลักทรัพย์ที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดไม่เกิน 20 หลักทรัพย์ โดยไม่เน้นประเภทของหุ้นว่าจะเป็นหุ้นปันผล หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดเล็ก หรือหุ้นเติบโต
 

3. กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGBRANRMF)

กองทุนรวมประเภท Global Equity ที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 6 ความเสี่ยงสูง มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ โดยมีกองทุนหลักชื่อ Morgan Stanley Investment Funds-Global Brands Fund (Class Z) ที่มีผลงานการดำเนินงานในอดีตที่โดดเด่น เน้นสร้างผลตอบแทนที่มีความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ด้วยการเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี และมีความแข็งแกร่งต่อภาวะตลาดเป็นหลัก รวมไปถึงลงทุนในบริษัทชั้นนำระดับโลก ที่มีทั้งอิทธิพลทางธุรกิจ และมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยเฉลี่ยในรอบปีจะลงทุนในตราสารทุนไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
 

4. กองทุนเปิดกรุงศรี The One Mild เพื่อการเลี้ยงชีพ (KF1MILDRMF)

กองทุน RMF ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Conservative Allocation ที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง มีนโยบายลงทุนในหน่วย CIS ชื่อ กองทุนเปิดกรุงศรี The One Mild ชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (KF1MILD-1) เป็นกองทุนหลัก โดยลงทุนเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

นอกจากนี้กองทุนหลักยังมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และ/หรือกองทุนรวม ETF ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้จัดการกองทุนอาจใช้ดุลยพินิจ เพื่อลงทุนในตราที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง หรืออาจจะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารการลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
 

5. กองทุนเปิดกรุงศรี The One Mean เพื่อการเลี้ยงชีพ (KF1MEANRMF)

กองทุนที่จัดอยู่ในกลุ่ม Moderate Allocation ที่มีความเสี่ยงระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง มีนโยบายลงทุนในหน่วย CIS ชื่อกองทุนเปิดกรุงศรี The One Mean ชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (KF1MEAN-1) เป็นกองทุนหลัก และลงทุนเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

นอกจากนี้กองทุนหลักยังมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และ/หรือกองทุนรวม ETF ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยผู้จัดการกองทุนอาจใช้ดุลยพินิจ เพื่อลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง หรืออาจจะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารการลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
 

6. กองทุนเปิดกรุงศรี The One Max เพื่อการเลี้ยงชีพ (KF1MAXRMF)

กองทุนรวม RMF ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Aggressive Allocation ที่มีความเสี่ยงระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง มีนโยบายลงทุนในหน่วย CIS ชื่อกองทุนเปิดกรุงศรี The One Max ที่มีความเสี่ยงระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง มีนโยบายลงทุนในหน่วย CIS ชื่อกองทุนเปิดกรุงศรี The One Max ชนิดผู้ลงทุนสถาบัน (KF1MAX-1) เป็นกองทุนหลัก และลงทุนเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

นอกจากนี้กองทุนหลักยังมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และ/หรือกองทุนรวม ETF ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยผู้จัดการกองทุนอาจใช้ดุลยพินิจ เพื่อลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง หรืออาจจะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารการลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

กองทุน PVD และ RMF มีประโยชน์ต่อการวางแผนเกษียณอายุเป็นอย่างมาก และด้วยความเข้าใจผิดของมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่เข้าใจผิดว่า การลงทุนนี้คือค่าใช้จ่ายที่ทำให้รายได้ลดลง จึงทำให้พลาดโอกาสสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีความปรารถนาดีให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต และเข้าใจว่าการลงทุนระยะยาวคือการออมที่มีประสิทธิภาพ ทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเงินและการลงทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จึงพร้อมให้คำปรึกษาและช่วยวางแผนให้กับมนุษย์เงินเดือน โดยสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ช่องทางฮอตไลน์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
  • RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
  • KFAFIXRMF อาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non Investment Grade) หรือที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bond) ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนขาดทุนจากการลงทุนบางส่วน หรือทั้งจำนวนได้ และในการขายคืนหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในโครงการ
  • KF1MILDRMF, KF1MEANRMF, KF1MAXRMF, KFGBRANRMF ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา